'บัตรเครดิตชาวนา'บ้อท่ายังไม่ทัน'ตกเขียว'
การเปิดตัวเปิดตัวโครงการ “บัตรเครดิตเกษตรกร” หรือที่เรียกขานในหมู่ชาวนาว่า “บัตรเขียว” ต้องลากยาวไปเป็นเดือน ม.ค.ปีหน้า เมื่อ “ธีระชัยภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง สั่งล้มประมูลโครงการ
สาเหตุการล้มประมูลอาจไม่ได้มีปัจจัยจากจดหมายร้องขอความเป็นธรรมจากบริษัท Accellence (Thailand) ที่ส่งถึง “ธีระชัย” และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่าการตัดสินการประมูล “เอื้อประโยชน์” เอกชนรายหนึ่งที่ไม่มีคุณสมบัติ ก่อนวันติดสินผู้ชนะประมูล2 วัน เพียงอย่างเดียว
เพราะอย่างน้อยก็เป็นการ “ตีกัน”ไม่ให้มีการเอื้อประโยชน์ให้กับ “คนกันเอง” สำหรับโครงการบัตรเครดิตเกษตรกร ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่มีมูลค่าโครงการ 1,008 ล้านบาท
นี่ยังไม่นับรวมค่าธรรมเนียมอื่นๆ ตลอดเวลา 5 ปีของโครงการ ที่ถือเป็นการเก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน
น่าชื่นชมกับความกล้าหาญของธีระชัยที่สั่งล้มโครงการนี้ เพราะส่อทุจริตและถือว่าเป็นการสนองนโยบายผู้นำรัฐบาลในการต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ แม้จะทำให้ความฝันของชาวนา 6 ล้านคน จะมีบัตรเครดิตเกษตรกรเลื่อนออกไปจากกำหนดเดิมที่วันที่ 1 พ.ย.นี้ จะนำร่องใช้บัตรเครดิตเกษตรกรใน 5 จังหวัด จำนวน 5,000 ใบ ก่อนขยายให้ครอบคลุมทุกจังหวัด 1 ล้านใบ ในปีแรก และตั้งเป้าเป็น 3 ล้านใบ ในปีที่ 2
ในขณะที่ ธ.ก.ส. หน่วยงานเจ้าของโครงการรู้สึกไม่พอใจที่รัฐบาลล้มประมูลโครงการนี้ และการลดสเปกบัตรเครดิตเกษตรกรแบบใหม่ให้มีความซับซ้อนน้อยลง คือ แทนที่จะเป็นบัตรเครดิตฝัง “ไมโครชิป” ให้เปลี่ยนเป็นบัตรเครดิตแบบ “แถบแม่เหล็ก” เพื่อประหยัดงบประมาณ เช่น ลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ที่มองว่าบัตรเครดิตเกษตรกรจะเป็นฐานธุรกิจใหม่ที่สร้างรายได้ให้ ธ.ก.ส.ในอนาคต
ทว่า การเลื่อนเปิดตัวบัตรเครดิตเกษตรกรตามนโยบายที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ แม้จะเป็นคุณ แต่ก็มีโทษในตัว เพราะจุดประสงค์ของการมีบัตรเครดิตเกษตรกร เพราะต้องการให้ชาวนาเข้าถึงแหล่งทุนดอกเบี้ย 0% เป็นเวลา 3-6 เดือน เพื่อเป็นทุนไปซื้อปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และเมล็ดพันธุ์ข้าว โดยไม่ต้องไปกู้ยืมเงินนอกระบบที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง พร้อมทั้งได้ส่วนลดราคาจากร้านค้าและสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการกับ ธ.ก.ส.ที่มีกว่า 5,000 แห่ง
โดยเฉพาะการปลูกข้าว “Crop” ใหม่ หลังน้ำท่วมใหญ่รอบนี้ ที่พบว่ามีพื้นที่ปลูกข้าวเสียหายแล้ว 6.2 ล้านไร่ ผลผลิตข้าวเกือบ 4 ล้านตัน หากบัตรเครดิตเกษตรกรออกมาทันใช้ ชาวนาที่ประสบภัยน้ำท่วมจะได้เข้าถึงสินเชื่อเพื่อลงทุนในการปลูกข้าว และทันเข้าโครงการรับจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ดของรัฐบาล แน่นอนชาวนาเป็นผู้เสียประโยชน์
ขณะที่วัตถุประสงค์ที่สำคัญของการมีโครงการบัตรเครดิตเกษตรกร ก็เพื่อป้องกันการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวเช่นที่พรรคเพื่อไทยระบุว่าเมื่อตอนหาเสียง
“เกษตรกรที่มีบัตรเครดิตเกษตรกรจะได้วงเงินสินเชื่อ 70% ของมูลค่าผลผลิตข้าวที่นำเข้าโครงการรับจำนำ และนำไปรูดซื้อปุ๋ย ซื้อยาฆ่าแมลง โดยไม่ต้องไปง้อพ่อค้าปุ๋ยอีกต่อไป ข้อมูลการใช้จ่ายเงินผ่านบัตรยังใช้เป็นฐานอ้างอิงว่าเกษตรกรปลูกข้าวเท่าไหร่ ซึ่งจะปิดช่องโหว่ของปริมาณข้าวที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำได้” พิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พลังงาน กล่าวเมื่อครั้งเดินสายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย
และสุดท้าย เมื่อบัตรเครดิตเกษตรกรไม่สามารถออกได้ทันโครงการรับจำนำข้าววันที่ 7 ต.ค.นี้ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ก็หันกลับมาใช้ข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรในโครงการรับจำนำ โดยปัจจุบันมีเกษตรกรขึ้นทะเบียนแล้ว 3.1 ล้านครัวเรือน พื้นที่ 57 ล้านไร่ แต่ผ่านการรับรองเพียง 6 แสนครัวเรือนเท่านั้น
เมื่อโครงการบัตรเครดิตเกษตรกรคลอดไม่ทันตามกำหนด นั่นหมายถึงการเปิดโอกาสให้มีการนำข้าวเปลือกทั้งจากโรงสี และข้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน เข้าสวมสิทธิในโครงการรับจำนำข้าวรอบนี้ ส่งผลให้เกิดการรั่วไหลในโครงการรับจำนำ
หากพิจารณาให้ดีจะพบว่าโครงการบัตรเครดิตเกษตรกร มี “รูปแบบ” ไม่ต่างจากโครงการเอสเอ็มแอลและกองทุนหมู่บ้าน เพราะเป็นการนำเงินไปใส่มือของคนฐานราก แต่คราวนี้พุ่งเป้าไปที่เกษตรกร ซึ่งเป็นฐานเสียงหลักที่ทุกพรรคการเมืองต่างแย่งชิงมาไว้ในมือให้ได้
ส่วนเสียงสะท้อนความห่วงใยของหลายฝ่ายที่มีการระบุว่า บัตรเครดิตเกษตรกรจะเป็นปัจจัยที่สร้างหนี้สินให้เกษตรกรไม่รู้จบนั้น อาจเป็นความจริงครึ่งเดียวก็ได้
“ผมอยากถามว่า วันนี้คนเรามีบัตรเครดิตใช้หรือเปล่า คำตอบคือมี ถ้าใช้ไม่เป็นก็เป็นหนี้ท่วมหัว อย่างวันนี้ ถ้าชาวนาไม่มีบัตรเครดิต เขาเป็นหนี้หรือไม่ ก็ตอบว่าเป็น แต่ถ้าเขาเป็นหนี้แล้วไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงๆ ผมคิดว่าน่าจะดีกว่า” อำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี และอดีตลูกหม้อกระทรวงเกษตรให้ทรรศนะ
บทเรียนจากโครงการที่รัฐบาลนำเงินใส่มือ “ชาวบ้าน” เพื่อนำไปลงทุนสร้างอาชีพ หรือดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเกิดหนี้เสีย หนี้ค้างชำระ ของนโยบายกองทุนหมู่บ้าน รัฐบาลน่าจะนำบทเรียนเหล่านี้มาปรับใช้กับโครงการบัตรเครดิตเกษตรกรได้ เพราะไม่ใช่ว่าเงินที่ธนาคารปล่อยกู้ผ่านบัตรจะได้รับการชดใช้ทุกบาททุกสตางค์
เนื่องจากวันนี้วันที่ภัยพิบัติธรรมชาติเป็นสิ่งที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ และเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ขณะที่การทำเกษตรกรรมเป็นอาชีพที่ต้องพึ่งฟ้าพึ่งฝน แค่น้ำท่วมใหญ่เพียง 1-2 ครั้งเท่านี้ เงินกู้ที่สร้างรายได้ให้ก็จะกลายเป็นหนี้สินของเกษตรกรและกลายเป็นหนี้สูญของสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อ
ดังนั้น จึงเป็นการบ้านที่รัฐบาลต้องคิดต่อไปว่า เมื่อมีบัตรเครดิตเกษตรกรแล้วจะจัดการอย่างไรเมื่อผลผลิตเสียหาย ทางเลือกหนึ่ง คือ ดำเนินนโยบายประกันภัยพืชผลทางการเกษตร
นอกจากนี้ หากมองในระยะยาวบ้าง ก็จะพบว่าบัตรเครดิตเกษตรกรไม่ใช่แค่บัตรพลาสติกธรรมดาเท่านั้น แต่จะมีข้อมูลที่บรรจุข้อมูลทางเงินของเกษตรกรแต่ละครอบครัว ซึ่งพรรคการเมืองสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการวางนโยบายการหาเสียง หรือ “ตกเขียว”หาเสียงจากชาวนาล่วงหน้าได้เช่นกัน
แต่วันนี้ การตกเขียวเกษตรกรเริ่มมีปัญหาเสียก่อนแล้ว...