11 ปีกรือเซะ...แผลในใจที่ยังไม่เลือนหาย กับบทเรียนที่รัฐ (ไม่) จดจำ
ย้อนกลับไปในวันที่ 28 เมษายน เมื่อ 11 ปีที่แล้ว ที่มัสยิดกรือเซะเป็นหนึ่งใน 11 จุดที่เกิดเหตุรุนแรงที่ก่อความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินมากที่สุดครั้งหนึ่งของสถานการณ์ไฟใต้รอบใหม่ที่คุโชนขึ้นมาตั้งแต่ปี 2547
มัสยิดกรือเซะในมิติของการเป็นศาสนสถานสำคัญของศาสนาอิสลามในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลายเป็นสัญลักษณ์ของความรุนแรงที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะมีการใช้อาวุธหนักยิงถล่มเข้าไปในมัสยิด เพื่อจับตายคนที่ฝ่ายรัฐเชื่อว่าเป็นคนร้ายที่ปฏิบัติการโจมตีป้อมจุดตรวจกรือเซะไม่ห่างจากมัสยิดมากนัก ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 32 คน จากจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดในวันนั้น 108 คน ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มวัยรุ่นและชายฉกรรจ์ 107 คน ส่วนอีก 1 คนเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ
11 ปีล่วงมา ประเทศไทยมีมาแล้ว 8 รัฐบาล 7 นายกรัฐมนตรี แต่ปัญหาไฟใต้ยังคงเรื้อรัง และไม่มีทีท่าว่าจะยุติลง งบประมาณกว่า 2 แสนล้านบาทที่รัฐบาลทุ่มลงไป มุ่งเน้นด้านการจัดกองกำลังติดอาวุธเพื่อรักษาความปลอดภัย และการพัฒนาพื้นที่ให้มีความเจริญ เพราะเชื่อว่าถ้าพื้นที่มีงาน มีเงิน ความขัดแย้งก็จะหมดไป และกลุ่มผู้ใช้ความรุนแรงก็จะหมดพื้นที่เคลื่อนไหว
วันนี้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีถนนระหว่างจังหวัดขนาดใหญ่ 6 ช่องจราจร มีสิ่งปลูกสร้างขนาดยักษ์ที่เรียกว่านิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล แม้แต่มัสยิดกรือเซะก็มีการซ่อมแซมและพัฒนาพื้นที่โดยรอบให้เป็นลานวัฒนธรรม และตลาดนัด 400 ปี กลายเป็นบริเวณที่คึกคักที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองปัตตานีจนแทบไม่เหลือเค้าลางของความรุนแรงและความสูญเสียในอดีต
แต่ดูเหมือนแนวทางของรัฐบาลทุกชุดที่ผ่านมายังไม่อาจคลี่คลายปัญหาของพื้นที่ได้ เพราะสิ่งที่ประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องการหาใช่การพัฒนาในเชิงกายภาพ แต่คือการลบบาดแผลที่พวกเขาเรียกว่า "ความไม่เป็นธรรม"
เหตุรุนแรงซ้ำรอยที่โต๊ะชูด
เหตุการณ์ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงปิดล้อม-ตรวจค้นที่บ้านโต๊ะชูด ตำบลพิเทน อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี และมีการใช้อาวุธจนมีผู้เสียชีวิตไป 4 คน คือภาพสะท้อนความไม่เป็นธรรมในความรู้สึกของพี่น้องประชาชนที่นั่น เพราะต่อมามีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงขึ้น และสรุปผลว่าผู้เสียชีวิตไม่ใช่คนร้าย ไม่ใช่แนวร่วมขบวนการก่อความไม่สงบ แต่ 2 ใน 4 คนกลับเป็นนักศึกษา ที่เหลือเป็นวัยรุ่นในหมู่บ้านที่ไม่มีประวัติก่อเหตุรุนแรง
สิ่งที่ครอบครัวผู้เสียชีวิตกังวลแม้ผลสอบสวนจะยืนยันว่าลูกหลานของตนเป็นผู้บริสุทธิ์ ก็คือ จะมีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้อาวุธได้จริงหรือไม่
มาหามะ เซ็นและ บิดาของ สุไฮมี เซ็นและ หนึ่งในเหยื่อกระสุนจากปฏิบัติการปิดล้อมที่บ้านโต๊ะชูด กล่าวว่า อยากให้ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการสอบสวนเอาผิดผู้กระทำให้เป็นกรณีตัวอย่าง ไม่อยากให้เรื่องเงียบหายไปเหมือนกรณีอื่นๆ
"ผมรู้สึกสงสารเด็กๆ ที่ต้องมาเสียชีวิตไป จริงๆ พื้นที่ตำบลพิเทนไม่เคยมีปัญหาขัดแย้งระหว่างพุทธกับอิสลาม ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข จึงไม่อยากให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นจนกลายเป็นความหวาดระแวง"
มาหามะ ซึ่งประกอบอาชีพเก็บกระดาษเหลือใช้ตามบ้านไปขายในตัวเมืองยะลา โดยใช้รถกระบะคันเก่าสีเขียวเป็นพาหนะ เล่าด้วยว่า ตั้งแต่เกิดเรื่องยังแทบไม่มีแรงขับรถไปทำงาน เพราะรถคันนี้ขับส่งลูกชายเรียนจนจบปริญญา แต่วันนี้เขาเสียลูกชายไปแล้ว
3 ปีปุโละปุโยยังไร้คืบหน้า
ความรู้สึกชองครอบครัวผู้สูญเสียที่บ้านโต๊ะชูด ไม่แตกต่างอะไรกับพี่สาวของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ทหารพรานใช้อาวุธสงครามกราดยิงใส่รถกระบะของชาวบ้านน้ำดำ ตำบลปุโละปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เมื่อกลางดึกของวันที่ 29 มกราคม 2555 ซึ่งมีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงหลังเกิดเหตุการณ์เหมือนกัน และผลสรุปก็คล้ายๆ กันว่าผู้เสียชีวิตไม่ใช่คนร้าย แต่เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติการเกินกว่าเหตุ
ทว่าจนถึงวันนี้ ผ่านมา 3 ปีแล้ว เธอยังไม่รู้ว่าเจ้าหน้าที่ที่สาดกระสุนใส่น้องชายของเธอเป็นใคร และถูกดำเนินคดีไปแล้วหรือยัง
อาอิดะห์ บือราเฮง บอกว่าไม่เคยทราบข่าวคราวความเคลื่อนไหวทางคดี ทราบแต่ข่าวความรุนแรงที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดคือที่บ้านโต๊ะชูด ซึ่งคล้ายคลึงกับกรณีน้องชายของเธอมาก
"เราได้เงินเยียวยา 7.5 ล้านบาทแล้วก็จริง แต่ค่าชีวิตของคนสามจังหวัดแค่เจ็ดล้านห้าหรือ สิ่งที่เราอยากได้คือความเป็นธรรม ความคืบหน้าทางคดี และไม่อยากให้เกิดเหตุรุนแรงโดยการใช้อาวุธจนผู้บริสุทธิ์ต้องเสียชีวิตซ้ำอีก ก๊ะเคยคิดว่าอยากให้กรณีของน้องชายเป็นกรณีสุดท้าย แต่หลังจากนั้นก็ยังเกิดเหตุการณ์คล้ายๆ กันอีกหลายเหตุการณ์ แสดงว่ารัฐไม่ได้แก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง" อาอิดะห์ กล่าว
กรือเซะ...บท (ที่รัฐไม่ยอม) เรียน
ความล้มเหลวในการนำตัวเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติและผู้บังคับบัญชาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมซึ่งเกิดขึ้นกับเหตุการณ์เสียชีวิตหมู่ครั้งใหญ่ 2 ครั้งในรอบ 3 ปีหลังของสถานการณ์ไฟใต้ ไม่ได้ต่างอะไรกับสิ่งที่เกิดขึ้นหลังเกิดเหตุการณ์ยิงอาวุธหนักถล่มใส่มัสยิดกรือเซะจนมีผู้เสียชีวิตถึง 32 คนเมื่อ 11 ปีที่แล้ว เพราะครอบครัวผู้ตายหลายคนเชื่อว่า บิดาหรือสามีของตนไม่ใช่คนร้าย
หลังเกิดเหตุการณ์กรือเซะ รัฐบาลในขณะนั้นซึ่งนำโดย พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ได้ตั้งคณะกรรมการอิสระไต่สวนข้อเท็จจริงขึ้น โดยมี นายสุจินดา ยงสุนทร เป็นประธาน ผลการไต่สวนมีการตั้งข้อสังเกตถึงปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่และผู้สั่งการในวันนั้นว่า อาจกระทำอย่างไม่รอบคอบเพียงพอ และไม่คำนึงถึงผลเสียหายใหญ่หลวงที่จะเกิดตามมา
ที่สำคัญคดีนี้ไม่ได้รับการพิสูจน์ความถูกผิดโดยกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกมองว่ากระทำการเกินกว่าเหตุ เพราะพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องทั้งหมด
คอรีเยาะ หะหลี หญิงสาวตัวเล็กๆ จากบ้านส้ม ตำบลควนโนรี อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ซึ่งสูญเสียบิดาไปในปฏิบัติการที่มัสยิดกรือเซะเมื่อ 11 ปีก่อน กล่าวว่า เมื่อคดีไม่ถูกพิสูจน์ในชั้นศาล จึงไม่รู้ว่าใครเป็นคนร้ายหรือคนดี ที่สำคัญเหตุรุนแรงลักษณะนี้ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ แสดงว่ารัฐและฝ่ายความมั่นคงไม่ยอมศึกษาบทเรียนจากกรือเซะเลย
"ส่วนตัวถ้าขอได้ อยากให้รัฐเป็นผู้ริเริ่มยุติความรุนแรงจากการใช้อาวุธก่อน เพื่อสร้างบรรยากาศสันติภาพในพื้นที่ จากนั้นจะเจรจาหรือพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างอย่างไรก็ค่อยๆ ดำเนินการไป" คอรีเยาะ เสนอ
คดีหนึ่งเดียวของกรือเซะ
คดีเดียวที่เกี่ยวกับเหตุการณ์กรือเซะและถูกนำขึ้นสู่ศาล กลับเป็นคดีที่อัยการยื่นฟ้อง อับดุลรอนิง เจ๊ะเลาะ จากเหตุยิงปะทะที่อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี ในวันเดียวกับที่เกิดเหตุรุนแรงที่มัสยิดกรือเซะ
ปัจจุบันคดีถึงที่สุดแล้ว เพราะศาลฎีกาพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต ทั้งๆ ที่ อับดุลรอนิง ให้การปฏิเสธมาโดยตลอดว่าเขาเป็นแต่เพียงผู้ถูกหลอกให้ขับรถพากลุ่มวัยรุ่นและชายฉกรรจ์ไปบุกโจมตีโรงพักภูธรแม่ลาน โดยไม่ทราบข้อเท็จจริงมาก่อน
แม้ครอบครัวของอับดุลรอนิงจะยอมรับคำพิพากษาของศาล แต่ก็อดคิดไม่ได้ถึงความไม่ค่อยจะเป็นธรรมทางความรู้สึก
สิตินอร์ เจ๊ะเลาะ ภรรยาของอับดุลรอนิง บอกว่า เหมือนถูกดำเนินคดีอยู่ฝ่ายเดียว และเมื่อถูกดำเนินคดี เงินเยียวยาที่คนอื่นได้ ก็เลยไม่ได้รับ ทั้งๆ ที่สามีของเธอก็ได้รับบาดเจ็บปางตาย และครอบครัวของเธอก็ยากจน
ปัญหาของคดีความมั่นคง
การดำเนินคดีความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้กลายเป็นอุปสรรคใหญ่ของการสถาปนาความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในหัวใจของผู้คนที่นั่น เพราะคดีที่คาใจประชาชนคนสามจังหวัดเนื่องจากเชื่อว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งมีจำนวนไม่น้อย กลับแทบไม่เคยผ่านกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลเลย
ขณะที่คดีความมั่นคงซึ่งฝ่ายประชาชนคนมุสลิมในสามจังหวัดตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา ถูกจับกุม และถูกฟ้องคดีขึ้นสู่ศาล กลับมีเป็นจำนวนมาก แม้คดีเหล่านี้กว่าร้อยละ 80 ศาลพิพากษายกฟ้อง ทว่าในฐานะผู้ต้องหาและจำเลยก็ต้องหมดสิ้นอิสรภาพเพราะถูกคุมขังคนละไม่ต่ำกว่า 3-5 ปี
ความไม่เป็นธรรมทางความรู้สึกที่อัดแน่นอยู่ในหัวใจของผู้คนที่นั่น ผ่านเหตุการณ์สำคัญอย่างกรือเซะ คือต้นตอของปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงที่ยืดเยื้อในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งคร่าชีวิตพลเรือนและเจ้าหน้าที่รัฐไปแล้วไม่ต่ำกว่า 3 พันคน ทั้งยังเป็นชนวนที่ทำให้มีกลุ่มเยาวชนในพื้นที่หลั่งไหลเข้าสู่วงจรความรุนแรงอย่างไม่รู้จบ
ระวังฆ่าล้างแค้น
สุไฮมี ดูละสะ ประธานสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี หรือเปอร์มัส ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดกิจกรรมใกล้ชิดกับชาวบ้านแทบทุกพื้นที่ขัดแย้ง กล่าวว่า รัฐไทยชอบบอกว่าไม่อยากให้สะกิดแผลในอดีต เช่น เหตุการณ์กรือเซะ ไม่อยากให้หยิบมาพูดถึงอีก แต่รัฐอาจไม่รู้ว่าจนถึงวันนี้คนในพื้นที่ก็ยังพูดถึงเหตุการณ์กรือเซะกันอยู่ และยิ่งมีเหตุรุนแรงลักษณะคล้ายคลึงกันเกิดขึ้นตามมาอีกหลายเหตุการณ์ ย่อมกลายเป็นปัญหาทางความรู้สึกไม่รู้จบ
สุไฮมี เสนอว่า มี 2 สิ่งที่รัฐต้องเร่งทำ คือ 1.หยุดซุกปัญหาไว้ใต้พรม แล้วนำปัญหาขึ้นมาพูดคุยกันบนโต๊ะ คุยกับทุกฝ่าย ทั้งชาวบ้านทั่วไป เยาวชน นิสิตนักศึกษา และกลุ่มผู้เห็นต่าง กับ 2.เร่งปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เพราะหากปล่อยไว้แบบนี้โดยไม่ทำอะไร จะมีการฆ่าล้างแค้นกันไปมาไม่หยุด
แม้รัฐบาลชุดปัจจุบันและชุดก่อนหน้าได้เปิดการเจรจากับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐอย่างเป็นทางการ แต่นั่นก็ดูจะไม่ทำให้สถานการณ์โดยรวมดีขึ้น เพราะเมื่อยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากทางฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ ก็ทำให้เกิดการใช้ความรุนแรงตามมา ดังเช่นเหตุสังหารหมู่ชาวบ้านไทยพุทธหลายครอบครัวที่เกิดขึ้นหลังกรณีวิสามัญฆาตกรรม 4 ศพที่อำเภอทุ่งยางแดง โดยเฉพาะเหตุฆ่ายกครัว 2 ครอบครัวไทยพุทธที่อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2558
ครูประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ อธิบายว่า ปัญหาความรุนแรงที่ชายแดนใต้มีหลายมิติ ส่วนหนึ่งเป็นการกระทำของกลุ่มที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนโดยใช้ความรุนแรง และมักใช้เงื่อนไขความไม่เป็นธรรมในการปฏิบัติการความรุนแรงต่อเนื่องกับคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้า
ขณะที่ความไม่สมดุลในการดำเนินคดีความมั่นคง ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง ซึ่งเขาเห็นว่าการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ไม่ใช่เฉพาะที่ชายแดนใต้ ส่วนทางออกของปัญหาที่ปลายด้ามขวาน ต้องทำหลายๆ มิติพร้อมๆ กัน ทั้งเรื่องความเป็นธรรม การพูดคุยเจรจา และการพัฒนาพื้นที่
ทางออกต้องเริ่มที่รัฐ
การปรับยุทธศาสตร์ของรัฐในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงไม่ควรมุ่งไปที่การพัฒนาทางวัตถุ การผลักดันโครงการขนาดใหญ่ หรือการจ่ายเงินเยียวยาแล้วจบกันไปเหมือนที่ครอบครัวผู้สูญเสียส่วนใหญ่รู้สึก แต่ควรมุ่งไปที่การเยียวยาด้านจิตใจ และสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นจริงให้ได้ทั้งในทางกฎหมายและทางความรู้สึก
พลตำรวจโทอนุรุต กฤษณะการะเกตุ ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า วันนี้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาตลอด 11 ปี ก่อความเสียหายให้กับคนในพื้นที่มาก ทั้งการสูญเสียชีวิต บาดเจ็บ และกระทบกับภาวะเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ฉะนั้นรัฐต้องยุติความรุนแรงให้ได้ โดยเริ่มจากฝ่ายรัฐเอง
"วันนี้รัฐต้องปรับตัว ปรับวิธีการ ต้องเอากฎหมายพิเศษไว้ข้างหลัง ไม่ใช่อะไรๆ ก็จับ อะไรๆ ก็ผิดกฎหมาย อะไรๆ ก็มองชาวบ้านเป็นคนร้าย แต่รัฐต้องหันมาพูดคุย สร้างความเข้าใจ เพื่อให้ประชาชนร่วมมือกับรัฐในการสร้างสันติสุข" พลตำรวจโทอนุรุต กล่าว
เพราะหากรัฐไม่ปลดชนวนทางความรู้สึกในหัวใจของประชาชน ด้วยการสถาปนาความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นได้จริง เหตุการณ์อย่างกรือเซะ ตากใบ และอื่นๆ ก็จะยังกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความไม่เป็นธรรมที่ใช้ปลุกกระแสสร้างความเกลียดชังและความรุนแรงในพื้นที่ต่อไป...
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ภาพ : มัสยิดกรือเซะ
หมายเหตุ : สกู๊ปชิ้นนี้จัดทำเป็นสารคดีโทรทัศน์ด้วย โดย ปกรณ์ พึ่งเนตร และทีมข่าวพีพีทีวี ติดตามชมได้ในรายการ "เป็นเรื่องเป็นข่าว" ทางสถานีโทรทัศน์พีพีทีวี (ทีวีดิจิทัล ช่อง 6, 36, 46) เวลา 21.00 น.วันที่ 28 เมษายน 2558