'สุวรรณี คำมั่น' ชี้ไทยมีเวลาเพียง 10 ปี สร้างคุณภาพ-ผลิตกำลังแรงงานก่อนสู่สังคมสูงวัย
"สุวรรณี คำมั่น" ชี้ประเทศไทยมีเวลาเพียง 10 ปีเท่านั้นที่จะสร้างคุณภาพและผลิตกำลังแรงงานให้สอดคล้องกับทักษะในศตวรรษที่ 21 ก่อนโครงสร้างประชากรไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Forum) ครั้งที่ 4 และฝึกอบรมการพัฒนาศักยภาพหลัก(Core Module) ครั้งที่ 5 ในหัวข้อ “นวัตกรรมทางสังคม”ภายใต้โครงการผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม (Leadership for Social Change) รุ่นที่ 5 ณ ริเวอร์ไรน์เพลส จ.นนทบุรี
นางสุวรรณี คำมั่น อดีตรองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า การที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วง3 ทศวรรษที่ผ่านมาและที่จะเผชิญในอนาคตจะมีความรุนแรงและซับซ้อนยิ่งขึ้น เนื่องจากโลกอยู่ในภาวะไร้พรมแดน และเป็นโลกเสมือนจริงที่สื่อสารกันด้วยเทคโนโลยีทันสมัย สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกทั้งที่เป็นวิกฤติเศรษฐกิจ วิกฤติสังคม และวิกฤติจากภัยธรรมชาติ มีความเชื่อมโยงและส่งผลกระทบถึงประเทศต่าง ๆ หนักบ้าง น้อยบ้างตามศักยภาพในการปรับตัวของแต่ละประเทศ ซึ่งการแก้ปัญหาแบบอดีตและปัจจุบัน อาจไม่สามารถนำมาแก้ไขปัญหาในโลกอนาคตได้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องแสวงหาวิธีการใหม่ๆ ในการจัดการกับปัญหา
“โดยเฉพาะปัญหาด้านสังคม ดังนั้น นวัตกรรมทางสังคม จะเป็นจุดคานงัดสู่การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย เพื่อการพัฒนาที่ทั่วถึงและยั่งยืน โดยผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม หรือ นวัตกรจะมีบทบาทสำคัญและเป็นความหวังของประเทศในการร่วมกันค้นหาวิธีการและแนวทางในการแก้ปัญหาต่างๆ ในเชิงรุก”
นางสุวรรณี กล่าวด้วยว่า ตัวบ่งชี้สำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนอกเหนือจากภาวะทางธรรมชาติแล้วคืออัตราการเกิดของมนุษย์เนื่องจากประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 9 พันล้านคน ขณะที่ประชากรไทยมีการเกิดลดลง จำนวนผู้สูงอายุจะมีสัดส่วนสูงขึ้น และประชากรคือหัวใจของการพัฒนา ดังนั้น การจะสร้างสรรค์นวัตกรรมใดๆก็ตามจึงต้องรู้ว่าเรากำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างไร มีผลกระทบกับประเทศไทยอย่างไร และควรพิจารณาให้ครอบคลุมทั้งปัจจัยภายนอกที่สำคัญคือ
1)การเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศในอาเซียน
2)การวาง positioning ของประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียน
3)ความเลื่อนไหลของกระแสวัฒนธรรมโลก
4)การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
5)ภัยคุกคามจากโรคอุบัติใหม่
และ 6) อื่นๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงกฎกติกาใหม่ของโลก ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การก่อการร้ายสากล ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน
ส่วนปัจจัยภายในอดีตรองเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ กล่าวอีกว่า 1) การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเป็นสังคมผู้สูงอายุ 2)โครงสร้างครัวเรือนและสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป 3)การขยายตัวของความเป็นเมืองและการย้ายถิ่น 4)โครงสร้างทางสังคมที่อ่อนแอ การศึกษาที่ไม่มีคุณภาพก็ไม่สารมารถย่อยสารัถถะต่างๆ ได้ กลไกเชิงระบบ สถาบันก็ไม่แข็งแรงพอ 5)การทุจริตคอรัปชั่นที่ฝังรากลึกในสังคม และ6)ความขัดแย้งทางการเมืองที่ส่งผลต่อความขัดแย้งในสังคม
ดังนั้นถึงเวลาที่เราต้องสร้างสถาปัตยกรรมทางสังคม โดยปรับโครงสร้างทางสังคมให้ไปสู่สังคมที่มีคุณภาพมีภูมิคุ้มกัน พร้อมกับพัฒนาทุนมนุษย์ให้เป็นผู้รอบรู้ ใฝ่เรียนรู้ตลอดชีวิตและมีจิตสาธารณะ บนเสาและฐานของการพัฒนาสังคมที่ทั่วถึงและยั่งยืนในบริบทของประเทศไทยที่ประชากรมีสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีการเพิ่มศักยภาพและการมีส่วนร่วมระดับท้องถิ่น
นางสุวรรณดี กล่าวอีกว่า ผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางสังคมจะเป็นฟันเฟืองที่สำคัญตัวหนึ่งของระบบสังคมไทย ต้องช่วยกันสร้างสิ่งที่เป็นนามธรรมให้เกิดเป็นรูปธรรมให้ได้เป็น transformer ซึ่งทุกคนต้องรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงอย่างมีข้อมูลเชิงประจักษ์ เพราะประเทศไทยมีเวลาเพียง 10 ปี เท่านั้นที่จะสร้างคุณภาพและผลิตกำลังแรงงานให้สอดคล้องกับทักษะในศตวรรษที่ 21 เมื่อเทียบกับโครงสร้างประชากรไทยที่เปลี่ยนแปลงสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ (โครงสร้างประชากรไทยมีสัดส่วนผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20)
“จึงต้องฝากความหวังไว้กับผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางสังคมให้กลับไปสร้างการเปลี่ยนแปลงในที่ทำงาน ชุมชน สังคมของตนเอง และจงเชื่อมั่นในภาวะผู้นำ แม้น้ำน้อยก็อย่าท้อถอย ถ้ามีความเพียรก็สามารถสร้างสิ่งมหัศจรรย์ให้เกิดขึ้นได้ หากยึดมั่นในการใช้ความรู้อย่างรอบคอบ รอบด้าน มีการตัดสินใจอย่างมีเหตุผล บนฐานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน”