สธ.พร้อมส่ง“ทีมแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ เวชภัณฑ์” ช่วยเหยื่อแผ่นดินไหว เนปาล
ก.สาธารณสุข จัดเตรียมทีมแพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักจิตวิทยา นักวิชาการด้านควบคุมโรค การดูแลสุขาภิบาลอาหารน้ำ 1 ทีม พร้อมเวชภัณฑ์ยารักษาโรค ชุดทำแผล เดินทางไปช่วยเนปาล
ศ.นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการเตรียมพร้อมส่งหน่วยแพทย์ไปช่วยประเทศเนปาล เพื่อดูแลรักษาประชาชนเนปาลที่ประสบภัยจากเหตุแผ่นดินไหวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมการให้การช่วยเหลือประเทศเนปาลในเบื้องต้น 2 เรื่อง ได้แก่
1.ได้สั่งการให้สำนักงานการสาธารณสุขฉุกเฉิน และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ จัดเตรียมหน่วยแพทย์ครบชุด ซึ่งประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักวิชาการสุขาภิบาล นักวิชาการควบคุมโรค นักจิตวิทยาพร้อมเวชภัณฑ์ ยารักษาโรค โดยเฉพาะยาฆ่าเชื้อ วัคซีนป้องกันโรค เช่น บาดทะยัก รวมทั้งชุดทำแผลต่างๆ เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่มีบาดแผลซึ่งคาดว่าจะมีความจำเป็นมาก โดยทีมชุดแรกมีประมาณ 30 คน พร้อมจะเดินทางตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป
และ 2.ให้ตั้งศูนย์ปฎิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นศูนย์กลางประสานงานความช่วยเหลือจากหน่วยงานภายใน อาทิ กรมการแพทย์ กรมสุขภาพจิต ทีมส่วนภูมิภาคในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และสหวิชาชีพจากหน่วยงานภายนอก อาทิ ศิริราช รามาธิบดี โรงพยาบาลภูมิพลฯ โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร เป็นต้น จำนวน 3 ทีม พร้อมสามารถปฏิบัติงานได้ในพื้นที่ 3 จุด และติดตามประเมินสถานการณ์ผลกระทบด้านสุขภาพประชาชน อย่างใกล้ชิด เนื่องจากประเทศเนปาล เป็นประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกัน โดยกระทรวงสาธารณสุข จะประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศอย่างใกล้ชิด
ทางด้านนายแพทย์สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการให้ความช่วยเหลือประเทศเนปาลของหน่วยแพทย์ไทยครั้งนี้ ได้วางแผนไว้ 4 เรื่อง ประกอบด้วย 1.การรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วย อาจมีทั้งการให้เจ้าหน้าที่ไทยร่วมปฏิบัติงานกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของเนปาลในโรงพยาบาลเนปาล ที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่รับความเสียหาย หรืออาจปรับให้เป็นโรงพยาบาลสนามขนาดย่อยๆ 1 โรงพยาบาล หรืออาจปฏิบัติเป็นหน่วยแพทย์บริการเคลื่อนที่ขนาดเท่ากับแผนกผู้ป่วยนอก ของโรงพยาบาลชุมชน รูปแบบขึ้นอยู่กับสถานการณ์จริงในพื้นที่ 2. การควบคุมโรค และการรักษาความสะอาด ของสุขาภิบาลอาหารและน้ำดื่ม เพื่อป้องกันโรคไม่ให้เกิดซ้ำเติม ที่สำคัญได้แก่ โรคอุจจาระร่วง 3.การดูแลสุขภาพจิตประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่สูญเสีย ไร้ญาติ ผู้สูงอายุ เด็ก และอาจร่วมค้นหาผู้รอดชีวิต 4.การจัดการศพ และการพิสูจน์เอกลักษณ์ศพเป็นต้น
ทั้งนี้ ในการวางแผนการช่วยเหลือในแต่ละด้านนั้น กระทรวงสาธารณสุขจะส่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆลงไปประเมินสถานการณ์ เพื่อนำมาวางแผนจัดระบบการช่วยเหลืออย่างครบถ้วน ขณะเดียวกันได้ระดมหน่วยแพทย์สำรองไว้อย่างเต็มที่ พร้อมที่จะเดินทางไปสับเปลี่ยนหรือเสริมการปฏิบัติงานเพิ่มเติมในจุดที่จำเป็น โดยจะให้แต่ละทีมอยู่ปฏิบัติการทีมละ 2 สัปดาห์ เตรียมเครื่องมือเครื่องใช้ภาคสนามไปให้พร้อม เช่น อาหาร น้ำ เครื่องครัว เครื่องปั่นไฟ ระบบการสื่อสาร เพื่อความคล่องตัว ไม่เป็นภาระของประเทศเนปาล
ที่มาภาพ:https://twitter.com/EconomicTimes/status/592549897980682240/photo/1