นักวิชาการ มก.หนุนสร้างเน็ตไอดอล Gen Z ด้านสิ่งแวดล้อม
‘ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด’ หวังคน Gen Z ต่อยอดแนวคิดพัฒนาจากฐานอนุรักษ์ สร้างเน็ตไอดอลด้านสิ่งแวดล้อม ด้านนิสิต มก.ไม่เชื่อเด็กยุคใหม่ติดมือถือเป็นเรื่องแย่ ระบุใช้หน้าจอปลูกจิตสำนึกอนุรักษ์ได้
เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2558 กรมป่าไม้ ร่วมกับคณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ จัดประชุมการป่าไม้ ครั้งที่ 1 เป็นวันที่ 4 เรื่อง ป่าไม้ไทย ใครกำหนด ณ ตึกวนศาสตร์ 72 ปี คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
โดยเวทีมีการจัดเสวนา ‘คน Gen Z กับการอนุรักษ์:อะไร อย่างไร ทำไม’ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า คนยุค Baby boomers จะสนใจการพัฒนาอย่างเดียว ส่วนการอนุรักษ์มีเล็กน้อยเท่านั้น ต่อมาในยุค Gen X เริ่มตั้งคำถามว่าการพัฒนาคุ้มค่าหรือไม่ ยกตัวอย่าง กรณีเขื่อนน้ำโจน เขื่อนปากมูล กระทั่งเข้าสู่ยุค Gen Y คนรุ่นปัจจุบันอยากเห็นการพัฒนาจากฐานการอนุรักษ์ และหวังว่า คน Gen Z จะทำให้เกิดภาพชัดเจนมากขึ้น
สำหรับตัวอย่างการพัฒนาบนฐานอนุรักษ์ นักวิชาการ มก. ระบุว่า ต้องคิดจะพัฒนาจากฐานอะไร ดังเช่น พื้นที่มักกะสัน หากสมัยก่อนนำที่ดินพัฒนาเป็นศูนย์การค้า คงไม่เกิดคำถามอะไร แต่ปัจจุบันมีการตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าแล้วว่า ประชาชนจะมาท่องเที่ยวด้วยเหตุผลอะไร ควรจัดสร้างเป็นสวนพฤกษศาสตร์แห่งชาติกลางใจเมืองหรือไม่ ทั้งนี้ สังคมจะเคลื่อนไปข้างหน้าได้ด้วยคำตอบ แต่จะต้องเป็นคำตอบใหม่ ๆ จากคนยุค Gen Z
“คนยุค Gen Z มีจุดเด่นเมื่อจะคิดโจทย์อะไรแล้ว ไม่ได้คิดจากโครงสร้างใหญ่โตเหมือนสมัยก่อน เพราะสุดท้ายทำอะไรไม่ได้ แต่คนยุคนี้จะวิเคราะห์จากสิ่งใกล้ตัว” ดร.เดชรัตน์ กล่าว และว่า ล่าสุด กลุ่มวัยรุ่นเลิกใช้แชมพูสระผม ปล่อยให้ผมเป็นอิสระ โดยตั้งข้อสังเกตว่า ก่อนหน้าจะมีแชมพูสระผม คนสมัยก่อนดำรงชีวิตอย่างไร และผมลองทำมาได้ 6 วันแล้ว
นักวิชาการ มก. กล่าวด้วยว่า อีกตัวอย่างหนึ่ง คนยุค Gen Z มีความละเอียดอ่อนในการสื่อสาร เนื่องจากต้องรับสารจำนวนมาก หากส่งสารไปไม่โดนใจก็จะไม่มีใครอ่าน ดังนั้นจึงต้องสร้างภาษาให้โดนใจด้วยความพิถีพิถัน อย่างไรก็ตาม มักเกิดปัญหาสื่อสารกันเองในกลุ่ม ที่เป็นเช่นนี้ มิได้เกิดจากคนกลุ่มนี้ปิดกั้นตัวเอง แต่เกิดจากเราปิดกั้น บางครั้งไม่ทันอ่านเนื้อหาก็วิจารณ์ทำให้ภาษาวิบัติแล้ว จึงควรเปิดกว้างรับภาษาเพื่อเข้าใจซึ่งกันและกัน
“คนยุค Gen Z ยังไม่รู้จักสร้างภาษาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ถ้าประดิษฐ์ภาษาเหล่านี้ขึ้นมาได้จะสามารถขยายการอนุรักษ์ครอบคลุม พร้อมสนับสนุนให้มีเน็ตไอดอล Gen Z ด้านสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะที่ผ่านมามีเฉพาะด้านการศึกษาหรือการเมือง ทั้งที่ยากกว่าสิ่งแวดล้อม” ดร.เดชรัตน์ ทิ้งท้าย
ด้านนายธารินทร์ เมตตา นิสิตคณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวในฐานะตัวแทนคน Gen Z ว่า หลายคนอาจมองคนยุคนี้อยู่กับอินเตอร์เน็ตหรือโทรศัพท์มากเกินไป แต่เราสามารถรณรงค์การอนุรักษ์โดยใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์ได้ อาทิ การแชร์ข้อมูลด้านการอนุรักษ์ผ่านสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อดึงดูดให้คน Gen Z สนใจด้านการอนุรักษ์มากขึ้น
“ผมมองการติดโทรศัพท์มือถือไม่ได้เป็นเรื่องแย่ เพราะสิ่งเหล่านี้เกิดจากบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แม้เทคโนโลยีนี้จะเป็นเพียงหน้าจอ แต่ก็สามารถส่งเสริมการปลูกจิตสำนึกในด้านการอนุรักษ์ได้” นิสิต มก. กล่าว
ขณะที่นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร กล่าวด้วยว่า หลายคนสอบถามคนรุ่นใหม่จะมีส่วนช่วยในการอนุรักษ์ง่าย ๆ อย่างไร ถ้าเป็นช่วงอารมณ์ไม่ดีจะเป็นคำถามที่สร้างความหงุดหงิด หากต้องการทำอะไรง่าย ๆ ไม่ต้องทำก็ได้ มัวแต่หงอย ๆ ไม่ต้องทำ เพราะไม่รู้ว่า การทำอะไรง่าย ๆ จะมีประโยชน์เกิดขึ้นได้อย่างไร ถ้าอารมณ์ดีจะตอบว่า ให้ช่วยแชร์เนื้อหาและค่อย ๆ ศึกษาหาความรู้ .
ภาพประกอบ:www.kodomoclub.com/https://www.facebook.com/recoftcinThailand