เปิด“สารนิพนธ์-งานวิจัย”สอบคณบดี-รองฯ มรภ.นครสวรรค์ ลอกต้นฉบับ รับ 4 หมื่น
เทียบ“สารนิพนธ์-งานวิจัย”ฉบับเจ้าปัญหา!กรณีคณบดี-รองคณบดี มรภ.นครสวรรค์ ถูกตั้งกรรมการสอบปมเอาสารนิพนธ์ ครั้งเรียนป.โท ม.ภาคกลาง มาตัดแปะเป็นงานวิจัยรับเงินอุดหนุนจากมหาวิทยาลัย 4 หมื่น เหมือนหรือแตกต่าง ?
สืบเนื่องจากนายบัญญัติ ชำนาญกิจ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ ได้มีคำสั่งราชภัฎนครสวรรค์ที่ 107/2558 วันที่ 26 ม.ค.58 แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงกรณี ผศ.นิตยา ชนินทยุทธวงศ์ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ และ น.ส.เพชรอำไพ สุขารมณ์ รองคณบดีฯ ถูกร้องเรียนว่าลอกงานสารนิพนธ์ของ น.ส.เพชรอำไพ สุขารมณ์ ครั้งศึกษาหลักสูตรระดับมหาบัญฑิต มหาวิทยาลัยภาคกลาง ปี 2551 มาทำเป็นงานวิจัย โดยรับเงินสนับสนุนการทำงานวิจัยของมรภ.นครสวรรค์ จำนวน 40,000 บาท จนถึงขณะนี้ยังไม่ปรากฎผลสอบสวนข้อเท็จจริงนั้น
(อ่านประกอบ:อาจารย์ มรภ.นครสวรรค์จี้อธิการเร่งสรุปผลปมคณบดี-รองฯลอกงานวิจัย)
สำนักข่าวอิศราwww.isranews.org นำบทคัดย่อสารนิพนธ์ฉบับดังกล่าวมาเปรียบเทียบกับงานวิจัยที่ทำกับ มรภ.นครสวรรค์ ดังนี้
สารนิพนธ์ของ น.ส. เพชรอำไพ สุขารมณ์
หัวข้อสารนิพนธ์ การศึกษาบัญชีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม : กรณีศึกษาธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิตในเขตจังหวัดนครสวรรค์ หลักสูตร บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (การบัญชี) โดย นางสาวเพชรอำไพ สุขารมณ์ อาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์จริยา จงสมาธิวงศ์ ปีการศึกษา 2551
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา ข้อมูลเกี่ยวกับการบันทึกบัญชีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการบัญชีสิ่งแวดล้อม วิธีการศึกษาเก็บรวบรวมข้อมูลจากบุคคลากรฝ่ายบัญชีของธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิตในเขตจังหวัดนครสวรรค์ เจาะจงเฉพาะธุรกิจที่จัดทำรายการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) หรือจัดทำรายงานการบำบัดน้ำเสีย อากาศเสีย และของเสีย จำนวน 8 แห่ง เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลสำหรับการศึกษา คือ แบบสอบถาม และรวบรวมข้อมูลที่ได้มาทำการวิเคราะห์ข้อมูล ค่าสถิติต่างๆ ประกอบด้วย ความถี่และร้อยละ
ผลการศึกษาพบว่า รายการค่าใช้จ่ายด้านสิ่งแวดล้อม ที่กิจการส่วนใหญ่บันทึกเป็นค่าใช้จ่ายสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ การบันทึกบัญชีเกี่ยวกับสินทรัพย์ด้านสิ่งแวดล้อมกิจการส่วนใหญ่ไม่มีการบันทึกบัญชีเป็นสินทรัพย์ด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งได้แก่ การติดตั้งระบบคัดแยกของเสีย โดยกิจการบันทึกเป็นทรัพย์สินอื่น การบันทึกบัญชีเกี่ยวกับหนี้สินด้านสิ่งแวดล้อมกิจการทั้งหมดไม่มีรายการดังกล่าวในบัญชี กิจการส่วนใหญ่มีการเปิดเผยข้อมูลในรายงานอื่นแยกต่างหากจากงบการเงินได้แก่ นโยบายรายจ่ายสิ่งแวดล้อม และนโยบายรายจ่ายฝ่ายทุน
ข้อเสนอแนะจากการศึกษาครั้งนี้เห็นว่ากิจการต่างๆ ยังไม่มีการบันทึกบัญชีด้านสิ่งแวดล้อมแยกจากการดำเนินงานตามปกติ และการเปิดเผยข้อมูลของกิจการยังไม่ได้แยกแสดงเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และออกข้อกำหนดให้กิจการเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญเพื่อให้งบการเงินมีประโยชน์ต่อผู้ใช้งบการเงินมากยิ่งขึ้น
.
..............
งานวิจัยของ ผศ.นิตยา ชนินทยุทธวงศ์ และ นางสาวเพชรอำไพ สุขารมณ์ ที่ได้รับสนับสนุนการทำงานวิจัยจาก มรภ.นครสวรรค์
เรื่อง การศึกษาการบัญชีสิ่งแวดล้อมของธุรกิจอุตสาหกรรมในเขตจังหวัดนครสวรรค์
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา ข้อมูลเกี่ยวกับการบันทึกบัญชีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการบัญชีสิ่งแวดล้อม วิธีการศึกษาเก็บรวบรวมข้อมูล จากบุคคลากรฝ่ายบัญชีของธุรกิจอุตสาหกรรมในเขตจังนครสวรรค์ เจาะจงเฉพาะธุรกิจที่จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) หรือจัดทำรายงานการบำบัดน้ำเสีย อากาศเสีย และของเสียจำนวน 8 แห่ง เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมสำหรับการศึกษา คือ แบบสอบถาม และรวบรวมข้อมูลที่ได้มาทำการวิเคราะห์ข้อมูล ค่าสถิติต่างๆ ประกอบด้วยความถี่ และร้อยละ
ผลการศึกษาพบว่า รายการค่าใช้จ่ายด้านสิ่งแวดล้อม ที่กิจการส่วนใหญ่บันทึกเป็นค่าใช้จ่ายสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ การบันทึกบัญชีเกี่ยวกับสินทรัพย์ด้านสิ่งแวดล้อมกิจการส่วนใหญ่ไม่มีการบันทึกบัญชีเป็นสินทรัพย์ด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งได้แก่ การติดตั้งระบบคัดแยกของเสีย การติดตั้งระบบหรือปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียระบบระบายอากาศเตาเผา จัดทำที่พักหรือที่กักเก็บของเสีย โดยกิจการบันทึกรายการเป็นสินทรัพย์อื่น การบันทึกบัญชีเกี่ยวกับหนี้สินด้านสิ่งแวดล้อมกิจการทั้งหมดไม่มีรายการดังกล่าวในบัญชี กิจการส่วนใหญ่มีการเปิดเผยข้อมูลในรายงานอื่นแยกต่างหากจากงบการเงิน ได้แก่ นโยบายรายจ่ายสิ่งแวดล้อม และนโยบายรายจ่ายฝ่ายทุน
ข้อเสนอแนะจากการศึกษาครั้งนี้เห็นว่ากิจการต่างๆ ยังไม่มีการบันทึกบัญชีด้านสิ่งแวดล้อมแยกจากการดำเนินงานตามปกติ และการเปิดเผยข้อมูลของกิจการยังไม่ได้แยกแสดงเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความรับผิดชอบของกิจการที่มีต่อสิ่งแวดล้อมได้ ดังนั้นรัฐบาลควรเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนกิจการที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และออกข้อกำหนดให้กิจการเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญเพื่อให้งบการเงินมีประโยชน์ต่อผู้ใช้งบการเงินมากยิ่งขึ้น
น่าสังเกตว่าทั้งสองฉบับมีความคล้ายกันทั้ง วัตถุประสงค์ ผลการศึกษา และ ข้อเสนอแนะ
อย่างไรก็ตามก็ต้องดูผลสอบสวนของกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงที่ อธิการบดีมรภ.นครสวรรค์ แต่งตั้ง จะสรุปผลอย่างไร?
ขณะที่ ผศ. ปราณี ตปนียวรวงศ์ ผู้ร้องเรียนได้ทำหนังสือสอบถามความคืบหน้าถึง 2 ฉบับ ขอให้เร่งสอบสวนข้อเท็จจริงให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว