จับตาร่างแรกรธน.ฉบับปฏิรูป เน้นลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเข้มแข็งพลเมืองอย่างยั่งยืน
“7 วัน 6 คืน” นับตั้งแต่วันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมาไล่เรียงไปจนถึงวันที่ 26 เมษายนที่ใกล้จะถึงนี้ กลายเป็นห้วงระยะเวลาที่ประชาชนทั่วประเทศให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะเป็นครั้งแรกที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปได้ปรากฏสู่สายตาประชาชน และได้ถูกนำมาอภิปรายอย่างละเอียดรายมาตราโดยสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)250 คน
รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปร่างแรกที่กำลังเข้าสู่การอภิปรายของสมาชิกสภาปฏิรูปอยู่ในขณะนี้ ถูกยกร่างขึ้นโดยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลายสาขาจำนวน 36 คน โดยมีทั้งหมด 315 มาตรา
ที่น่าสนใจคือเป็นครั้งแรกของการยกร่างรัฐธรรมนูญที่มีหมวดปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม.
ทั้งนี้หมวดปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในรัฐธรรมนูญฉบับนี้นั้น มีตั้งแต่มาตรา 279 ถึง มาตรา 296 รวมทั้งสิ้น 17 มาตรา โดยในแต่ละมาตรานั้นได้ถูกยกร่างขึ้นจากข้อเรียกร้องจากเครือข่ายพลเมืองต่างๆ ที่เรียกร้องในหลากหลายเรื่องมาเป็นระยะเวลานานกว่าหนึ่งทศวรรษ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกระจายการถือครองที่ดิน ธนาคารแรงงาน ระบบการออม การศึกษา และอีกหลากหลายประเด็น ที่ได้ถูกกลั่นกรองเข้ามาบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้
นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ รองประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปนี้ได้บัญญัติในมาตรา 294 อย่างชัดเจนว่า ให้มีการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ตามข้อเสนอของเครือข่ายสมัชชาปฏิรูปที่ดิน ซึ่งทางเครือข่ายฯได้เตรียมการร่างกฎหมายไว้แล้วเรียกว่า กฎหมายเพื่อคนจน ร่างกฎหมายว่าด้วยธนาคารที่ดิน ว่าด้วยโฉนดที่ดินชุมชนหรือสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร และว่าด้วยการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
นอกจากนี้แล้วใน มาตรา 284 ยังได้ระบุในเรื่องของการปฏิรูปด้านการบริหารราชการแผ่นดิน อาทิให้มีองค์กรบริหารพัฒนาภาคหรือกลุ่มจังหวัด เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการพัฒนาจังหวัดต่างๆที่ตั้งอยู่ในภาคหรือกลุ่มจังหวัดและกำกับดูแลหน่วยงานของรัฐในพื้นที่ จัดทำแผนและบริหารงบประมาณพัฒนาแบบพื้นที่ เพื่อดำเนินการพัฒนาภาคที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศ ที่ไม่ซ้ำซ้อนกับงานของจังหวัดและองค์กรบริหารท้องถิ่น โดยในประเด็นนี้นั้นเครือข่ายจังหวัดจัดการตนเองที่ทำการขับเคลื่อนเรื่องจังหวัดจัดการตนเองได้เตรียมร่างกฎหมายไว้รองรับมาตรานี้แล้วด้วย
รองประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ระบุเพิ่มเติมอีกว่า ในเรื่องของการปฏิรูปด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้นถึงแม้เราจะมีเครือข่ายสิ่งแวดล้อมที่เข้มแข็งแต่ก็ยังไม่สามารถต้านทานอิทธิพลของทุนที่ได้ทำลายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในบ้านเราไปเป็นจำนวนมากได้ ดังนั้นรัฐธรรมนูญในมาตรา 287 จึงได้ระบุในเรื่องการจัดการทรัพยากรและธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไว้อย่างชัดเจน โดยให้มีการดำเนินการปฏิรูประบบและโครงสร้าง องค์กร และปฏิรูปกฎหมาย เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรน้ำ การจัดการพื้นที่คุ้มครองทางทะเล การจัดการขยะและของเสียอันตราย กฎหมายด้านสิทธิชุมชนและการกระจายอำนาจ รวมทั้งการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม กฎหมายว่าด้วยการผังเมืองและการพัฒนาเมือง
อีกทั้งยังจะให้มีการพัฒนาระบบการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ โดยไม่อนุญาตให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาทำการประเมินอีกต่อไป
ที่สำคัญในมาตรานี้ยังได้มีการระบุถึงการจัดระบบภาษีสิ่งแวดล้อม ที่ขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตต่อผลกระทบจากผลิตภัณฑ์ เช่น ขยะอิเลคทรอนิกส์ที่กำลังวิกฤต ผู้ผลิตต้องรับผิดชอบและยังมีการพัฒนากระบวนการยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมทั้งระบบและกระบวนการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ประชาชนและ ชุมชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงอีกด้วย
นพ.ชูชัย กล่าวถึงในส่วนของการปฏิรูปด้านสังคมนั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ระบุในเรื่องของปฏิรูประบบสวัสดิการสังคม ทั้งด้านการให้บริการสังคม การประกันสังคมทุกกลุ่มวัย การช่วยเหลือ ทางสังคม และการสนับสนุนหุ้นส่วนทางสังคม ที่มีความครอบคลุม เพียงพอ ยั่งยืน มีคุณภาพ เข้าถึงได้ และมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะในประเด็นของผู้สูงอายุที่ปัจจุบันในประเทศไทยนั้นมีผู้สูงอายุเกือบสิบล้านคน ในอีก10 ปีข้างหน้าจะมีผู้สูงอายุ14.5ล้านคน ซึ่งถือเป็นร้อยละ20ของประชากร
"เราจึงกำหนดให้จัดทำแผนระยะยาวและดำเนินการเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย โดยการจัดให้มีระบบการออมเพื่อการดำรงชีพในยามชรา และการเตรียมความพร้อมสู่วัยสูงอายุที่เหมาะสมของประชาชน การปรับปรุงระบบการเกษียณอายุที่เหมาะสม การปฏิรูประบบสวัสดิการผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ เพื่อให้ดำรงชีพได้อย่างเหมาะสมอีกด้วย"
และในส่วนของการปฏิรูปด้านแรงงานนั้นก็เป็นอีกเรื่องที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมให้ความสำคัญโดยมาตรา 289 ได้ระบุให้มีการปฏิรูปด้านแรงงานตามแนวทางดังต่อไปนี้
1.ให้มีการตรากฎหมายและกำหนดกลไกเพื่อรองรับเสรีภาพของผู้ใช้แรงงานในการสมาคม การรวมตัวกัน และการร่วมเจรจาต่อรองให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ
2.สนับสนุนการจัดตั้งธนาคารแรงงานเพื่อเป็นกองทุนการเงินของผู้ใช้แรงงานในการส่งเสริมการออม และพัฒนาตนเองอันจะนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
รองประธานกมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ ชี้แจงด้วยว่า นอกจากหลากหลายเรื่องที่ได้กล่าวมาข้างต้น การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังได้คำนึงถึงความสำคัญในการปฏิรูปด้านการศึกษา เพราะที่ผ่านมาเราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ระบบการศึกษาไทยล้มเหลวในทุกด้าน ไม่ว่าใช้เครื่องมือใดประเมิน ทั้งนี้เพราะขาดประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณทรัพยากร และขาดระบบความรับผิดชอบในทุกขั้นตอน
สาระสำคัญบางประการที่ได้บัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 286 มีดังนี้
1.กระจายอำนาจการจัดการศึกษาโดยลดบทบาทของรัฐจากการเป็นผู้จัดการศึกษาให้เป็นผู้จัดให้มี การศึกษา ส่งเสริม สนับสนุน รวมทั้งกำกับนโยบาย แผน มาตรฐาน และติดตามประเมินผลการจัดการศึกษา
2.ส่งเสริมให้สถานศึกษาสามารถบริหารจัดการการศึกษาได้อย่างมีอิสระ มีประสิทธิภาพ และรับผิดชอบต่อผล การจัดการศึกษา ทั้งนี้ โดยให้เอกชน ชุมชน และองค์กรบริหารท้องถิ่น มีส่วนร่วมอย่างเหมาะสมด้วย
3. จัดสรรค่าใช้จ่ายรายหัวโดยตรงแก่ผู้เรียนทุกคนอย่างพอเพียง ตามความจำเป็นและเหมาะสมของผู้เรียน สำหรับการศึกษาระดับปฐมวัยจนถึงระดับมัธยม ทั้งการศึกษาสายสามัญและสายอาชีพ
4. พัฒนาระบบการเรียนรู้โดยเน้นกระบวนการคิด การใช้เหตุผล และการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติ
“ในร่างรัฐธรรมนูญยังได้ระบุอย่างชัดเจนว่า บทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญภาคนี้นั้นก่อให้เกิดความรับผิดชอบแก่รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หน่วยงานของรัฐ ทุกหน่วยงาน และพลเมือง ที่ต้องจัดให้มีการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองตามหลักการและระยะเวลาที่ กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ เมื่อมีความรับผิดชอบ จึงเป็นหน้าที่ หากไม่ดำเนินการ ถือว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยรายละเอียดในมาตรา 102 ได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่า "ในกรณีที่รัฐธรรมนูญนี้บัญญัติให้ดำเนินการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ หรือกฎ หรือดำเนินการใดเพื่อให้การเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ แต่ผู้มีหน้าที่เสนอหรือผู้มีหน้าที่พิจารณากฎหมาย หรือกฎ หรือกระทำการดังกล่าว ไม่ดำเนินการ หรือไม่กระทำการภายในเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนด หรือภายในเวลาอันสมควรในกรณีที่รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดเวลาไว้ ทำให้การปฏิบัติการตามรัฐธรรมนูญนี้ ไม่บังเกิดผล ให้ถือว่าคณะรัฐมนตรี หัวหน้าส่วนราชการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา ผู้มีหน้าที่เสนอ หรือผู้มีหน้าที่พิจารณากฎหมาย หรือกฎ หรือมีหน้าที่กระทำการนั้นละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และในกรณีที่เกิดความเสียหายขึ้น ผู้เสียหายย่อมฟ้องรัฐให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายได้" นพ.ชูชัย กล่าวทิ้งท้ายถึงแนวทางที่ถูกบัญญัติขึ้นมาในรัฐธรรมนูญที่จะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบดำเนินการให้ข้อเสนอต่างๆ ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมที่ถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้นั้น ก็ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกหลายส่วนที่ต้องผ่านการพิจารณาของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติจำนวน 250 คน หากแต่นี่ถือเป็นก้าวแรกแห่งโอกาสของการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยที่เราจะมีส่วนร่วมในการกำหนดและชี้ชะตาอนาคตอันสำคัญของประเทศ