“อภิสิทธิ์” คุย 7 ปีเชื่อมระบบสวัสดิการสังคมทั่ว ปท. ชัดเจน ไม่เป็นภาระคลัง
รัฐบาลตั้งเป้าปี 2560 เชื่อมโยงระบบสวัสดิการสังคมทุกด้าน เลิกให้แบบสงเคราะห์ ไม่ขึ้นกับการเมือง ยืนยันไม่เป็นภาระการคลัง ปท.ในอนาคต ลดความเหลื่อมล้ำที่เป็นสาเหตุหลักหลายปัญหาปัจจุบัน พม.เตรียมวางกรอบแผนปฏิบัติการจัดสวัสดิการสังคมถ้วนหน้า
เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) จัดสัมมนาคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมทั่วประเทศ เพื่อเตรียมจัดทำกรอบแผนปฏิบัติการจัดสวัสดิการถ้วนหน้าปี 2560 โดย นายอิสสระ สมชัย รมว.พม. กล่าวว่า พระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดการสวัสดิการสังคม พ.ศ.2546 ซึ่งแก้ไขเพิ่ม พ.ศ. 2550 กำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม 5 ชุด ได้แก่ คณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ(ก.ส.ค.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน คณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมจังหวัด คณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมกรุงเทพมหานคร คณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม และคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม
ทั้งนี้ได้กำหนดเป้าหมายให้เกิดสังคมสวัสดิการถ้วนหน้าภายในปี 2560 โดยให้ความสำคัญกับการจัดการสวัสดิการโดยรัฐ และส่งเสริมภาคส่วนต่างๆมีส่วนร่วมในงานสวัสดิการสังคม และพัฒนา 4 ระบบสวัสดิการสังคม ได้แก่ ระบบบริการสังคม ระบบประกันสังคม ระบบช่วยเหลือทางสังคม และระบบส่งเสริมการสนับสนุน(การสร้างความเข้มแข็งให้กับหุ้นส่วนทางสังคม) โดยจะมีการจัดทำกรอบแผนปฏิบัติการจัดการสวัสดิการสังคมถ้วนหน้าปีต่อไป
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจมีความสำคัญกับการพัฒนาประเทศ แต่ต้องอิงกับกลไกตลาดและการแข่งขัน ทำให้คนจำนวนหนึ่งได้รับประโยชน์มหาศาล แต่คนจำนวนมากยังมีปัญหาการเข้าถึงโอกาสและรายได้ จึงเกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม รัฐบาลทุกสมัยมีมาตรการช่วยเหลือให้ประชาชนดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างน้อยตามมาตรฐานขั้นต่ำ เช่น บริการสุขภาพที่พัฒนามาเป็นระบบบริการสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งนี้สวัสดิการสังคมไม่เพียงแก้ปัญหาเศรษฐกิจสังคมการเมืองปัจจุบัน ยังส่งผลต่อศักยภาพคนไทยและประเทศระยะกลางและระยะยาว รัฐบาลจึงถือเป็นนโยบายสำคัญให้ทุกคนมีหลักประกันความมั่นคงในชีวิต
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวว่า รัฐบาลต้องการสร้างระบบสวัสดิการสังคมที่ก้าวไปอีกขั้น มีนโยบายหรือมาตรการช่วยเหลือให้เป็นระบบมั่นคงยั่งยืน และมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ให้เป็นลักษณะสงเคราะห์หรือมาตรการเฉพาะหน้าที่ขึ้นอยู่กับการเมืองแต่ละยุคอีก ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำที่เป็นบ่อเกิดของหลายปัญหาในปัจจุบัน จึงพยายามเข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด อาทิ ด้านการศึกษา การทำงาน รายได้ สุขภาพ สวัสดิการตามกลุ่มเป้าหมาย เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 500 บาทต่อเดือน เบี้ยความพิการ สวัสดิการที่อยู่อาศัย รัฐบาลได้ปูพื้นฐานไปสู่การมีสวัสดิการสังคมที่ครอบคลุม
“ตั้งเป้าว่าทั้งหมดจะเชื่อมโยงกันเป็นระบบสวัสดิการสังคมที่ชัดเจนมั่นคงยั่งยืน ในปี 2559-2560 และยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญศึกษาล่วงหน้าถึงภาระค่าใช้จ่ายและงบประมาณ โดยดูจากแนวโน้มประชากร ความเหมาะสมของการกำหนดสิทธิ เพื่อไม่ให้กระทบกับฐานะความมั่นคงทางการคลัง ซึ่งได้มอบหมายให้สำนักงบประมาณจัดสัดส่วนของงบประมาณชัดเจนเกี่ยวข้องกับสวัสดิการทั้งหมด” .