ผ่าปมร้อนการเมืองสะเทือนปฏิรูป รธน.ส่อวุ่นวาย-ยิ่งลักษณ์ สู้คดีหรือลี้ภัย?
“คุณยิ่งลักษณ์ไปกับไม่ไปศาล อาจเป็นจุดพลิกผันในทางการเมืองได้ สมมุติคุณยิ่งลักษณ์ไม่ไปศาล แต่ใช้วิธีลี้ภัยทางการเมือง ยุ่งเลย แต่ทหารเองก็คงเตรียมทางแก้ไว้ แต่หากคุณยิ่งลักษณ์ออกไปได้ แล้วไปปรากฏตัวขอลี้ภัยทางการเมือง ต่างประเทศก็อาจจะล้อมไทยหนักกว่าเดิม”
1-2 เดือนหลังจากนี้ การเมืองไทยเดินมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้ง โดยเฉพาะการพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
เริ่มจากวันที่ 17 เมษายน กรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญจะเสนอร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับต่อประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) คณะรัฐมนตรี(ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)
ถัดมาวันที่ 20-26 เมษายน คือการอภิปรายโดยสปช. และต่อด้วยการรับฟังความคิดเห็นประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับตลอดช่วงเดือนพฤษภาคม
“ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ คาดหวังว่า ข้อคิดเห็นของสมาชิกสภาปฏิรูป ซึ่งเป็นฝาแฝดอินจันร่วมกับกมธ.ยกร่างฯ จะเป็นความคิดเห็นที่ทำให้รัฐธรรมนูญมีความสมบูรณ์ขึ้น ไม่ใช่ชำแหละ หรือเตรียมจวก อย่างที่สื่อพาดหัวข่าว
กล่าวกันว่า การอภิปรายและการรับฟังความคิดเห็นรัฐธรรมนูญในห้วงเวลาดังกล่าว อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของกมธ.ยกร่างฯ และยังส่งผลต่อการทำงานด้านปฏิรูปของทีมแม่น้ำ 5 สาย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ดังคำกล่าวของ “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ที่ย้ำผ่านรายการคืนความสุขให้คนในชาติ(10 เม.ย.)ว่า การร่างรัฐธรรมนูญมีความสำคัญ หากทุกคนคิดว่าต้องปฏิรูปประเทศ ต้องดูว่าจะเขียนอย่างไร ให้คนในประเทศยอมรับ ให้นักการเมืองยอมรับด้วย ขณะเดียวกันต้องสร้างความเชื่อมั่นจากต่างประเทศด้วย
“รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะไปได้หรือไม่ได้อยู่กับคนไทยทุกคน อยากจะปฏิรูปหรือไม่อยากให้ดีกว่าเดิมหรือไม่ อยากอยู่ในความขัดแย้งอีกหรือไม่ อยากมีการเมืองที่บริสุทธิ์ยุติธรรมและเป็นธรรมหรือไม่ สร้างความเข้มแข็งประเทศหรือไม่ เกษตรกรจะต้องมีเงิน มีรายได้มากขึ้นหรือไม่ในอนาคต ทุกอย่างต้องพัฒนาหมด ไม่อย่างนั้นประเทศไทยก็อ่อนด้อยอยู่แบบนี้ตลอดไป”
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจากสปช. วิเคราะห์ว่า รัฐธรรมนูญผ่านหรือไม่ผ่านยังยากที่จะคาดเดา ที่ผ่านมากมธ.ยกร่างฯ นอกจากต้องทำงานหนักแล้วยังทำงานยากอีกด้วย โดยเฉพาะเรื่องแรงกดดันและความคาดหวังจากสังคมทุกทิศทาง ประเด็นสำคัญ ยังไม่เห็นสัญญาณที่ชัดเจนจากคสช.ในเรื่องนี้ว่ามีเป้าหมายอย่างไร
“คำถามคือ เป้าหมายของคสช.ในเรื่องนี้คืออะไร อาจจะหาไม่เจอ อะไรกันแน่ที่จะถูกใจคสช. เพราะออกไปมีแต่เสียงไม่ถูกใจ ทำให้เห็นว่ายังไม่มีพิมพ์เขียวอะไร สื่อสารออกไปสู่สาธารณะก็มีการบอกว่าพูดน้อยๆหน่อยสังคมสับสน”
กระนั่นก็ยังมีข้อดีคือ กมธ.ยกร่างฯค่อนข้างเป็นอิสระ ทุกมาตราถกกันเต็มที่ ไม่ต้องห่วงมากนักว่าจะถูกใจหรือไม่ถูกใจ
“นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประเมินว่า หากเริ่มมีการแปรญัตติรัฐธรรมนูญและเปิดรับฟังความคิดเห็น แล้วคสช.ควบคุมไม่ดี อาจมีการผสมโรงทำให้เกิดความแตกแยกวุ่นวาย
“ต้องจับตาดูว่าการแสดงความคิดต่อร่างรัฐธรรมนูญวุ่นวายหรือไม่ และกมธ.ยกร่างฯปรับเปลี่ยนแก้ไขในสิ่งที่สังคมท้วงติงหรือเปล่า”
“นิพิฏฐ์” ยังเห็นว่า นอกจากปมรัฐธรรมนูญที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งวุ่นวายแล้ว จุดพลิกผันในทางการเมืองรอบใหม่อาจเกิดขึ้นในวันที่ 19 พฤษภาคมนี้ กรณีคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะปรากฏตัวต่อศาลในคดีจำนำข้าว หรือจะตัดสินใจลี้ภัยทางการเมือง
“คุณยิ่งลักษณ์ไปกับไม่ไปศาลอาจเป็นจุดพลิกผันในทางการเมืองได้ สมมุติคุณยิ่งลักษณ์ไม่ไปศาล แต่ใช้วิธีลี้ภัยทางการเมือง ยุ่งเลย แต่ทหารเองก็คงเตรียมทางแก้ไว้ แต่หากคุณยิ่งลักษณ์ออกไปได้ แล้วไปปรากฏตัวขอลี้ภัยทางการเมือง ต่างประเทศก็อาจจะล้อมไทยหนักกว่าเดิม”
ด้านนักสังเกตการณ์การเมือง ชี้ว่า หลังจากนี้รัฐบาลคงเจอปัญหารอบด้านต่อเนื่องที่อาจส่งผลสะเทือนต่อการปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง ทั้งปัญหารัฐธรรมนูญ คลื่นใต้น้ำจากกลุ่มผู้สูญเสียผลประโยชน์ และปัญหาเศรษฐกิจซึ่งอาจกลายเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุด
“ผลงานรัฐบาลคสช.แรกๆก็ดี แต่ตอนหลังทำเยอะเกินไป แล้วพยายามโอ้อวดว่า รัฐบาลที่ผ่านมากี่สมัยก็ทำเรื่องนี้ไม่ได้ ผมต้องมาทำ อันนี้อันตราย”
“สิ่งที่คสช.ควรจะทำคือรักษากฎหมาย เช่น กวาดล้างรถตู้ผิดกฎหมาย อันนี้ทำไปเถอะ หรือปัญหาแผงลอยรุกทางเท้า ทำต่อเนื่องได้ไหม เพราะรัฐบาลจากการเลือกตั้งทำไม่ได้”
“อย่าคิดว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องเล็กน้อย เพราะเป็นการสั่งสมพฤติกรรมการทำผิดกฎหมายของคนในสังคม ฉะนั้น คสช.ต้องทำให้คนเคารพกฎหมาย”
“รัฐบาลไม่ต้องกังวลหรือกลัวคนด่าว่าเป็นรัฐบาลเผด็จการ ถ้ากลัวในการทำให้คนเคารพกฎหมาย ก็น่าเสียดาย.. การรัฐประหารก็จะซ้ำรอยเดิม”
ทั้งหมดนี้ สะท้อนผ่านคำกล่าวของ “นายกฯประยุทธ์” อย่างชัดเจนที่ว่า “...เรื่องของการเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์นั้น ไม่มีอะไรที่ได้มาเปล่า ๆ ทุกคนต้องอดทนต้องช่วยเหลือกัน มีมาตรการที่จะทำให้เกิดการเอื้ออำนวยต่อการปฏิรูปให้ได้อย่างแท้จริง ไม่อย่างนั้นก็พูดแต่ปาก ทำอะไรไม่ได้ วันหน้าก็กลับที่เก่า”
ขอบคุณภาพจาก:คลังภาพ ศูนย์สื่อทำเนียบ