มติที่ประชุมผู้พิพากษาเห็นต่างร่างรธน.7 ประเด็นหลัก
ที่ประชุมผู้พิพากษา มีมติเห็นต่างจากร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ 7ประเด็นหลัก ยันศาลยุติธรรมขอใช้สิทธิในการแสดงความเห็น เนื่องจากยังมีเวลาในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมยืนยันไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างหน่วยงาน
วันที่ 20 เม.ย. นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม แถลงผลความเห็นของที่ประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) และคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) จำนวน 25 คน เพื่อพิจารณาความเห็นของผู้พิพากษาจาก 3 ชั้นศาล จำนวน 427 คน ในประเด็นที่เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่า ที่ประชุมก.ต. และก.บ.ศ. ยังมีความเห็นแตกต่างกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในประเด็นหลัก 7 ประการ ประกอบด้วย
ประเด็นที่ 1 ร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 225 ที่บัญญัติเกี่ยวกับองค์กรบริหารงานบุคคลของผู้พิพากษาหรือตุลาการ ซึ่งตามวรรคหนึ่ง กำหนดให้ต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิจากบุคคลภายนอกที่ไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการและไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมการซึ่งเป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการของศาล ซึ่งแต่เดิมกำหนดสัดส่วนให้มีผู้ทรงคุณวุฒิไว้เพียง 2 คน ดังนั้น หากร่างใหม่บัญญัติไว้ดังกล่าว แล้วมีการออกพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญในอนาคตอาจเป็นไปได้ว่าจะมีการเพิ่มจำนวนในส่วนนี้จะกระทบทำให้เกิดการแทรกแซงของก.ต. ซึ่งทำหน้าที่บริหารงานบุคคลและกระทบต่อความอิสระของผู้พิพากษาหรือตุลาการได้ เนื่องจากอัตราส่วนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 เป็นอัตราส่วนที่ทำให้เปลี่ยนแปลงมติของคณะกรรมการได้อันอาจมีผลทำให้ฝ่ายการเมืองสามารถแทรกแซง รวมตลอดถึงให้คุณให้โทษแก่ผู้พิพากษาหรือตุลาการจนสามารถใช้อิทธิพลอันเกิดจากการแทรกแซงนั้นเพื่อเปลี่ยนแปลงผลของคดีให้สนองตอบต่อผลประโยชน์ส่วนตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีความต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมืองซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก และยังอาจกระทบกระเทือนต่อการอำนวยการยุติธรรมให้แก่ประชาชนอีกด้วย ในอดีตที่ผ่านมาสัดส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิมีเพียงสองคนซึ่งเป็นสัดส่วนที่เหมาะสมและทำให้เกิดความเชื่อมโยงกับประชาชนได้อย่างเพียงพอแล้วเพราะในรัฐธรรมนูญเดิมที่กำหนดให้มีผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกเพียง 2 คน ก็สืบเนื่องจากหลักการที่ต้องการให้มีคนนอกเข้ามารับฟังการดำเนินงานของศาลยุติธรรม ไม่ใช่เข้ามาเป็นสัดส่วนเหมือนร่างรัฐธรรมนูญใหม่
นอกจากนั้น การกำหนดให้ก.ต.ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว ก็เป็นการไม่เหมาะสม เนื่องจาก ก.ต. เป็นผู้ได้รับเลือกจากผู้พิพากษาหรือตุลาการ ซึ่งก.ต.ที่ทำหน้าที่บริหารงานบุคคลก็จะต้องอาศัยผู้ที่สั่งสมประสบการณ์และมีความต่อเนื่องในการทำงานย่อมจะเป็นประโยชน์แก่ราชการมากกว่า โดยที่ผ่านมาก็ไม่ปรากฎว่าการดำรงตำแหน่งของก.ต.ได้ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องแต่อย่างใด ดังนั้น ที่ประชุมเสียงข้างมากจึงไม่เห็นด้วยกับบทบัญญัติในมาตรานี้
ประเด็นที่ 2 การวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ตามมาตรา 222 ซึ่งกำหนดให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ประกอบด้วย ประธานศาลที่เกี่ยวข้องและผู้ทรงคุณวุฒิอื่นทางนิติศาสตร์อย่างน้อย 3 คนแต่ไม่เกิน 5 คนเป็นกรรมการ โดยให้หน่วยธุรการของศาลยุติธรรมและศาลปกครองสลับกันทำหน้าที่คราวละ 1 ปี และให้กรรมการ ฯ เลือกประธานกรรมการเอง โดยไม่ได้กำหนดชัดเจนให้ประธานศาลฎีกาเป็นประธานนั้น ที่ประชุมเห็นว่าเดิมประธานศาลฎีก เป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง ซึ่งประธานศาลฎีกา ถือว่าไม่ใช่คู่ขัดแย้งในทางคดี แต่เข้ามาช่วยวินิจฉัยทางวิชาการที่เป็นการตีความข้อกฎหมายเพื่อชี้ขาดเรื่องเขตอำนาจศาล และมีผู้พิพากษาหรือตุลาการของศาลที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการเท่านั้น เพราะการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลเป็นส่วนหนึ่งของการใช้อำนาจตุลาการโดยหลักควรเป็นเรื่องที่ศาลที่เกี่ยวข้องพิจารณาวินิจฉัยปัญหากันเอง ล่าสุดแม้แต่ในประเทศฝรั่งเศสก็มีการแก้ไขกฎหมายให้กรรมการมีองค์ประกอบเฉพาะผู้พิพากษาหรือตุลาการของศาลที่เกี่ยวข้องเท่านั้น
โดยตัดสัดส่วนของรัฐมนตรียุติธรรมให้ออกจากคณะกรรมการ ดังนั้น การที่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่กำหนดให้มีผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามาร่วมเป็นกรรมการนั้นจะทำให้มีคนนอกเข้ามารับทราบและล่วงรู้เกี่ยวกับสำนวนคดี จึงควรกำหนดให้องค์ประกอบคณะกรรมการมาจากผู้พิพากษาและตุลาการที่เกี่ยวข้องเป็นหลักตามโครงสร้างที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ซึ่งที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในส่วนนี้ เพราะการกำหนดสัดส่วนในลักษณะดังกล่าวเสมือนเป็นการตีความเจตนารมณ์ผิด เพราะการชี้ขาดเรื่องเขตอำนาจศาลเป็นการตรวจสอบเรื่องในสำนวน จึงไม่ควรให้คนนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง
ประเด็นที่ 3 ร่างมาตรา 240 เกี่ยวกับอำนาจพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา และการยื่นอุทธรณ์ ซึ่งที่ประชุมไม่ขัดข้องที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้การพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่ในศาลฎีกา แต่ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights)ของสหประชาชาติ ได้กำหนดให้ผู้ต้องคดีมีสิทธิอุทธรณ์ได้อย่างน้อย 1 ชั้นศาล ดังนั้น ศาลยุติธรรมจึงตั้งข้อสังเกตการณ์ยื่นอุทธรณ์ว่า เดิมรัฐธรรมนูญปี2550 กำหนดให้ผู้ต้องคดีสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ในประเด็นข้อเท็จจริงที่ต้องปรากฏว่าเป็นหลักฐานใหม่ และมีสาระสำคัญในการเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาได้ภายใน 30 วัน ก็น่าจะเป็นการกำหนดที่มีข้อจำกัดเกินไป จึงเห็นควรว่าการยื่นอุทธรณ์น่าจะใช้หลักเกณฑ์เช่นเดียวกับการอุทธรณ์ในคดีทั่วไป คือ สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายโดยไม่ต้องถึงขนาดมีหลักฐานใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศ แต่ผู้ต้องคดีที่ต้องการยื่นอุทธรณ์ไม่ว่าตัวจะอยู่ในประเทศหรือหลบหนีไปต่างประเทศจะต้องมายื่นอุทธรณ์ด้วยตัวเอง
ประเด็นที่ 4 มาตรา 241 ที่บัญญัติเกี่ยวกับอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและคดีเกี่ยวกับการจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ซึ่งตาม (1) กำหนดให้ศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาคมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งและการเพิกถอนสิทธิ แต่ถ้อยคำในบทบัญญัติไม่มีความชัดเจนเรื่องอำนาจในการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ว่าจะให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคมีอำนาจดังกล่าวด้วยหรือไม่ ดังนั้น จึงอยากให้เพิ่มถ้อยคำให้ชัดเจนว่าให้ศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาคมีอำนาจสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติ
นอกจากนี้ ตามมาตรา 241 วรรคสอง กำหนดให้ระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกากำหนดเฉพาะวิธีพิจารณาพิพากษาคดีเท่านั้น ไม่ได้กำหนดเรื่องการอุทธรณ์คำพิพากษาและคำสั่งของศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาคไว้ด้วย ทำให้คู่ความไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาและคำสั่งของศาลอุทธรณ์ ทั้งๆ ที่คำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและคดีเกี่ยวกับการจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิอย่างมาก จึงควรบัญญัติให้สามารถอุทธรณ์คำพิพากษาและคำสั่งต่อศาลฎีกาได้ด้วย
ประเด็นที่ 5 เรื่องหลักประกันความอิสระของผู้พิพากษาและตุลาการตามมาตรา 219 วรรคหก ที่กำหนดให้การลงโทษทางวินัยผู้พิพากษา ซึ่งเดิม ก.ต. ที่ได้รับการเลือกจากผู้พิพากษาทุกระดับชั้นจะเป็นผู้พิจารณาให้ความเป็นธรรมแก่ผู้พิพากษาที่ถูกลงโทษทางวินัยได้อยู่แล้ว แต่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่จะมีการกำหนดให้อุทธรณ์การลงโทษวินัยไปยังศาลฎีกาได้โดยตรงอีก ซึ่งเดิมศาลฎีกาทำหน้าที่พิพากษาคดี ดังนั้น จะทำให้ระบบการบริหารงานบุคคลของศาลยุติธรรมเสียไปตุลาการโดยองค์กรบริหารงานบุคคลของศาลต้องมีหลักประกันในการใช้สิทธิอุทธรณ์โดยตรงไปยังศาลสูงสุดที่ผู้พิพากษาและตุลาการนั้นสังกัดอยู่แต่ในระบบของศาลยุติธรรม เพราะเป็นการทำงานคนละหน้าที่ ถือเป็นการทำงานที่ผิดฝั่งผิดฝา ที่ให้ศาลซึ่งพิจารณาคดีทั่วไปมาพิจารณาโทษทางวินัย ซี่งมีก.ต.ที่ทำหน้าที่บริหารงานยุติธรรมเป็นผู้พิจารณาอยู่แล้ว
ประเด็นที่ 6 เรื่องการกำหนดระยะเวลาของกระบวนพิจารณา ตามมาตรา 218 วรรคสอง จะกำหนดให้ศาลกำหนดระยะเวลาขั้นตอนต่างๆ ในกระบวนพิจารณาของศาลเอาไว้ ซึ่งที่ประชุมเห็นด้วยตามแนวคิดดังกล่าว แต่ขอให้มีการกำหนดระยะเวลาทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด ซึ่งไม่ใช่เฉพาะขั้นตอนของศาลเท่านั้น จึงอยากให้ตัดคำว่าศาลออกไป โดยใช้คำว่ากระบวนการยุติธรรมทั้งหมดแทน ส่วนวรรคสาม ที่กำหนดให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับกระบวนพิจารณาต้องให้ความร่วมมือกับศาล แต่ในคดีมีผู้เกี่ยวข้องกับกระบวนพิจารณาหลายฝ่าย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานอัยการ คู่ความ คู่กรณี ทนายความ จึงควรบัญญัติคำเหล่านี้เพิ่มไปด้วย สำหรับตามวรรคสี่ กำหนดหลักการเรื่องการแสดงเหตุผลประกอบการวินิจฉัยและต้องให้ผู้มีส่วนได้เสียสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย ที่ประชุมเห็นว่าเป็นหลักการที่ดี แต่การกำหนดให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงคำพิพากษาและคำสั่งที่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะนั้น ทำให้เกิดข้อกังหาว่าอะไรคือประโยชน์สาธารณะ ในที่ประชุมจึงเห็นควรให้กำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีที่จะถือว่าเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะไว้ โดยควรเพิ่มเติมข้อความในวรรคสี่ว่าทั้งนี้ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
ประเด็นสุดท้าย เรื่องอายุของผู้พิพากษาหรือตุลาการตามมาตรา 226 วรรคสองกำหนดให้ผู้พิพากษาหรือตุลาการสิ้นสุดอายุราชการเมื่ออายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ แต่อาจรับราชการเป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการอาวุโสต่อไปได้จนมีอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์นั้น ที่ประชุมเห็นพ้องด้วย แต่ต้องการให้เขียนถ้อยคำชัดเจนลงไปว่าการสิ้นสุดอายุราชการเมื่ออายุครบ 65 ปีจากตำแหน่งที่ดำรงอยู่ แล้วสามารถไปเป็นผู้พิพากษาอาวุโสจนอายุ 70 ปีบริบูรณ์ และควรกำหนดให้ผู้พิพากษาที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์สามารถสมัครใจไปเป็นผู้พิพากษาอาวุโสได้
นอกจากนี้ ที่ข้อสังเกตว่าตามที่มีกระแสข่าวให้เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ให้ผู้พิพากษาอาวุโสปฏิบัติหน้าที่เฉพาะในศาลชั้นต้นเท่านั้นที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่เป็นด้วย เพราะผู้พิพากษาอาวุโสเป็นผู้มีประสบการณ์ มีความรู้ ความสามารถ ทำให้คดีในชั้นอุทธรณ์และฎีกาพิจารณาเสร็จสิ้นไปด้วยความรวดเร็ว ส่วนศาลชั้นต้นก็มีการตั้งผู้พิพากษาอาวุโสเป็นหัวหน้าองค์คณะอยู่แล้ว รวมทางอธิบดีและรองอธิบดีศาลจะตรวจสอบร่างคำพิพากษาก่อนจะอ่านให้คู่ความฟัง ดังนั้น จึงควรให้มีผู้พิพากษาอาวุโสปฏิบัติหน้าที่ได้ทุกชั้นศาล
ทั้งนี้ ศาลยุติธรรมขอใช้สิทธิในการแสดงความเห็นเรื่องดังกล่าว เนื่องจากยังมีเวลาในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมยืนยันไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างหน่วยงาน แต่เป็นความเห็นในเชิงวิชาการ โดยหลังจากนี้ สำนักงานศาลยุติธรรมจะทำหนังสือถึงผู้เกี่ยวข้องคือ คสช. และคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีหน้าที่เสนอความเห็นต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อพิจารณาต่อไป