Turning Point:จุดเปลี่ยน 1ใน7 เรื่องสั้นจากผู้ตรวจการฯ กระตุ้นคุณธรรมคนในสังคม
ในเมื่ออำนาจสามารถดลบันดาลได้ทุกสิ่ง
ผู้คนจึงพยายามแย่งชิงสิ่งที่เรียกว่า “อำนาจ”
โดยที่ไม่เคยรู้เลยว่า แท้จริงแล้ว...
อำนาจเป็นสิ่งที่แอบซ่อนอยู่ในตัวตนของมนุษย์ทุกคน
โดยไม่ต้องไขว่คว้ามาจากไหน
“เด็กชายต้นได้พบชายคนหนึ่ง จากวันนั้นทุกอย่างก็เปลี่ยนไป”
“ยายๆที่ตรงนี้ขายเถอะ ยายไม่อยากมีน้ำประปาใช้แบบคนอื่นเขาหรอ ถ้ายายขายที่ตรงนี้แล้วยายย้ายไปก็จะมีน้ำประปาใช้แบบคนอื่นเขานะ ขายเถอะยาย” คำร้องขอจากชายผู้หนึ่งที่พยายามเกลี่ยกล่อมจะซื้อที่ของยาย
และคำถามย้อนกลับจากคุณยายว่า “นั่นซิ บ้านอื่นมีน้ำประปา ทำไมบ้านยายไม่มี และทำไมยายต้องขายที่ ยายไม่ขาย”
นี่คือบทเริ่มต้นของการสนทนาในฉากหนึ่งของภาพยนตร์สั้นเรื่อง “Turning Point:จุดเปลี่ยน” ภาพยนตร์สั้นจากสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ถูกฉายขึ้น ณ โรงภาพยนตร์ 10 ชั้น 6 สยามพารากอน ในงานเปิดตัวภาพยนตร์สั้นและสารคดีเพื่อนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับคุณธรรม จริยธรรมพื้นฐานในสังคมไทย 5 ประการ หวังจะเป็นแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม
นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เริ่มต้นการบอกเล่าถึงที่มาที่ไปของโครงการภาพยนตร์สั้น ว่า 15 ปีของผู้ตรวจการแผ่นดิน หลายคนไม่เคยรู้ว่าผู้ตรวจการแผ่นดินมีหน้าที่ทำอะไรบ้าง การสื่อสารหรือบอกกล่าวว่าหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินคืออะไรผ่านลายลักษณ์อักษรเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ ดังนั้นเราจึงหาวิธีการที่จะเปลี่ยนแปลงการนำเสนอไปสู่สังคมด้วยการหันมาสร้างสื่อที่จะช่วยให้คนเห็นภาพและเข้าใจการทำงานของผู้ตรวจการแผ่นดินมากขึ้น
“อย่างภาพยนตร์สั้นเรื่องจุดเปลี่ยน เราเห็นหน้าเศร้าๆซึมๆของคุณยายที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่รัฐ ความทุกข์ของเด็ก จนกระทั่งวันนี้มีเจ้าหน้าที่จากผู้ตรวจการแผ่นดินไปลงพื้นที่ เด็กเข้ามาร้องเรียน และในที่สุดก็ได้เห็นรอยยิ้มของคุณยายและเด็กที่ได้รับการช่วยเหลือ ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐผู้ตรวจการแผ่นดินทำอย่างไร ไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่ได้รับความช่วยเหลือ เดือดร้อนจากการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ นี่คือหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดิน”
เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เล่าอีกว่า ภาพยนตร์สั้นที่นำเสนอนั้นต้องการให้ประชาชนได้ดูเพื่อที่จะได้อินมากกว่าการอ่านจากตัวหนังสือว่าผู้ตรวจการแผ่นดินมีหน้าที่อะไร นอกจากนี้ยังมีสารคดีสั้นที่เกี่ยวข้องกับคุณธรรม 5 ประการ โดยนำเสนอเป็นกรณีตัวอย่างกรณีหนึ่งเพื่อชี้ให้เห็นรูปธรรม เรื่องความซื่อตรง มีวินัย พอเพียง เสียสละ และรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่ใช้เวลาดูเพียง 5 นาที ก็จะเข้าใจและเห็นภาพรวมทั้งหมด และการเลือกใช้ภาพยนตร์สั้นเนื่องจากหากทำเป็นภาพยนตร์เลยต้องใช้รายละเอียดและทุนค่อนข้างมาก จึงนำ2เรื่องมาผูกกัน คือสิ่งที่ประชาชนเดือดร้อนจากเจ้าหน้าที่รัฐและการเข้าไปเยียวยาของผู้ตรวจการแผ่นดิน หากสื่อเรื่องเหล่านี้เป็นตัวหนังสือประชาชนอาจไม่ได้อรรถรส
ด้านนายชนพล รินลา ผู้กำกับภาพยนตร์สั้น“Turning Point:จุดเปลี่ยน” บอกว่า จุดเปลี่ยนเป็นประเด็นเรื่องอำนาจว่าคนที่มีอำนาจนั้นหมายถึงทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นการนำเรื่องจริงจากการร้องเรียนหมายเลขที่2034/52 มาสร้างโดยมุ่งหวังที่จะให้ประชาชนเข้าถึงและสัมผัสได้กับเรื่องราวที่เกิดขึ้นและสะท้อนชีวิตของคนทั่วไป โดยในการนำเสนอนั้นเป็นการดำเนินเรื่องของเด็กชายคนหนึ่งที่ครอบครัวไม่ได้รับความเป็นธรรมและทัดเทียมในสังคม จนกระทั่งได้มาพบเจ้าหน้าที่ของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และจากวันนั้นชีวิตของครอบครัวเขาก็เปลี่ยนไป
นอกเหนือจากภาพยนตร์สั้นเรื่องจุดเปลี่ยนแล้ว ที่น่าสนใจไม่แพ้กันและยังมีวลีเด็ดที่ทำให้ต้องมาขบคิดอย่างประโยคที่ลูกเอ่ยปากถามพ่อขึ้นมาว่า
“พ่อๆ การที่เราเอาของไปคืน แบบนี้เขาเรียกว่าดีหรือโง่อ่ะพ่อ”นายพิชิต สุขไผ่ตา ตัวแทนบริษัท เอ็กซ์เทนเดอร์ จำกัด ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ดีหรือโง่ บอกเล่าให้ฟังว่า หากย้อนกลับไปดูอยากให้คนดูหนังเข้าใจเกิดความสงสัยว่าคนดีคืออะไร บางครั้งคนอยากทำดีมีเยอะแต่ก็ไม่มั่นใจว่าการทำความดีจะกลับไปสู่เรื่องบุญและบาปคือต้องทำดีมากเท่าไหร่จึงจะได้บุญ
การยกกรณีเรื่องจริงของพี่แท๊กซี่คนหนึ่งกับเหตุการณ์ที่นำทรัพย์สินของลูกค้าที่ลืมไว้บนรถไปคืนกับสถานการณ์ที่ทำให้เขาต้องเลือกที่จะหาคำตอบว่า ความซื่อสัตย์ยังคงอยู่ในตัวเขาหรือไม่ กับคำถามว่าสิ่งที่ทำนั่นดีหรือโง่ โดยให้ลูกชายเป็นคนเลือกที่จะส่งคีย์เวิร์ดนี้ เพราะเหตุการณ์แบบนี้มีอยู่จริงในสังคมชีวิตประจำวัน ดังนั้นทุกคนจะได้รู้เลยว่าการจะต้องข้ามเส้นนี้ไปให้ได้ต้องทำอย่างไร ใครเป็นคนเลือก
ภาพยนตร์สั้นที่ถูกสร้างขึ้นมานั้นมุ่งหวังเหลือเกินที่จะเป็นสื่อหนึ่งที่จะกระตุ้นความคิดและจิตสำนึกของคนในสังคมให้เกิดการตระหนักในเรื่องคุณธรรมจริยธรรม หากแต่ความสำเร็จนั้นจะประเมินได้จากสิ่งใดก็คงต้องดูคนในสังคมว่าเมื่อได้รับชมหรือรับสารในเรื่องเหล่านี้บ่อยๆจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่
นอกจากภาพยนตร์สั้น 2 เรื่องนี้แล้ว ก็ยังมีอีก 5เรื่องด้วยกัน
ผีบ้าในสายตาชาวบ้าน ความเพียรและความอดทนของเขาที่ทำให้เวลาผ่านไปกลายเป็นความชื่นชมสะท้อนให้เห็นคุณค่าแก่ชุมชนและสังคม ถ่ายทอดผ่านภาพยนตร์สั้นในชื่อเรื่อง ผีบ้าสอน
ผ้าอนามัยไฮโซ ถ่ายทอดเรื่องราวสาเหตุสำคัญที่แสดงถึงคุณภาพชีวิตของมนุษย์และการอยู่ร่วมกันในสังคมที่ทำให้ประเทศนั้นยังด้อยพัฒนาและขาดแบบแผน ซึ่งเป็นการสร้างจากเรื่องจริงภายในร้านสะดวกซื้อ
คำสัญญาที่ผ่านมา 43 ปี ของหญิงชาวเขาที่ไม่เคยหายไป จากความทรงจำของหญิงชราที่ทำเรื่องราวธรรมดาให้กลายเป็นเรื่องใหญ่ด้วยหัวใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณธรรมจนกลายเป็นความซื่อสัตย์ที่น่ายกย่องและน่าจดจำ ด้วยการพยายามเก็บเงินตลอดเวลา 43 ปี ให้ได้ 3,000 บาท เพื่อนำไปใช้คืนให้กับโรงพยาบาล ผ่านเรื่องราวในภาพยนตร์สั้นเรื่อง ยังไม่สาย
หรือเรื่องคุณยายเงินล้าน ที่สะท้อนเรื่องราวของการเสียสละเพื่อส่วนรวม ขยันและอดออมเพื่อต้องการนำเงินไปทูลเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยสลากออมสินจำนวนหนึ่งล้านบาท
และเรื่องต้นแบบความพอเพียงเรื่องราวของคุณปัญญา ใคร่ครวญ ผู้นำวิถีชีวิตพอเพียง ชุมชนเกษตรอินทรีย์ที่ดำเนินชีวิตอย่างพอประมาณมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงภายนอกโดยใช้ความรู้คู่คุณธรรมเพื่อชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน และเบื้องหลังชีวิตของคุณหญิงสุวรรณี สิงห์สมบูรณ์ นักธุรกิจผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ที่เป็นผู้ริเริ่มแนวคิดสะท้อนความพอเพียงให้กับพนักงานและลูกจ้างของบริษัทได้ใช้ชีวิตหลังเกษียณด้วยการให้ที่ดินทำกินแทนการให้เงินบำนาญ
ซึ่งสามารถรับชมภาพยนตร์สั้นทั้ง 7 เรื่องนี้ ผ่านช่องทางยูทูปhttps://www.youtube.com/watch?v=gsRTKQPiz5c หรือเว็บไซต์ http://www.ombudsman.go.th
|