กรือเซะในวันเหงา...เรื่องราวคนเล็กคนน้อยผู้รับผลทางอ้อมจากความรุนแรง
บรรยากาศเหงาๆ วิถีชีวิตแห่งชาวบ้านรายรอยมัสยิดกรือเซะเป็นไปอย่างปกติตลอด 11 ปีหลังเกิดเหตุการณ์รุนแรงเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547
ผู้คนยังคงแวะมาชมมัสยิดเก่าแก่และปฏิบัติศาสนกิจกันเป็นระยะ มัสยิดกรือเซะยังคงเปิดให้เข้าชมและปฏิบัติศาสนกิจทุกเวลาละหมาด รวมทั้งจัดกิจกรรมด้านศาสนาตามวาระ บรรยากาศเช่นนี้เป็นมาตลอด ไม่เคยเปลี่ยน
จะมีก็แต่บรรยากาศวันที่ 28 เมษายนปีนี้ ที่ดูจะคึกคักมากกว่าปกติ และมากกว่าวันครบรอบเหตุการณ์วันที่ 28 เมษายนของทุกปี เพราะปีนี้ตรงกับวันอังคารซึ่งมีตลาดนัดพอดี และมีการสอนบรรยายธรรม ส่งผลให้มีหมู่คนหนาตา
แต่สภาพโดยรวมก็ยังเหงาๆ....
แท่นปืนใหญ่พญาตานีจำลองยังคงว่างเปล่าภายในรั้วเหล็กที่เป็นเสมือนเกราะกั้น หลังจากตัวปืนจำลองถูกส่งกลับไปเพราะถูกลอบวางระเบิด จนถึงวันนี้ไม่มีข่าวคราวว่าซ่อมเสร็จหรือยัง หรือจะเคลื่อนกลับมาตั้งอีกเมื่อไร ไม่มีใครสนใจไต่ถามในเรื่องนี้
ตึกแถวข้างมัสยิดเปลี่ยนแปลงไปในบางหลัง บูรณะใหม่ให้สีสันสวยงาม ยังคงมีร้านขายอาหารตามสั่ง 2 ร้าน ร้านขายของฝากหนึ่งร้าน รถเข็นขายลูกชิ้นและผลไม้ รวมทั้งรถขายไอศครีมให้ผู้มาเยือนได้ชิม
ศูนย์เรียนรู้การท่องเที่ยวอารยธรรมปัตตานีที่เปิดบริการมาตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2556 ซึ่งใช้อาคารเอนกประสงค์โบราณสถานมัสยิดกรือเซะ ตลอดรวมถึงลานอเนกประสงค์ด้านหน้ามัสยิดกรือเซะ เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชนปัตตานี ปัจจุบันปิดให้บริการไปแล้วหลายเดือน พร้อมอาคารขายของที่ระลึก ซุ้มขายของบริเวณหน้ามัสยิดก็ว่างเปล่าและเงียบเหงาตามไปด้วย
ฐานปฏิบัติการกรกตของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงยังคงตั้งอยู่ตรงหัวมุมติดสุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ร้านขายของที่ระลึกที่เคยเฟื่องฟูด้วยรายได้และลูกค้าในอดีตต่างปิดตัวเองลง เหลือเพียงบ้านเช่าและที่อยู่อาศัย มีเพียง สอฟีหย๊ะ นิสัยชล ที่ยังยืนหยัดขายมาจนเหลือเพียงเจ้าเดียวในปัจจุบัน
"เมื่อก่อนขายของตักกันแทบไม่ทัน ลูกค้าเยอะมาก วันหนึ่งขายได้เป็นแสน มีของขายเป็นร้อยอย่าง ก๊ะมาขายของฝากของที่ระลึกเป็นเจ้าแรก และยังคงขายมาจนเหลือเจ้าเดียวในตอนนี้" สอฟีหย๊ะ เล่าถึงความรุ่งเรืองในอดีตของเธอกับการค้าขายที่มัสยิดกรือเซะ และสุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว สองสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเฟื่องฟูก่อนเกิดเหตุรุนแรง
"11 ปีรายได้หดหายไปเยอะมาก จากสิบเหลือศูนย์ นึกว่าหลังเหตุการณ์แล้วสัก 2-3 ปีจะกลับมาเหมือนเดิม แต่ก็ซบเซามาเรื่อยๆ จน 4-5 ปีหลังนี้จบเลย จากสิบถ้าเหลือสักหนึ่งหรือสองก็ยังดี แต่นี่ไม่ใช่ สาเหตุที่ก๊ะยังขายอยู่เพราะที่นี่เป็นบ้านของตัวเอง ของที่ขายอยู่ก็สั่งมาน้อยๆ ให้ขายหมดแล้วค่อยสั่งใหม่ เพราะราคาต้นทุนสินค้าก็เพิ่มขึ้นมาก บางอย่าง เช่น ปลิงทะเลก็แบ่งขายเวลาเขามาขอซื้อปลีก เพราะราคาสูง"
ไม่แปลกใจว่าก่อนนี้เธอเคยมีรายได้วันละเป็นแสนได้อย่างไร เพราะเมื่อเห็นราคาสินค้า เช่น ปลิงทะเลที่เธอเล่า ราคากิโลกรัมละ 9,000 บาท หูฉลาม 14,000 บาท หากบรรยากาศเช่นนั้นกลับมาอีก ชีวิตชีวาแห่งการทำมาค้าขายก็น่าจะดำเนินไปอย่างคึกคัก
"เวลาลูกค้ามาเลเซีย ลูกค้าจากกรุงเทพฯ มา เขาจะซื้อกันทุกคน คนละนิดคนละหน่อย แต่ราคาสินค้าสูง ทำให้ยอดขายสูงมาก อยากให้นักท่องเที่ยวมาเหมือนเดิม เหตุที่เกิดมาจากคนที่อื่นมาก่อเหตุ ที่นี่ไม่เคยเกิดเหตุอะไรหลังจากวันนั้น ถ้ามีเหตุเราก็อยู่ไม่ได้ เราต้องตายก่อน ถ้ามีนักท่องเที่ยวเหมือนเดิม ที่นี่ก็จะกลับมามีชีวิตอีกครั้ง" เธอกล่าวอย่างตั้งความหวัง
ใกล้ร้านของสอฟีหย๊ะ เป็นลานเปตอง สถานที่รวมพลของคนในชุมชนและต่างชุมชนมาเล่นกีฬา ออกกำลังกาย พูดคุยกันเป็นประจำทุกวัน เป็นชีวิตปกติของผู้คนที่นี่ที่ใช้ชีวิตเฉกเช่นผู้คนในพื้นที่อื่นๆ
ซารีนา แม่ค้าลูกชิ้นและผลไม้ บอกว่า มาขายที่นี่ทุกวันตั้งแต่เที่ยงถึงเย็น ขายดีมากเมื่อตอนศูนย์เรียนรู้ฯเปิดบริการ จนปิดไปเมื่อหลายเดือนก่อนโดยไม่ทราบสาเหตุ เมื่อนักท่องเที่ยวมาอยากเข้าไปเยี่ยมชมก็เข้าไม่ได้ จึงอยากให้เปิดศูนย์เรียนรู้ฯ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวและกระจายรายได้ไปยังทุกคนที่อยู่รายรอบมัสยิดด้วย
อดีตนักเล่าประวัติศาสตร์ประจำศูนย์เรียนรู้การท่องเที่ยวอารยธรรมปัตตานี หน้ามัสยิดกรือแซะ บอกว่า ทุกวันนี้เขายังคงนั่งตามม้าหินอ่อนเพื่อรอดูนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชมมัสยิด ด้วยใจรักและอยากให้คนรุ่นใหม่ได้รับรู้ถึงประวัติศาสตร์ที่ถูกต้อง ไม่ถูกบิดเบือน
"ตอนนี้งบหมด ศูนย์เรียนรู้ฯจึงถูกปิดและล็อคกุญแจไว้อย่างแน่นหน่า ผมก็เลยต้องใช้ม้าหินอ่อนนั่งรอระหว่างที่ไม่มีนักท่องเที่ยว เมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามาก็จะไม่รอช้าที่จะเข้าไปหาเพื่อให้บริการ ที่ทำเพราะอยากให้คนที่มาได้ข้อมูลที่ถูกต้อง สามารถแนะนำเขาได้ในฐานะคนพื้นที่ ยิ่งหลังๆ นี้มีนักท่องเทียวจากต่างชาติเข้ามามากขึ้น บางวันก็มาเยอะเป็นคณะ บางวันก็มาน้อยตามเทศกาล แต่ก็ยังมีมา" เขากล่าว
ด้านสถานการณ์ในสายตาของฝ่ายความมั่นคง ห้วงครบรอบ 11 ปีเหตุการณ์วันที่ 28 เมษายน หรือเหตุการณ์กรือเซะ พล.ท.กิตติ อินทสร รองแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวในห้องประชุมกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ว่า ขอให้ทุกหน่วยเฝ้าระวัง โดยเฉพาะชุดลาดตระเวน ให้เข้มงวดกวดขันเป็นพิเศษ
ทั้งนี้ เพราะรายงานสรุปเหตุความมั่นคงในสัปดาห์ที่ผ่านมา (ก่อนถึงวันครบรอบ 11 ปีกรือเซะ) เพิ่มขึ้นกว่าสัปดาห์ก่อน โดยส่วนใหญ่เป็นการวางระเบิดเจ้าหน้าที่ เกิดขึ้นทั้งหมด 8 เหตุ มีระเบิด 12 ลูก คนร้ายใช้รูปแบบการวางระเบิดบนเส้นทาง หรือในลักษณะการวางวัตถุต้องสงสัยเพื่อให้ เจ้าหน้าที่เข้าไปในพื้นที่แล้วจุดชนวนระเบิด เป็นยุทธวิธีเดิมๆ ของผู้ก่อเหตุรุนแรง ฉะนั้นทุกหน่วยต้องมีความเข้าใจในยุทธวิธีของฝ่ายตรงข้าม และเพิ่มความระมัดระวังในการปฏิบัติงาน
11 ปีกรือเซะ...ดูเหมือนทุกอย่างก็ยังดำเนินไปตามปกติ ตามวิถีแห่งตนและกลุ่มของตน แต่สิ่งที่ยังห่างไกลคือความหวัง...หวังว่าพื้นที่นี้จะสงบสุข ร่มเย็น
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ซุ้มขายของบริเวณหน้ามัสยิดกรือเซะมีสภาพเหมือนปิดตาย
2 แท่นปืนใหญ่พญาตานีจำลองตั้งเหงาๆ รอตัวปืนที่ยังไม่กลับมา
3 ร้านรวงโดยรอบ โดยมากปิดสนิท
4 ศูนย์เรียนรู้การท่องเที่ยวอารยธรรมปัตตานี ปิดตัวเพราะไร้งบประมาณ