6 เดือนผ่านไป จำชื่อ “คณะกรรมการ” ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล เหล่านี้ได้บ้างไหม?
"...น่าสนใจว่าหลังจากนี้ รัฐบาลคสช.จะตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเพิ่มเติมด้านใดอีกหรือไม่ ในการเดินหน้าปฏิรูปประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน"
นับแต่คสช.ยึดอำนาจการปกครอง มาจนถึง 6 เดือนในการทำงานของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความเปลี่ยนแปลงด้านการขับเคลื่อนนโยบายเกิดขึ้นหลายอย่าง
ที่เห็นชัดมากที่สุดเรื่องหนึ่งคือ การแต่งตั้ง “คณะกรรมการ” ด้านต่างๆขึ้นมาจำนวนมาก หลากหลายชุด เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติตามโรดแมปของคสช.ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
ทั้งนี้ เมื่อตรวจสอบผลงานรัฐบาลรอบ 6 เดือน พบว่า รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการชุดสำคัญดังต่อไปนี้
คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(กขย.) มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นประธานกรรมการ ทําหน้าที่ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของคสช.
คณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดําเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล(กขร.) มีนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ทําหน้าที่ติดตามและขับเคลื่อนการดําเนินงานของส่วนราชการต่างๆให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี
คณะกรรมการขับเคลื่อนการดําเนินการตามนโยบายสําคัญและเร่งด่วนของรัฐบาล(กขน.) มีพลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ทําหน้าที่ขับเคลื่อนการดําเนินงานที่สําคัญและเรื่องด่วนของรัฐบาลผ่านกลไกรัฐบาลและภาคเอกชน
คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ(คตร.) มีพลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ทําหน้าที่ติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐให้เป็นไปด้วยความโปร่งใสและถูกต้อง
นอกจากนี้ รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาในด้านต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็น
คณะกรรมการรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ(รศก.) มีพลเอกประยุทธ์เป็นประธานกรรมการ
คณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ(กพข.) พลเอกประยุทธ์เป็นประธานกรรมการ
คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ(กรอ.) พลเอกประยุทธ์เป็นประธานกรรมการ
คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ(กนพ.) พลเอกประยุทธ์ เป็นประธานกรรมการ
คณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ(กบส.) มีพลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้าคสช. และหัวหน้าฝ่ายกิจการพิเศษ คสช. เป็นประธานกรรมการ
คณะกรรมการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก(กพอ.) มีพลอากาศเอกประจิน จั่นตองรองหัวหน้าคสช. เป็นประธานกรรมการ
คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) พลเอกประยุทธ์ เป็นประธานกรรมการ
คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ(คนร.) พลเอกประยุทธ์เป็นประธานกรรมการ
ในด้านการศึกษา นายกฯสั่งแต่งตั้ง คณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา หรือซุปเปอร์บอร์ดการศึกษา และนั่งเป็นประธานกรรมการ
ด้านการแก้ปัญหาค้ามนุษย์และการทำประมงผิดกฎหมายมี คณะกรรมการนโยบายด้านการค้ามนุษย์และการทำประมงที่ผิดกฎหมาย เป็นแม่งานใหญ่ขับเคลื่อน มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
พร้อมกับมีอนุกรรมการอีก 5 คณะ ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการการปราบปรามการค้ามนุษย์ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน
คณะอนุกรรมการด้านสตรีในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นประธาน
คณะอนุกรรมการการแก้ปัญหาการใช้แรงงานเด็กและต่างด้าว มีรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานเป็นประธาน
คณะอนุกรรมการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย มีรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน
และคณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ป้องกันและปราบปรามปัญหาการค้ามนุษย์ มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน
เช่นเดียวกับงานแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำ มีการแต่งตั้ง คณะกรรมการกําหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองหัวหน้าคสช.ฝ่ายเศรษฐกิจ เป็นประธานกรรมการ
ทำหน้าที่กําหนดกรอบนโยบายและแผนงานการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย ภัยแล้ง และคุณภาพน้ำของประเทศให้เป็นไปอย่างมีเอกภาพและบูรณาการ
ในคณะนี้ ยังมีอนุกรรมการขึ้นอีก 5 คณะ ประกอบด้วย 1.คณะอนุกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก
2.คณะอนุกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้
3.คณะอนุกรรมการจัดการระบบข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจ
4.คณะอนุกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเกี่ยวกับการจัดองค์กร และการออกกฎ
5.คณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วม
สำหรับการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐและพัฒนาระบบบริหารจัดการที่ดิน มีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พลเอกประยุทธ์เป็นประธานกรรมการ
และยังตั้งคณะอนุกรรมการ 3 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการจัดหาที่ดิน , คณะอนุกรรมการจัดที่ดิน ,และคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต
รวมทั้งแต่งตั้ง คณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัด เพื่อจัดหาที่ดินให้เป็นไปตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2557
ไม่นับรวมนโยบายด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น ที่นายกฯสั่งตั้ง คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ(คตช.) ขึ้นมาทำงานอย่างแข็งขัน โดยนั่งเป็นประธานกรรมการด้วยตนเอง
พร้อมกันนี้ คตช.ยังมีมติแต่งตั้ง คณะอนุกรรมการเพิ่มเติมอีก 4 คณะ ประกอบด้วย
คณะอนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติด้านการปลูกฝังจิตสำนึกและสร้างการรับรู้ มี ดร.จุรี วิจิตรวาทการ เป็นประธานอนุกรรมการ
คณะอนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติด้านการป้องกันการทุจริต มี ดร.ต่อตระกูล ยมนาค เป็นประธานอนุกรรมการ
คณะอนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติด้านการประชาสัมพันธ์ มี ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ เป็นประธานอนุกรรมการ
คณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือข้อตกลงคุณธรรม หรือ (Integrity Pact) มีนายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เป็นประธาน
น่าสนใจว่าหลังจากนี้ รัฐบาลคสช.จะตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเพิ่มเติมด้านใดอีกหรือไม่ ในการเดินหน้าปฏิรูปประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน
ขอบคุณภาพจาก:คลังภาพ ศูนย์สื่อทำเนียบ