อ่านหมากการทูตระหว่างปท.ยุค”คสช.” ก่อนบิ๊กตู่ไปนิวยอร์ค-เดวีส์มากรุงเทพ
อีกไม่นานจากนี้ "เกล็น ทาวน์เซนด์ เดวีส์" จะมาปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยคนใหม่ หลังจาก สถานทูตสหรัฐอเมริกาว่างเว้นตำแหน่งนี้มานานร่วมจะครึ่งปีแล้วนับแต่ "นางคริสตี เคนนีย์" ได้ครบวาระการปฏิบัติหน้าที่ไปตั้งแต่ พฤศจิกายน 2557
ขณะเดียวกันก็มีข่าวว่า เร็วๆนี้เช่นกัน พลเอกซู่ชินเลี่ยง รองประธานคณะกรรมการทหารกลางกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ที่ว่ากันว่าเป็นบิ๊กกองทัพของจีน คนหนึ่ง ก็มีข่าวว่าจะเดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการและเข้าพบกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาและพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมที่เพิ่งกลับจากการเยือนจีนเมื่อช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์
ขณะเดียวกันแม้ยังไม่แน่ชัดว่า สุดท้าย พลเอกประยุทธ์ จะเดินทางไปเยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการทันในสมัยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามคำเชิญของ ดมิตรี เมดเวเดฟ นายกรัฐมนตรีสหพันธรัฐรัสเซียหรือไม่ และยากจะรู้เช่นกันว่า วลาดีมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย จะตอบรับเทียบเชิญรัฐบาลมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ อีกหลายเดือนข้างหน้าต่อจากนี้ พลเอกประยุทธ์ จะเดินทางไปยังนครนิวยอร์ค เพื่อร่วมประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติแน่นอนแล้ว รวมถึงจะขึ้นไปกล่าวปาฐกถาด้วย ตามคำยืนยันของผู้บริหารในกระทรวงการต่างประเทศ
การเมือง-การทูตระหว่างประเทศในยุครัฐบาล คสช.ต่อจากนี้ไปจนถึงวันที่ก้าวลงจากอำนาจ ที่เหลือเวลาอีกร่วมปี จะเป็นอย่างไรต่อไป?
รัฐบาลจะไปจับมือกับ “จีน-รัสเซีย”แบบแน่นแฟ้นมากขึ้น เพื่อถ่วงดุลอำนาจกับมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาหรือกลุ่มประเทศในอียู ที่ไม่ยอมรับรัฐบาลคสช.จริงอย่างที่หลายฝ่ายวิเคราะห์หรือไม่ แล้วหากเกิดขึ้นจริงจะมีผลอย่างไรกับการเมืองระหว่างประเทศในระยะยาว
มีความเห็นหลากหลายตามมาในเรื่องนี้ จากการสัมภาษณ์ของทีมข่าวการเมืองเฉพาะกิจ "อิศรา" ดังนี้
เริ่มที่ “อ. สุรัตน์ โหราชัยกุล”อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ว่า เขาไม่เห็นด้วยทั้งหมดกับสิ่งที่หลายคนออกมาวิเคราะห์ว่าการที่ช่วงหลังคสช.พยายามยกระดับความสัมพันธ์กับบางประเทศที่เป็นประเทศใหญ่เช่น จีน รัสเซีย อินเดีย เพื่อต้องการบาลานซ์กับสหรัฐอเมริกาตลอดจนกลุ่มประเทศในอียู ที่แสดงท่าทีไม่ยอมรับรัฐบาลคสช.มาตลอดร่วมหนึ่งปี
โดย อาจารย์จุฬาฯ ผู้นี้ ให้เหตุผลว่า เป็นเพราะตอนนี้โลกของเราผ่านช่วงสงครามเย็นมาแล้ว แม้แต่ในช่วงสงครามเย็น ก็มีการปรับเปลี่ยนแปลงอะไรมากหลายอย่าง ถามว่าไทยมีความสัมพันธ์กับรัสเซียไหม ก็พบว่ามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมานานแล้ว และไม่ใช่แค่รัสเซีย ที่ผ่านมาหลายสิบปี ไทยก็มีการเปิดความสัมพันธ์กับหลายประเทศ ทั้งจีน สหรัฐ อินเดีย ในแง่หนึ่งมันเป็นความสัมพันธ์ที่อิงพื้นฐานอะไรบางอย่างอยู่แล้ว ต้องยอมรับตรงนี้ที่เป็นโครงสร้างรากฐานไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลแบบไหนจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือรัฐบาล คสช.มันก็มีฉันทานุมัติตรงนี้อยู่
ส่วนกรณีที่อย่างผู้นำรัสเซีย เข้ามาไทยแล้วจะมีประโยชน์อื่นการเมืองว่า ไปผูกสัมพันธ์ด้วยแล้ว จะเป็นการคานอำนาจกับบางประเทศอันนี้เราก็ไม่รู้ได้ว่าในใจผู้นำเขาคิดยังไงกัน แต่ประเทศไทยไม่ได้มีความสัมพันธ์ไม่ดีกับใคร แล้วเราก็พยายามแก้ความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับบางประเทศอยู่เช่น ซาอุดิอาระเบีย ที่มีปัญหาจากกรณีเพชรซาอุ ในส่วนของรัสเซีย ไทยเองก็มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว ไทยไม่ได้คิดจะเป็นศัตรูกับใครอยู่แล้ว กับเรื่องการค้าขาย ไทยกับรัสเซีย ก็มีมาตลอด เรื่องที่สหรัฐกับอียู ไม่ยอมรับรัฐบาลชุดนี้ก็เป็นการแสดงออกที่ใครต่อใครก็คาดได้อยู่แล้วว่าต้องเป็นแบบนี้ แม้สหรัฐจะถูกมองว่ากับกรณีของไทยเทียบกับกรณีของอียิปต์ สหรัฐฯ กลับใช้คนละบรรทัดฐานกัน เพราะพอเกิดเหตุที่อียิปต์ สหรัฐฯกลับไม่แสดงท่าทีใดๆ จนถูกมองว่ามือถือปากสากถือศีล
ในแง่หนึ่งอาจเป็นการตีความมากเกินไปหรือเปล่า แต่ในใจของผู้นำ พลเอกประยุทธ์กับพลเอกประวิตรคิดอะไร เราไม่รู้เขาคิดอะไร แต่ไทยไม่ได้เป็นประเทศที่อยากมีปัญหากับใคร แม้แต่กับเกาหลีเหนือ ไทยก็ยังค้าขายด้วยเลย
กระนั้น”อาจารย์ รัฐศาสตร์ จุฬาฯ”บอกว่า ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในเรื่องการเมืองระหว่างประเทศในยุครัฐบาลคสช. ช่วงนี้ ใครจะหยิบยกโอกาสจากตรงนี้ต่อไปมันอาจจะมีได้ แต่ผมกำลังยกหลักมาอธิบายว่าในรากฐานการต่างประเทศ ของไทย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือไม่มาจากการเลือกตั้ง ประเทศไทยก็มีพื้นฐานต้อนรับผู้นำจากต่างประเทศอยู่แล้ว อย่างตอนที่ไทยมีส่วนร่วมในการจับกุม วิคเตอร์ บูท( วิกเตอร์ บูท ชาวรัสเซียที่ทำธุรกิจบริษัทรับขนส่งทางอากาศ ซึ่งถูกต้องการตัวโดยกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา ด้วยข้อหาค้าอาวุธสงคราม โดยวิกเตอร์ บูทถูกจับกุมตัวที่กรุงเทพเมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2551 ) ตอนนั้นไทยก็มีความลำบากใจเพราะเวลานั้นไทยกับรัสเซียก็มีความสัมพันธ์อันดีต่อกันอยู่
“ถามว่าตอนนี้ รัสเซียเห็นว่าสหรัฐกดดันเรา แล้วรัสเซียอยากได้โอกาสมากขึ้นหรือไม่ มันก็เป็นไปได้แต่จะมากน้อยเพียงใดหรือจะมีการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ตรงนี้ให้มากขึ้นเป็นพิเศษ ผมก็ยังตั้งคำถามอยู่ว่า เขาต้องการมาเจรจาเพื่อให้ซื้ออาวุธรัสเซียให้มากขึ้นหรือไม่ เพราะตอนนี้การส่งออกของรัสเซียเน้นการส่งออกเรื่องการขายอาวุธอย่างมาก เพื่อแข่งกับจีนและอินเดีย"
ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเรื่องการคานอำนาจกับสหรัฐหรือไม่ ก็เป็นเสียงวิจารณ์กันมากอยู่ แม้แต่ในสหรัฐ เองฝ่ายที่โจมตีพรรค พรรคเดโมแครตและนโยบายการต่างประเทศของรัฐบาลโอบามา ก็มีการอภิปรายและวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่าทำไมรัฐบาลกำลังทำให้สหรัฐสูญเสียเพื่อนคนสำคัญอย่างประเทศไทยไปได้ ขณะเดียวกันก็มีการวิพากษ์วิจารณ์บทบาทการทำหน้าที่ของ คริสตี เคนนีย์ จนมีการขยายประเด็นไปเรื่อยๆ
จุดนี้จะทำให้จีนพยายามเฝ้ามองเราไหม ว่าเมื่อไทยกับสหรัฐ ไม่มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน จีนจะเข้ามาแทรกได้ไหม มาหาประโยชน์ได้ไหม อันนี้มันเป็นนิสัยของทุกประเทศอยู่แล้วโดยเฉพาะมหาอำนาจ แต่ถามว่าการมาไทยของนายกฯรัสเซียก่อนหน้านี้ จะทำให้ไทยเปลี่ยนวิถีทางการต่างประเทศ อันนี้ผมยังมีคำถามและมีข้อกังขาอยู่”เป็นมุมวิเคราะห์ของนักวิชาการจากจุฬาฯ
ถามถึงว่า ไม่ใช่แค่รัสเซีย กับ จีน และอินเดีย โดยเฉพาะจีน ก็มีการให้ความมากเป็นพิเศษ จนมีข่าวจะเพิ่มระดับความร่วมมือด้านความมั่นคง มีการเสนอขายเรือดำน้ำให้กองทัพเรือไทย มุมมองของ”สุรัตน์”เขาเห็นว่า ถ้าให้เราไปตีความโดยให้สมมุติตัวเองไปอยู่ในตำแหน่งของพลเอกประยุทธ์ ทันทีเมื่อมีการยึดอำนาจ สิ่งที่ผวามากก็คือปฏิกริยาของประชาคมระหว่างประเทศ ว่าจะมีปฏิกริยาอย่างไรอีกทั้งคนไทยก็ไวมากเมื่อมีปฏิกริยาจากตางชาติมาวิพากษ์วิจารณ์เรา ถ้าเราไปมองในมุมมองของพลเอกประยุทธ์ก็เป็นไปได้ที่เมื่อมีการโจมตีรัฐบาลคสช.จากต่างประเทศโดยประเทศอย่างสหรัฐ ออสเตรเลีย อียู การที่จีนจะหยิบยื่นความสัมพันธ์บางอย่างมาแล้วทำให้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ดูดี มีความชอบธรรม มีการยอมรับจากบางประเทศอย่างจีน มันก็ไม่ใช่เรื่องแปลก มันเป็นตระกะเหตุผลของผู้นำที่ขึ้นมาอยู่แล้ว แต่คำถามสำคัญคือ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้มันจะไปเปลี่ยนปทัสถานวิถีการทางการต่างประเทศของไทยอยางสิ้นเชิงเลย ผมว่ามันไม่งาย เพราะโลกของเรามีความสลับซับซ้อนหลายอย่างทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง
ที่ผ่านมาไทยไปอิงกับสหรัฐมากโดยเฉพาะนับแต่หลังสงครามเย็น และตอนนี้เมื่อสงครามเย็นยุติไปแล้ว ความเป็นพหุภาคีก็มีมากขึ้น ทำให้ไทยต้องแสวงหาตลาดใหม่ๆ เยอะแยะมากมาย เราจึงไม่น่าไปมองแบบนั้นทั้งหมด เพราะฐานก็ต้องเป็นแบบนั้นอยู่แล้ว เพราะหากไทยจะไปอิงผลประโยชน์ต่างๆ ไปที่สหรัฐทั้งหมดโดยไม่มองไปที่จีน อินเดีย ตะวนอออกกลาง รัสเซีย มันก็ไปไม่ได้ เพราะท้ายที่สุด ภาวะพึ่งพาเศรษฐกิจโลก มันก็ทำให้ประเทศต้องมองทุกอย่างเป็นพหุภาคีมากขึ้นไปด้วย
ส่วนระยะยาวต่อจากนี้ รัฐบาลควรกำหนดยุทธศาสตร์ด้านการเมืองระหว่างประเทศ ใหม่หรือไม่ หลังสหรัฐฯส่งเอกอัครราชทูตคนใหม่มาประจำประเทศไทยแล้ว เพื่อไม่ให้ความสัมพันธ์ไทยกับสหรัฐฯ มีความรู้สึกอะไรบางอย่างต่อกัน “สุรัตน์”ให้ความเห็นว่า ทั้งหมดที่เกิดขึ้น มีอันไหนช่วยเหลือกันได้ โดยไม่ได้เป็นการแทรกแซงกิจการภายในของไทย มันก็เข้าทางพลเอกประยุทธ์อยู่แล้ว แต่ประเด็นสำคัญคือ ถ้าไทยคบรัสเซียแล้วมีผลประโยชน์อะไรกับฝ่ายไทยเช่นเรื่องเศรษฐกิจ ไทยก็คงไม่หยุดแค่รัฐบาลชุดนี้ กลไกต่างประเทศ เพื่อเพิ่มพูนผลประโยชน์แห่งชาติ มันคงต้องดำเนินของมันไป ในขณะที่เราสนิทกับจีน ก็ไม่ได้หมายถึงว่าเราจะไม่สนิทกับอินเดีย เพราะเราก็ค้าขายกับอินเดียจนตัวเลขเพิ่มมากขึ้น ยังไงก็ตาม ทั้งหมดเป็นเรื่องกลไกต่างๆของโลกที่มันเป็นพหุภาคี มากขึ้นด้วย
“สุรัตน์”ยังอ่านความสัมพันธ์รัฐบาลคสช.กับรัฐบาลสหรัฐฯต่อจากนี้จะดีขึ้นหรือไม่ เมื่อทูตสหรัฐฯมาทำหน้าที่อย่างเป็นทางการแล้วว่า ขึ้นอยู่กับการวางตัวของท่านทูต จะวางตัวอย่างไร จะมีปฏิกริยาอย่างไร จะมองไทยเป็นมิตรแล้วจะส่งเสริมให้ไทยไปสู่การเลือกตั้ง ไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตยที่ยั่งยืนไหม เพราะที่ผ่านมาสหรัฐก็ไม่ได้ช่วยอะไรไทย จะมาเรียกร้องให้ไทยไปสู่การเลือกตั้งอย่างเดียวแล้วสุดท้ายพอเลือกตั้งเสร็จก็นำไปสู่ความขัดแย้ง การชุมนุมกันอีก มันก็เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ที่ไม่ได้มีทางออกให้กับเรา
“ส่วนว่าต่อจากนี้ไทยกับสหรัฐ มันจะไปยังไงต่อ ก็อยู่ที่สหรัฐจะทำตัวสร้างสรรค์และมีวิถีทางในการดีลกับประเทศไทยอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมา นางคริสตี เคนนีย์ ทำมันไม่ค่อยดี คือมันอาจไปได้ใจคนกลุ่มหนึ่งแต่คนอีกกลุ่มหนึ่งกลับเกลียดชังไปเลย จนคนเข้าไปเขียนด่าในเฟสบุ๊กสถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทย เช้ายันเย็น ผมคิดว่าอันนี้สำคัญมากว่าทูตสหรัฐคนใหม่จะเข้าใจปัญหาไทยอย่างไร จะส่งเสริมให้ระบบมันยั่งยืนได้อย่างไร”
ไม่ใช่ว่าพอมีการชุมนุมแล้วมีระเบิด ก็มาประณามคนใช้ระเบิด แต่มันไม่ได้แก้ไขอะไร เมื่อทางบ้านเมืองแก้ไขไปแล้ว สหรัฐมาบอกว่ามันไม่ถูกเพราะมันไม่ได้มาจากกระบวนการประชาธิปไตย แล้วจะให้ทำยังไง เพราะคสช.ก็บอกจะให้มีการปฏิรูปจะให้มีเฟสต่างๆ ในช่วงคสช. คือไม่ใช่มานั่งติอย่างเดียว มันก็ไม่อะไรดีขึ้น เพราะขณะเดียวกันหลักการประชาธิปไตยของสหรัฐก็ถูกตั้งคำถามว่าทำไมประเทศไทยใช้แบบนี้แต่บางประเทศเช่น อียิปต์ สหรัฐฯ กลับทำอีกแบบหนึ่ง หรือตอนที่ไทยมีการประท้วง แต่สหรัฐกลับไปแสดงออกอะไร แต่พอมีการประท้วงที่ยูเครน สหรัฐกลับไปสนับสนุนการประท้วงที่ยูเครน
รัฐบาลคสช.ในช่วงต่อจากนี้ไปจนถึงช่วงคืนอำนาจ การกดดันจากต่างประเทศต่อรัฐบาลคสช.จะมีมากขึ้นไหม เพื่อให้เร่งคืนอำนาจ?
ผมคิดว่าตะวันตกกำลังกดดันและตั้งคำถามว่าแล้วประเทศไทยต่อจากนี้ คืออะไรต่อไป what is next? เรื่องในอดีตอย่างรัฐประหาร ไม่มีการพูดอีกต่อไปแล้ว ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่ากระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญเป็นแบบไหน รัฐธรรมนูญออกมาแล้วเป็นอย่างไร มีความเป็นประชาธิปไตยมากน้อยเพียงใดแล้วแผนในการคืนอำนาจให้ประชาชนจะเป็นอย่างไร ถ้ารัฐบาลทำให้มันชัดเจนมากขึ้น แรงกดดันจากต่างประเทศก็จะน้อยลง
เชียร์กระชับสัมพันธ์หมีขาว แต่อย่าทำแค่หวังผลเชิงสัญลักษณ์
ด้านความเห็นจาก“สุรพงษ์ ชัยนาม” อดีตนักการทูตคนดัง ที่ผ่านการเป็นทูตมาแล้ว 5 ประเทศ รวมถึงยังเป็นอดีตอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ เขาวิเคราะห์เรื่องนี้ในฐานะอดีตนักการทูต โดยบอกว่า การเดินทางไปร่วมประชุมใหญ่สหประชาชาติของพลเอกประยุทธ์ที่สหรัฐอเมริกาในอนาคตอันใกล้นี้ ไม่มีปัญหาอะไร เพราะเป็นการไปร่วมประชุมในระดับสหประชาชาติ ที่สหรัฐไม่สามารถจะมาแทรกแซงกิจการใดๆของยูเอ็นได้ ผู้นำของหลายประเทศที่สหรัฐเคยไม่รับรองหรือมีปัญหา เช่นฟีเดล กัสโตร ของคิวบา หรือ มูอัมมาร์ กัดดาฟี ของลิเบียก็เคยไป แต่การที่พลเอกประยุทธ์จะไปสหรัฐอเมริกาก็ไม่ได้หมายถึงว่ารัฐบาลสหรัฐจะมีอะไรกับพลเอกประยุทธ์แล้วเพราะเป็นเรื่องของเวทีสหประชาชาติ
“อดีตทูตสุรพงษ์”ออกตัวว่า ยังไม่ขอวิจารณ์เรื่องว่า เมื่อ เกล็น เดวีส์ มาทำหน้าที่ทูตสหรัฐฯแล้วจะมีผลกับความสัมพันธ์ไทยกับสหรัฐฯอย่างไร เพราะเขายังไม่ได้มาทำหน้าที่ การไปวิจารณ์อะไรตอนนี้ก็คงไม่เหมาะสม แต่ไม่ว่าจะเป็นทูตคนไหน เขาก็ต้องปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาให้ประสบความสำเร็จ
พร้อมกันนี้ “สุรพงษ์”อธิบายขั้นตอนการส่งทูตสหรัฐฯไปประจำการในประการส่งเอกอัครราชทูตมาไทย การที่สหรัฐจะส่งทูตไปประจำยังประเทศต่างๆ ว่า ตามขั้นตอนทางกฎหมายของสหรัฐฯ มีดังนี้คือเอกอัครราชทูตที่ได้รับการเสนอชื่อและแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี พอได้ชื่อมาแล้ว ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลสหรัฐฯ จะต้องส่งชื่อไปให้กระบวนการทางรัฐสภาของเขามีส่วนในการร่วมพิจารณาคือ คนที่ได้รับการแต่งตั้งจะต้องไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการต่างประเทศของวุฒิสภา สหรัฐ
ทางกมธ.ต่างประเทศ เขาก็จะตั้งคำถามเช่น เกล็น เดวีส์ คุณรู้จักประเทศไทยแค่ไหน คุณมีประสบการณ์ในภูมิภาคนี้อย่างไร คุณมีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับประเทศไทย หรือมีความ คิดเห็นอย่างไรในเรื่องความสัมพันธ์ไทยกับสหรัฐ ในปัจจุบัน มีข้อดีข้อเสียอย่างไรแล้วหากไปทำหน้าที่ทูตแล้ว คุณจะดำเนินการในฐานะทูตสหรัฐอย่างไรเพื่อให้ความสัมพันธ์ไทยกับสหรัฐดีและอยู่บนพื้นฐานผลประโยชน์ร่วมกัน
คำถามเหล่านี้ นายเกล็น เดวีส์ จะถูกถาม มันเป็นกระบวนการ ความช้าหรือเร็ว ตรงนี้ผมไม่อยากตีความว่าที่เขาส่งนายเกล็น เดวีส์ มาช้าเพราะว่าเขาไม่พอใจที่รัฐบาลไทยชุดนี้มาจากรัฐประหารอะไร ผมว่าคงไม่ใช่ เพียงแต่กระบวนการการส่งทูตมานอกจากผ่านรัฐสภาของสหรัฐแล้ว อย่าลืมว่าในเดือนพ.ย.นี้จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ อันนี้ก็มีอิทธิพลเพราะตอนนี้ในสภาและวุฒิสภาของสหรัฐ ทางฝ่ายพรรครีพับลิกันมีเสียงข้างมาก เพราะฉะนั้น ทุกอย่างเกี่ยวกับนโยบายด้านต่างประเทศของสหรัฐ เป็นเรื่องการต่อสู้ระหว่างพรรคเดโมแครตกับรีพับลิกัน ตอนนี้ถือว่าเริ่มฤดูเลือกตั้งหาเสียง อะไรที่ฝ่ายเดโมแครตทำทางรีพับลิกันก็แย้งตลอด เรื่องเกล็น เดวีส์ ส่วนหนึ่งก็อาจตกเป็นเหยื่อของฤดูหาเสียง การเลือกตั้งของประธานาธิบดี
“สุรพงษ์”ให้ความเห็นด้วยว่า การที่สหรัฐฯ ส่ง เกล็น เดวีส์ มาช้า ไม่ใช่ว่าเพราะนายเกล็นมาทำหน้าที่แล้วจะทำให้นโยบายต่างประเทศของสหรัฐต่อไทยจะเปลี่ยนแปลงอะไร เพราะอย่าลืมว่าในด้านต่างประเทศ ของสหรัฐหลายสิบปีที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นเดโมแครตหรือรีบพับลิกัน ใครเป็นรัฐบาล นโยบายต่างประเทศของสหรัฐก็ไม่เคยเปลี่ยน เพียงแต่วิธีการของสองพรรคจะต่างกัน แต่เป้าประสงค์ในเรื่องนโยบายต่างประเทศของสองพรรคมีเหมือนกัน เพียงแต่ว่าวิธีการในการดำเนินการจะแตกต่างกันบ้างรวมถึงการจัดลำดับความเร่งด่วนของปัญหาจะแตกต่างกัน แต่เป้าประสงค์ไม่แตกต่างกัน ไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงในด้านนี้
นอกจากนี้ เขาวิเคราะห์เรื่องทิศทางการต่างประเทศในยุครัฐบาลคสช.ว่าโดยความเป็นจริงแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซีย ไทยกับจีน มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมานานแล้วอย่างจีน ก็มีความสัมพันธ์อันดีมาตั้งแต่ปี 2518 ที่ไทยมีการไปผูกสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีน ตลอดจนความใกล้ชิดกันด้วยเรื่องต่างๆ เช่นยุทธศาสตร์ความมั่นคง เช่นตอนที่เวียดนามได้เข้าไปรุกรานกัมพูชา ทำสงครามกับเขมรแดง เราก็มองว่าเวียดนามเป็นภัยโดยตรงต่อความมั่นคงของไทย ทำให้เมื่อเขมรแดงร่นถอยมาอยู่ฝั่งไทย ทำให้ไทยจึงไปสนับสนุนเขมรแดง ขณะเดียวกัน จีนเองก็ขัดแย้งกับเวียดนาม และรัสเซียที่เป็นสหภาพโซเวียตตอนนั้นไปถือหางเวียดนาม จีนก็ถือหางเขมรแดง จากนั้นมาพอสิ้นสุดสงครามเย็น ไทยกับจีน ก็มีความสนิทแนบแน่นกันมาโดยตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมาและมีความร่วมมือกันหลายด้าน
ส่วนไทยกับรัสเซีย ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้นำระดับนายกรัฐมนตรีของรัสเซียมาไทยที่เป็นการบ่งบอกถึงความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน ก่อนหน้านี้ อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยคือ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ก็เคยไปสหภาพโซเวียตในอดีต ความสัมพันธ์ไทยกับรัสเซีย มีมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปลายยุคสงครามเย็น การที่ทางรัฐบาลพลเอกประยุทธ์เชิญนายกรัสเซียมาไทย ก็เป็นเรื่องที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญที่ไทยให้ความสำคัญกับรัสเซีย และรื้อฟื้นความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาก่อน เพราะหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย บทบาทของรัสเซียในภูมิภาคเรามันลดลงไปมาก
“ผมมองว่าการที่นายกรัสเซียมาไทยเป็นสัญญาณที่ดี เป็นการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ส่วนที่ว่าเป็นการดำเนินนโยบายเพื่อปรับสมดุลอำนาจในภูมิภาค เพื่อให้เกิดดุลยภาพทางอำนาจเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อไทยและภูมิภาค ก็เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถมองได้ว่ารัฐบาลเห็นว่าเป็นผลประโยชน์ของไทยที่จะปรับดุลแห่งอำนาจของมหาอำนาจที่มีผลประโยชน์อยู่ในประเทศไทยและมีผลประโยชน์อยู่ในภูมิภาคนี้ ทั้งจีน รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา
การดำเนินการของรัฐบาลคสช.ในการให้ความสำคัญกับประเทศอย่างรัสเซีย เป็นนโยบายที่ถูกต้องในการปรับดุลอำนาจ ระหว่างมหาอำนาจที่มีผลประโยชน์อยู่ในประเทศไทยและในภูมิภาค
แต่ข้อสำคัญคือนโยบายที่รัฐบาลทำเช่นการเชิญนายกรัฐมนตรีรัสเซียมาไทย ทำเพื่อต้องการแสดงสัญลักษณ์บางอย่างเฉยๆ ว่าไม่พอใจสหรัฐแค่นั้น แล้วหลังจากนั้นก็ให้เป็นเรื่องคลื่นกระทบฝั่งไป ถ้าอย่างนั้นก็เป็นเรื่องน่าเสียดาย”
“อดีตนักการทูตผู้นี้”กล่าวอีกว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซียจะเป็นอย่างไรต่อไป มันก็ขึ้นอยู่กับว่าคนในรัฐบาลได้เจรจาหรือพูดอะไรกันกับรัสเซีย ผมเข้าใจเองว่ารัฐบาลได้วางนโยบายและยุทธศาสตร์ทางการเมืองก่อนที่จะเชิญนายกรัฐมนตรีรัสเซียมาไทย คงมีการคิดปรึกษาหารือกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกันแล้ววัตถุประสงค์การเชิญแล้วเมื่อมาแล้ว ไทยจะได้อะไร ผลประโยชน์เฉพาะหน้าคืออะไร และระยะยาวคืออะไร ทางรัฐบาลคงคุยกันมาก่อนแล้ว
“ก็ต้องดูกันต่อไปว่าที่รัฐบาลไปเชิญนายกรัฐมนตรีรัสเซียมาไทยเพื่อต้องการสร้างภาพเฉยๆให้สหรัฐฯรู้ว่าไม่พอใจ ที่มาก้าวก่าย สั่งการประเทศไทยตามอำเภอใจ ประเทศไทยไม่ใช่เมืองขึ้น แต่เป็นประเทศอิสระ มีเอกราชและอธิปไตยของตัวเอง ถ้าต้องการให้รู้อันนี้ก็เป็นวิธีการอันหนึ่ง แต่ถ้าเป็นเพียงแค่นี้ ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องน่าเสียดาย มันไม่ใช่ ถ้าต้องการปรับดุลอำนาจจริงๆ“เขากล่าวย้ำ
และเสนอแนะต่อไปว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซีย ไทยกับจีน ไทยกับสหรัฐฯ จะเป็นอย่างไรต่อจากนี้มันต้องมีการวางยุทธศาสตร์ไว้แล้วและต้องรักษาระยะห่าง ที่เหมาะสมอย่างไร เราจะได้อะไรหากเรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัสเซีย จีน สหรัฐฯ เราจะได้ประโยชน์อะไร โดยไม่ต้องไปเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เราต้องคิดในแนวนี้
ทูตหลายปท.รุกถามโรดแม็พ กมธ.สนช.รับเหน้าเสื่อแจงให้
ส่วนมุมมองความเห็นจากฝ่ายนิติบัญญัติต่อกรณีเดียวกัน ก็น่าสนใจไม่น้อย โดยเราได้สอบถามความเห็นเรื่องเดียวกันนี้ไปยัง สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่เป็น”กรรมาธิการต่างประเทศ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” เพื่อให้วิเคราะห์ความเคลื่อนไหวในประเด็นนี้
“อนุศาสน์ สุวรรณมงคล สนช.และเลขานุการคณะกรรมาธิการ ต่างประเทศ สนช.” มีมุมมองว่า เท่าที่ดูภาพรวมการเคลื่อนไหวเรื่องนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลชุดนี้ ก็พบว่า มีการให้ความสำคัญกับทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจีน รัสเซีย สหรัฐ อินเดีย หรือกลุ่มประเทศ อียู ไม่ได้มีการไปลดความสำคัญกับบางประเทศ อย่างความสัมพันธ์ไทยกับสหรัฐเอง มองดูแล้วก็เห็นว่า ก็มีความสัมพันธ์กันดีอยู่ รัฐบาลคงไม่ได้หวังจะเทน้ำหนักไปที่บางประเทศ เพราะในความเป็นจริงแล้ว รัฐบาลต้องผูกสัมพันธ์ทุกประเทศ แต่ก็มีบางประเทศมาให้ความสำคัญกับไทยมากขึ้น ยิ่งการที่สหรัฐฯจะส่งทูตมาประจำประเทศไทยในเร็วๆนี้ ก็ถือเป็นสัญญาณที่ค่อนข้างดี ที่จะส่งมา เดิมคิดว่าจะใช้เวลายาวนานกว่านี้ แต่ดูแล้ว ก็เป็นไปตามขั้นตอน ถือเป็นเรื่องที่ดี
“กมธ.ต่างประเทศ สนช.”เปิดเผยด้วยว่า ช่วงที่ผ่านมา ได้มีทูตจากหลายประเทศ ได้เดินทางมาพูดคุยกับกมธ.ต่างประเทศ สนช. ไม่ว่าจะเป็นทูตของ ออสเตรเลีย อังกฤษ อินโดนีเซีย สวิสเซอร์แลนด์ ทางกมธ.ต่างประเทศ ก็ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนความเห็นและร่วมชี้แจงเรื่องปัญหาต่างๆ ในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา
“พบว่าทูตหลายคน ก็มีการตั้งคำถามกับกมธ.ต่างประเทศ เช่น เรื่องโรดแม็พการกลับคืนสู่ประชาธิปไตยของประเทศ มีการสอบถามความคืบหน้าและขอความชัดเจนเรื่องการร่างรธน.ฉบับใหม่ว่าเป็นอย่างไร ขั้นตอนเป็นอย่างไร ทางกมธ.ต่างประเทศก็ได้ชี้แจงไปว่า ขั้นตอนแต่ละขั้นตอนตามโรดแม็พที่วางกันไว้เพื่อนำไปสู่การกลับคืนสู่ประชาธิปไตยและการปฏิรูปประเทศในแต่ละช่วงมีอย่างไร และแต่ละช่วงมีขั้นตอนอย่างไง หากมีการทำประชามติร่างรธน. โรดแม็พจะมีผลอย่างไร”
“อนุศาสน์”ยืนยันว่า พอกมธ.ต่างประเทศ สนช. ชี้แจงไปแล้วทูตหลายประเทศก็พอใจ เพราะเขาก็เข้าใจแล้วว่าที่ผ่านมาปัญหาความขัดแย้งในประเทศเป็นอย่างไร แล้วแต่ละขั้นตอนของโรดแม็พจะมีเงื่อนไขอะไรบ้าง ทุกอย่างต้องใช้เวลาแค่ไหน ทำไมประเทศไทยถึงต้องมีการปฏิรูป อย่างไรก็ตาม ก็เห็นว่า สำหรับบางประเทศที่ยังไม่เข้าใจเรื่องพวกนี้ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็ต้องชี้แจงอย่างต่อเนื่องต่อไป
ปิดท้ายด้วยความเห็นของ “ดร.ศักดิ์ทิพย์ ไกรฤกษ์” สนช.และกมธ.ต่างประเทศ สนช. ที่เป็นอดีตข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศมาหลายสิบปี ผ่านตำแหน่งสำคัญมามากมายเช่น อธิบดีกรมพิธีการทูต -เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน โดยอดีตทูตศักดิ์ทิพย์ พยายามไม่ออกความเห็นเรื่องนี้มากนัก โดยบอกว่า รัฐบาลก็ทำในเรื่องที่เป็นเรื่องภายในของเราเพื่อทำให้ประเทศชาติกลับคืนสู่ภาวะปกติ ที่ผ่านมารัฐบาลก็ได้ให้คำมั่นสัญญาไปแล้วว่าเมื่อเข้ามาแล้วจะทำอะไรบ้าง ก็พบว่ารัฐบาลก็ทำอยู่เพื่อให้เป็นไปตามที่บอกไว้ ก็เชื่อว่าหลายฝ่ายก็เข้าใจ
อย่างเมื่อเร็วๆนี้ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ของสหรัฐอเมริกาก็มาพบกับกรรมาธิการต่างประเทศ ที่รัฐสภา เขาก็ชื่นชมว่ารัฐบาลคสช.ทำได้ตามที่สัญญาไว้ หากทุกอย่างเป็นไปตามนี้ฝ่ายต่างๆ ก็น่าจะรับกันได้ ในส่วนของสหรัฐฯ เขาก็ต้องทำตามหลักการของเขา มันก็เป็นเรื่องยากที่จะทำให้เขาเปลี่ยนหลักการได้ ตรงนี้เราก็ต้องทำตามของเรา เพราะผลประโยชน์ของแต่ละฝ่ายก็มี ของเราก็มี ต่างประเทศเขาก็มี แต่ละฝ่ายก็ต้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศตัวเอง เมื่อทางเราเห็นว่าต้องการทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี และอยู่กันอย่างมีสันติสุข หมดปัญหาเรื่องทุจริตคอรัปชั่น มันก็เป็นเรื่องภายในของเรา ในเมื่อคสช.เขาขอเวลาไว้แล้ว ก็ต้องรอให้คสช.ได้พิสูจน์ด้วย
ส่วนที่มองกันว่า รัฐบาลพยายามถ่วงดุลอำนาจกับสหรัฐฯโดยเพิ่มความสัมพันธ์กับรัสเซียนั้น “อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน”ไม่เห็นด้วยกับมุมมองนี้ เพราะเห็นว่าบางประเทศเขามาบ้านเราไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของหลักการ แต่เมื่อผู้นำประเทศไหนมาบ้านเรา เราต้อนรับก็ถูกต้องแล้ว กับจีนเอง เราก็ใกล้ชิดกันดี ผมเห็นว่าที่ผ่านมาสิ่งที่เราทำมาก็ทำได้ดีอยู่แล้ว
หลากหลายมุมมองต่อทิศทางการขับเคลื่อนเรื่องนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดังกล่าว ทำให้พอได้เห็นมิติการมองเรื่องนี้ ที่น่าสนใจไม่น้อย และเรื่องนี้ จะมีการถูกพูดถึงอีกหลายครั้งในโอกาสต่างๆ ตลอดช่วงรัฐบาลคสช. ที่ต้องยอมรับว่า เรื่องการต่างประเทศ เป็นสิ่งที่กระทบกับเรื่องต่างๆ ตามมาด้วย เช่นความมั่นคง–การลงทุน-การติดต่อทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยที่ เรื่อง การต่างประเทศ ยังเป็นหนึ่งในจุดอ่อนของ รัฐบาลคสช. ที่หลายคนแลเห็น และบางฝ่ายมองว่า อยู่ในสภาพตั้งรับ เพราะความเป็นรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร โดยที่คสช.ก็รู้ถึงจุดนี้ดี
จนต้องใช้ยุทธศาสตร์ต่างๆ เข้าช่วยอย่างที่แลเห็น