รู้ยัง! พฤติกรรมเสื่อมเสียในอดีต มีผลต่อการออกใบอนุญาตวิชาชีพ"ครู"
"...คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๘) จึงเห็นว่า คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพสามารถนำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้ขอรับใบอนุญาตที่เกิดขึ้นก่อนการใช้บังคับพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ มาประกอบการใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพในการพิจารณาคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ขอรับใบอนุญาตและผู้ขอต่ออายุใบอนุญาตได้..."
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เผยแพร่ความเห็นทางกฎหมาย เรื่อง การพิจารณาลักษณะต้องห้ามในการขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ทางการศึกษา
โดยระบุว่า สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาได้มีหนังสือ ที่ ศธ ๕๑๐๔.๓/๔๔๓๙ ลงวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปความได้ว่า ด้วยคณะกรรมการคุรุสภา ในการประชุมครั้งที่ ๑๔/๒๕๕๗ เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๕๗ ได้พิจารณาลักษณะต้องห้ามในการขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา แล้วมีมติเห็นชอบให้เสนอคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อวินิจฉัยถึงลักษณะต้องห้ามในการขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษาและการต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา
โดยปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายกรกฎ ภาแก้ว ปัจจุบันดำรงตำแหน่งครู วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ โรงเรียนบ้านโนนหวางโนนกุง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอำนาจเจริญ ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูโดยผลของกฎหมายตามบทเฉพาะกาลมาตรา ๘๔ และมาตรา ๘๕ แห่งพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ ประกอบกับข้อ ๙ แห่งข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ พ.ศ. ๒๕๔๗
ต่อมานายกรกฎฯ มีความประสงค์จะขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่านายกรกฎฯ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอาจารย์ ๒ โรงเรียนบ้านโนนหวางโนนกุง สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอพนา สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดอำนาจเจริญได้กระทำผิดวินัยและถูกลงโทษตัดเงินเดือน ร้อยละ ๕ เป็นเวลา ๒ เดือน ตามคำสั่งสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดอำนาจเจริญ ที่ ๑๔๐/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๔๖ เนื่องจากในการขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษาและการต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา กำหนดให้ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ต้องไม่มีพฤติกรรมเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดีตามมาตรา ๔๔ (ข) แห่งพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ ประเด็นปัญหาจึงมีอยู่ว่า การขอรับใบอนุญาต
และการต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ จะนำพฤติกรรมการกระทำผิดที่เกิดก่อนพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ ใช้บังคับมาพิจารณาว่าเป็นพฤติกรรมเสื่อมเสียเข้าข่ายลักษณะต้องห้ามในการขอรับใบอนุญาตตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๔๔ (ข) แห่งพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ เป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๘) ได้พิจารณาข้อหารือดังกล่าวโดยมีผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ (สำนักงานปลัดกระทรวง) และผู้แทนสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว ปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมตามคำชี้แจงของผู้แทนสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาว่า
ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษาตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา
พ.ศ. ๒๕๔๖ มีอายุห้าปีตามข้อ ๑๘ แห่งข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ พ.ศ. ๒๕๔๗ และคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพจะพิจารณาเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม
ตามมาตรา ๔๔ แห่งพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ เฉพาะกรณี
การขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษาภายหลังจากที่พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ ใช้บังคับแล้วเท่านั้น
สำหรับกรณีผู้ที่ดำรงตำแหน่งครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาอื่นอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ ใช้บังคับและได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษาไปโดยผลของบทเฉพาะกาลตามมาตรา ๘๔ และมาตรา ๘๕ แห่งพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ แล้ว คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพจะไม่นำมาตรา ๔๔ แห่งพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ มาใช้ในการพิจารณา
ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๘) ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า มาตรา ๔๓ แห่งพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ ได้บัญญัติให้วิชาชีพครู ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้บริหารการศึกษาเป็นวิชาชีพควบคุม และห้ามมิให้ผู้ใดประกอบวิชาชีพควบคุมโดยมิได้รับใบอนุญาต ซึ่งมาตรา ๔๔ แห่งพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ กำหนดให้ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพควบคุมต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม โดยในส่วนของลักษณะต้องห้ามนั้น ได้มีการกำหนดไว้ ๓ ประการ คือ (๑) เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี (๒) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ และ (๓) เคยต้องโทษจำคุกในคดีที่คุรุสภาเห็นว่าอาจนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ และมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้บัญญัติให้การขอรับใบอนุญาต การออกใบอนุญาต การกำหนดอายุใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต การขอรับใบแทนใบอนุญาต และการออกใบแทนใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในข้อบังคับของคุรุสภา ซึ่งคุรุสภาได้ออกข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ พ.ศ. ๒๕๔๗ โดยข้อ ๕ และข้อ ๖ แห่งข้อบังคับดังกล่าวได้กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้บริหารการศึกษาไว้ ในการพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพควบคุมจึงต้องพิจารณาตามบทบัญญัติดังกล่าว เว้นแต่ในกรณีวาระเริ่มแรกของการใช้บังคับพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ เท่านั้น
เนื่องจากมีบทเฉพาะกาลตามมาตรา ๘๔ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติให้ครูซึ่งเป็นสมาชิกของคุรุสภาอยู่แล้วก่อนพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มีสิทธิได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ และมาตรา ๘๕ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันที่บัญญัติให้ในวาระเริ่มแรก ให้คุรุสภาออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาที่ดำรงตำแหน่งครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาอื่น และภายในสามปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้มีการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามข้อบังคับของคุรุสภา ทั้งนี้ ให้ผู้ปฏิบัติงานในตำแหน่งดังกล่าวมีสิทธิได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ จึงทำให้บุคคลดังกล่าวได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพโดยผลของกฎหมายทันทีโดยไม่ต้องพิจารณาถึงคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามแต่อย่างใด
กรณีตามข้อหารือที่ว่า การขอรับใบอนุญาตและการต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ จะนำพฤติกรรมการกระทำผิดที่เกิดก่อนพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ ใช้บังคับมาพิจารณาว่าเป็นพฤติกรรมเสื่อมเสีย เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามในการขอรับใบอนุญาตตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๔๔ (ข) แห่งพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ เป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ นั้น
เห็นว่า การพิจารณาลักษณะต้องห้ามของผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพควบคุมว่าเป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดีตามมาตรา ๔๔ (ข) (๑) แห่งพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ ประกอบกับข้อ ๕ข. (๑) แห่งข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ พ.ศ. ๒๕๔๗ เป็นอำนาจของคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพที่จะใช้ดุลพินิจในการพิจารณาข้อเท็จจริงในแต่ละกรณีว่าพฤติกรรมของผู้ขอรับใบอนุญาตมีลักษณะเป็นพฤติกรรมที่เสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดีซึ่งจะกระทบต่อการประกอบวิชาชีพตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ หรือไม่ ซึ่งการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามในเรื่องความประพฤติของผู้ขอรับใบอนุญาตไม่ใช่เรื่องการกำหนดโทษทางอาญา หากแต่เป็นเรื่องพฤติกรรม ความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมและการดำรงตนของผู้ขอรับใบอนุญาตแต่ละบุคคล
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๘) จึงเห็นว่า คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพสามารถนำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้ขอรับใบอนุญาตที่เกิดขึ้นก่อนการใช้บังคับพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ มาประกอบการใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพในการพิจารณาคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ขอรับใบอนุญาตและผู้ขอต่ออายุใบอนุญาตได้
อย่างไรก็ดี จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏเพิ่มเติมนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๘) มีข้อสังเกตด้วยว่า คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพควบคุมตามมาตรา ๔๔ แห่งพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ ต้องนำมาใช้พิจารณาทุกครั้งเมื่อมีการขอรับใบอนุญาตรวมถึงการต่ออายุใบอนุญาตด้วย การได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูโดยผลของบทเฉพาะกาลตามมาตรา ๘๔ และมาตรา ๘๕ แห่งพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ นั้น ใช้เฉพาะในวาระเริ่มแรกของการใช้บังคับพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ หากมีการขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพใหม่ หรือขอต่ออายุใบอนุญาต คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพควรพิจารณาคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ขอรับใบอนุญาตให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติด้วย
ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพครู ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้บริหารการศึกษาซึ่งเป็นวิชาชีพควบคุมมีคุณธรรม จริยธรรม และประพฤติตนตามจรรยาบรรณของวิชาชีพ รวมทั้งมีคุณภาพและมาตรฐานตามเจตนารมณ์ที่กฎหมายบัญญัติ
ลงชื่อ นายธรรมนิตย์ สุมันตกุล
รองเลขาธิการฯ รักษาราชการแทน
เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก gotoknow.org