1.2แสนราย แจ้งความ'ยูฟัน'
ผบ.ตร.ประชุมความคืบหน้าคดี 'ยูฟัน' สรุปผู้เสียหายแจ้งความแล้วกว่าแสนราย รวมมูลกว่า 3 พันล้านบาท เชื่อทีมสอบสวน หลักฐานพยานเอาผิดได้
23 เม.ย. 58 เมื่อเวลา 13.00 น. ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. พร้อมด้วย พล.ต.ท.สุวิระ ทรงเมตตา ผู้ช่วย ผบ.ตร. และ พ.ต.อ.อังกูร คล้ายคลึง รอง ผบก.ปคบ. ร่วมประชุมติดตามความคืบหน้า พร้อมกำหนดยุทธศาสตร์การสืบสวนสอบสวนและเยียวยาผู้เสียหาย กรณีการดำเนินคดีกับบริษัทยูฟัน สโตร์ จำกัด
พล.ต.อ.สมยศ กล่าวว่า มีคำสั่งแต่งตั้งพนักงานสอบสวนชุดพิเศษ ตามคำขอของ พล.ต.ท.สุวิระ เพื่อให้มีพนักงานสอบสวนเพียงพอในการรับแจ้งความร้องทุกข์กับผู้บริหาร วันนี้จึงเดินทางมาติดตามความคืบหน้าคดี พร้อมตรวจสอบการทำงานของพนักงานสอบสวนว่าอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนเพียงพอหรือไม่ โดยในคดีดังกล่าวยังมีความคิดเห็นที่ยังแตกต่างกัน โดยบางส่วนยังเชื่อว่าธุรกิจของบริษัท ผิดกฎหมาย ขณะที่บางส่วนคิดเห็นว่าบริษัท ถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นในการทำงานและการรวบรวมพยานหลักฐานของ พล.ต.ท.สุวิระ และทีมงาน เนื่องจากคดีดังกล่าว พล.ต.ท.สุวิระ ได้มีการเก็บข้อมูลและนำเสนอตั้งแต่ช่วงปลายปี 2557 ซึ่งได้เน้นย้ำให้ระวัง เนื่องจากเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และมีความซับซ้อนของธุกิจค่อนข้างมาก กระทั่ง พล.ต.ท.สุวิระ และทีมงาน รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ ทั้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ฯลฯ ได้รวบรวมพยานหลักฐาน นำไปสู่การออกหมายจับ ตอนนี้ 13 หมาย ซึ่งจับได้แล้ว 6 คน
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุใดบริษัท ยังดำเนินการอยู่ได้ ผบ.ตร. กล่าวว่า บุคคลบางคนเข้ามาร่วมเป็นสมาชิกตั้งแต่ตอนต้น ซึ่งอาจจะได้รับผลตอบแทนและเงินกำไรจริง จึงเชื่อว่า ธุรกิจดังกล่าวถูกต้อง และไม่ได้หลอกลวง ขณะที่จากการสอบถามผู้เสียหายที่มาแจ้งความร้องทุกข์ แล้วเริ่มไม่เชื่อถือบริษัท อยากจะยุติบทบาท และการลงทุน แต่ทางบริษัทกลับไม่อนุญาตให้ถอนเงินลงทุนดังกล่าวออก จึงรู้สึกว่า ไม่ถูกต้องตามธุรกิจ กระทั่งตัดสินใจมาแจ้งความ ซึ่งในส่วนของผู้ที่ยังเชื่อว่าบริษัทถูกต้องและดำเนินการต่อต้านการทำงานของเจ้าหน้าที่ ยังไม่ได้ถือว่าขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด แต่ในส่วนการโพสต์ข้อความทำนองข่มขู่ทั้งผู้เข้ามาแจ้งความและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ว่าจะมีการฟ้องกลับนั้น ขอมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของ พล.ต.ท.สุวิระ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบต่อไป
พล.ต.อ.สมยศ กล่าวอีกว่า ในส่วนของผู้ต้องหาที่ยังหลบหนีนั้น หากเป็นผู้ต้องหาที่หลบหนีภายในประเทศ ก็จะติดตามเพื่อจับกุมตัวมาดำเนินคดี ขณะที่หากหลบหนีไปต่างประเทศ ก็จะทำเรื่องส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปยังประเทศที่มีตามสนธิสัญญาร่วมกันต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า ปัจจุบันผู้ต้องหาในหลายคดีมักใช้วิธีการหลบหนีไปนอกประเทศ เนื่องจากหลายคดีพบว่าเจ้าหน้าที่ไม่สามารถจับกุมตัวมาดำเนินคดีได้นั้น พล.ต.อ.สมยศ กล่าวว่า การหลบหนีไปต่างประเทศสมัยก่อนทำได้ยาก แต่สมัยนี้กลับทำได้ง่ายขึ้น เนื่องจากมีช่องทางมากมาย ทำให้ผู้ต้องหาหนีไปตั้งหลัก ซึ่งเจ้าหน้าที่จะใช้ช่องทางสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศที่มีสนธิสัญญาต่อกัน ซึ่งในกรณีที่ประเทศใดที่ไม่มีสนธิสัญญาดังกล่าว ทางเราก็ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ เนื่องจากเป็นบ้านเมืองของเขา ซึ่งจุดนี้จึงเป็นช่องว่าง
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า คดีดังกล่าวจะถือเป็นแนวทางในการดำเนินคดีกับบริษัทซึ่งมีธุรกิจในลักษณะเดียวกันนี้หรือไม่ พล.ต.อ.สมยศ กล่าวว่า เป็นของที่แน่นอนที่เจ้าหน้าที่จะต้องตรวจสอบธุรกิจในบริษัทอื่นๆ ที่พบความผิดปกติ และขอฝากให้ประชาชนและสื่อมวลชนช่วยเป็นหูเป็นตาในการสอดส่องบริษัทที่มีการทำธุรกิจแบบผิดสังเกต
"ผู้ดำเนินคดีนี้ทุกคนล้วนเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ปปง. สคบ. ฯลฯ ดังนั้นต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ทำ และผมเชื่อในการทำงานของ พล.ต.ท.สุวิระ และทีมงาน ว่าก่อนจะตัดสินใจทำคดีนี้ ต้องมั่นใจแล้วว่าบริษัทดังกล่าวมีความผิดจริง พยานหลักฐาน และข้อมูล ต้องครบถ้วนเพียงพอที่จะสามารถเอาผิดกับผู้กระทำผิดได้ด้วย"
ด้านหนึ่งในผู้เสียหายที่เดินทางเข้ามาแจ้งความที่ ปคบ. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2557 ร่วมลงทุนในธุรกิจของบริษัท ในจำนวน 17,500 บาท หรือที่เรียกว่า ในระดับ 1 ดาว โดยมีเพื่อนที่รู้จักรวมทั้งทำธุรกิจและได้เงินกำไรจากธุรกิจดังกล่าวมาชักชวน โดยเมื่อสมัครทางบริษัทอ้างว่าเพียงแค่อยู่เฉยๆ ไม่ต้องทำอะไร ก็จะได้เงินกำไร 10 เปอร์เซ็นต์จากค่ายูโทเคนทันที แต่เมื่อสมัครแล้วกลับไม่ได้เงินแม้แต่บาทเดียว จนเมื่อ 1 เดือนที่ผ่านมา จึงตัดสินใจจะออกจากธุรกิจดังกล่าว และขอถอนเงินจำนวน 17,500 บาทคืน แต่ทางบริษัทกลับไม่อนุญาตให้ถอน โดยให้เหตุผลว่า เงินดังกล่าวเป็นเงินทุน หากต้องการกำไร ให้ไปหาสมาชิกมาเป็นเครือข่าย และยืนยันจะไม่ยอมให้ถอนเงินดังกล่าวออกมา จึงรู้สึกว่าไม่ถูกต้องและน่าจะโดนหลอก จึงตัดสินใจเข้าแจ้งความดังกล่าว
ทั้งนี้มีผู้เสียหายที่เข้ามาแจ้งความที่ ปคบ.ในคดีดังกล่าวแล้วทั้งหมด 159 ราย รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 46 ล้านบาท ขณะที่ยอดรวมผู้เแจ้งความทั่วประเทศ มี 120,000 ราย รวมมูลค่า 3,800 ล้านบาท
ขอบคุณข่าวจาก