ข้อสังเกตต่อ "อธิการฯเอแบค" ทำไมไม่ชี้แจงสารพัดกรณีฉาวในมหาวิทยาลัย
"...ในช่วงบ่ายวันที่ 29 เม.ย.58 ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ได้เดินทางไปดักรอพบอธิการบดีถึงในมหาวิทยาลัย แต่สุดท้ายก็ไม่ได้รับการชี้แจงข้อเท็จจริงเหมือนเดิม โดยได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่า "อธิการฯ ไม่อยู่" จนนำไปสู่การตั้งสมมุติฐานหลายประการ ว่า อธิการบดี อาจจะกลัวอะไรบ้างอย่าง ถึงไม่ยอมชี้แจงข้อมูลอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย..."
หากใครที่มีโอกาสติดตามข้อมูลข่าวสารการตรวจสอบปัญหาความไม่ชอบมาพากล ในการบริหารงานโครงการต่างๆ ของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอข้อมูลอย่างต่อเนื่อง มาตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 58 จนกระทั่งล่าสุดในช่วงค่ำวันที่ 29 เม.ย.58 ที่ผ่านมา
(อ่านประกอบ : ตามไปดู!"บ.ไฟล์ทฯ" ม.อัสสัมชัญ ใจดีให้กู้ 235ล. ช่วยซื้อเครื่องฝึกบิน)
คงพอที่จะเห็นพัฒนาการของข้อมูลข่าวสารในการตรวจสอบเรื่องนี้ ที่ดูเหมือนจะมีความลึกมากขึ้นเป็นลำดับๆ
เริ่มตั้งแต่การเปิดเผยข้อมูลรายงานผลการสอบสวนกรณีการบริหารงานของสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ที่แต่งตั้งโดยมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ซึ่งพบข้อมูลหลักฐานความไม่โปร่งใสในการบริหารงานของผู้เกี่ยวข้องหลายเรื่อง และสร้างความเสียหายให้กับมหาวิทยาลัยเป็นจำนวนเงินหลายสิบล้านบาท จนนำไปสู่มติของกรรมการสภาฯ ที่ต้องการให้มหาวิทยาลัย ดำเนินคดีทางกฎหมายกับผู้เกี่ยวข้องอย่างเด็ดขาด
และแม้ว่าสำนักข่าวอิศรา จะนำข้อมูลในรายงานผลการสอบสวนฉบับนี้ มาเปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบ แบ่งออกเป็นตอนๆ แบบชัดๆ
แต่ดูเหมือน ผู้บริหารของมหาวิทยาลัย ก็ยังไม่แสดงออกท่าทีต่อเรื่องนี้อย่างชัดเจนนัก ว่าจะดำเนินการตามมติสภามหาวิทยาลัยฯ หรือไม่?
จนกระทั่งล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า มีกรรมการสภาฯ ได้ทำหนังสือถึงนายกสภามหาวิทยาลัยฯ เพื่อขอให้แต่งตั้งกรรมการสอบ "ภราดาบัญชา แสงหิรัญ" อธิการบดีมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ อย่างเป็นทางการ โดยกล่าวหาว่า อธิการบดี มีปัญหาการบริหารงานใน 3 เรื่องหลัก คือ
1. การละเว้นไม่ดำเนินการทางกฎหมายกับผู้เกี่ยวข้อง ที่ทำให้สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนเงินกว่า 48,496,608.14 บาท จากการบริหารงานที่มีลักษณะไม่ชอบมาพากลหลายประการ
2. กรณีการบริหารจัดการที่ไม่ปฏิบัติตามมติสภาฯ กรณีโครงการห้องปฏิบัติการเครื่องฝึกบินจำลองเสมือนจริง
3. การเปลี่ยนมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ที่มีผลต่อการทำงบดุลของมหาวิทยาลัย ประจำปีการศึกษา 2556
พร้อมเรียกร้องให้อธิการบดี หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว จนกว่าการสอบสวนจะแล้วเสร็จด้วย
แม้ว่าปัจจุบันจะยังไม่มีการยืนยันข้อมูลอย่างเป็นทางการจากนายกสภามหาวิทยาลัยฯ ว่า ตัดสินใจอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้
แต่ในทางปฏิบัติ ณ เวลานี้ คงต้องยอมรับว่า เรื่องนี้ได้กลายเป็นเรื่องใหญ่ ที่ส่งผลกระทบถึงภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญอย่างมากไปแล้ว
และเป็นสิ่งสำคัญที่ "อธิการบดี" ในฐานะผู้มีอำนาจสูงสุดในการบริหารงานมหาวิทยาลัยจะต้องออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงให้สาธารณชนได้รับทราบกันเป็นทางการ
แต่เชื่อหรือไม่ นับตั้งแต่ สำนักข่าวอิศรา ได้นำเสนอข้อมูลเรื่องนี้ ต่อสาธารณชน เมื่อวันที่ 17 เม.ย.58 "เรา" ได้พยายามติดต่อไปยังอธิการบดี ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงหลายครั้ง
แต่ก็ไม่เคยได้รับการชี้แจงข้อเท็จจริงแต่อย่างใด
หรือแม้กระทั่งล่าสุด ในช่วงบ่ายวันที่ 29 เม.ย.58 ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ได้เดินทางไปดักรอพบอธิการบดีถึงในมหาวิทยาลัย แต่สุดท้ายก็ไม่ได้รับการชี้แจงข้อเท็จจริงเหมือนเดิม โดยได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่า "อธิการฯ ไม่อยู่"
จนนำไปสู่การตั้งสมมุติฐานว่า อธิการบดี อาจจะกลัวเกรงอะไรบ้างอย่าง ถึงไม่ยอมชี้แจงข้อมูลอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย
อย่างไรก็ตาม ในประเด็นปัญหาที่กรรมการสภาฯ หยิบยกขึ้นมาใช้เป็นเหตุผลในการเสนอแต่งตั้งกรรมการสอบ "อธิการ" จำนวน 3 เรื่อง ตามที่มีการระบุข้อมูลไปแล้ว
ประเด็นการบริหารจัดการที่ไม่ปฏิบัติตามมติสภาฯ กรณีโครงการห้องปฏิบัติการเครื่องฝึกบินจำลองเสมือนจริง ของมหาวิทยาลัย
ดูเหมือนจะมีสัญญาณบางอย่างที่บ่งบอกว่า ปัญหามิได้จำกัดอยู่เพียงแค่การปฏิบัติงานที่ไม่เป็นไปตามมติสภาฯ เท่านั้น
แต่น่าจะมีข้อเท็จจริงอะไรบางอย่างที่ซ่อนเร้นอยู่
เห็นได้จากปฏิกริยาของ อาจารย์ เจ้าหน้าที่ และผู้เกี่ยวข้องในมหาวิทยาลัยหลายคน ที่ปฏิเสธจะให้ข้อมูลทันที เมื่อถูกถามถึงกรณีนี้
โดยประเด็นคำถามสำคัญมีดังนี้
1. ภายหลังจากที่ภายหลังจากที่สภามหาวิทยาลัยฯ ได้อนุมัติให้มหาวิทยาลัยเปิดดำเนินการในหลักสูตร วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมการบิน ตั้งแต่ปีกภาคการศึกษาที่ 1/2554 และมีการจัดทำโครงการร่วมทุนกับบริษัทเอกชน ในการจัดทำห้องปฏิบัติการเครื่องฝึกบินจำลองเสมือนจริงแบบแอร์บัส เอ 320
ทำไมมหาวิทยาลัย ถึงตัดสินใจเลือกบริษัท ไฟล์ท ซิมูเลเตอร์ กรุ๊ป จำกัด เข้ามาร่วมทุนด้วย ทั้งที่ บริษัทฯ แห่งนี้ เพิ่งจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2556
2. ทำไมในขั้นตอนการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย ในการร่วมลงทุนกับ บริษัท ไฟล์ท ซิมูเลเตอร์ กรุ๊ป จำกัด ถึงดำเนินการนอกเหนือจากที่ขออนุมัติกับสภามหาวิทยาลัยฯ ดังนี้
หนึ่ง กรณีสภาฯ อนุมัติการลงทุนร่วมกับ บริษัท ไฟล์ท ซิมูเลเตอร์ กรุ๊ป จำกัด ในวงเงิน 15 ล้านบาท
แต่ มหาวิทยาลัย ได้ดำเนินการซื้อหุ้นของบริษัท ไฟล์ทฯ ทั้งหมด จำนวน 900,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 100 บาท เป็นเงิน 90 ล้านบาท และค่าส่วนที่เกินทุนให้ผู้ถือหุ้นเดิมอีก 4,332,960 บาท รวม เป็นเงินทั้งสิ้น 94,332,960 บาท โดยหุ้นที่ซื้อเป็นชื่อ ภราดาบัญชา อธิการบดี จำนวน 899,998 หุ้น นายกมล กิจสวัสดิ์ 1 หุ้น และนางสาวณัฐฑยามณฑ์ พยนต์รักษ์ 1 หุ้น โดยภราดาบัญชา เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามแทนบริษัท
สอง กรณีอนุมัติให้มหาวิทยาลัยซื้อเครื่องฝึกบินฯ ในวงเงิน 350 ล้านบาท โดยบริษัท ไฟล์ทฯ เป็นผู้ชำระเงินงวดแรก 20 % ส่วนที่เหลือจะใช้วิธีการกู้เงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา ร่วมกับบริษัท ไฟล์ทฯ ในวงเงิน 290 ล้านบาท โดยบริษัท ไฟล์ทฯ เป็นผู้ผ่อนชำระเงินกู้ทั้งหมด
แต่มีการตรวจสอบพบว่า มหาวิทยาลัย ได้ให้เงินกู้ยืมแก่บริษัทไฟล์ทฯ จำนวน 235,422,904 บาท เพื่อนำไปจ่ายเป็นค่าเครื่องฝึกบินให้แก่บริษัทผู้ขายตามที่บริษัทไฟล์ทฯ (เดิม) ทำสัญญาซื้อขายไว้
สาม กรณีอนุมัติให้สัตยาบันการเข้าถือหุ้นใน บริษัท ไฟล์ทฯ ของ ภราดาบัญชา อธิการบดี เพื่อร่วมบริหารจัดการและดูแลผลประโยชน์แทนมหาวิทยาลัย
แต่มีการตรวจสอบพบว่า มหาวิทยาลัย ได้ดำเนินการติดต่อร่วมทุนครั้งใหม่ กับกลุ่มบริษัท Pam Ame International Flight Training Center (Thailand) โดยขายเครื่องฝีกบินให้บริษัท Pan Ame ได้ ในราคา 340,875,541 บาท (มีการซื้อขายแล้ว) และ มหาวิทยาลัยยังไปลงทุนร่วม กับบริษัท Pan Ame ในวงเงิน 27,000,000 บาท เพื่อเข้าร่วมการบริหารจัดการร่วมด้วย
น่าสนใจ ว่า ทำไมมหาวิทยาลัย ถึง "ใจดี" ยอมลงทุนช่วยเหลือทางธุรกิจให้กับบริษัท ไฟล์ทฯ มากจนผิดสังเกต โดยเฉพาะด้านการเงิน!
ล่าสุดจากการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลบริษัท ไฟล์ทฯ ของสำนักอิศรา เมื่อวันที่ 29 เม.ย.58 ที่ผ่านมา พบว่า ภายหลังจากที่ผู้บริหารของมหาวิทยาลัย ได้เข้าไปถือหุ้นใหญ่ บริษัทฯ ได้แจ้งย้ายเข้ามาอยู่ในตึกคณะวิศวกรรมศาสตร์
แต่หลังจากที่ มหาวิทยาลัย ได้ขายเครื่องฝึกบิน (น่าจะเป็นสินค้าที่บริษัท ไฟล์ทฯ นำเงินกู้ของมหาวิทยาลัยไปซื้อ) ให้กับ บริษัท Pan Ameฯ และเข้าไปลงทุนร่วม กับบริษัท Pan Ame ในวงเงิน 27,000,000 บาท
เจ้าหน้าที่บริษัท Pan Ameฯ กลับแจ้งข้อมูลว่าบริษัท ไฟล์ทฯ ได้ย้ายออกไปแล้ว
ทั้งที่ บริษัทบริษัท ไฟล์ทฯ ปัจจุบัน ปรากฎชื่อภราดาบัญชา อธิการบดี เป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่ และปัจจุบันก็ยังไม่ได้มีการแจ้งย้ายที่อยู่ใหม่ หรือแจ้งเลิกธุรกิจ ยุบไปร่วมกับบริษัท Pan Ameฯ ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแต่อย่างใด
เมื่อพิจารณาจากรูปแบบการทำธุรกิจของ บริษัท ไฟลท์ฯ ตามข้อมูลที่ได้รับมาแบบนี้
จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลก ที่จะทำให้ถูกตั้งข้อสังเกตได้ว่า แท้จริงแล้ว สถานะของบริษัท ไฟล์ท ฯ อาจะถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์รองรับการซื้อขายเครื่องฝึกบิน โดยใช้เงินทุนของมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะ จากคนกลุ่มหนึ่ง
โดยใช้วิธีการให้ "คนรู้จัก" ไปตั้งบริษัทรอไว้ ก่อนที่จะให้ผู้บริหารของมหาวิทยาลัย เข้าไปแทคเวอร์โอ เป็นเจ้าของต่อ และนำเงินของมหาวิทยาลัย ไปใช้ในการซื้อขายเครื่องฝึกบิน ตามสัญญาบริษัทฯ ติดต่อค้างไว้ เพื่อหวังผลอะไรบ้างอย่างในเรื่องธุรกิจ?
จากนั้น เมื่อทำสัญญาขายเครื่องฝึกบินต่อให้กับอีกบริษัทฯ ได้กำไรเป็นจำนวนเงิน 100 กว่าล้านบาท
หน้าที่ของบริษัท ไฟล์ทฯ นี้ ก็ถือเป็นอันยุติ ไม่จำเป็นต้องถูกพูดถึงอะไรกันอีก!
ส่วนข้อสังเกตนี้จะเป็นจริงหรือไม่ ผู้ที่จะตอบคำถามในขณะนี้ ได้คงมีแค่คนเดียว คือ "ภราดาบัญชา อธิการบดี" ในฐานะกรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่องบริษัท ไฟล์ทฯ ซึ่งใช้เงินทุนของมหาวิทยาลัย ในการเข้าไปร่วมทุนจำนวนกว่า 90 ล้านบาท และปล่อยเงินให้กู้ยืมอีกกว่า 235 ล้านบาท โดยไม่ผ่านมติจากที่ประชุมสภาฯ
แต่น่าเสียดาย ที่จนถึงวันนี้ ยังไม่มีคำชี้แจงข้อสังเกตให้สาธารณชนได้รับทราบความจริงจนกระจ่าง หลุดออกมาจากปากของ "ภราดาบัญชา" ผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี ของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ที่ได้ชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของเมืองไทย
แม้แต่คำเดียว...