เปิดผลสรุป “ประชาเสวนา” กมธ.ร่างรธน. อยากเห็นไทยปลอดทุจริต การศึกษาดี มีปรองดอง
“...ออกกฎหมายลงโทษที่รุนแรง โดยเฉพาะผู้นำที่ทุจริต เช่น ลงโทษประหารชีวิต ลงโทษทั้งผู้ให้ ผู้รับและผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราชการ”
ในขณะที่กรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ จัดทำและเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญออกมาเป็นที่เรียบร้อย พร้อมกับเตรียมรับฟังข้อคิดเห็นจากสมาชิกสภาปฏิรูป(สปช.) ที่จะเปิดอภิปรายแสดงความคิดเห็นตลอดทั้งสัปดาห์นี้
เวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญทั่วประเทศ ที่คณะอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ที่มี “ดร.ถวิลวดี บุรีกุล” กรรมาธิการยกร่างฯเป็นประธาน และสถาบันพระปกเกล้าจัดร่วมกันภายใต้โครงการ “ประชาเสวนาหาทางออก สานพลังประชาชนเพื่อปฏิรูปประเทศไทย” ทั่วประเทศ 10 เวที ตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม- 28 มีนาคม 2558 ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วเช่นกัน
ล่าสุด “ดร.ถวิลวดี” ในฐานประธานอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมฯ “ดร.เลิศพร อุดมพงษ์” อนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และ “รัชวดี แสงมหะหมัด” นักวิชาการ สถาบันพระปกเกล้า เผยแพร่ผลสรุปและสังเคราะห์ ผลการประชาเสวนาหาทางออก โดยมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
ผลการสังเคราะห์ข้อมูลในประเด็น “ภาพอนาคตที่พึงปรารถนา” ของประชาชนทั้ง 10 เวที พบว่า ภาพอนาคตที่พึงปรารถนาร่วมกันมากที่สุด คือ ต้องการเห็น “เมืองไทยใสสะอาด ปราศจากการทุจริต”
รองลงมาคือ ต้องการเห็น “การศึกษาที่ดีและการปฏิรูปการศึกษา” และ “ความสามัคคีและความปรองดอง” ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่า เรื่องของการทุจริตยังคงเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ
ทั้งนี้ แนวทางหรือมาตรการด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนที่จะนำไปสู่ภาพอนาคตที่พึงปรารถนาด้าน การเมืองไทย ใสสะอาด ปราศจากการทุจริต ประชาชนเห็นว่า
1. เพิ่มภาคประชาชน เอกชน และภาคราชการ เข้าไปเป็นคณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินโครงการในท้องถิ่น โดยให้มีกฎหมายรองรับหรือกำหนดในรัฐธรรมนูญ และให้มีสัดส่วนหญิงชาย 50:50
พร้อมกันนี้ภาคประชาชนสัดส่วนร้อยละ 60 เข้าร่วมตรวจสอบและรับรู้ตลอดการดำเนินโครงการ โดยใช้นักวิชาการให้ความรู้แก่ประชาชนในการตรวจสอบเอกสารของรัฐก่อน รวมถึงข้อมูลข่าวสารด้านงบประมาณแก่ประชาชนทั้งระดับจังหวัด ตำบล
2. มีกล่องรับฟังความคิดเห็นหรือศูนย์รับฟังความคิดเห็น เพื่อให้ประชาชนร่วมตรวจสอบ มีหน่วยงานรับเรื่องราวร้องทุกข์ คุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส
สำหรับแนวทางและมาตรการด้านกฎหมาย ประชาชนเห็นว่า 1.ออกกฎหมายลงโทษที่รุนแรง โดยเฉพาะผู้นำที่ทุจริต เช่น ลงโทษประหารชีวิต ลงโทษทั้งผู้ให้ ผู้รับและผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราชการ
ลำดับถัดมาคือ ควรเพิ่มบทลงโทษเป็น 10 เท่า และไม่หมดอายุความ เน้นที่คดียาเสพติด, บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและจริงจัง ,ห้ามไม่ให้ผู้กระทำผิดกลับเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ได้อีก, ตัดสิทธินักการเมืองที่ซื้อเสียงตลอดชีวิต
แก้กฎหมายที่เอื้อให้เกิดการคอร์รัปชั่น, ให้มีศาลเรื่องการทุจริตโดยตรง, และลดขั้นตอนการพิจารณาคดี ออกกฎหมายห้ามเจ้าหน้าที่รับของขวัญในงานเทศกาล
2.เงินที่ตรวจสอบพบว่าได้มาจากการทุจริตให้นำไปตั้งเป็นกองทุนพัฒนาท้องถิ่น และนำความผิดมาเผยแพร่ให้สาธารณะได้รับรู้
ส่วนแนวทางหรือมาตรการส่งเสริมการต่อต้านการทุจริต เห็นว่า สื่อมวลชนทุกแขนงสอดแทรกสิ่งที่ดี ๆ ให้กับเยาวชนทางอ้อม สื่อสร้างกระแสและปลูกจิตสำนึกให้เพิ่มมากขึ้น ยกย่องคนดี
ถัดมาประเด็น การศึกษาที่ดีและการปฏิรูปการศึกษา ประชาชนเห็นว่า แนวทางและมาตรการด้านกฎ นโยบาย การบริหารการศึกษาที่ดีคือ 1.จัดรัฐสวัสดิการการศึกษาให้กับคนไทยตั้งแต่เกิดจนตาย, มีนโยบายเรียนฟรีจนถึงระดับปริญญาตรี
สนับสนุนการศึกษานอกระบบ ,มีนโยบายการศึกษาที่ดีและต่อเนื่องเป็นรูปธรรม บรรจุในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย เริ่มจากท้องถิ่นสู่ระดับชาติ
มีกลไกการรับข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูลก่อนนำไปสู่นโยบาย ,และกำหนดเป็นวาระของชาติ ,ปรับหลักสูตรให้ง่ายต่อการเรียนรู้ ให้นักเรียนได้คิดมากกว่าท่องจำ
2.มีระบบการคัดเลือกและพัฒนาครูให้เป็นผู้ที่อยู่ในท้องถิ่น มีระบบการให้ช่วยเหลือครู ปรับปรุงคุณภาพครู ยกระดับวิชาชีพครูให้เทียบเท่าหรือมากกว่าวิชาชีพอื่นๆ
หากนักเรียนไม่ได้มาตรฐาน ครูต้องรับผิดชอบ มีการตรวจสอบพฤติกรรมผู้อำนวยการโรงเรียนก่อนที่จะเข้ามารับตำแหน่ง โดยครู คณะกรรมการศึกษา และผู้ปกครองร่วมกันตรวจสอบ
ทั้งนี้ คณะกรรมการสถานศึกษามีวาระ 2 ปี เพื่อลดอำนาจการผูกขาด หมุนเวียนผู้บริหารโรงเรียน กระจายอำนาจทางการศึกษาสู่ท้องถิ่น ให้การพิจารณาขึ้นอยู่กับคณะกรรมการในท้องถิ่น ไม่ขึ้นอยู่กับผู้บริหารท้องถิ่นเท่านั้น
ด้านแนวทางและมาตรการด้านคุณภาพการศึกษา รวมทั้งหลักสูตรการศึกษา ประชาชนเสนอว่า 1. นำหลักสูตรของท้องถิ่น ประเพณี วัฒนธรรม ภูมิปัญญา มาบรรจุในแผนการศึกษาของชาติ
มีหลักสูตรประวัติศาสตร์ชาติไทย ศีล 5 ธรรม 5 และปลูกฝังเรื่องจิตอาสาในการเรียนการสอน เรียนรู้กับปราชญ์ชาวบ้าน คนในชุมชนร่วมเป็นกรรมการในสถานศึกษา
ทุกภาคส่วนร่วมกำหนดนโยบายการศึกษาระดับชาติ ในขณะที่ตัวแทนในชุมชนร่วมจัดทำ หลักสูตรในท้องถิ่น สร้างมหาวิทยาลัยท้องถิ่นประจำจังหวัด ที่สอดคล้องกับท้องถิ่นและวัฒนธรรม รวมทั้งเพิ่มและขยายศูนย์การเรียนรู้จากระดับบนสู่ระดับล่าง
2.ครูต้องมีอิสระการสอน ไม่ถูกบังคับโดยระบบประเมิน สำหรับการประเมินวิทยฐานะครู ต้องคานึงถึงเด็กเป็นสำคัญ ไม่ใช่ประเมินจากเอกสาร มีการประเมินที่ชัดเจน โดยใช้การสัมภาษณ์ควบคู่
3.มีหลักสูตรการศึกษาที่ดี ได้แก่ จัดหลักสูตรแบบสอนให้น้อย เรียนรู้แบบ 4-2-2 ที่นำไปประยุกต์ใช้กับวิชาชีพได้ มีการเรียนรู้การเกษตร ประเพณี วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์
พัฒนาหลักสูตรอาชีวะและอุดมศึกษาให้เหมาะกับความต้องการทางเศรษฐกิจ เน้นการนำ ไปใช้ได้จริง ปรับหลักสูตรอาชีวะให้ทันสมัย ให้มีการสอนทฤษฎี ร้อยละ 35
และมุ่งเน้นที่การปฏิบัติร้อยละ65 จัดตั้งโรงเรียนวิชาชีพในทุกจังหวัด ท้องถิ่นสนับสนุนงบประมาณในการส่งเสริมให้ทำธุรกิจส่วนตัว
นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอถึงแนวทางสนับสนุนการศึกษาจากครอบครัว โดยระบุว่า พ่อแม่ผู้ปกครองต้องรับรู้ว่าครูสอนเรื่องอะไรให้เด็ก เพื่อช่วยเน้นย้ำการสอน
ครอบครัวทำงานร่วมกับสถานศึกษาอย่างใกล้ชิด ประชุมร่วมกันทุก 3 เดือน จัดเวทีพูดคุยระหว่างครู ผู้ปกครอง เด็ก โรงเรียน เพื่อหาแนวทางพัฒนาและแก้ปัญหาร่วมกัน
ขณะที่ ด้านความสามัคคีและปรองดอง มีข้อเสนอว่า ควรมีแนวทางและมาตรการเชิงกลไกทางสังคมและชุมชน ด้วยการ 1.จัดเวทีพูดคุย สานเสวนาในประเด็นต่างๆ ให้กับประชาชนในทุกพื้นที่ ทุกระดับ
เชิญชวนคนในสังคมกำหนดกิจกรรมและทำกิจกรรมร่วมกัน หันหน้าคุยกันและเพิ่มความสา มัคคีในชุมชน ใช้กระบวนการหาฉันทามติในการดำเนินโครงการในชุมชน รวมทั้งจัดเวทีสานเสวนาคนในชุมชนเรื่องคุณธรรมจริยธรรมที่พึงปรารถนา
2.จัดตั้งศูนย์ปรองดอง ตั้งคณะกรรมการปรองดองประจำจังหวัด ศูนย์ไกล่เกลี่ย จัดตั้งศูนย์ยุติธรรมชุมชน ศูนย์ยุติธรรมหมู่บ้าน โดยรัฐอุดหนุนเพื่อให้การพิจารณาคดีมีความเป็นธรรม โปร่งใสและประชาชนมีส่วนร่วม
ทั้งนี้ ผลสรุประบุทิ้งท้ายว่า ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชนได้ถูกนำเสนอต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งในหลายเรื่องได้รับการพิจารณาและได้รับการบรรจุอยู่ร่างในรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปแล้ว
โดยเฉพาะประเด็นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในเรื่องต่างๆ และเรื่องการวางกฎเกณฑ์และเพิ่มความเข้มข้นในการป้องกันการทุจริต
นอกจากนี้ ผลจากการจัดเวทีประชาเสวนาหาทางออก สานพลังประชาชนเพื่อปฏิรูปประเทศไทยทั้ง 10 เวที ได้สะท้อนภาพให้เห็นว่า สิ่งที่ประชาชนต้องการ กับแนวทางการยกร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมีความสอดคล้องกันโดยส่วนใหญ่
เป็นไปตามเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปที่ว่า “สร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ การเมืองใสสะอาดสมดุล หนุนสังคมที่เป็นธรรม นำชาติสู่สันติสุข”
ขอบคุณภาพจาก www.rnnthailand.com