เปิดคำสั่งคสช.ฉ.4 ตั้งคณะทำงานศึกษารธน.ขีดเส้นชัด! งดวิพากษ์-ปราศจากอคติ
เปิดคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 4 ตั้งคณะทำงานศึกษาวิจัย-เปรียบเทียบ-ให้ข้อเสนอแนะการร่าง รธน. คนจาก คสช. นั่งประธาน รองนายกฯ-รองปธ.สนช.-สปช.-กมธ.ยกร่างฯ-ปลัดก.ต่างประเทศ-เลขาฯกฤษฎีกา-เลขาฯสถาบันพระปกเกล้า เป็นคณะทำงาน ยันต้องปราศจากอคติ งดวิพากษ์วิจารณ์ เชิญนักวิชาการต่างประเทศเข้ามาสอนประชาธิปไตยได้ แต่ต้องคำนึงถึงสถานการณ์ในไทย
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เป็นคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 4/2558 เรื่อง การดำเนินการเพื่อประโยชน์แก่การจัดทำรัฐธรรมนูญและการปฏิรูป โดยการตั้งคณะทำงานขึ้นมาประสานงานกับองค์กรต่าง ๆ
----
คําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 4/2558 เรื่อง การดําเนินการเพื่อประโยชน์แก่การจัดทํารัฐธรรมนูญและการปฏิรูป
ตามที่กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ กําลังดําเนินไปตามแผนและขั้นตอนสามระยะของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระยะที่สองนั้น โดยที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์และข้อเสนอแนะที่แตกต่างหลากหลาย หากมิได้สร้างความรับรู้ความเข้าใจเสียแต่แรกก็อาจนําไปสู่ความขัดแย้งในสังคมจนกระทบต่อความสามัคคี ความสมานฉันท์ และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนากระบวนการประชาธิปไตยได้
สมควรสร้างความรับรู้ความเข้าใจแก่ผู้เกี่ยวข้องและประชาชนเกี่ยวกับมาตรการป้องกัน แก้ไข และเยียวยาวิกฤตการณ์ทางการเมือง การปฏิรูปกระบวนการจัดทํารัฐธรรมนูญ และหลักการสําคัญของรัฐธรรมนูญที่เหมาะสมกับความต้องการของประชาชนและประเทศชาติ โดยอาศัยประสบการณ์ในต่างประเทศที่อาจนํามาดัดแปลงหรือประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย
โดยที่มาตรา 42 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 บัญญัติให้ในกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นว่าคณะรัฐมนตรีควรดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ในเรื่องใด ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติแจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบเพื่อดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ต่อไป
คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคําสั่ง ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 2 ให้มีคณะทํางานคณะหนึ่งทําหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ เช่น กระทรวงการต่างประเทศ สถาบันอุดมศึกษาของรัฐตามที่เห็นสมควร สถาบันพระปกเกล้า และองค์กรทั้งห้าตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ได้แก่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
เพื่อพิจารณาเชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากต่างประเทศด้านการเมืองการปกครอง การจัดทํารัฐธรรมนูญ การปฏิรูป การแก้ปัญหาวิกฤตการณ์และความขัดแย้งทางการเมืองที่เคยเกิดขึ้นในประเทศเหล่านั้น
โดยเฉพาะประเทศที่มีประสบการณ์ในการจัดทํารัฐธรรมนูญและการปฏิรูปภายหลังวิกฤตการณ์และการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง มาให้ประสบการณ์และความเข้าใจในการพัฒนาประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตยและการปฏิรูปประเทศเพื่อนําไปสู่ระบอบประชาธิปไตยอันสมบูรณ์ โดยคํานึงถึงสถานการณ์ในประเทศไทย ซึ่งวิกฤตความขัดแย้งอาจแตกต่างจากต่างประเทศ และคํานึงถึงความต้องการของประชาชน
โดยไม่ขัดแย้งกับหลักการอันเป็นสากล ตลอดจนหลักประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามประเพณีการปกครองของประเทศไทย โดยไม่เกี่ยวกับการวิพากษ์หรือพิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญที่กําลังจัดทํา และไม่กระทบต่อความคืบหน้าของกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญที่กําลังดําเนินการอยู่
ทั้งนี้ ให้สถาบันพระปกเกล้าเป็นหน่วยธุรการและให้คณะทํางานดังกล่าวดําเนินการตามคําสั่งนี้โดยเร่งด่วน
คณะทํางานประกอบด้วย
(1) ผู้ดํารงตําแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประธานคณะทํางาน ที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมอบหมาย
(2) รองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย คณะทํางาน
(3) รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะทํางาน ที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติมอบหมาย
(4) รองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ คณะทํางาน ที่ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติมอบหมาย
(5) รองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ คณะทํางาน ที่ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมอบหมาย
(6) ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ คณะทํางาน
(7) เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะทํางาน
(8) เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า คณะทํางานและเลขานุการ
ข้อ 3 นอกจากการดําเนินการตามข้อ 2 แล้ว ให้คณะทํางานจัดให้มีการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบและระบุปัญหาที่เกิดจากการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 และ พ.ศ. 2550 ซึ่งเคยมีข้อท้วงติงว่าเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการเมืองของไทย หรือไม่ตอบสนองต่อการแก้วิกฤตการณ์ของประเทศ พร้อมทั้งให้จัดทําข้อเสนอแนะด้วย
ในการดําเนินการดังกล่าว คณะทํางานจะมอบหมายหรือว่าจ้างให้บุคคล คณะบุคคล หรือองค์กรใด ดําเนินการหรือนําผลการศึกษาที่เคยมีผู้ทําไว้แล้วมาเรียบเรียงและจัดหมวดหมู่ให้เป็นไปตามกรอบที่กําหนดไว้ในวรรคก่อนพร้อมทั้งเสนอความเห็นประกอบก็ได้ ทั้งนี้ ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องดําเนินการโดยไม่มีอคติและตรงต่อสภาพปัญหาที่เป็นจริงให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อนําไปใช้ประโยชน์ได้ทันการจัดทํารัฐธรรมนูญและการพิจารณาของผู้เกี่ยวข้อง ตลอดจนช่วยสร้างความรับรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน
ข้อ 4 ให้คณะทํางานตามข้อ 2 ดําเนินการต่อไปในลักษณะเดียวกันตามข้อ 3 โดยอนุโลม เพื่อใช้เป็นแนวทางเสนอแนะการปฏิรูปประเทศในด้านต่าง ๆ
ข้อ 5 ขั้นตอนและวิธีดําเนินการให้เป็นไปตามที่คณะทํางานกําหนดบนพื้นฐานของความโปร่งใส ความสอดคล้องกับหลักวิชาอันเป็นที่ยอมรับทั่วไป การปราศจากอคติ และการมุ่งให้ประชาชนได้รับประโยชน์ ในกรณีที่ไม่อาจดําเนินการในเรื่องใดโดยเร่งด่วนได้เพราะไม่สอดคล้องกับกฎหมาย กฎ หรือระเบียบของทางราชการ ให้คณะทํางานขอคําวินิจฉัยจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแล้วดําเนินการไปตามคําวินิจฉัยนั้น
ให้สํานักงบประมาณจัดงบประมาณแก่คณะทํางานเพื่อดําเนินการตามคําสั่งนี้ตามความจําเป็น
เมื่อได้ดําเนินการตามคําสั่งนี้แล้ว ให้ประธานคณะทํางานรายงานหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นระยะ ๆ และเผยแพร่ผลการดําเนินการต่อสาธารณชน ในกรณีที่คณะทํางานเห็นว่าสมควรยุติ หรือไม่จําเป็นต้องดําเนินการต่อไป ให้รายงานหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยจัดทําบัญชีแสดงค่าใช้จ่ายเสนอไปด้วย เมื่อได้รับความเห็นชอบของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแล้ว คําสั่งนี้เป็นอันสิ้นสุดลง
สั่ง ณ วันที่ 9 เมษายน พุทธศักราช 2558
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
หมายเหตุ : ภาพประกอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จาก dmc.tv