ความจริงที่ปากบารา นักวิชาการ-NGO วอนรัฐทบทวนดันโครงการท่าเรือน้ำลึก
นักวิชาการ-NGO ขอรัฐยุติเดินหน้าโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา หวั่นไม่คุ้มค่า สับสนยุทธศาสตร์ชาติ หนุนการท่องเที่ยว หรืออยากทำโครงการแลนด์บริดจ์ขนาดใหญ่กันแน่ ระบุชัดพื้นที่อุดมสมบูรณ์ใดเกิดอุตสาหกรรม พื้นที่นั้นจะกลายเป็นอัมพาต
วันที่ 24 เมษายน 2558 มูลนิธิโลกสีเขียว ร่วมกับ ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม เครือข่ายประชาชนรักอ่าวปากบารา และกว่าอีก 10 องค์กร จัดงาน PAKBARA PARADISO ปากบารา-อันดามัน สวรรค์ทะเลใต้ โดยในงานมีการเสวนาในหัวข้อ “ความจริงที่ปากบารา:คุณค่าอันดามันมรดกโลก” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
นายสมบูรณ์ คำแหง เลขานุการมูลนิธิอันดามัน กล่าวถึงแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดสตูลมีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติสูงสามารถที่กระจายรายได้สู่ท้องถิ่นผ่านการท่องเที่ยวได้ ซึ่งข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ปี 2555 ระบุว่า นักท่องเที่ยวเข้าสู่จังหวัดสตูลสูงถึง 760,395 คนต่อปี สร้างรายได้กว่า 2,000 ล้านบาทสู่ชุมชน เพราะทรัพยากรทางทะเลยังมีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติสูง และนั่นก็สอดคล้องกับงานวิจัยนิเวศวิทยาทางทะเล พบว่า ทะเลสตูลเป็นแหล่งฟอสซิลสมัยดึกดำบรรพ์ ก่อนยุคไดโนเสาร์ ซึ่งเป็นแหล่งเดียวในภูมิภาคอาเซียน
นายสมบูรณ์ กล่าวว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจากคำพูดของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่จะให้มีการเดินหน้าโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารานั้น หากพิจารณาเรื่องโครงสร้างของประเทศไทยในการพัฒนาอุตสาหกรรมในภาคใต้เป็นเพียงพื้นที่การกอบโกยผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือกลุ่มทุนคงไม่มีความคุ้มค่า จำได้ว่า มีครั้งหนึ่งที่สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้มีการเสนอการสร้างท่าเรือปากบารา แต่ถูกโต้แย้งจากฝ่ายวิชาการด้านเศรษฐกิจในเวทีประชุมวิชาการร่วมกัน เพราะความไม่คุ้มค่า เนื่องจากการสร้างแลนด์บริดจ์ ที่รัฐบาลชุดก่อนๆ มีแผนสร้างมานานนับ 10 ปี นั้นไม่คุ้มเท่ากับท่าเรือน้ำลึกทวาย แต่ดูเหมือนว่าประชาชนทวายคัดค้านเต็มที่ ดังนั้นโอกาสเกิดก็ยาก
“ฉะนั้นจะเห็นว่าประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ล้วนแล้วแต่หวงความเป็นพื้นที่เกษตร ดังนั้นรัฐบาลไม่ควรตัดโอกาสการแข่งขันเรื่องการท่องเที่ยว และการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเมื่อใดที่ไทยเป็นอุตสาหกรรม พื้นที่นั้นๆ เหมือนเป็นอัมพาตทันที”
ด้านนายธรรมรัตน์ นุตะธีระ เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา โรงเรียนกำแพงวิทยา จ.สตูล กล่าวว่า ปี 2545 ทีมนักนิเวศน์วิทยาชาวญี่ปุ่นได้เข้ามาสำรวจธรณีวิทยาทางทะเล บริเวณอุทยานแห่งชาติในจังหวัดสตูลพบว่า มีแหล่งฟอสซิลโบราณเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะที่ปากบารา ถือเป็นแหล่งธรณีวิทยาทางทะเลที่สมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งในอาเซียน ซึ่งจากการขุดสำรวจพบซากฟอสซิลยุคก่อนไดโนเสาร์เป็นจำนวนมาก คนในท้องถิ่นจึงมีแนวคิดผลักดันพื้นที่นี้เป็นอุทยานธรณีวิทยาทางทะเลเพื่อ การวิจัยแห่งแรกในอาเซียน แต่หากมีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ปากบารา การผลักดันงานวิจัยและอุทยานธรณีวิทยาทางทะเลก็ต้องยุติลง
นายธรรมรัตน์ กล่าวถึงกรณีพื้นที่สร้างโครงการท่าเรือปากบาราจะส่งผลกระทบกับอุทยานแห่งชาติ 3 แห่งภายในจังหวัดสตูล คือ 1.อุทยานแห่งชาติตะรุเตา 2.อุทยานแห่งชาติทะเลบัน และ3.อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา โดยอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ได้รับการยกย่องจาก UNESCO ให้เป็นมรดกแห่งอาเซียน โดยหน่วยงานท้องถิ่นและส่วนกลางอยู่ระหว่างการพิจารณาผลักดันให้อุทยานแห่งชาติ ฝั่งอันดามันขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก อีกทั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ก็มีมติเสนอให้รัฐบาลผลักดันอุทยานแห่งชาติทางทะเลอันดามัน รวมถึงหมู่เกาะตะรุเตา เป็นแหล่งมรดกโลก และผลักดันให้พื้นที่แหล่งฟอสซิลในจังหวัดสตูล ตลอดแนวยาวไปถึงเกาะตะรุเตา เป็นอุทยานธรณีวิทยาระดับชาติและนานาชาติด้วยเช่นกัน ส่วนอ่าวปากบาราที่ปัจจุบันนี้เป็นที่ตั้งของท่าเรือท่องเที่ยวก็ควรที่จะรักษาไว้ให้ยั่งยืน
ขณะที่นายไกรวุฒิ ชูสกุล ห้างหุ้นส่วนจำกัดหลีเป๊ะเฟอร์รี่แอนด์สปีดโบท กล่าวว่า ท่าเรือน้ำลึกปากบาราเป็นพื้นที่มีนักท่องเที่ยวเข้าออกทุกวัน หากมีโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจะมีปัญหากับการเดินทางของนักท่องเที่ยวแน่นอน และทำให้รัฐจะต้องมาวางโครงสร้าง 2 ระบบ จากข้อมูลช่วงเทศกาลปีนี้พบว่า มีนักท่องเที่ยวจังหวัดสตูลสูงถึง 1.8 แสนคน และการเดินทางจากหลีเป๊ะไปปากบาราเฉพาะในช่วงวันที่ 9-19 เมษายน 2558 นักท่องเที่ยว33,395 คน เรือวิ่ง 608 เที่ยว และจากปากบาราไปหลีเป๊ะ นักท่องเที่ยว 27,852 คน เรือวิ่ง 541 เที่ยว นี่แค่ข้อมูลบางส่วน ก็เห็นเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวมูลค่ามหาศาล
เอกชนชี้สับสนแผนพัฒนาประเทศ
นายไกรวุฒิ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้การส่งเสริมการท่องเที่ยวไม่มีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาชุดนี้ที่รัฐบาลกำลังเดินหน้าทำ เจ้าหน้าที่ที่สตูลก็เลือกไม่ได้เพราะทิศทางสับสน และนำเงินที่ควรจะเอามาพัฒนาการท่องเที่ยวก็นำไปศึกษาโครงการท่าเรือปากบาราทุกปี แทนที่จะมาพัฒนาการท่องเที่ยวให้เชื่อมต่อได้ 7 อำเภอ ดังนั้นวันนี้จึงยังไม่มีการเชื่อมต่อจากปากบาราไปยังจุดต่างๆ
“อยากขอให้รัฐบาลชุดนี้หากมีความตั้งใจที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวช่วยทบทวนแลนด์บริดจ์สงขลา สตูล เราไม่อยากให้ได้แนวคิดแบบกลุ่มทุนมาบริหาร แต่อยากให้เป็นการบริหารการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน รักษาทรัพยากรทะเลทั้งสองฝั่ง ที่มีวัฒนธรรม ความสมบูรณ์ และอยากให้จ.สตูลเป็นโมเดลให้กับ 3 จังหวัดชายแดนใต้”
นายไกรวุฒิ กล่าวอีกว่า ทรัพยากรสตูลมีความแข็งแรง ตอบโจทย์ให้รัฐบาล สตูลและคนสตูลมีความตั้งใจที่จะพัฒนาการท่องเที่ยว นี่จึงถึงเวลายกเลิกและหยุดที่จะสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา มิเช่นนั้นก็จะเกิดความล้มเหลวมีคนตาย เช่นเดียวกันกับมาบตาพุด ชาวประมงจับปลาไม่ได้ก็ไม่มีรายได้ นักท่องเที่ยวก็จะไม่ได้กินอาหารทะเลที่ปลอดสารพิษ ไม่มีอากาศบริสุทธิ์ ถ้าสตูลอยู่ไม่ได้อันดามันก็อยู่ไม่ได้ ประเทศนี้ก็อยู่ไม่ได้ รัฐบาลจึงต้องคิดและทบทวนโครงการ
ส่วนผศ.ประสาท มีแต้ม อนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน(กสม.) กล่าวว่า ปากบาราได้รับการยกย่องว่า มีระบบนิเวศน์ปากแม่น้ำที่ดีที่สุดของโลก เช่นเดียวกับสงขลา และสุราษฏร์ธานี ท่าเรือระนองห่างจากสตูล 300 กว่ากิโลเมตร เส้นทางการเดินเรือสามารถไปได้ทั่วโลก ทุกอย่างมีไว้หมดแล้ว ทั้งนี้ยังมีงานวิจัยเรื่องศักยภาพของท่าเรือไทย จากนักวิชาการจุฬาฯ ชี้ว่า ท่าเรือสงขลา ค่าใช้จ่ายขนส่งสินค้าแพงกว่าท่าเรือปีนัง ซึ่งก็แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลว เนื่องจากไม่มีการกำกับดูแลและการประเมินผล โครงการของรัฐที่ประเมินผลมีโครงการเดียวคือเขื่อนปากมูล เพราะกู้เงินจากธนาคารโลกมาสร้าง
"งานวิจัยชิ้นนี้ยังสรุปว่า ขณะนี้ท่าเรือของไทยยังใช้ไม่เต็มศักยภาพ จึงไม่รู้จะสร้างขึ้นมาเพิ่มอีกทำไม และเส้นทางนี้ไม่ได้มีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เหมือนมาบตาพุดและแหลมฉบังด้วย"
ส่วนบนของฟอร์ม
ส่วนล่างของฟอร์ม