กำลังพลบนหลังม้า...พาหนะชนะใจมวลชนของทหารพรานสายบุรี
เหตุลอบวางระเบิดขบวนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของเจ้าหน้าที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเกิดขึ้นนับครั้งไม่ถ้วน ก่อความสูญเสียในระดับประเมินค่ามิได้ อาจไม่ใช่เหตุผลเดียวที่กองร้อยทหารพรานที่ 4409 (ร้อย ทพ.4409) หันมาใช้ "ม้า" ในการลาดตระเวน
ร้อย ทพ.4409 ตั้งฐานอยู่ที่บ้านบน ต.ปะเสยาวอ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี มี ร.ต.สมชัย ศรีพรหม เป็นผู้บังคับกองร้อย (ผบ.ร้อย) และเป็นเจ้าของไอเดียให้กำลังพลขี่ม้าลาดตระเวนพื้นที่และเข้าหามวลชน
ภาพที่เห็นหากไม่นับเครื่องแบบกำลังพลที่เป็นปัจจุบันแล้ว เสมือนหนึ่งย้อนยุคไปสักร้อยสองร้อยปี...
การควบม้าเข้าพื้นที่ ไม่ได้ช่วยเฉพาะในแง่ความปลอดภัยของกำลังพลไม่ให้ตกเป็นเป้าโจมตีได้ง่ายนัก เพราะไม่ได้ใช้ถนนในการสัญจร เนื่องจากม้าสามารถลัดเลาะไปตามเส้นทางที่อาจเรียกเท่ๆ ว่า "ออฟโรด" ได้เท่านั้น แต่ยังเรียกความสนใจจากพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะเด็กๆ และผู้หญิงในหมู่บ้าน ส่งผลบวกในแง่งานมวลชนอย่างคาดไม่ถึง
ภาพชินตาของคนปะเสยาวอก็คือ เมื่อกำลังพลของทหารพรานควบม้าเข้าไปในหมู่บ้านใด ก็จะได้รับการต้อนรับจากเด็กๆ และเยาวชนอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง บ้างก็เข้าไปลูบคลำพาหนะมีชีวิต เพราะไม่ง่ายนักที่ใครจะได้ใกล้ชิดม้ามากขนาดนี้ ขณะที่มีเด็กๆ และชาวบ้านอีกจำนวนไม่น้อยที่หาหญ้าหาน้ำมาให้ม้ากิน
ร.ต.สมชัย เล่าถึงแนวคิดของการนำม้ามาเป็นพาหนะในการลาดตระเวนแทนรถว่า จุดเริ่มต้นมาจากต้นทุนชีวิตของเขาเองที่พ่อแม่เป็นชาวนา ที่บ้านเลี้ยงม้าไว้ขนข้าวเปลือก จึงคุ้นชินกับม้ามาตั้งแต่เด็กๆ เมื่อมีโอกาสได้รับราชการภาคสนามที่ชายแดนใต้ จึงคิดนำม้ามาเป็นพาหนะแทนรถ
ผบ.ร้อย ทพ.4409 จริงจังกับแนวคิดของตนถึงขนาดควักทุนส่วนตัวซื้อม้าให้ตัวเองและลูกน้องขี่ปฏิบัติหน้าที่
"ก็เก็บเงินมาก้อนหนึ่ง แต่เงินก็ไม่พอที่จะซื้อม้าได้ตามที่ตั้งใจ จึงนำรถมอเตอร์ไซค์ไปขาย กระทั่งรวบรวมเงินได้ประมาณ 2 แสนกว่าบาท ซื้อม้าได้ 4 ตัว เป็นตัวเมีย 2 ตัว ตัวผู้อีก 2 ตัว ตั้งชื่อว่าบุปผา มะลิ ลักกี้ และสีนิล ทั้งหมดเป็นม้าพันธุ์ไทยซึ่งมีคุณสมบัติเด่นคือดูแลง่าย อยู่ง่ายกินง่าย ปรับตัวเข้ากับสภาพพื้นที่ได้ดี"
ร.ต.สมชัย เล่าต่อว่า เงินสองแสนกว่าบาทที่เก็บสะสมมาและที่ได้จากการขายมอเตอร์ไซค์ ซื้อได้เฉพาะม้าเท่านั้น ยังไม่รวมกับอานม้ากับอุปกรณ์จำเป็นอีกหลายอย่าง
"พวกอุปกรณ์กับอาน ผมก็ไปซื้อเพิ่มมา ทำให้ต้องติดหนี้ไปก่อนในส่วนนั้น ตอนนี้ก็ใช้เงินเดือนผ่อนจ่าย รวมทั้งค่าอาหารม้าอีก โชคดีที่มีชาวบ้านช่วยหลายอย่าง ทั้งเชือกฟางร้อยกิโล ชาวบ้านก็เอามาให้ ก่อไผ่ก็ไม่ต้องซื้อ ชาวบ้านเรียกไปเอามาใช้ทำเป็นคอกม้า กล้วยเราก็ปลูกเองรอบๆ ฐาน ส่วนหญ้าก็ให้กำลังพลออกไปหา บางส่วนก็มีชาวบ้านเอามาให้"
ร.ต.สมชัย ย้ำว่า รู้สึกมีความสุขกับสิ่งที่ทำ แม้จะติดหนี้ก็ยอม
"หลายคนตั้งคำถามว่าเราบ้าหรือเปล่า แต่ผมไม่คิดมาก คิดแค่ว่าเรามีความสุขกับงานที่เราทำ ก็พอ"
"12 ปีที่ปฏิบัติภารกิจอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมพอเข้าใจสภาพพื้นที่ การใช้ม้าเป็นสิ่งที่ชอบอยู่แล้ว ประกอบกับได้คุยกับชาวบ้านก่อนที่จะซื้อม้า ชาวบ้านเขาเห็นด้วย บอกว่าทำเลยผู้กอง ก็เลยตัดสินใจทำ พอเอามาใช้จริงๆชาวบ้านสนใจมาก เวลาเจ้าหน้าที่ชุดนี้ลงพื้นที่จะเห็นบรรยากาศที่ชาวบ้านโบกไม้โบกมือต้อนรับ เด็กวิ่งมาขอขี่ม้า ตอนนี้ทุกเย็นที่ฐานกลายเป็นสนามขี่ม้าไปเลยชาวบ้านที่สัญจรผ่านก็จะแวะดู ก็เลยจัดให้เป็นชมรมขี่ม้าไปเลย พอชาวบ้านมา เราก็จัดเลี้ยงชา กาแฟ ทำให้เรามีเรื่องคุย พอคุยกันเราก็เข้าใจกัน" ผบ.ร้อย ทพ.4409 บอก
เมื่อกระแสตอบรับดี ทำให้ ร.ต.สมชัย คิดต่อยอดงานมวลชน โดยเร็วๆ นี้จะทำโครงการใหม่ คือ "ดอกไม้เหล็กบนหลังม้า" คือให้อาสาสมัครทหารพรานหญิงมาขี่ม้า และให้ลงพื้นที่พบปะพี่น้องประชาชน
"ช่วงนี้อยู่ระหว่างเตรียมการฝึกอาสาสมัครทหารพรานหญิงให้ขี่ม้า ก่อนลงพื้นที่เข้าหาชาวบ้าน นอกจากนั้นยังมีโครงการ 'ร่วมใจสร้างรอยยิ้มบนหลังม้า' เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง โดยการใช้ม้าเข้าพื้นที่ และแน่นอนเมื่อความสนใจของเด็กๆ มีมาก ก็เลยมาคิดโครงการ 'พาน้องกลับบ้าน' โดยการใช้ม้านำขบวนนักเรียนเดินทางจากโรงเรียนกลับบ้าน"
ทุกวันนี้ นอกจากภารกิจเข้าหามวลชนและรักษาความปลอดภัยพื้นที่แล้ว ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ร.ต.สมชัย ยังทำโครงการ "เล่านิทานบนหลังม้า" ตามโรงเรียนตาดีกาด้วย โดยใช้เจ้าหน้าที่ที่นับถือศาสนาอิสลามเล่านิทานที่เป็นประวัติเกี่ยวกับอิสลามที่เกี่ยวข้องกับม้า
ถือเป็น ผบ.ร้อย ที่มีโครงการพัฒนาเต็มสมองจริงๆ
ด้าน ส.อ.จำรัส เข็ดคม หัวหน้าชุดครูฝึก เล่าว่า การใช้ม้าในภารกิจลาดตระเวนและรักษาความปลอดภัยถือว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้อง เพราะม้าเหมาะสำหรับลัดเลาะภูมิประเทศทุกรูปแบบ ทำให้ไม่ต้องใช้เส้นทางปกติ โดยเฉพาะเส้นทางซ้ำเดิมซึ่งเสี่ยงต่อการตกเป็นเป้าโจมตี
สำหรับการดูแลม้านั้น เน้นดูแลแบบม้าบ้านที่เลี้ยงไว้ใช้งาน
"ก็ไม่มีอะไรมาก ตื่นเช้ามาก็จะเอาม้าออกมานอกคอกม้า เพื่อให้ม้าได้กินหญ้าที่ติดน้ำค้างก่อน สักพักก็จะพาไปอาบน้ำ แล้วให้กินข้าว เสร็จแล้วก็เอาอาหารม้ามาให้อีกช่วงเที่ยง วันไหนมีภารกิจก็จะออกจากฐานประมาณ 10 โมงเช้า ก่อนจะกินข้าว พอเสร็จกลับมาอาบน้ำ ถึงจะกินข้าว วันไหนที่มีการฝึกกำลังพล ม้า 4 ตัวนี้ก็จะทำงานเหนื่อยกว่าทุกๆ วัน เพราะการฝึกคนที่ไม่เคยขี่ม้า ต้องการทำความรู้จักมันก่อน ต้องทำความสนิทสนม คุ้นเคย จากนั้นขี่ช้าๆ กว่าจะควบม้าวิ่งได้ต้องใช้เวลาประมาณ 1 เดือน"
"เรามีม้าแค่ 4 ตัว ม้าจึงต้องทำงานหนัก ยิ่งช่วงนี้ม้าตัวเมียทั้ง 2 ตัวตั้งท้องทั้งคู่ ถ้าคลอดลูกออกมา ก็ต้องใช้เวลา 3 ปีกว่าจะเอาแม่มาใช้งานได้ งานหนักหลังจากนี้จึงต้องตกอยู่ที่ม้าตัวผู้ทั้ง 2 ตัว" ส.อ.จำรัส กล่าว
ด้าน นายนันทรัตน์ บัวแย้ม ปลัดอำเภอสายบุรี กล่าวสนับสนุนการใช้ม้าในภารกิจลาดตระเวนและเข้าหามวลชนว่า เป็นโครงการที่ดีมาก โดยเฉพาะการเข้าพื้นที่ เพราะภาพจะอ่อนโยนกว่าการใช้รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์เข้าไป ที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านเป็นอย่างดี เจ้าหน้าที่ทุกคนก็ตั้งใจทำงานเพื่อคืนความสุขให้กับพี่น้องในพื้นที่
ขณะที่เสียงของชาวบ้าน นายอาฮามัด สือรีสอ ชาวบ้านปะเสยาวอ บอกว่า เห็นด้วยกับวิธีการรักษาความปลอดภัยแบบนี้ การที่ทหารเข้าพื้นที่ด้วยรถฮัมวี่ กับทหารเข้าพื้นที่ด้วกยารขี่ม้า ทำให้ภาพที่ชาวบ้านเห็นเป็นคนละเรื่องกัน
"ขี่ม้ามาจะรู้สึกว่าเป็นมิตร เป็นเพื่อนกันได้ แต่ถ้ามากับรถ ความรู้สึกจะต่างกันเลย เมื่อใช้ม้า เด็กๆ ก็ชอบ ชาวบ้านในพื้นที่ก็ให้ความสนใจ เป็นอะไรที่แปลกใหม่สำหรับเด็กๆ ผมเองเห็นแล้วยังอยากหาซื้อม้าไว้ใช้งานสักตัว คิดว่าวิธีการที่ใช้เข้าหามวลชนแบบนี้ดีมาก ได้ใจชาวบ้านมาก"
นายอับดุลอาซิ มะหะ เยาวชนปะเสยาวอ บอกเช่นกันว่า รู้สึกดีที่มีโอกาสได้ขี่ม้า เพราะที่ผ่านมาตั้งแต่ทหารใช้ม้าแทนรถยนต์ในการเข้าพื้นที่ ก็พยายามมาตลอดที่จะขอขี่ กระทั่งมีโอกาสได้ขี่จริงๆ ก็รู้สึกดีมาก
"แรกๆ ผมรู้สึกตื้นเต้น กลัวม้าจะดีด เอาไม่อยู่ แต่พอได้ขึ้นไปขี่รู้สึกไม่อยากลงจากหลังม้าเลย รู้สึกว่าตัวเองเท่มากตอนอยู่บนหลังม้า ถ้ามีโอกาสจะตั้งใจเก็บเงินซื้อม้าสักตัว เพราะการได้ขี่ม้าดีกว่าได้ขี่รถจักรยานยนต์ ถือเป็นเรื่องดีที่ทหารเข้ามาหาชาวบ้านด้วยวิธีการที่อ่อนโยนเช่นนี้"
วันที่ "ทีมข่าวอิศรา" เข้าพื้นที่ เป็นวันที่กำลังพลบนหลังม้าเข้าไปหามวลชนที่โรงเรียนตาดีกาในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ปรากฏว่าเมื่อควบม้าไปถึง เด็กๆ ที่กำลังเรียนหนังสืออยู่ในห้องเรียนต่างกรูกันออกมาดูม้า บางก็ขอขี่ม้า บ้างก็ขอลูบหัว ลูบตัว คนที่ได้ขี่ม้า ก็ได้รับเสียงเชียร์กระหึ่มจากเพื่อนๆ เป็นภาพที่เห็นได้ไม่บ่อยนักกับการเข้าพื้นที่ของทหารชุดดำ
อุสมา เจะแม กับ ซอฟา ลาเต๊ะ นักเรียนตาดีกา บอกว่า ดีใจมากที่ได้ขี่ม้าโชว์เพื่อนๆ "ผมดีใจจนบอกไม่ถูก ทหารใจดี เอาม้ามาให้ขี่ถึงตาดีกา เพื่อนๆ ที่เห็นพากันยกนิ้วให้ แล้วก็พูดว่าเก่ง ผมชอบขี่ม้าที่สุดเลย"
เป็นรอยยิ้มและเสียงหัวเราะท่ามกลางทหารชุดดำที่ไม่ค่อยพบเห็นได้บ่อยนักในพื้นที่ชายแดนใต้ โดยมี "เจ้าม้า" เป็นสื่อกลางแห่งสันติภาพ