‘ทวาย’ บ้านเมืองที่เรา (ไม่) รู้จัก
เวลานี้คนตื่นทวายเรื่องท่าเรือน้ำลึก แต่คนทวายเป็นอย่างไร บ้านเมืองเขาเป็นอย่างไร ไม่เคยรู้ ทั้งๆ ที่ในประวัติศาสตร์เราอาจมีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น
แม้คนไทยจะเคยได้ยิน และมักคุ้นหูกับโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจทวาย แต่เรารู้จักมิติอื่น ๆ ของ 'ทวาย' มากน้อยแค่ไหน ?
คำถามนี้ท้าทายองค์ความรู้คนไทยเป็นอย่างยิ่ง เมื่อเร็วๆ นี้ มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ร่วมกับเสมสิกขาลัย ชวนคนในและคนนอก อย่างรศ.ศรีศักร วัลลิโภดม ที่ปรึกษามูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ อาจารย์ ซอ ทูระ สมาคมวิจัยทวาย และนางสาวลัลธริมา หลงเจริญ นักกิจกรรมอิสระ มาร่วมพูดคุยเรื่อง ‘ทวาย’ บ้านเมืองที่เราไม่รู้จัก ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ตลิ่งชัน กรุงเทพฯ
โครงการข้ามคาบสมุทร หรือเส้นทางติดต่อระหว่างคาบสมุทร นับได้ว่า เป็นความใฝ่ฝันของคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia) จากที่หลายคนรู้จักแต่คลองคอดกระเชื่อมทะเลตะวันตกและทะเลตะวันออก ปัจจุบันเราอาจนึกไม่ถึงว่า การพัฒนาพื้นที่ทวายฯ ก็เป็นอีกความใฝ่ฝันของมนุษย์ที่อยากจะทำเส้นทางติดต่อระหว่างคาบสมุทรนี้มาเป็นพันๆ ปีแล้ว
‘ทวาย’ บ้านเมืองที่เราไม่รู้จัก
“คนปัจจุบันรู้จักทวายในมิติเศรษฐกิจการเมือง แต่ไม่รู้จักทวายในทางสังคม วัฒนธรรม” อาจารย์ศรีศักร เริ่มต้นให้ทัศนะ และเห็นว่า ที่เวลานี้คนตื่นทวายเรื่องท่าเรือน้ำลึก แต่คนทวายเป็นอย่างไร บ้านเมืองเขาเป็นอย่างไร เราไม่เคยรู้ ทั้งๆ ที่ในประวัติศาสตร์เราอาจมีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น
การพัฒนาที่ผ่านมาทำให้เราไม่รู้จักใคร คนในเราก็ไม่รู้จัก คนนอกก็ไม่รู้จัก นี่คือจุดอ่อนของสังคมไทย เราไม่รู้จักใครในโลก
“ทวาย” เมืองชายฝั่งทะเลอันดามันในรัฐตะนาวศรีของเมียนม่าร์ อยู่ใต้สุดของแผ่นดินเมียนม่าร์ ห่างจากฝั่งไทยที่ด่านพุ น้ำร้อน จังหวัดกาญจนบุรี 140 กิโลเมตร รศ.ศรีศักดิ์ ให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ เพื่อชี้ว่า ทวายมีความสัมพันธ์กับไทยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งทวายสมัยอยุธยาเคยเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรสยาม เป็นเมืองท่าที่สำคัญ และยังเป็นแหล่งท่าเรือการค้าทางทะเลที่เก่าแก่ที่สุด
“ทวาย” รัฐชายทะเลที่ใหญ่ที่สุดในบริเวณนี้ ขณะที่ลึกเข้าไปเมืองทวายยังมีลากูนขนาดใหญ่ เช่นเดียวกับสงขลาของไทย ที่มีทะเลสาปภายใน ลักษณะเฉพาะที่มีลากูนกินพื้นที่ยาวมากนี่เอง สองฝั่งของลากูน มีเวิ้งน้ำขนาดใหญ่ ทำให้เกิดบ้านเล็กเมืองน้อยมากมายนับไม่ถ้วน
นักวิชาการด้านมานุษยวิทยาและโบราณคดี เห็นว่า หากมีการจัดการทางการค้า หรือสร้างเส้นทางข้ามคาบสมุทร หรือพัฒนาพื้นที่ตรงนี้จะไปกระทบต่อชุมชนในเขตชายฝั่งหลายชุมชน
รศ.ศรีศักดิ์ ยังเล่าถึงการไปท่องเที่ยงเชิงวัฒนธรรม และได้เห็นสภาพบ้านเมืองทวายเหมือนย้อนกลับไปสมัยกรุงเทพฯ เมื่อ 50 ปีก่อนที่ยังมีความร่มรื่น เมืองไม่แออัด บ้านช่องเป็นระเบียบ คนอยู่น้อย มีโรงหนัง โรงละครแบบเก่าๆ ตลาดแบบเก่าๆ
“ดูแล้วผมประทับใจ เมืองทวายเป็นสังคมน้องๆ ศรีลังกา ที่พุทธศาสนายังดำรงอยู่อย่างมั่นคง คนที่เป็นสถาปนิก หากศึกษาเมืองโบราณ ผมบอกได้ว่า ไม่มีใครสู้ที่ทวายได้ เราจะได้เห็นชีวิตที่สงบของชุมชนที่ผมไม่ได้พบที่อื่นเลย ยกเว้นศรีลังกา”
นี่คือ ภาพกว้างๆ ของทวาย จากสายตาคนนอก...
ทวายบ้านเมืองที่รู้จัก
สายตาคนใน ซึ่งเป็นคนทวายโดยแท้ “อาจารย์ ซอ ทูระ” อดีตเคยเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยทวาย ก่อนลาออกมาตั้งสมาคมวิจัยทวาย เป็นผู้หนึ่งที่ร่วมทีมสำรวจทวายกับนักวิชาการระดับนานาชาติทางด้านโบราณคดี ศ.เอลิซาเบธ มัวร์ (Prof. Elizabeth Moore)
อาจารย์ ซอ ทูระ ยอมรับว่า วันนี้ทวายมีชื่อเสียงเรื่องท่าเรือน้ำลึก ปีที่แล้วนักธุรกิจญี่ปุ่นบอกกับเขาว่า ทวาย เป็นสวรรค์แห่งสุดท้ายของญี่ปุ่นมีนักธุรกิจจากหลายประเทศเข้ามาทวายอย่างรวดเร็ว ทั้งยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลี จีน และไทย ขณะที่ปัญหาภายในประเทศ โดยเฉพาะเรื่องความขัดแย้งยังมีอยู่มากมาย
แล้วทวายพร้อมหรือยังกับคำว่า “พัฒนา” ? อาจารย์ ซอ ทูระ ตั้งคำถามกับบ้านเกิดเมืองนอนของเขา
"60 ปีที่ผ่านมา ที่มีสงครามภายในประเทศเมียนม่าร์ ทำให้หลักฐานทางโบราณคดีหลายชิ้นสำคัญๆ ถูกทำลาย และหายไป" เขาโชว์หลักฐานทางโบราณคดีซึ่งเป็นภาพถ่าย พร้อมกับชี้ว่า ทวายมีประชากรกว่า 8 แสนคน (รัฐตะนาวศรีประชากรประมาณ 2 ล้านคน) วิถีชีวิตของคนที่นี่ค่อนข้างสงบสุข อาศัยบริเวณแม่น้ำทวาย ส่วนใหญ่มีอาชีพประมง และทำสวน
ขณะที่หลักฐานพงศาวดาร มีการบันทึกว่า ที่ทวายพบเมืองโบราณอยู่ถึง 16 เมือง แต่หากศึกษาโดยใช้แผนที่ทางอากาศพบเมืองโบราณ 4 เมือง
เมืองโบราณใหญ่ที่สุด คือ เมืองทาคะระ(Thagara) แปลว่า เมืองสายน้ำ ท่าเรือ อยู่ทางเหนือของเมืองทวายปัจจุบันและอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำทวาย มีการขุดพบโบราณวัตถุสำคัญๆ หลายชิ้น
"ช่วงปี 2551 ที่รัฐบาลไทยและรัฐบาลเมียนม่าร์ มีการลงนามความร่วมมือ (MOU) โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ต่อมามีการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการนั้น ลงนามฯ ตอนนั้นได้สร้างความวิตกกังวลให้ชาวบ้านอย่างมาก เพราะเมืองโบราณทาคะระ อยู่ใกล้กับเขตเศรษฐกิจพิเศษแค่ 3 กิโลเมตร
ผมพยายามเขียนรายงานเกี่ยวกับเรื่องเมืองโบราณนี้ที่ทวายเพื่อให้รัฐบาลกลางของเมียนม่าร์ได้รับทราบ พร้อมเสนอว่า ควรจะทำการปกป้องเมืองโบราณสำคัญๆ ไม่ให้ถูกกระทบจากการพัฒนา" อาจารย์ ซอ ทูระ บอกถึงความตั้งใจ แต่รัฐบาลเมียนม่าร์กลับสนใจเฉพาะพื้นที่ส่วนกลาง เช่น พุกาม
ทวายถือเป็นพื้นที่ทางภาคใต้ ห่างไกลจากศูนย์กลางประเทศ รัฐบาลที่ผ่านๆ มาจึงไม่ให้ความสนใจ ไม่มีสาขาด้านศิลปกรรม หรือกรมศิลปากรในพื้นที่ทวายเลย
อีกเมือง คือ เมืองโมกติ (Mokti) อยู่ทางใต้ของเมืองทวายทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำทวาย หลักฐานที่ค้นพบ เช่น วัตถุโบราณยุคเพี่ยวหรือพยู่ (Pyu) ยุคพุกามตอนต้น รูปปั้นฮินดู รวมถึงพระพิมพ์จำนวนมากจากที่นี่
โบราณวัตถุพบที่เมืองวีดี เหรียญตะกั่วและดีบุก ภาพบนเหรียญส่วนใหญ่เป็น นาค หงส์ มังกร
เมืองวีดี (Weidi) ห่างจากทวาย 17 กิโลเมตร อยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำทวาย ขุดพบเหรียญตะกั่วค่อนข้างมาก และเมืองโบราณสุดท้าย ชื่อเมือง SinSeik เคยพบหลักฐานภาพถ่ายทางอากาศ ปัจจุบันเมืองแห่งนี้ที่หายจากพื้นที่ไปแล้ว ช่วงที่รัฐบาลเมียนม่าร์ขยายพื้นที่เพื่อสร้างสนามบิน
นอกจากนี้ นักโบราณคดีทวายของเมียนม่าร์ท่านนี้ ยังนำภาพการค้นพบโบราณวัตถุ เช่น หินศิลาแลง พระพิมพ์ขนาดใหญ่ ทั้งที่เมืองโบราณทั้ง 4 แห่ง กระจัดกระจายเต็มพื้นที่ทวาย รวมไปถึงการพบเหรียญตะกั่ว ลูกปัด เช่นเดียวกับพื้นที่ภาคใต้ของไทย
“ผมมาเมืองไทย พบคนไทยนำไก่ชนนำถวายพระนเรศวร เราก็มีขุดพบเหรียญตะกั่ว ส่วนใหญ่เป็นภาพที่มีลักษณะของสัตว์ในจินตนาการทางพุทธศาสนา เช่น นาค หงส์ มังกร แต่มีอยู่เหรียญหนึ่งที่ภาพบนเหรียญปรากฏรูปไก่ชน สลักคำว่า มหาพุทธะ และสลักปี 971 หรือราวค.ศ.1609 น่าสังเกตุว่า จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับยุคพระนเรศวรที่รุ่งเรืองหรือไม่”อาจารย์ ซอ ทูระ ฉายภาพเมืองทวาย ประวัติศาสตร์ 4,000 ปี ที่เขารู้จัก
พร้อมกับบตั้งความหวังในอนาคตจะมีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยค้นคว้า และศึกษาประวัติศาสตร์ทางโบราณคดีของทวายให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น นอกเหนือไปจากโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย มิติการพัฒนาอย่างเดียว
เขาทิ้งท้าย เมื่อถูกถามคำถาม ตกลงทวายคือใคร ด้วยว่า
“ข้อสรุปของผม ทวาย ก็คือ ทวาย ไม่ใช่มอญ ทวายรับวัฒนธรรมที่หลากหลายแบ่งปันแลกเปลี่ยนจากมอญ จีน อินเดีย ศรีลังกา แต่เราก็มีวัฒนธรรมของเราเอง และแม้จะมีการขุดพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีความเกี่ยวข้องกับยุค Pyu กัมพูชา อินเดีย ไทย ลาว มาเลเซีย ศรีลังกา เนื่องจากภูมิศาสตร์เราอยู่ใน 4 แยกของท่าเรือ ทุกคนมาที่ทวาย
เวลาผมเจอกับคนเมียนม่าร์ คนเมียนม่าร์ก็จะบอกว่า ทวายเป็นรัฐหนึ่งของเมียนม่าร์ เจอคนมอญ คนมอญก็จะบอกว่า ทวายเป็นส่วนหนึ่งของมอญ เจอคนยะไข่ ก็จะบอก ทวายเป็นส่วนหนึ่งของยะไข่ ตกลงทวายคือใคร ถามคนไทย ผมก็คิดว่า คนไทยบอก ทวายเคยเป็นของคนไทยเช่นกัน”
ทวายปัจจุบัน
สำหรับผู้ติดตามผลกระทบจากการโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจทวาย มาไม่ต่ำกว่า 5 ปี “ลัลธริมา” บอกว่า มีผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาแล้ว และเป็นเสียงที่เราอาจไม่เคยได้ยิน
ทั้งมีการระเบิดภูเขาเพื่อนำหินมาใช้ในการก่อสร้างท่าเรือ ทำลายแหล่งต้นน้ำของชาวบ้าน สวนมะห่วงหิมพานต์พืชเศรษฐกิจสำคัญของชาวบ้านถูกทำลาย
สำหรับความเป็นมาสั้นๆ โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย หากจำกันได้เริ่มต้นปี 2551 หลังเกิดพายุนากีสเพียงไม่นาน รัฐบาลไทยและเมียนม่าร์ลงนามความร่วมมือท่าเรือน้ำลึก
ต่อมาบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ได้รับสัมปทานเพื่อดำเนินโครงการเป็นเวลา 60 ปี และศึกษาความเป็นไปได้
จากนั้นโครงการนี้เงียบหายไป ติดปัญหาการหาผู้ร่วมทุน จนปี 2553 ก่อนเมียนม่าร์มีการเลือกตั้งทั่วไป มีการชิงลงนามให้สิทธิบริษัท อิตาเลียนไทยฯ ทำเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ทั้งโครงการท่าเรือน้ำลึก เขตนิคมอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า อ่างเก็บน้ำ ท่อส่งแก๊ซ ท่อส่งน้ำมัน เป็นต้น
พอปี 2555 โครงการนี้ไม่มีแหล่งเงินกู้จึงถูกระงับไป ก่อนจะพยายามหาทุนจากที่อื่นๆ มาร่วมลงทุนหลังจากที่แหล่งทุนหลายแห่งถอนตัวไป จนรัฐบาลไทยกับรัฐบาลเมียนม่าร์จึงต้องเข้าไปอุ้ม และตั้งบริษัทนิติบุคคลเฉพาะกิจขึ้นมา ช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์
นักกิจกรรมอิสระ ลำดับความเป็นมา และว่า หลังจากนั้น พอมีการรัฐประหาร คนทวายดีใจมากหวังว่าโครงการนี้จะถูกพับไป แต่ปลายเดือนมกราคม 2558 ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยชุดปัจจุบันรับรองร่วมลงนามบันทึกเพื่อความเข้าใจ (MoU) กับรัฐบาลเมียนม่าร์ผลักดันให้เกิดโครงการนี้ต่อไป
"ภาพโครงการทวาย ที่คิดจะทะลุทะลวงจากทะเลอันดามันไปถึงทะเลจีนใต้นั้น ด้วยแนวคิดระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกไปตะวันตก (East West Economic Corridor–EWEC) และมีการพูดถึงการสร้างมอเตอร์เวย์ รถไฟความเร็วสูง จากทวายจะเข้าประเทศไทยและข้ามไปกัมพูชา ออกเวียดนาม อาจมีแวะแหลมฉบัง และมาบตาพุด การพัฒนาพื้นที่ทวายใกล้เคียงกับพื้นที่มาบตาพุด มีอุตสาหกรรมหนัก คือ ท่าเรือน้ำลึกและอู่ต่อเรือ โรงกลั่นน้ำมันครบวงจร โรงถลุงเหล็ก โรงงานผลิตปุ๋ยเคมี อุตสาหกรรมปิโตรเคมี โรงงานแปรรูปกระดาษ โรงไฟฟ้าถ่านหิน อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ การก่อสร้างถนนขยายเป็นสี่เลน การทำเหมืองแร่ต่างๆ”
ทั้งหมดคือฝันอันยิ่งใหญ่ของบริษัทผู้ลงทุนที่ป่าวประกาศกับสื่อต่างประเทศว่า อุตสาหกรรมนี้จะเปลี่ยนเมียนม่าร์ “ลัลธริมา” ตั้งคำถามว่า อุตสาหกรรมหนักเหล่านี้ที่เล่ามาจะเปลี่ยนเมียนม่าร์รูปแบบไหน ในเมื่อคนทวายกว่า 70% ยังยึดอาชีพเกษตรกรรม พึ่งพาธรรมชาติเป็นหลัก ขณะนี้พืชเศรษฐกิจกำลังถูกทำลายจากการพัฒนา
เธอยังให้ข้อมูลตัวเลขด้านการประมงอีกว่า ทะเลทวายนอกจากขึ้นชื่อเรื่องความสวยงามแล้ว เฉพาะพื้นที่ทวายคนกว่า 2 แสนคน ยังมีอาชีพประมง สร้างรายได้ให้ชุมชน ที่สำคัญสินค้าประมง เป็นสินค้าส่งออกปีละกว่า 1.4 แสนตัน สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 140 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดย 80% ของปลาที่จับได้ที่รัฐตะนาวศรี ส่งไปที่จังหวัดระนอง
“หากมีผลกระทบด้านมลพิษที่เกิดจากอุตสาหกรรมหนัก ประเทศไทยไม่พ้นจะต้องได้รับผลกระทบข้ามพรมแดนไปด้วย”
ปัจจุบันนี้มีผลการศึกษาชี้ชัดแล้วว่า การพัฒนาพื้นที่ทวายใหญ่ซึ่งจะใหญ่กว่ามาบตาพุด 10 เท่านั้นจะมีคนทวายถูกผลกระทบกว่า 7 แสนคน และคนทวายจะสูญเสียที่ดินของตัวเองให้กับพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษทวาย โดยไม่รู้ว่าจะต้องไปเรียกร้องค่าเสียหายกับใคร
นี่ยังไม่นับรวมกรณีมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายๆ อีกด้าน สิ่งเหล่านี้ใช่หรือไม่ เป็นส่วนหนึ่งในความรับผิดชอบของคนไทยที่ต้องรู้และเข้าใจว่า เกิดอะไรขึ้นที่ทวาย
หรือเรากำลังส่งต่อความเจ็บปวด เฉกเช่นโครงการนิคมอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในประเทศไทย...