กางแผนความมั่นคง สมช.ปี’58-64 เร่งปรองดอง-แก้ปัญหาชายแดนใต้
กางแผนนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ สมช. ระหว่างปี 2558-2564 ยึดหลักค่านิยม 12 ประการนำขบวน เน้นสร้างความปรองดองสมานฉันท์ แก้ปัญหาความไม่สงบชายแดนใต้ ป้องความเสี่ยงการย้ายถิ่นประชากร-ภัยคุมคามทางทะเล หลังเปิด AEC
เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบร่างนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ.2558-2564 และแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว ของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เพื่อใช้เป็นแนวทางให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติ
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปรายละเอียดของร่างนโยบายดังกล่าว มานำเสนอ ดังนี้
สำหรับนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ เป็นนโยบายที่ สมช. กำหนดขึ้นเพื่อเป็นกรอบทิศทางให้ส่วนราชการและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องดำเนินงานด้านความมั่นคงอย่างมีเอกภาพและประสานสอดคล้องกัน
ในช่วงที่ผ่านมา สมช. ในฐานะหน่วยงานซึ่งมีภารกิจให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ ต่อ สมช. และคณะรัฐมนตรี ได้เสนอนแนะนโยบายดังกล่าว โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางจากส่วนราชการ ภาควิชาการ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เสนอเป็นกรอบระยะเวลา 5 ปี มาอย่างต่อเนื่อง ฉบับล่าสุดคือ นโยบายฉบับ พ.ศ.2555-2559
แต่ด้วยข้อจำกัดของสถานการณ์ในห้วงที่ผ่านมา ทำให้ไม่สามารถเสนอคณะรัฐมนตรีในขณะนั้นพิจารณานโยบายความมั่นคงแห่งชาติ
อย่างไรก็ตาม สมช. ได้มีการทบทวนและประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยมีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยลำดับ นำมาสู่การจัดทำร่างนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ.2558-2564 เสนอคณะกรรมการร้อยกรองงานของ สมช. มีเลขาธิการ สมช. เป็นประธาน
ที่ประชุมพิจารณาให้ความเห็นชอบสาระสำคัญและการแบ่งมอบหน่วยรับผิดชอบรวมถึงให้ปรับห้วงเวลาดำเนินการของนโยบายถึงปี 2564 (พ.ศ.2558-2564) เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแหงชาติ ทั้งนี้ เนื่องจากแผนพัฒนาฉบับที่ 11 เหลือห้วงเวลาดำเนินการ 2 ปี (2559) จึงเห็นควรให้ปรับห้วงเวลาดำเนินการของนโยบายให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาฉบับที่ 12 (2560-2564) ที่จะมีขึ้น และให้นำเสนอ สมช. พิจารณา
การประชุม สมช. ครั้งที่ 1/2557 มีนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน ที่ประชุมมีมติให้ความเห็นชอบร่างนโยบายดังกล่าว และการกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบ รวมถึงแนวทางการขับเคลื่อนที่เกี่ยวข้อง โดยให้ สมช. นำข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี และความเห็นของที่ประชุมไปพิจารณาปรับร่างนโยบายดังกล่าว และแนวทางการขับเคลื่อนให้มีความสมบูรณ์ชัดเจนยิ่งขึ้น หลังจากนั้นให้นำกราบเรียนนายกรัฐมนตรี พิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ต่อมา นายกรัฐมนตรี มีบัญชาให้ สมช. นำนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ และใช้เป็นแนวทางให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติต่อไป และยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2556 กรณีการเสนอประเภทนโยบาย แผนงาน โครงการ ต่อคณะรัฐมนตรี
สาระสำคัญ ข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย
สาระสำคัญของร่างนโยบายความมั่นคงแห่งชาติและแนวทางการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปรับตามข้อสั่งการและความเห็นของ สมช. โดย สมช. ได้นำข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีและความเห็นของ สมช. ไปดำเนินการปรับร่างนโยบายดังกล่าว และแนวทาง สรุปสาระสำคัญ ประกอบด้วย
1.ค่านิยมหลักของชาติ โดยยึดถือตามค่านิยมหลักของชาติ 12 ประการ ตามข้อเสนอของนายกรัฐมนตรี
2.ผลประโยชน์แห่งชาติ ประกอบด้วย (1) การมีเอกราช อธิปไตย และบูรณภาพแห่งเขตอำนาจรัฐ (2) การดำรงอยู่อย่างมั่นคง ยั่งยืนของสถาบันหลักของชาติ (3) การดำรงอยู่อย่างมั่นคงของชาติและประชาชนจากภัยคุกคามทุกรูปแบบ (4) การอยู่ร่วมกันในชาติอย่างสันติสุข เป็นปึกแผ่น มั่นคงทางสังคม ท่ามกลางพหุสังคมและการมีเกียรติและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ (5) ความเจริญเติบโตของชาติ ความเป็นธรรม และความอยู่ดีมีสุขของประชาชน (6) ความยั่งยืนของฐานทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ความมั่นคงทางพลังงาน อาหาร (7) ความสามารถในการรักษาผลประโยชน์ของชาติภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศ (8) การอยู่ร่วมกันอย่างสันติประสานสอดคล้องกันด้านความมั่นคงในประชาคมอาเซียนและประชาคมโลกอย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี
3.วิสัยทัศน์ “ชาติมีเสถียรภาพและเป็นปึกแผ่น ประชาชนมีความมั่นคงในชีวิต ประเทศมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ปลอดภัยจากภัยคุกคามข้ามพรมแดน พร้อมเผชิญวิกฤตการณ์ มีบทบาทเชิงรุกในประชาคมอาเซียน และดำเนินความสัมพันธ์กับนานาประเทศอย่างมีดุลยภาพ”
4.การประเมินสถานการณ์และความเปลี่ยนแปลงบริบทความมั่นคงในระยะ 7 ปี (พ.ศ.2558-2564) ได้แก่
4.1 ระดับโลกมีแนวโน้มสำคัญ คือ การเมืองแบบหลายขั้วอำนาจ และต้องให้ความสำคัญกับประเด็นภัยพิบัติ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม
4.2 ระดับภูมิภาค คือ การขยายอิทธิพลของประเทศมหาอำนาจในภูมิภาค และความเสี่ยงจากประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะภัยคุกคามข้ามชาติ และการย้ายถิ่นประชากร รวมถึงความมั่นคงและผลประโยชน์ทางทะเล
4.3 ภายในประเทศ คือ ความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ ปัญหาความขัดแย้งภายใน และปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
4.4 ความมั่นคงข้ามพรมแดน โดยเฉพาะการก่อการร้าย และอาชญากรรมข้ามชาติจะมีรูปแบบที่ซับซ้อนมากขึ้น รวมถึงปัญหาจากโรคอุบัติใหม่ และความมั่นคงทางไซเบอร์ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในภาพรวม
5.วัตถุประสงค์ ของนโยบาย 9 ข้อ ที่สำคัญ คือ เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเสริมสร้างสำนึกคนในชาติให้มีความจงรักภักดีและธำรงรักษาไว้ซึ่งสถาบัน รวมถึงเพื่อการสนับสนุนการสร้างความปรองดองในชาติ ตลอดจนให้จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความปลอดภัย นอกจากนี้เพื่อการเตรียมความพร้อมของชาติ การพัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศ และการอยู่ร่วมกับประเทศต่าง ๆ อย่างสันติ
6.นโยบาย ได้จัดลำดับความสำคัญโดยพิจารณาความเสี่ยงและผลกระทบต่อความมั่นคงที่เป็นแก่นหลักของชาติ อันเกี่ยวข้องกับความอยู่รอดปลอดภัยและผลกระทบต่อความมั่นคงและภูมิคุ้มกันของชาติในภาพรวมโดยแบ่งเป็นเกณฑ์สำคัญ 2 ส่วน ได้แก่
6.1 นโยบายเสริมสร้างความมั่นคงที่เป็นแก่นหลักของชาติ 3 นโยบาย คือ
-เสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
-สร้างความเป็นธรรม ความปรองดอง และความสมานฉันท์ในชาติ
-ป้องกันและแก้ไขการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
6.2 นโยบายความมั่นคงแห่งชาติทั่วไป 13 นโยบาย คือ
-จัดระบบบริหารจัดการชายแดนเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาข้ามพรมแดน
-สร้างเสริมศักยภาพการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยคุมคามข้ามชาติ
-ปกป้อง รักษาผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล
-จัดระบบ ป้องกัน และแก้ไขปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมือง
-เสริมสร้างความเข้มแข็งและภูมิคุ้มกันความมั่นคงภายใน
-เสริมสร้างความมั่นคงของชาติจากภัยการทุจริตคอร์รัปชั่น
-เสริมสร้างความมั่นคงทางเทคโนโลยีสารสนเทศและไซเบอร์
-รักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
-เสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานและอาหาร
-พัฒนาระบบการเตรียมพร้อมแห่งชาติเพื่อเสริมความมั่นคงของชาติ
-เสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศ
-พัฒนาระบบงานข่าวกรองให้มีประสิทธิภาพ
-เสริมสร้างดุลยภาพในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ล่าสุด ทุกกระทรวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับทราบร่างนโยบายดังกล่าวแล้ว และเตรียมพร้อมนำไปปฏิบัติใช้ในทันที
ทั้งหมดนี้คือ “กลยุทธ์” ด้านความมั่นคงของ สมช. ที่ถือเป็นหน่วยงานสำคัญในการดูแลความมั่นคงของประเทศ ในช่วง 7 ปีต่อจากนี้
ส่วนจะสำเร็จเห็นผลเป็นรูปธรรมหรือไม่ ประการใด ต้องจับตาดูต่อไปอย่างใกล้ชิด !