ชัดๆเงื่อนงำห้องปฏิบัติการฝึกบินฯ อีกชนวนเหตุชงตั้งกก.สอบ"อธิการฯเอแบค"
"...สิ่งที่มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการไป มีกรรมการสภาฯ หลายคน ไม่เห็นด้วย และทำไปโดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ต้องมีการเสนอเรื่องต่อนายกฯสภา เพื่อให้รีบดำเนินการแก้ไขปัญหา เพื่อควบคุม และจำกัดความเสียหาย ของมหาวิทยาลัยก่อนที่ระบบการเงินองค์กร และชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยจะเสียหายไปมากกว่านี้ อันจะกระทบถึงมูลนิธิฯ และสถาบันการศึกษาในเครืออื่นๆด้วย.."
ดูเหมือนว่า สถานะความเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ของ "ภราดาบัญชา แสงหิรัญ" กำลังถูกสั่นคลอน
เมื่อล่าสุด กรรมการสภามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้ร่วมลงชื่อในหนังสือ ถึง ภราดาสุรสิทธิ์ สุขชัย นายกสภามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เพื่อขอให้มีการแต่งตั้งกรรมการสอบสวน "อธิการบดีมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ" ใน 3 กรณี หลัก คือ
1. การละเว้นไม่ดำเนินการทางกฎหมายกับผู้เกี่ยวข้อง ที่ทำให้สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนเงินกว่า 48,496,608.14 บาท จากการบริหารงานที่มีลักษณะไม่ชอบมาพากลหลายประการ
2. กรณีการบริหารจัดการที่ไม่ปฏิบัติตามมติสภาฯ กรณีโครงการห้องปฏิบัติการเครื่องฝึกบินจำลองเสมือนจริง
3. การเปลี่ยนมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ที่มีผลต่อการทำงบดุลของมหาวิทยาลัย ประจำปีการศึกษา 2556
โดยในหนังสือขอให้แต่งตั้งกรรมการสอบสวนดังกล่าว มีการขอให้อธิการบดี หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว จนกว่าการสอบสวนจะแล้วเสร็จด้วย
(อ่านรายละเอียด : ชงตั้งกก.สอบอธิการฯ ปมเอแบคโพลล์ พ่วง2กรณีฉาว จี้หยุดปฏิบัติหน้าที่)
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า เหตุผลสำคัญที่ทำให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เสนอเรื่องตั้งกรรมการสอบ ภราดาบัญชา อธิการบดี มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กรณีโครงการห้องปฏิบัติการเครื่องฝึกบินจำลองเสมือนจริง
เป็นเพราะมีการดำเนินการหลายประการที่ไม่ได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยก่อน
กล่าวคือ ภายหลังจากที่สภามหาวิทยาลัยฯ ได้อนุมัติให้มหาวิทยาลัยเปิดดำเนินการในหลักสูตร วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมการบิน ตั้งแต่ปีกภาคการศึกษาที่ 1/2554 และมีการจัดทำโครงการร่วมทุนกับบริษัทเอกชน ในการจัดทำห้องปฏิบัติการเครื่องฝึกบินจำลองเสมือนจริงแบบแอร์บัส เอ 320
โดยมีการขออนุมัติต่อสภามหาวิทยาลัย ใน 3 ประเด็น หลัก คือ
1. อนุมัติการลงทุนร่วมกับบริษัท ไฟล์ท ซิมูเลเตอร์ กรุ๊ป จำกัด ในวงเงิน 15 ล้านบาท เพื่อดำเนินการหาประโยชน์และรายได้ให้มหาวิทยาลัย
2. อนุมัติให้มหาวิทยาลัยซื้อเครื่องฝึกบินฯ ในวงเงิน 350 ล้านบาท โดยบริษัท ไฟล์ทฯ เป็นผู้ชำระเงินงวดแรก 20 % ส่วนที่เหลือจะใช้วิธีการกู้เงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา ร่วมกับบริษัท ไฟล์ทฯ ในวงเงิน 290 ล้านบาท โดยบริษัท ไฟล์ทฯ เป็นผู้ผ่อนชำระเงินกู้ทั้งหมด
3. อนุมัติให้สัตยาบันการเข้าถือหุ้นในบริษัท ไฟล์ทฯ ของ ภราดาบัญชา อธิการบดี เพื่อร่วมบริหารจัดการและดูแลผลประโยชน์แทนมหาวิทยาลัย
อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติของมหาวิทยาลัย กลับไปดำเนินการอีกอย่างหนึ่ง ดังนี้
หนึ่ง กรณีอนุมัติการลงทุนร่วมกับ บริษัท ไฟล์ท ซิมูเลเตอร์ กรุ๊ป จำกัด ในวงเงิน 15 ล้านบาท
มีการตรวจสอบพบว่า มหาวิทยาลัย ได้ดำเนินการซื้อหุ้นของบริษัท ไฟล์ทฯ ทั้งหมด จำนวน 900,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 100 บาท เป็นเงิน 90 ล้านบาท และค่าส่วนที่เกินทุนให้ผู้ถือหุ้นเดิมอีก 4,332,960 บาท รวม เป็นเงินทั้งสิ้น 94,332,960 บาท โดยหุ้นที่ซื้อเป็นชื่อ ภราดาบัญชา อธิการบดี จำนวน 899,998 หุ้น นายกมล กิจสวัสดิ์ 1 หุ้น และนางสาวณัฐฑยามณฑ์ พยนต์รักษ์ 1 หุ้น โดยภราดาบัญชา เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามแทนบริษัท
สอง กรณีอนุมัติให้มหาวิทยาลัยซื้อเครื่องฝึกบินฯ ในวงเงิน 350 ล้านบาท โดยบริษัท ไฟล์ทฯ เป็นผู้ชำระเงินงวดแรก 20 % ส่วนที่เหลือจะใช้วิธีการกู้เงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา ร่วมกับบริษัท ไฟล์ทฯ ในวงเงิน 290 ล้านบาท โดยบริษัท ไฟล์ทฯ เป็นผู้ผ่อนชำระเงินกู้ทั้งหมด
แต่มีการตรวจสอบพบว่า มหาวิทยาลัย ได้ให้เงินกู้ยืมแก่บริษัทไฟล์ทฯ จำนวน 235,422,904 บาท เพื่อนำไปจ่ายเป็นค่าเครื่องฝึกบินให้แก่บริษัทผู้ขายตามที่บริษัทไฟล์ทฯ (เดิม) ทำสัญญาซื้อขายไว้
สาม กรณีอนุมัติให้สัตยาบันการเข้าถือหุ้นใน บริษัท ไฟล์ทฯ ของ ภราดาบัญชา อธิการบดี เพื่อร่วมบริหารจัดการและดูแลผลประโยชน์แทนมหาวิทยาลัย
แต่มีการตรวจสอบพบว่า มหาวิทยาลัย ได้ดำเนินการติดต่อร่วมทุนครั้งใหม่ กับกลุ่มบริษัท Pam Ame International Flight Training Center (Thailand) โดยขายเครื่องฝีกบินให้บริษัท Pan Ame ได้ ในราคา 340,875,541 บาท (มีการซื้อขายแล้ว) และ มหาวิทยาลัยยังไปลงทุนร่วม กับบริษัท Pan Ame ในวงเงิน 27,000,000 บาท เพื่อเข้าร่วมการบริหารจัดการร่วมด้วย
นี่ยังไม่นับรวมปัญหาการเปลี่ยนมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ซึ่งพบว่ามีการปรับปรุงงบการเงินย้อนหลังโดยพลการ การลดทุนค่าที่ดินลง 1,744 ล้านบาท รวมถึงปัญหาความไม่โปร่งใสในการบริหารงานของสำนักวิจัยเอแบบโพลล์ ที่ยังไม่มีการดำเนินการทางกฎหมายกับผู้เกี่ยวข้อง ทั้งที่ ปรากฎหลายฐานในรายงานผลการสอบสวนชัดเจน
ทั้งนี้ สิ่งที่มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการไป มีกรรมการสภาฯ หลายคน ไม่เห็นด้วย และทำไปโดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ต้องมีการเสนอเรื่องต่อนายกฯสภา เพื่อให้รีบดำเนินการแก้ไขปัญหา เพื่อควบคุม และจำกัดความเสียหาย ของมหาวิทยาลัยก่อนที่ระบบการเงินองค์กร และชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยจะเสียหายไปมากกว่านี้ อันจะกระทบถึงมูลนิธิฯ และสถาบันการศึกษาในเครืออื่นๆด้วย
และเป็นเหตุผลสำคัญที่ให้ต้องมีการเสนอเรื่องให้แต่งตั้งกรรมการสอบ "อธิการบดีอัสสัมชัญ" รายนี้อย่างเป็นทางการ
ส่วน "นายกสภาฯ" จะเห็นชอบกับข้อเสนอของกรรมการสภาฯหรือไม่ และ "อธิการบดีอัสสัมชัญ" จะใช้สิทธิ์ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาเหล่านี้อย่างไร ต้องจับตาดูกันต่อไป
อ