4 ศพที่จากไป...กับวันที่ไม่เหลือใคร ณ บ้านน้อมเกล้า สุคิริน
"หมดแล้ว ไม่มีใครเหลือ เรามีกันอยู่แค่นี้ จะไปแบกปืนก็ไม่ใช่ กำลังเตรียมทำบ้าน เตรียมย้ายออกมาอยู่ที่ลำภู (อ.เมืองนราธิวาส) แต่ก็ออกมาไม่ทัน"
วนิดา รัตนะ ลูกสาวคนโตของ นางอารี รัตนะ บอกด้วยสายตาหมดหวังในวันฌาปนกิจศพ นางอารี และ นายสมนึก รัตนะ สองแม่ลูกที่ถูกยิงเสียชีวิตภายในบ้านและจุดไฟเผาบ้านซ้ำ ที่บ้านน้อมเกล้า หมู่ 12 ต.สุคิริน อ.สุคิริน จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 12 เม.ย.58
ครอบครัวรัตนะได้นำศพ นางอารี และนายสมนึก ไปตั้งบำเพ็ญกุศลอยู่ในวัดลำภู อ.เมืองนราธิวาส เพื่อความสะดวกในการจัดงานศพของญาติและผู้มาร่วมงาน เพราะสุคิรินวันนี้ไม่ใช่แค่ไกลเกินไป แต่ยังอันตรายเกินไปในสายตาของทั้งคนในและนอกพื้นที่
เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ สภาประชาสังคมชายแดนใต้ กลุ่มสตรีเสื้อเขียว จ.ยะลา เครือข่ายชุมชนศรัทธา และกลุ่มเซากูน่า ได้ไปร่วมแสดงความเสียใจและมอบเงินช่วยเหลือให้แก่ญาติผู้เสียชีวิตที่วัดลำภู เมื่อวันที่ 17 เม.ย.58 ซึ่งเป็นวันฌาปนกิจศพนางอารีและนายสมนึก
ค่ำวันที่ 12 เม.ย.ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์อันสนุกสนานครึกครื้นของพี่น้องชาวไทยทั่วประเทศ รวมทั้งในพื้นที่ชายแดนใต้ แต่ที่บ้านน้อมเกล้า อ.สุคิริน กลับกลายเป็นวันอันโหดร้าย เมื่อพี่น้องไทยพุทธ 4 ราย คือ นางอารี และ นายสมนึก รัตนะ สองแม่ลูก และ นายจุล กับ นางดำ อินเอิบ สองสามีภรรยา ถูกยิงเสียชีวิตพร้อมถูกจุดไฟเผาบ้าน
สองครอบครัวนี้เป็นสองครอบครัวสุดท้ายของพี่น้องไทยพุทธที่ยังคงปักหลักอาศัยและทำมาหากินอยู่ที่บ้านน้อมเกล้า และอยู่มานานหลายสิบปี จนเริ่มมีสถานการณ์ร้ายเกิดขึ้นในพื้นที่ รวมทั้งเกิดกับเพื่อนบ้านใกล้กัน ทำให้ผู้เสียชีวิตทั้งสี่เตรียมตัวละทิ้งทุกอย่างไปอยู่กับลูกหลานในพื้นที่ที่คิดว่าปลอดภัยกว่า หากแต่ยังมิทันได้ย้ายก็กลับมาเกิดเหตุร้ายเสียก่อน
วนิดา เล่าว่า ในวันเกิดเหตุแม่อยู่กับเธอที่ลำภู แต่แล้วแม่ก็รีบกลับไปบ้านที่น้อมเกล้า เธอชวนให้อยู่ต่อก็ไม่ยอมอยู่ เธอตั้งใจจะตามไปด้วย แต่ด้วยเหตุที่น้ำไม่ค่อยไหลในหน้าแล้ง จึงบอกว่าค่อยตามไป
"วันที่ 11 ไปรับแม่ออกมานอนด้วยที่นี่ พอวันที่ 12 ทำพิธีรดน้ำดำหัวเสร็จเขาบอกว่าจะกลับ บอกให้นอนอีกคืนก็ไม่ยอม เขาว่าไม่ได้เตรียมเสื้อผ้ามา กลับบ้านดีกว่า ยาก็ไม่ได้เอามา น้องเขยไปส่งตอนสี่โมงเย็น พอหกโมงแม่ก็โดนยิง มีคนโทรมาบอกตอนทุ่มกว่า บ้านที่ถูกเผาชาวบ้านแถวนั้นก็มาช่วยดับไฟ จริงๆ วันนั้นจะตามแม่กลับไปด้วย แต่บ้านที่น้อมเกล้าน้ำจะแห้งเวลาหน้าร้อน ลำบากเรื่องน้ำ จึงไม่ได้ตามไป ไม่อย่างนั้นคงโดนมากกว่านี้"
เธอบอกว่า แม่และน้องชายกำลังเตรียมการที่จะมาอยู่ด้วยกันที่ ต.ลำภู ซึ่งเธอได้มาใช้ชีวิตกับครอบครัวอยู่ก่อนแล้ว สาเหตุที่แม่ของเธอตัดสินใจนานเพราะเป็นห่วงบ้าน สวนยางพารา และสวนผลไม้ที่เป็นรายได้หลักของครอบครัว
"แม่สู้ชีวิต ทำงานหนักมาตลอด ตั้งแต่ไปเริ่มบุกเบิกทำมาหากกินตรงนั้น จนกระทั่งพ่อและน้าชายถูกยิงเมื่อปี 2547 แม่ก็ยังสู้ต่อ พวกเราย้ายออกมาก่อน แม่อยู่กับน้องชายคนสุดท้อง (นายสมนึก รัตนะ) ที่ดินเป็นสวนผสม 20 ไร่ มีสวนยาง 7 ไร่ นอกนั้นเป็นสวนผลไม้ บางอย่างไม่ต้องออกมาขายที่ตลาด พี่น้องมุสลิมที่อยู่ใกล้ๆ กันก็มาช่วยซื้อกันตลอด เราอยู่กันมา 30 กว่าปี ไม่เคยมีอะไรผิดใจกัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันมา"
ด้วยความที่มีอยู่กันเพียงสองครอบครัว 4 ชีวิต คือ ครอบครัวรัตนะ และครอบครัวอินเอิบ ซึ่งบ้านก็รั้วติดกัน ลูกหลานก็สนิทชิดเชื้อกัน และออกมาอยู่กันแถววัดลำภูเป็นส่วนใหญ่ เพราะดั้งเดิมคือคนที่นี่ ไม่มีลูกหลานคนไหนกลับไปอยู่และทำมาหากินในชุมชนน้อมเกล้าอีก เมื่อเกิดเหตุสลดใจขึ้น ทุกคนจึงเห็นพ้องกันว่าให้ขายที่ดิน
วนิดา บอกว่า เมื่อจัดการงานศพแม่และน้องชายเสร็จ ก็จะเข้าไปขนย้ายข้าวของที่บ้านน้อมเกล้า ส่วนเรื่องที่ดินนั้นอยากขาย และทราบว่าทางเจ้าหน้าที่อาจจะเข้าไปตั้งฐานตรงจุดนั้น จะเป็นอย่างไรต่อก็ไม่ว่าอะไร เพราะเธอเองก็ไม่มีกำลังที่จะไปทำอะไร
ในงานศพวันเดียวกัน อุบล อินเอิบ ลูกสาวคนโตของนายจุลและนางดำ อินเอิบ สองสามีภรรยา เพื่อนบ้านของอารีที่ถูกยิงและเผาเช่นเดียวกันก็อยู่ในงานศพด้วย แต่ศพของพ่อกับแม่ของเธอฌาปนกิจไปแล้วเมื่อวันที่ 16 เม.ย.
อุบล บอกว่า พ่อและแม่ของเธอกำลังเตรียมตัวทานข้าวเย็น แต่มาเกิดเหตุร้ายขึ้นก่อน
"เขาอยู่กันสองคนตายาย มีลูก 4 คน เราออกมาอยู่ข้างนอกกันหมด อยู่นราธิวาส 3 คน อยู่นครราชสีมาคนหนึ่ง ที่ผ่านมาก็ชวนให้ออกมาอยู่ด้วยกัน เขาก็กำลังตัดสินใจ เราเองก็เข้าไปหาเดือนละครั้ง ไม่ได้ไปหาตลอด แม่กรีดยางเองเพราะเพิ่งเปิดหน้ากรีดได้ 2 ปี ส่วนพ่อไม่ได้ทำอะไร ดูแลสวนผลไม้ที่มี"
"เราไม่เคยมีปัญหากับใคร มุสลิมทำตูป๊ะ (ขนมพื้นบ้าน) ทำขนมก็เอามาให้ แม่ปลูกผักก็เอาไปให้ เป็นความเอื้ออาทรที่มีให้กัน เรื่องที่เกิดขึ้นก็ไม่รู้ว่าใครเป็นคนทำ ในเหตุการณ์เดียวกันนี้ ยางแผ่นสวยๆ ที่แม่เก็บไว้ก็ถูกขโมย ยางแผ่นหลังบ้านก็เอามาเผา ขี้ยางในสวนก็ถูกขโมยในช่วงที่ขนศพออกมา เพื่อนบ้านจะไปเอาขี้ยางมาขาย เอาเงินมาช่วยงานศพก็ไม่ทัน มันสะท้อนใจ ไม่ดูข่าว ดูไลน์เกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้นกับพ่อและแม่เลย เพราะถ้าดูแล้วสะเทือนใจ"
เมื่อถามถึงการพูดคุยสันติภาพและกระบวนการในเรื่องนี้ อุบล บอกสั้นๆ ว่า "ให้เขาแก้ปัญหากันไปเถอะ"
ลม้าย มานะการ ตัวแทนภาคประชาสังคมที่ไปร่วมงานศพด้วย บอกว่า ดีใจและประทับใจเมื่อพี่น้องเครือข่ายภาคประชาสังคมบอกว่าอยากไปเยี่ยมเยียนให้กำลังใจพี่น้องไทยพุทธที่ประสบเคราะห์กรรม
"ตื้นตันแทนญาติ บางองค์กรหยิบเรื่องนี้มาปรึกษากัน และลงมติส่งตัวแทนไปเยี่ยม รู้สึกมีความหวังว่าภาคประชาสังคมไม่ทอดทิ้งกัน ที่คาดหวังในฐานะที่อยู่ที่นี่มาและคงอยู่ต่อไป คือ จะร่วมแชร์กับพวกเราทั้งหลายที่ไปเป็นตัวต่อที่สำคัญของการสร้างสันติภาพ ถ้าสันติภาพนั้นหมายถึงความสัมพันธ์ที่ช่องว่างของการแบ่งพวกจะมีน้อยที่สุด มีความปรารถนาดีต่อกัน อยากให้ทุกคนปลอดภัย มีพื้นที่ปลอดภัย"
"อยากให้ประชาสังคม ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) และชุมชนช่วยกันสร้างสิ่งนี้ในพื้นที่เป็นอันดับแรก คือพื้นที่ชุมชนพุทธมุสลิมอยู่ร่วมกันเป็นพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ของทั้งฝ่ายก่อการ ฝ่ายรัฐ ฝ่ายชุมชน และประชาสังคมที่ต้องร่วมกันทำอะไรที่เป็นรูปธรรม เพื่อไม่ให้ใครต้องตกเป็นเหยื่อและถูกบังคับให้ต้องทิ้งถิ่นฐาน ไม่ว่าชุมชนนั้นจะมีพี่น้องส่วนน้อยส่วนใหญ่เป็นใคร ทุกคนมีสิทธิ์อยู่อย่างปลอดภัย"
ยายเจียม รัตนะ วัย 88 ปี แม่ของอารี ฝากไว้ให้คิดว่า "ใช้สุขให้เยอะ ทุกข์ไม่ต้องเอามาใช้ มันหนัก เกิดแก่เจ็บตายเป็นเรื่องธรรมดา"
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 วนิดา รัตนะ ขณะรับการปลอบใจจากพี่น้องมุสลิมเครือข่ายภาคประชาสังคม
2 อุบล อินเอิบ
3 ลม้าย มานะการ (คนซ้ายสุด) ในงานศพของเหยื่อกระสุนสุคิริน