“ธนินท์” ชี้ ค่าแรงขั้นต่ำต้อง 500 บาท-หนุนสุดตัวจำนำข้าว “ใครไม่เอาซีพีรับเอง”
"เจ้าสัวซีพี"ชี้ค่าแรงขั้นต่ำ 500 บาท-หนุนจำนำข้าว เตือนวิกฤติหนี้ยุโรป ส่งผลดอลลาร์แข็งค่าขึ้น เหตุโลกจะไม่หันไปใช้เงินยูโร
นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ และประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กล่าวบรรยายพิเศษให้คณะนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่น 2552 เมื่อเร็วๆนี้ ว่า วิกฤติเศรษฐกิจโลกขณะนี้ โดยเฉพาะปัญหาหนี้ในสหภาพยุโรป (อียู) ยังมองไม่เห็นแนวทางแก้ไขปัญหา ส่วนหนึ่งที่อียูได้รับผลกระทบหนักขนาดนี้จนลามไปทั่วโลก เพราะเป็นกลุ่มที่มีหลายประเทศรวมตัวกันเป็นเศรษฐกิจเดี่ยว ซึ่งหากประเทศหนึ่งประเทศใดจะจ่ายเงิน เพื่อแก้ไขปัญหาให้ประเทศสมาชิกรายอื่นๆ ก็จะถูกประชาชนของตัวเองต่อต้าน ต่างกับสหรัฐที่เชื่อว่าจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ เพียงแต่ต้องใช้เวลา
ผู้บริหารซีพี ให้เหตุผลว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับอียู ทำให้มีแต่คนถอนเงินออก ต่างกับในสหรัฐ ที่เกิดปัญหาแล้วอัดเงินเข้าไปให้ธนาคาร อีกอย่างสหรัฐสามารถพิมพ์เงินได้เอง ซึ่งตนเชื่อว่าจากนี้เงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้น เพราะโลกจะไปใช้เงินยูโรไม่ได้ ส่วนเงินหยวนของจีน ก็ยังไม่มีความแน่นอน แต่เป็นไปได้มาก ว่าเงินหยวนของจีนจะขึ้นมาแซงเงินยูโรกลายเป็นสกุลเงินอันดับ 2 ของโลก
แนะจับตา2 ชาติเอเชีย
นายธนินท์ กล่าวว่า เหตุการณ์เหล่านี้จะส่งผลกระทบมาถึงทวีปเอเชียแน่นอน ซึ่งตนจับตาดู 2 ประเทศในเอเชียเป็นหลัก คือ ไทยและจีน เพราะปัจจุบันไทยมีมูลค่าการส่งสินค้าไปยังจีนสูงเกือบ 50% ของการส่งออกทั้งปี และไทยยังได้เปรียบดุลการค้าจีน ซึ่งมีประชากรกว่า 3,000 ล้านคน เทียบกับมูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐ ที่ราว 10% และอียูอีก 10% เท่านั้น ดังนั้น วิกฤติเศรษฐกิจของสหรัฐและอียู แม้จะส่งผลกระทบต่อไทยไม่มากในทางตรง แต่ต้องระวังในเรื่องของจีนว่าจะเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจถดถอยไปด้วยหรือไม่
ปัจจุบันจีนใช้ ทฤษฎีสองสูง ในการบริหารประเทศ คือ ปล่อยให้สินค้าราคาแพงขึ้น แต่เกษตรกรก็มีรายได้สูงขึ้น ส่วนไทยนั้น นายธนินท์ ระบุว่า จากที่ศึกษาดู พบว่า มูลค่าที่ดินเพิ่มขึ้นจากในอดีตกว่า 200 เท่า ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นกว่า 20 เท่า แต่ราคาสินค้าเกษตรเพิ่มน้อยที่สุด ทั้งราคาข้าว ราคาหมู และราคาไก่ เพิ่มขึ้นประมาณ 10-11 เท่า เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะเมื่อราคาสินค้า เกษตรแพงขึ้นก็ถูกรัฐบาลควบคุมราคา แต่ในยามขาดทุนหรือราคาตกต่ำกลับไม่มีใครช่วย ดังนั้น ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนคือเกษตรกรรายย่อยที่จะต้องล้มหายตายจากไปก่อน ธุรกิจเกษตรขนาดใหญ่
“รัฐบาลที่มีความสามารถจะต้อดูว่า การทำให้คนจนมีรายได้มากขึ้นต้องทำอย่างไร ไม่ใช่ไปควบคุมราคาสินค้า ซึ่งคือการเอาเงินของคนจนที่เป็นเกษตรกรมาชดเชยให้กับคนจนในเมือง ท้ายที่สุดทุกคนก็ยังจนเท่ากัน เมื่อเป็นเช่นนี้รัฐบาลจะหารายได้จากที่ไหนมาใช้จ่าย มาขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการ เพราะแม้แต่สหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์ ที่ใช้ ทฤษฎีสองต่ำ คือ ราคาสินค้าถูก ค่าแรงต่ำ ทำมาแล้วก็อยู่ไม่ได้”
ลั่นค่าแรงขั้นต่ำต้อง500บาท
นายธนินท์ กล่าวว่า ค่าแรงขั้นต่ำที่เหมาะสมของไทยควรอยู่ที่วันละ 500 บาท ไม่ใช่ 300 บาท คิดจาก 25 เท่า ตามสัดส่วนของราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจากอดีต หากทั้งรัฐและเอกชนกล้าจ่ายค่าแรงขั้นต่ำในระดับนี้ ผลดีที่ตามมาคือธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) จะมีรายได้มากขึ้นทันที เกษตรกรจะมีรายได้มากขึ้นด้วย
"ทั้งหมดนี้ขอให้นักธุรกิจทุกคนเข้าใจว่าคือการลงทุน ยอมเสียในตอนแรกก่อน แล้วได้คืนภายหลัง เมื่อประเทศรวยทุกคนก็จะยิ่งรวยขึ้น ปัญหาสังคม การเมืองก็จะดีขึ้น เพราะคนพ้นความยากจน ถ้าทำอย่างนี้คนยากจนจะมีจำนวนลดลง คนระดับกลางจะมีมาก คนรวยก็มีน้อย ผมฝากให้รัฐบาลดูแลเรื่องนี้ด้วยเพราะไม่ว่าจะประเทศใดก็ตาม ถ้าธุรกิจเอสเอ็มอีไม่โต ประเทศไม่มีวันรวยและอยู่ไม่ได้และต้องมีการเปลี่ยนแปลง”
หนุนรับจำนำข้าว
สำหรับเรื่องนโยบายข้าวนั้น ตนเห็นว่าคนที่ออกมาคัดค้านโครงการรับจำนำ โดยให้เหตุผลว่าราคาข้าวไทยในตลาดโลกจะสูงขึ้น แล้วถูกประเทศเวียดนามแย่งขายข้าวนั้น คนที่พูดอย่างนี้ พูดอย่างไม่เข้าใจ เพราะเวียดนามขายข้าวเพียงปีละ 4-5 ล้านตันเท่านั้น ส่วนไทยขายได้มากถึงปีละประมาณ 10 ล้านตัน
ดังนั้นต่อให้ไทยขายข้าวในราคาถูก เวียดนามก็จะขายในราคาถูกกว่า แต่ไทยต้องมีข้าวเก็บในสต็อกอย่างน้อย 4 เดือน เพื่อป้องกันการขาดตลาด ซึ่งจำเป็นต้องมีการสร้างไซโลเก็บข้าวอย่างดีไว้จำนวน 5 ล้านตัน ใช้เงินลงทุนประมาณ 20,000 ล้านบาท แต่มีมูลค่าข้าวกว่า 1 แสนล้านบาท แล้วจ้างคนมาดูแลโดยไม่ต้องใช้ข้าราชการ ให้บริษัทเซอร์เวเยอร์เข้ามาช่วย แล้วให้ธนาคารเป็นผู้รับรอง
"ผมยืนยันเลยว่าถ้าทำได้แบบนี้ แล้วไม่มีใครกล้าเอา ผมเอาเอง" .