ธปท.ชี้ลางร้ายหนี้ยุโรป เตือนรัฐอย่ามัวง่วนประชานิยม
รัฐบาลแทบจะไม่มีเงินเหลือในหน้าตักสำหรับการรองรับวิกฤตที่กำลังจะเกิดขึ้น จึงควรใช้ช่วงเริ่มต้น ทบทวนความจำเป็นของนโยบายต่างๆใหม่ บนพื้นฐานที่ได้ประเมินผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจโลกอย่างถี่ถ้วน
การตั้งคณะทำงาน หรือ “วอร์รูม” เพื่อติดตามและประเมิณสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิดของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นับเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับการเตรียมรับมือกับปัญหาหนี้สินสาธารณะยุโรป และสหรัฐอเมริกา ที่นับวันใกล้เข้าสู่ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกรอบใหม่เข้าไปทุกที
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลและหน่วยงานสำคัญที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ต่างไม่ค่อยตระหนักถึงความรุนแรงของสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น เพราะมัวแต่ให้ความสำคัญกับการผลักดันนโยบายต่างๆ ที่เคยหาเสียงไว้ในช่วงเลือกตั้ง
แม้แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังให้น้ำหนักกับปัญหาเศรษฐกิจโลกค่อนข้างน้อย เห็นได้จากนโยบายการเงิน ด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย (อาร์พี) อย่างต่อเนื่อง เพราะให้ความสำคัญกับปัญหาเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นจะนโยบายประชานิยมของรัฐบาล ทั้งที่มีกระแสเรียกร้องทั้งภาครัฐและเอกชนให้แบงก์ชาติชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยออกมาเป็นระยะๆ หลังปัญหาในต่างประเทศยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลาย
การตั้งวอร์รูมในครั้งนี้ จึงถือเป็นจุดเริ่มต้น ในการชี้ให้ทุกหน่วยงานตระหนักว่าสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในตลาดโลก อาจจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ต่อเศรษฐกิจ ไทยในอนาคตอันใกล้นี้ เพื่อให้ทุกองค์กร “ตื่นตัว”
วิเคราะห์สถานการณ์ ประเมินผลกระทบ และคิดหาแนวทางรับมือกับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยวิกฤติหนี้ยุโรปรอวันปะทุ ปรากฏการณ์ “แบล๊กมันเดย์” ที่ตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งลงอย่างรุนแรงเมื่อวันจันทร์ที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา สะท้อนความไม่มั่นใจของนักลงทุนต่อสถานการณ์การแก้ปัญหาหนี้ในยุโรปได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยวันเดียวดัชนีปรับลดลงสูงสุดถึง 90 จุด
แม้นักลงทุนจะคลายความกังวลลง หลังจากสภาของเยอรมนีจะอนุมัติขยายวงเงินกองทุนอีเอฟเอสเอฟ (EFSF) เพื่อช่วยเหลือประเทศที่ประสบปัญหาหนี้ในยุโรป จาก 1.23 แสนล้านยูโร เป็น 2.11 แสนล้านยูโร ทำให้เงินกองทุนเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ 4.4 แสนล้านยูโร แต่นักวิเคราะห์ในตลาดส่วนใหญ่เชื่อว่า วงเงินดังกล่าวไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาทั้งระบบหรืออาจจะช่วยได้เฉพาะประเทศกรีซ ซึ่งมีหนี้สาธารณะมากกว่า 3 แสนล้านยูโร
ขณะที่ทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอมเอฟ) เคยประเมินเบื้องต้นว่า หนี้ทั้งระบบในยุโรปมีประมาณ 9-10 แสนล้านยุโรป เท่ากับว่าประเทศสมาชิกของกลุ่มอียูจะต้องกลับมาพิจารณาเพิ่มวงเงินช่วยเหลืออีกในอนาคต ซึ่งมีความเสี่ยงที่ประชาชนของประเทศเหล่านี้ โดยเฉพาะพี่ใหญ่อย่างเยอรมณี จะต่อต้านการนะเงินภาษีของตนเองไปช่วยอุ้มประเทศอื่น
เสี่ยงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งใหญ่
จึงไม่แปลกที่มีการคาดการณ์ว่า มีโอกาสที่กรีซต้องผิดนัดชำระหนี้ วิกฤตหนี้ยุโรปจะทำให้เกิดปัญหา เศรษฐกินโลกตกต่ำแบบดับเบิลดิพ รีเซสชั่น (Double Dip Recession) ทำให้โบรกเกอร์ส่วนใหญ่ทยอยปรับลดการคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) โลกลง โดยล่าสุดซิตี้กรุ๊ป ได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพีโลกเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 1 เดือน จากระดับ 3% เหลือ 2.9%
หากเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ ไทยคงหลีกหนีผลกระทบไม่พ้น ตราบใดที่เศรษฐกิจไทยยังต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก เพราะไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปยุโรปถึง 10% ขณะที่มีสัดส่วนการส่งออกไปสหรัฐอเมริกาที่ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ 10% และส่งออกไปญี่ปุ่นที่คาดว่าเศรษฐกิจคงจะมีปัญหาตามสหรัฐไปด้วยอีก 10% รวมแล้วไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปทั้ง 3 กลุ่มประเทศถึง 30% ของการส่งออกทั้งหมด ซึ่งหากการส่งออกในส่วนนี้ไม่ขยายตัว จีดีพีของไทยคงโตลำบาก
แบงก์ชาติปรับนโยบายรับปัญหา
ขณะที่ ธปท.คงเริ่มเห็นความรุนแรงของปัญหาหนี้ยุโรป เห็นได้จากการเรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) “นัดพิเศษ” เพื่อหารือปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ทันที ทั้งที่ กนง.มีกำหนดประชุมตามปกติในวันที่ 19 ตุลาคมนี้อยู่แล้ว เป็นการนัดหารือด่วน หลังจาก ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. เดินทางกลับจากการประชุมประจำปีของสภาผู้ว่ากองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลก (เวิด์แบงก์) ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
การประชุม กนง.นัดพิเศษไม่มีการหยิบยกภาวะเศรษฐกิจโลกเข้ามาหารือโดยตรง แต่ได้ให้ทีมเศรษฐกิจ ธปท.ติตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ว่ากันว่า “จุดเปลี่ยน” สำคัญที่ทำให้ ธปท.ต้องกลับมาประเมินปัญหาหนี้ยุโรปใหม่ เป็นเพราะในการประชุมเวิลด์แบงก์มีการพูดถึงแต่ปัญหาหนี้ยุโรปและสหรัฐอเมริกา ความเห็นส่วนใหญ่ออกมาในทิศทาง “ติดลบ” และ “ติดลบมาก”
ในการประชุม กนง.นัดพิเศษ จึงมีคณะกรรมการบางคนเริ่มแสดงความเห็นชัดเจนว่า เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงมากขึ้น การดำเนินนโยบายการคลังและนโยบายการเงินของไทยจำเป็นต้องผ่อนปรนมากขึ้น ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่การประชุม กนง. ในวันที่ 19 ตุลาคมนี้ อาจมีการชะลอปรับดอกเบี้ยขึ้น
นอกจากนี้ การปรับเป้าหมายกรอบเงินเฟ้อของ กนง.จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 0.5-3% วิเคราะห์ได้เป็นมาตรการหนึ่งในการเตรียมรับมือผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก เพราะมีการคาดการณ์ว่าการปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในครั้งนี้ มีความเป็นไปได้ที่จะปรับเพิ่มเฉพาะตัวเลขในกรอบล่าง โดยอาจจะปรับเป็น 1-3% จากเดิม 0.5-3% ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณให้ตลาดรับรู้ว่า ธปท.พร้อมที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง หากเศรษฐกิจไทยมีปัญหาจริง
จี้รัฐทบทวนนโยบายประชานิยม
อย่างไรก็ตาม สำหรับภาคเอกชน โดยเฉพาะตลาดทุนเชื่อไปแล้วว่าปัญหาหนี้ยุโรปจะกลายเป็นวิกฤตการเงินโลกรอบ 2 เพราะไม่ว่าการแก้ปัญหาจะออกมาในรูปแบบใด เศรษฐกิจโลกคงมีสัญญาณชะลอตัวลงอย่างรุนแรง ซึ่งไทยคงได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทางสภาธุรกิจตลาดทุนไทย จึงเรียกร้องให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหานี้อย่างเร่งด่วน พร้อมกับยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาล 7 ข้อ เพื่อเตรียมรับมือกับวิกฤตที่กำลังจะเกิดขึ้น
ข้อเสนอสำคัญอยู่ที่ การขอให้รัฐบาลทบทวนนโยบายที่ใช้ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง เพราะมองว่าไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงไป พร้อมกับให้จัดลำดับความสำคัญของนโยบายใหม่ ควรชะลอนโยบายที่ไม่เร่งด่วน เช่น กองทุนหมู่บ้าน เพื่อประหยัดงบประมาณไว้ใช้ในยามจำเป็น หากเศรษฐกิจโลกเกิดวิกฤตรอบ 2 จริง รัฐบาลจะได้มีกระสุนสำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ
อีกนโยบายที่ภาคเอกชนแสดงความเป็นห่วงค่อนข้างมาก คือนโยบายรับจำนำข้าว เพราะต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล ขณะที่ผลที่ได้อาจไม่มากเท่าที่รัฐบาลคิด เพราะราคารับซื้อที่ 1.5 หมื่นบาทต่อตันนั้น ถือว่าสูงมาก ขณะที่ราคาข้าวในตลาดโลกอาจจะไม่ได้ปรับขึ้นตาม ทำให้รัฐบาลขายข้าวออกสู่ตลาดไม่ได้ งบประมาณที่ลงไปก็ไม่กลับมา ทำให้รัฐบาลไม่มีเงินเหลือในการกระตุ้นเศรษฐกิจในยามจำเป็น
ห่วงรัฐบาลไร้งบรับมือวิกฤต
หากพิจารณางบประมาณของรัฐบาลพบว่า ปัจจุบันก็มีข้อจำกัดในด้านเม็ดเงินอยู่แล้ว โดยภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 ที่ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) วงเงิน 2.33 ล้านล้านบาท นั้น เป็นรายจ่ายประจำถึง 1.839 ล้านบาท รายจ่ายเพื่อชดเชยเงินคงคลังอีก 5.4 หมื่นล้านบาท และรายจ่ายเพื่อชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยอีก 5.1 หมื่นล้านบาท เท่ากับว่าเหลืองบประมาณสำหรับการลงทุนเพียง 3.84 แสนล้านบาทเท่านั้น ถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับระบบเศรษฐกิจไทยที่มีขนาดของจีดีพีเกือบ 10 ล้านล้านบาท
ยิ่งไปกว่านั้น ขณะนี้รัฐบาลยังง่วนอยู่กับการออกมาตรการประชานิยมตามที่ได้หาเสียง ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นการเพิ่มภาระงบประมาณรายจ่ายประจำให้เพิ่มขึ้นอีก ทั้งการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการและพนักงานของรัฐ สำหรับผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี เป็นภาระงบประมาณถึง 2.5 หมื่นล้านบาท มาตรการคืนภาษีให้กับผู้ซื้อรถยนต์คันแรก 3 หมื่นล้านบาท การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับซื้อบ้านหลังแรก 1.2 หมื่นล้านบาท
ยังไม่รวมนโยบายใหญ่อย่างการรับจำนำข้าว แม้งบฯที่ใช้ในโครงการ 4.2 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่จะมาจากสถาบันการเงินของรัฐ แต่เป็นส่วนงบฯของรัฐถึง 2-3 หมื่นล้าน นอกจากนี้ยังมีภารกิจเฉพาะหน้า ในการใช้งบประมาณอีกจำนวนหนึ่ง เพื่อฟื้นฟูผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม ที่แม้ยังไม่มีการประเมินมูลค่าความเสียหายที่ชัดเจน แต่เบื้องต้นคาดว่าจะไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาท
เห็นได้ชัดว่า รัฐบาลแทบจะไม่มีเงินเหลือในหน้าตักสำหรับการรองรับวิกฤตที่กำลังจะเกิดขึ้น จึงควรใช้ช่วงเริ่มต้น ทบทวนความจำเป็นของนโยบายต่างๆใหม่ บนพื้นฐานที่ได้ประเมินผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจโลกอย่างถี่ถ้วน
พร้อมประสานงานกับทุกหน่วยงานเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ดำเนินนโยบายไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะกระทรวงการคลัง ที่ต้องให้ความสำคัญกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในต่างประเทศให้มากขึ้น เพราะขณะนี้ทั้งฝ่ายนโยบายการเงิน (แบงก์ชาติ) และภาคเอกชนต่างตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นกับไทยแล้ว เหลือเพียงฝ่ายนโยบายการคลัง ที่ยังไม่มีสัญญาณการเตรียมพร้อมรับปัญหาให้เห็น
ไม่เช่นนั้น หากวิกฤตมาถึงตัว ทางออกเดียวที่รัฐบาลจะทำได้ อาจหนีไม่พ้นต้องกู้เงินมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศจำนวนมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” โจมตีรัฐบาลชุดก่อนว่า “ดีแต่กู้”
สุดท้ายอาจเข้าข่าย “ว่าแต่เขา อิเหนาก็เป็นซะเอง”
ที่มาภาพ : http://flamingo-worldwide.com/economic-outlook-bright-in-2010-but/