รบ.เปิดผลงานลดเหลื่อมล้ำ-สร้างสรรค์สังคม เตือนทำผิดจราจร “จ่าเฉย” จะออกใบสั่งให้ท่าน!
“...การลดเหลื่อมล้ำที่สำคัญที่สุดคือ การบูรณาการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิตตั้งแต่เด็กเล็กแรกเกิด เด็กในวัยเรียน ไปจนถึงคุณแม่วัยรุ่น และผู้สูงอายุ”
ผลงานรัฐบาลด้านสังคมในรอบ 6 เดือน รัฐบาลระบุว่า มีความคืบหน้าในหลายเรื่องโดยเฉพาะการลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและสร้างโอกาสเข้าถึงบริการของรัฐ
“ดร.ยงยุทธ์ ยุทธวงศ์” รองนายกรัฐมนตรีด้านสังคม แถลงว่า ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมารัฐบาลได้เน้นทำเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ ค้ำจุนกัน และสร้างสรรค์สังคมไทย
สำหรับ “การลดความเหลื่อมล้ำ” ที่สำคัญที่สุดคือ การบูรณาการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิตตั้งแต่เด็กเล็กแรกเกิด เด็กในวัยเรียน ไปจนถึงคุณแม่วัยรุ่น และผู้สูงอายุ
ด้านการสนับสนุนเด็กแรกเกิด รัฐบาลได้จัดระบบและงบประมาณสนับสนุนเด็กแรกเกิด 400 บาท/คน/เดือน สำหรับครอบครัวที่มีความยากจน จัดทำเป็นโครงการนำร่อง 1 ปี โดยมีองค์การยูนิเซฟร่วมติดตามประเมินผล และให้กระทรวงสาธารณสุขดูแลเด็กแรกเกิดควบคู่ไปด้วย ไม่ใช่ให้เงินอย่างเดียว
นอกจากนี้ มีการจัดตั้งโรงเรียนพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ที่จะนำร่องให้ความสำคัญกับการเลี้ยงดูเด็กโดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนภาคใต้
ด้านการสนับสนุนคนพิการ ได้เพิ่มเบี้ยคนพิการจาก 500 เป็น 800 บาท/เดือน ซึ่งไม่ใช่ให้เงินอย่างเดียวเช่นกัน แต่รัฐบาลพยายามจะทำให้คนพิการทำประโยชน์ให้กับสังคมให้มากที่สุด โดยกำลังจะจัดระบบงาน ฝึกงาน และการจ้างงานคนพิการให้ชัดเจน โดยมีกฎหมายว่า ให้ผู้ประกอบการจ้างคนพิการ 1 ใน 100 ของคนทำงาน
ส่วนการช่วยเหลือโดยเทคโนโลยี มีแผนการจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีเพื่อคนพิการและผู้สูงอายุ ซึ่งมีผลงานอยู่แล้ว แต่จะทำเป็นโครงการที่ชัดเจนขึ้น
รองนายกฯ กล่าวว่า สำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วยตนเอง เรื่องสำคัญมากคือ เทคโนโลยี โดยเฉพาะการศึกษาทางไกลที่จะมีการขยายออกไปทั้งทางทีวี คอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ต เพื่อให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลเรียนรู้ ขณะเดียวกันครูก็จะสามารถติดตามความคืบหน้าต่างๆได้
ในส่วน “การค้ำจุนกัน” ต้องเตรียมรับมือสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ ซึ่งขณะนี้มี 6-7 กระทรวงได้เข้ามาร่วมกันลงไปดูแลผู้สูงอายุตั้งแต่ในระดับตำบล ชุมชน มีการอบรมดูแลผู้สูงอายุ และจัดทำคู่มือสำหรับผู้ที่จะไปดูแลผู้สูงอายุ
กระทรวงสาธารณสุขเตรียมทีมที่เรียกว่า “หมอครอบครัว” ซึ่งจะมีจำนวน 3 หมื่นทีม ลงไปดูตามเขตสุขภาพทั้งในเขตเมืองและชนบท นอกจากนี้ยังให้วัคซีนต่างๆป้องกันโรคเช่น โรคคอตีบ โรคหัด ในเด็กและผู้ใหญ่ รวมทั้งการควบคุมการขาดไอโอดีน
อีกเรื่องสำคัญคือ การป้องกันและช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาด้านการติดยาเสพติด โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้ร่วมกับหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส. ) ในการดำเนินการเชิงรุก เช่น ทำมาตรฐานหอพักติดดาวในจังหวัดหรือ โครงการครอบครัวไทยห่างไกลยาเสพติด
“ดร.ยงยุทธ์” ยังเผยถึงงานด้านงานชุมชนว่า รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณสมทบจากส่วนกลางให้กับกองทุนสวัสดิการชุมชน ซึ่งที่ผ่านมาชะงักไป แต่รัฐบาลนี้ได้เติมเงินให้กับชุมชนลงไปเพื่อการออม
ส่วน “การสร้างสรรค์สังคม” มีทั้งด้านการป้องกันแก้ไขอุบัติเหตุและอุบัติภัยต่างๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ หรือการดูแลสุขภาพอนามัยประชาชนที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ โดยมีการอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ตำรวจ ทหาร เพื่อดูแลสุขภาพหากเกิดเหตุขึ้น รวมทั้งอบรมแพทย์ในการกู้ชีพต่างๆ
ด้านการส่งเสริมสุขภาพ รัฐบาลได้จัดกิจกรรมออกกำลัง การเดิน โดยเฉพาะการขี่จักรยานสร้างจิตสำนึกในการสร้างสุขภาพ เรียกว่าโครงการ “เมืองปั่นได้ เมืองปั่นดี” ทั่วประเทศ
ขณะเดียวกัน รัฐบาลมีความเป็นห่วงในความปลอดภัยทางท้องถนน ลดอุบัติเหตุ ซึ่งช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาทำได้ดี แต่ช่วงสงกรานต์ยังไม่ดีนัก ต้องปรับปรุงจากนโยบายที่ปรับมาถูกทางแล้วคือ นโยบาย ไม่ให้ดื่มแอลกอฮอล์ในที่ไม่สมควร และมีมาตรการลดความเสียหาย เช่น ศูนย์การแพทย์ฉุกเฉินกู้ชีพ
สำหรับนโยบายด้านการศึกษา รัฐบาลเน้นเรื่องอาชีวศึกษา ที่เรียกว่า “ทวิภาคี” ให้นักศึกษาเรียนในโรงเรียนและสถานประกอบการ โดยจะมีการยกระดับหลักสูตรสำคัญ เช่น หลักสูตรวิศวกรรมอุตสาหการ หรือวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ไปจนถึงสาขาเกษตรอาหาร
นอกจากนี้ จะส่งเสริมให้เด็กไทยมีแนวทางเลือกอาชีพตั้งแต่อยู่ในโรงเรียนได้ ซึ่งขณะนี้มีหลักสูตรนำร่องที่จะสนับสนุนการเรียนรู้ของผู้เรียนตั้งแต่อยู่ในโรงเรียน เรียกว่า “หลักสูตรการเรียนรู้สู่อาชีพ” เพื่อเด็กจะได้รู้ว่าเหมาะกับงานประเภทใด
ส่วนเรื่องการประเมินคุณภาพการศึกษาในสถานศึกษาต่างๆ รัฐบาลจะเน้นการรับรองมากกว่าการเข้าไปประเมินโดยบังคับอย่างเดียว
อีกส่วนสำคัญคืองาน “ด้านนวัตกรรม” ท่านายกฯสนับสนุนเรื่องนี้อย่างมากและได้เสนอแนวทางพัฒนาระบบนวัตกรรมที่ไม่ใช่เพียงทำงานวิจัยไว้เฉยๆ แต่จะต้องเป็นการวิจัยเพื่อเชื่อมกับการผลิตและบริการจริงในสังคม
โดยปรับกฎหมายและระเบียบต่างๆ เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้สามารถพัฒนาสินค้านวัตกรรมของไทยที่มีเทคโนโลยีสูง เช่น เครื่องช่วยฟังดิจิทัลคนพิการ เสื้อเกราะ หรือขาเทียม และอาจมีการปรับงบประมาณการวิจัยจาก 0.3% ของรายได้ประชาชาติ ให้ขึ้นไปถึง 1%
รวมทั้งใช้นวัตกรรมพัฒนาพื้นหรือลานกีฬาหรือสนามกีฬาจากยางธรรมชาติ พร้อมกันนี้ได้พัฒนา “จ่าเฉย” ที่แต่ก่อนยืนเฉยๆ ไม่มีใครกลัวเกรง เพราะยืนยิ้มตลอดเวลา
แต่วันนี้จะมี “จ่าเฉยไฮเทค” ซึ่งดูเหมือนจะยืนอยู่เฉยๆ แต่หากท่านทำผิดกฎจราจร จ่าเฉยรู้ เพราะมีกล้องติดอยู่ และจ่าเฉยจะออกใบสั่งให้ท่านภายใน 30 วัน หากมีหมายเรียกหรือต้องจ่ายค่าปรับ ท่านต้องทำ เพราะว่าจ่าเฉยวันนี้ เป็นจ่าเฉยที่มีความสามารถ
นี่คือภาพรวมและความคืบหน้าในการดำเนินนโยบายด้านสังคมรอบ 6 เดือนของรัฐบาลคสช.
ขอบคุณภาพจาก:www.tnews.co.th