ศิลปินชาวลาวสร้างศิลปะเรียกร้องมนุษย์ร่วมปกป้องทะเลไทย
“ผมต้องการสะท้อนให้เห็นว่า หากเราไม่ทำอะไรสักอย่างเพื่อหยุดปัญหาขยะในท้องทะเล วันหนึ่งปลาและสัตว์น้ำทุกชนิดจะได้รับสารพิษปนเปื้อนและแหวกว่ายท่ามกลางกองขยะ”
“ขอให้ฉันได้อยู่ท่ามกลางดอกไม้ทะเลอันสวยงาม” ชื่อผลงานศิลปะของศิลปินชาวลาวที่ชื่ออลิญญะ ที่แสดงโชว์ในนิทรรศการ Art for the Ocean ซึ่งจัดขึ้นโดยกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ HOF ART Residency Bangkok
ผลงานของเขาถูกจัดแสดงโชว์มาแล้วหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น อิตาลี ฝรั่งเศส และแม็กซิโก และครั้งนี้ อลิญญะ ได้สร้างสรรค์ผลงานเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเพื่อสะท้อนหนึ่งในปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องทะเล และรณรงค์ให้ผู้เข้าชมได้ตระหนักถึงวิกฤติของทะเลและมหาสมุทรที่กำลังกลายเป็นแหล่งรองรับขยะจากการบริโภคของมนุษย์
อลิญญะ เล่าให้ฟังถึงผลงานที่ใช้ชื่อว่า “ขอให้ฉันได้อยู่ท่ามกลางดอกไม้ทะเลอันสวยงาม” ว่า ได้สร้างสรรค์ผลงานด้วยการสร้างวาฬที่กำลังว่ายน้ำท่ามกลางดอกไม้พลาสติก เพื่อสื่อถึงความคิดว่า หากเราไม่ทำอะไรสักอย่างเพื่อหยุดปัญหาขยะในท้องทะเล วันหนึ่งปลาและสัตว์น้ำทุกชนิดจะได้รับสารพิษปนเปื้อน ซึ่งตอนนี้ก็เกิดขึ้นแล้ว และนั่นไม่ต่างอะไรกับการแหวกว่ายท่ามกลางขยะพลาสติก
“ในผลงานชิ้นนี้ผมได้แปรเปลี่ยนขยะให้เป็นดอกไม้ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้เราร่วมกันช่วยทำให้ท้องทะเลสะอาดสวยงามดังที่เคยเป็นมา ผมจึงจินตนาการถึงวาฬที่กำลังว่ายน้ำอยู่ในมหาสมุทรท่ามกลางขยะพลาสติก เพื่อร้องขอให้เราหยุดทำลายบ้านอันสวยงามของเขา”
ทั้งนี้นิทรรศการภาพถ่ายยังได้รวบรวมผลงานภาพถ่ายกว่า 20 ภาพ จากหลายประเทศ ทั้งภาพที่สวยงามของท้องทะเลมหาสมุทรและสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในมหาสมุทร เช่น
ภาพซองเนสกาแฟในทะเลเมดิเตอร์เรเนียซึ่งถูกถ่ายที่รัฐมอลติก ประเทศตุรกี เป็นภาพเม่นทะลุที่ดูเหมือน "สวมหมวก" ทำด้วยซองเนสกาแฟและเศษอวนในลอนท่ามกลางท้องทะเลที่เสื่อมโทรม
ภาพแรงงานทาสบนเรือประมง ภาพนี้ถ่ายที่จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นภาพชายไทยถูกหลอกไปเป็นแรงงานทาสบนเรือประมงสัญชาติไทยในน่านน้ำอินโดนีเซียนานกว่า 4 ปี โดยถูกบังคับให้ทำงานบนเรือประมงและไม่ได้รับค่าแรงตามที่ตกลง
ภาพเต่าสังกะสีติดอวน เต่าตัวหนึ่งติดอยู่ในอวนจับปลา นอกชายหาด รูชิกุลยา ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ขนาดใหญ่ของเต่าทะเล โดยที่ในแต่ละปีพบเต่ามากกว่า 10,000 ตัวต้องตายเพราะติดอวนจับปลาในพื้นที่ชายฝั่งแคว้นโอริสสา ประเทศอินเดีย
ภาพฉลามวาฬบนเรือประมงอวนล้อม เรือประมงอวนล้อมลำหนึ่งจับได้ฉลามวาฬโดยไม่ได้ตั้งใจในมหาสมุทรแปซิฟิก ฉลามวาฬเป็นสัตว์ที่เชื่องช้าในยามว่ายน้ำขณะจับปลาขนาดเล็กเป็นอาหาร เป็นเสมือนเครื่องมือล่อปลาทางธรรมชาติเพื่อล่อปลาทูน่าในมหาสมุทรเขตร้อน
ฉลามวาฬจำนวนมากต้องตายเพราะติดอวนของเรือประมง เนื่องจากเรือประมงส่วนใหญ่จะวางอวนในบริเวณที่มีฉลามวาฬเพื่อจับปลาทูน่าที่อยู่รอบๆ โดยภาพนี้ถ่ายที่โอเซียเนียในมหาสมุทรแปซิฟิก
นอกเหนือจากภาพที่สะท้อนปัญหาและการทำประมงผิดกฎหมายแล้ว การประมงแบบยั่งยืนก็ยังพอมีให้เห็นบ้าง เช่น การทำประมงแบบยั่งยืนในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยภาพนี้เป็นภาพชุมชนคั่นกระได จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รวมตัวกันตั้งเขตอนุรักษ์พื้นบ้าน มีกติกาชุมชนในการจับปลาที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศทางทะเลเป็นหลัก เช่น การตั้งกฎไม่ใช้อวนตาถี่ ไม่จับสัตว์น้ำขนาดเล็ก จับเฉพาะสัตว์น้ำที่โตเต็มวัย รวมถึงการตั้งแหล่งเพาะพันธุ์น้ำในพื้นที่ชุมชน
อัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บอกว่า จากภาพถ่ายที่แสดงโชว์ในครั้งนี้จะเห็นว่า มนุษย์พึ่งพาทะเลและมหาสมุทรเพื่อความอยู่รอด แต่ในขณะนี้ ทะเลและมหาสมุทรกำลังเผชิญกับวิกฤติทางนิเวศวิทยาหลากหลายด้าน โดยเฉพาะการทำประมงเกินขนาด การใช้เครื่องมือทำลายล้าง รวมถึงการประมงผิดกฎหมายที่เป็นภัยคุกคามใหญ่หลวง
"รัฐบาลจำเป็นจะต้องสร้างแผนการฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลที่เสื่อมโทรมและยุติการทำประมงเกินขนาด การทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้แรงกดดันจากคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปที่ได้ให้ใบเหลืองการประมงไทย"
ส่วนปัญหาที่กระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลและการประมงที่ผิดกฎหมายจะได้รับการแก้ไขหรือไม่นั้นคงต้องติดตามว่ารัฐบาลจะเดินหน้าปฏิบัติการแก้ปัญหานี้อย่างไร แต่อย่างน้อยประชาชนทุกคนไม่ว่าจะชนชาติใดก็น่าจะต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือร่วมปกป้องทรัพยากรธรรมชาติกันได้แล้วกระมัง
หากใครสนใจนิทรรศการภายใต้การแสดงงานศิลปะเพื่อปกป้องทะเลและมหาสมุทรซึ่งเริ่มจัดตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2558 ยังคงไปเดินชมได้ถึงวันที่28 เมษายนนี้