เครือข่ายคนทำงานเดินหน้าร่างกม.ลูก ปิดวงจรสีเทา-สร้างความโปร่งใสให้ “ประกันสังคม”
“เรื่องประกันสังคมที่ผ่านเข้าหู มีแต่เรื่องสีเทาๆ ประชาชนตาดำๆ อย่างเราไม่รู้หรอกว่า เขาเอาเงินไปทำอะไร ขนาดเงินเรา เรายังแตะไม่ได้เลย”
เสียงสะท้อนจาก "อรุณี ศรีโต" จากสมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา ระหว่างการประชุมเพื่อหารือในการทำข้อเสนอเพื่อพัฒนาเป็นอนุบัญญัติประกอบพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558
หลังจากพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับแก้ไขปี 2558 ผ่านการเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เรียบร้อยแล้ว ต่อจากนี้เป็นหน้าที่ของสำนักงานประกันสังคมที่จะต้องออกอนุบัญญัติ หรือกฎหมายลูก ให้สอดคล้องกับกฎหมายหลัก ซึ่งขณะนี้ทางสำนักงานประกันสังคมเอง ได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อออกกฎระเบียบต่างๆ แล้ว
อย่างไรก็ตาม เพื่อสร้างบรรยากาศการมีส่วนร่วม ทางเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน หรือ คปค. จึงได้ทำงานในลักษณะ “คู่ขนาน” ร่วมกันร่างอนุบัญญัติ เพื่อเสนอต่อสำนักงานประกันสังคม ในหลายๆ ประเด็น อาทิ การได้มาซึ่งคณะกรรมการบริหารกองทุน เงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนตามมาตรา 40 และแรงงานข้ามชาติ เป็นต้น
จากการขอเข้าไปมีส่วนร่วมนี้ อรุณี ให้เหตุผลว่า ตลอดเวลาที่มีกองทุนประกันสังคม ไม่ว่ายุคสมัยใดผู้ประกันตนจะไม่มีสิทธิ์เข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการกองทุนประกันสังคม ผู้ประกันตนที่จ่ายเงินไม่อาจทราบได้เลยว่าเงินที่มีอยู่ในกองทุนกว่า 1.2 ล้านล้านบาทถูกนำไปใช้อย่างไรบ้าง
ส่วนการรักษาพยาบาลก็ไม่ครอบคลุมตามความเป็นจริง เช่น การถอนฟัน 1 ครั้ง ต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 600 บาท ซึ่งใน 1 ปีจะต้องรักษาไม่ต่ำกว่า 1 ครั้ง แต่ประกันสังคมสามารถเบิกได้แค่ปีละ 600 บาทเท่านั้น จึงอยากถามว่าเพียงพอแล้วหรือยัง
ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับล่าสุด ที่แก้ไขไปแล้วนั้น ตามมาตรา 8 วรรค 3 ที่ระบุว่า จะต้องมีการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม โดยให้นายจ้างและผู้ประกันตนมีสิทธิ์เข้าไปเป็นคณะกรรมการบริหารจัดการด้วย โดยผ่านการเลือกตั้งจากผู้ประกันตนที่มีสิทธิ์กว่า 13 ล้านคนสามารถใช้สิทธิ์เลือกตัวแทนเข้าไปรักษาผลประโยชน์แบบโปร่งใสได้
เรื่องนี้เป็นความหวังที่ผู้ประกันตนจะเข้าไปมีส่วนร่วมบริหารกองทุนที่มีมูลค่ามหาศาล
“อยากเห็นผู้ที่มีส่วนได้เสีย มีส่วนร่วมสร้างให้สำนักงานประกันสังคม มีแสงสว่าง โปร่งใส เพราะที่ผ่านมาได้ยินเข้าหู มีแต่เรื่องสีเทาๆ” อรุณี กล่าว และว่า เครือข่ายแรงงานจึงขอมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น ขอมีสิทธิ์เลือกคนดีที่ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนมาดูแลเงินและสุขภาพของผู้ประกันตน
เช่นเดียวกับ "ภาคภูมิ สุกใส" จากสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย บอกว่า กฎหมายประกันสังคมตามมาตรา 8 วรรค 1 ซึ่งเป็นกฎหมายแม่ ระบุไว้ว่า ให้คณะกรรมการประกันสังคมมาจากการเลือกตั้งของผู้ประกันตนโดยตรง
ดังนั้น ในนามเครือข่ายประกันสังคมคมทำงาน จึงขอเสนอร่างกฎหมายอนุบัญญัติพระราชบัญญัติประกันสังคมหรือกฎหมายลูกการเลือกตั้งต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยเสนอ 2 รูปแบบคือ ให้ผู้ประกันตนทุกคนใช้สิทธิ์เลือกโดยตรง แบบ 1 คน ต่อ 1 เสียง โดยจัดหน่วยเลือกตั้งใกล้บ้าน และ 2 คือผู้ประกันตนเลือกตัวแทนของแต่ละกลุ่มเข้ามาคัดเลือกในส่วนกลาง
“อย่างน้อยให้คนของเราได้ดูแลเรา ได้ดูแลเงินของเราด้วย ไม่ใช่ให้คนจากองค์กรสหภาพแรงงานแค่ 1,000 กว่าคนมาตัดสินเงินเรา ผู้ประกันตนต้องมีสิทธิ์เลือกคนของเขาเอง” ตัวแทนองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าว
องค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย บอกอีกว่า ประกันสังคมเกิดขึ้นมานานแล้ว ถึงวันนี้เติบโตมีเม็ดเงินมหาศาล ซึ่งเงินจำนวนนี้ควรจะดูแลผู้ประกันตนได้มากกว่านี้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ประกันตนทุกวันนี้ คือแม้แต่การรักษาขั้นพื้นฐานจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ผู้ประกันตนกลับไม่ได้รับสิทธิ์นั้น ถึงแม้ว่าจะจ่ายเงินเข้าประกันสังคมให้รัฐบาลทุกเดือนก็ตาม
ดังนั้น ในกฎหมายลูกจะต้องมีการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และคณะกรรมการการแพทย์ (ค่าเสียหายเบื้องต้นจากความเสียหายทางการแพทย์ ตามมาตรา 63 วรรค 1) โดยให้ผู้ประกันตนต้องได้รับบริการเสริมจากพื้นฐานที่เป็นมาตรฐานของ สปสช. แต่หากผู้ประกันตนต้องการรักษาที่นอกเหนือจากมาตรฐานก็ให้นำเงินส่วนของประกันสังคมมาใช้ เช่น ให้ผู้ประกันตนตรวจร่างกายประจำปี เมื่อพบความเสี่ยงโรคร้ายแรงทุกโรคก็ทำการรักษาได้เลย และหากผู้ประกันตนได้รับความเสียหาย ประกันสังคมต้องจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตน และให้ประกันสังคมมีสิทธิ์ไปไล่เบี้ยกับผู้กระทำผิดได้
“เวลาหมอรักษาผิดพลาด หมอไม่เคยผิด คนไข้ไม่เคยได้รับเงินค่าเสียหาย เงินชดเชยอะไรเลย ส่วนใหญ่ถ้าเกิดการฟ้องร้องหมอชนะ ไม่เป็นธรรมกับคนไข้ ต่อไปนี้ประกันสังคมต้องจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้เรา และให้ประกันสังคมมีสิทธิ์ไปเก็บค่าเสียหายจากหมอที่ทำผิดได้ด้วย” ภาคภูมิ กล่าว
นอกจากนี้ ผู้ประกันตนจะต้องมีส่วนร่วมในการส่งเสริม ป้องกันสุขภาพ มีระบบเคลียร์ริ่ง เฮาร์ มีเงินกองทุนสำรองจ่ายสำหรับโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง และเป็นโรคร้ายแรง มีระบบการจัดการการนำเงินกองทุนประกันสังคมมาชดเชยความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์เบื้องต้น และให้คณะกรรมการการแพทย์ออกประกาศให้นำเงินกองทุนทดแทนมาใช้สำหรับการส่งเสริมป้องกันโรค
ส่วนการส่งเสริมและป้องกันโรคนั้นจะต้องเน้นให้เกิดการพัฒนาระบบคัดกรอง การป้องกัน การฟื้นฟู และการให้บริการที่สอดคล้องกับโรคที่เกิดจากการทำงาน ให้มีนอกเหนือจากบริการของ สปสช.ที่ทำเป็นตัวอย่างไว้แล้ว
“เขายอมเสียเงินแล้ว เขาต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ สมมุติว่าตรวจร่างการประจำปีแล้ว พบว่าเป็นโรคมะเร็ง แต่การรักษาด้วยประกันสังคมได้วงเงินเท่านี้ อาจไม่เพียงพอ เขาอยากจะเอาเงินส่วนที่เสียไปให้ประกันสังคมมารักษาให้ได้มาตรฐานดีกว่า อีกอย่างหากได้รับการตรวจร่างกายประจำปี จะได้รู้ว่าตัวเองมีความเสี่ยงเป็นโรคอะไร จะได้รักษาและป้องกันก่อนที่จะเป็นโรคร้ายแรง เหมือน สปสช. ทำคือป้องกันไว้ก่อน” ตัวแทนองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวทิ้งท้าย
ผู้ประกันตนทุกคนจึงอยากจะเห็นการปฏิรูปกองทุนให้มีความโปร่งใส และมีส่วนร่วม ซึ่งกฎหมายประกันสังคมฉบับใหม่จะเอื้อให้เกิดบรรยากาศแห่งการเปลี่ยนแปลงได้ดีหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป
ที่มาภาพ:http://www.sso.go.th/wpr/category.jsp?lang=th&cat=956