4 ภาพอินโฟกราฟฟิก 'ตัวช่วย' เข้าใจร่าง รธน.ฉบับปฏิรูป
วันที่ 17 เมษายน 2558 คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมีกำหนดส่งมอบร่างเเรกให้สมาชิกสภาปฏิรูปเเห่งชาติ (สปช.) จากนั้นวันที่ 26 เมษายน คือ วันสุดท้ายที่ สปช.ต้องพิจารณาเสนอแนะหรือให้ความเห็นเกี่ยวกับร่าง รธน.ให้แล้วเสร็จต่อไป
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ได้จัดทำภาพอินโฟกราฟฟิก เเสดงเจตนารมณ์ 4 ประการหลัก 1. สร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่, 2. การเมืองใสสะอาดและสมดุล 3. หนุนสังคมที่เป็นธรรม และ 4. นำชาติสู่สันติสุข เเจกสมาชิก สปช. เเละประชาชน โดยได้จัดวางบทบัญญัติในภาคหมวด เเละส่วนต่าง ๆ ให้เชื่อมโยงเเละหนุนเสริมต่อกัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจทุกฝ่าย ดังนี้
(1) สร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ : อำนาจอธิปไตยของพลเมืองยังคงอยู่หลังหย่อนบัตรเลือกตั้ง มีส่วนร่วมในทางการเมืองอย่างมีความหมาย ขยายพื้นที่ทางการเมือง ให้พลเมืองใช้อำนาจอธิปไตยทางตรงได้มากขึ้น
(2) การเมืองใสสะอาดและสมดุล : ขจัดและป้องกันการซื้อสิทธิ-ขายเสียง ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน การคอรัปชั่นในทุกระดับ และการใช้อำนาจโดยมิชอบ ในขณะเดียวกันมุ่งสร้างเสริมระบอบการเมืองที่มีธรรมาภิบาล ให้กลุ่มพลังทางสังคมและการเมืองทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วม ถ่วงดุลและตรวจสอบ
(3) หนุนสังคมให้เป็นธรรม : ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม และสร้างความมั่นคงของมนุษย์ในมิติต่างๆ
(4) นำชาติสู่สันติสุข : คลี่คลายปมปัญหาในอดีต สร้างความเข้าใจสาเหตุของปัญหาความขัดแย้งร่วมกัน และมีมาตรการป้องกันมิให้ความขัดแย้งรุนแรงเกิดขึ้นซ้ำในอนาคต สร้างรากฐานของสังคมประชาธิปไตยที่อยู่บนฐานการยอมรับในความหลากหลายและการใช้สันติวิธี
ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ สมาชิก สปช. เเละกรรมาธิการยกร่างฯ ระบุว่า ขณะนี้ได้นำเนื้อหาข้างต้นส่งตีพิมพ์เป็นเอกสารเพื่อมอบให้สมาชิก สปช.ทุกคน นำไปใช้ประกอบการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ เเละยังเผยเเพร่ผ่านทางสื่อโซเซียลมีเดียด้วย พร้อมกันนี้ เตรียมขยายรายละเอียดลงลึกในเเต่ละมิติ เช่น หมวดกระจายอำนาจเปลี่ยนเเปลงอย่างไร หมวดสิทธิเสรีภาพเปลี่ยนเเปลงอย่างไร
สมาชิก สปช. ยังกล่าวถึงความพร้อมในเรื่องกระจายอำนาจเเละสิทธิเสรีภาพลงตัวเเล้ว โดยกระจายอำนาจการบริหารท้องถิ่นที่มีอิสระมากขึ้น ส่วนสิทธิเสรีภาพได้ยกระดับขยายมากกว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 เเละ 50 เพราะเราตั้งหลักตั้งแต่แรกว่า รัฐธรรมนุูญใหม่ต้องดีกว่าเดิม ถ้าเขียนแล้วมาตรฐานเท่าเดิมก็ไม่ต้องทำใหม่ ทั้งนี้ รวมถึงการยกระดับความเข้มข้นเเง่ขยายสิทธิมนุษยชน สิทธิพลเมืองให้กว้างขึ้นด้วย
"คาดหวังให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะสอดคล้องกับความต้องการของสังคมมากที่สุด ถ้าเป็นไปในแนวทางนี้ไม่น่าจะเป็นปัญหาของการทำความเข้าใจ อย่างไรก็ตาม หากสังคมมีความคิดเห็นต่าง ในการยกร่างฯ จะพร้อมรับฟังและนำไปปรับแก้ไขให้ตรงกับความต้องการของสังคม เพราะรัฐธรรมนูญไม่ใช่ของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ แต่เป็นรัฐธรรมนูญของสังคมไทย" ดร.บัณฑูร กล่าวในที่สุด
********************
จุดมุ่งหมายร่วม 4 มิติข้างต้น เพื่อให้เห็นโครงสร้างและเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญที่เชื่อมโยงสัมพันธ์ในภาพรวม เปรียบเสมือนการเห็นป่าทั้งผืน ก่อนจะเข้าไปลงลึกศึกษามาตราต่าง ๆ ที่เปรียบเสมือนต้นไม้แต่ละต้นในป่าผืนใหญ่
คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพร้อมรับฟังข้อเสนอ ข้อคัดค้าน ความเห็นต่างทุกประการ เพื่อการทบทวน พิจารณาปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้เหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการของสังคม เพื่อให้เป็นรัฐธรรมนูญของประเทศไทย