เตือนปาร์ตี้โฟม-อุโมงค์น้ำ กิจกรรมฮิตวัยรุ่น เลินเล่ออาจไฟดูด
ช่วงเทศกาลสงกรานต์กิจกรรมหนึ่งที่กลุ่มวัยรุ่นและนักท่องเที่ยวทั้งหลายสนใจ นอกจากการสาดน้ำปะแป้งแล้ว "ปาร์ตี้โฟม" เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่เหล่าบรรดาห้างสรรพสินค้า สถานบันเทิงต่างๆ นิยมจัดขึ้นมา และได้รับความนิยมไม่แพ้กัน
หากจะค้นหาว่าเทศกาลสงกรานต์ 2015 มีที่ใดจัดกิจกรรมปาร์ตี้โฟมบ้างแล้วละก็ แค่เพียงนำคำว่า ปาร์ตี้โฟม ค้นในกูเกิ้ล ติด # Hashtag (แฮชแทค) หรือหาในเฟชบุคก็จะพบกิจกรรมนี้ได้ไม่ยาก
นี่คือตัวอย่างกิจกรรมที่สำนักข่าวอิศราลองค้นหา
(ปาร์ตี้โฟมจังหวัดลำปาง)
แม้ช่วงเทศกาลจะคือช่วงวันหยุดพักผ่อนที่ประชาชนคนไทยต้องการความสนุกสนาน แต่ในช่วงเวลาหรือการจัดกิจกรรมปาร์ตี้โฟมเหล่านี้ก็สามารถคร่าชีวิตได้เช่นกันหากไม่ได้คำนึงถึงความปลอดภัย ซึ่งปีที่ผ่านมาเกิดเหตุร้ายจากโศกนาฎกรรมหลายครั้งขึ้นหลายแห่งโดยมีผู้เสียชีวิตและอยู่ในอาการโคม่า
ล่าสุด คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) แถลงสดๆ ร้อนๆ เตือนภัยไฟดูด...อุโมงค์น้ำ-ปาร์ตี้โฟมฉลองสงกรานต์
รศ.ดร.อนุวัฒน์ จางวนิชเลิศ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ีสจล.บอกว่า กระแสนิยมเล่นน้ำสงกรานต์ผ่านอุโมงค์น้ำ ปาร์ตี้โฟม ม่านน้ำ ที่กำลังเป็นที่นิยมในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดทั่วไทย เป็นเรื่องน่าห่วงใยกับความเสี่ยงต่อการเกิดโศกนาฎกรรมจากไฟฟ้ารั่ว หรือลัดวงจรในเครื่องเล่นประเภทนี้เป็นอย่างยิ่ง
อีกทั้งน้ำและความเปียกชื้นเป็นสื่อนำไฟฟ้าอย่างดี ความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนเป็นสิ่งแรกที่ผู้จัดงานต้องคำนึงถึง ผู้ประกอบการหรือเจ้าหน้าที่ซึ่งเลินเล่อ ขาดจิตสำนึกความปลอดภัย หรือขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบไฟฟ้าที่ต่อร่วมกับการใช้น้ำ อาจมีส่วนก่อให้เกิดภัยอันตรายอย่างใหญ่หลวงได้
"ผู้ประกอบการบางท่านอาจไม่ทราบว่าระบบไฟฟ้าเหล่านี้ที่ต้องมีความเข้มงวดพิเศษที่จะต้องมีระบบป้องกันและตัดวงจรเมื่อเกิดกระแสไฟรั่วหรือลัดวงจร หรือทราบแต่ไม่ได้มีระบบป้องกันติดตั้งก็เป็นได้"
ด้านรศ.ดร. วีระเชษฐ์ ขันเงิน อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.เล่าให้ฟังว่า โดยทั่วไปร่างกายของคนเรามีความต้านทานอยู่ระหว่าง 1,000 โอห์ม ถึง 4,000 โอห์ม ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่ปัจจัยที่มีผลมาก คือ สภาพร่างกายที่เปียกชุ่มน้ำและความเค็มที่ปนเปื้อนจะมีผลทำให้ความต้านทานไฟฟ้าของร่างกายลดต่ำลงอย่างมาก หากร่างกายมีส่วนสัมผัสกระแสไฟฟ้าที่อาจเกิดจากกรณีไฟรั่ว มีผลทำให้กระแสไฟฟ้าผ่านร่างกายได้สูง ย่อมมีผลและอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายในเสี้ยววินาที ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ
1. ขนาดของกระแสไฟว่ามากน้อยเท่าไร กระแสมากอันตรายมาก หากกระแสที่ไหลผ่านร่างกายมากกว่า 25 mA (มิลลิแอมป์) ควรจะต้องตัดไฟก่อนที่ร่างกายจะได้รับอันตราย
2. ชนิดของกระแสไฟ หากเป็นไฟฟ้ากระแสสลับ (เช่น จากไฟบ้าน 220 โวลต์ 50 Hz) จะมีผลเทียบเป็นสองเท่าของกระแสตรง (เช่น จากไฟจากแบตเตอรี) กรณีกระแสจากไฟบ้านผ่านร่างกาย 25 mA (มิลลิแอมป์) จะมีผลใกล้เคียงกับกระแสไฟฟ้าจากแบตเตอรีขนาด 50 mA (มิลลิแอมป์)
3. เส้นทางที่กระแสไฟฟ้าผ่านร่างกาย ปกติเส้นทางที่กระแสไฟฟ้าผ่านร่างกายจะผ่านไปในเส้นทางที่มีความต้านทานต่ำที่สุด กระแสไฟฟ้าที่ผ่านสมองหรือหัวใจ เป็นเส้นทางที่อันตรายมากที่สุด
4. ระยะเวลาที่ร่างกายถูกกระแสไฟฟ้าผ่าน ยิ่งนานยิ่งมีผลอันตรายต่อร่างกายมากเท่านั้น
5. ความแข็งแรงและสมบูรณ์ของร่างกาย ร่างกายที่อ่อนเพลียหรืออ่อนแอจะทำให้เกิดผลอันตรายได้รุนแรงขึ้น ระดับอันตรายมีผลตั้งแต่แค่รู้สึกจนกระทั่งถึงแก่ชีวิต และอาจเกิดติดต่อกันเป็นจำนวนมากๆได้หากมีการสัมผัสกัน ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม
ส่วนสาเหตุของการเกิดไฟรั่วจากอุโมงค์น้ำ หรือ ปาร์ตี้โฟม มีสาเหตุมาจากอะไร รศ.ดร.วีระเชษฐ์ บอกว่า อุโมงค์น้ำ หรือ ปาร์ตี้โฟม ใช้อุปกรณ์ฉีดน้ำ ราวสายน้ำหรือการฉีดสร้างโฟมมักจะใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นแหล่งจ่ายพลังงาน หากสายไฟหรืออุปกรณ์ที่มีฉนวนแตกหรือฉีกขาด หรือแช่น้ำก็มีโอกาสเกิดไฟรั่ว
รวมทั้งการติดตั้งที่มีความเสี่ยงและไม่ถูกต้องตามหลักความปลอดภัย เช่น การวางสายติดกับโครงโลหะที่เป็นสื่อนำไฟฟ้า การเชื่อมต่อที่หลวม หรือเปลือย ล้วนเป็นเหตุที่ก่อให้เกิดไฟฟ้ารั่วหรือลัดวงจรได้ รวมทั้งการออกแบบที่ขาดจิตสำนึกต่อชีวิตของผู้คน เช่น ขาดระบบป้องกันไฟรั่ว หรือ ตัดไฟ
"ผู้ออกแบบและติดตั้งจะต้องเข้าใจหลักความปลอดภัยทางไฟฟ้าอย่างแท้จริง และต้องมีการทดสอบการทำงานของเครื่องมือและระบบทุกครั้ง เช่น ระบบเครื่องตัดไฟรั่วต้องมีการตัดไฟ ขนาดกระแสไฟฟ้ารั่วไม่เกิน 30 mA (มิลลิแอมป์) และต้องตัดไฟได้ภายในระยะเวลา 0.04 วินาที เมื่อมีไฟรั่วขนาด 5 เท่าของพิกัด (หรือที่ 150 mA) มาตรฐาน มอก. 909
การติดตั้งสายดินที่ถูกต้องตามหลักการจะช่วยเบี่ยงเบนกระแสผ่านลงดิน ลดกระแสไฟฟ้าที่จะผ่านร่างกายในกรณีเกิดไฟรั่ว รวมทั้งการแยกระบบกราวนด์ด้วยหม้อแปลงไฟฟ้าอย่างถูกต้องจะช่วยป้องกันและลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ระบบตัดต่อไฟฟ้าต้องถูกสังเกตเห็นได้ง่าย และมีเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา หากเกิดกรณีไฟฟ้ารั่วหรือลัดวงจร จะสามารถแก้ปัญหาได้ทันท่วงที"
รศ.ดร.วีระเชษฐ์ บอกอีกว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่ามีการขออนุญาติการจัดปาร์ตี้โฟมอย่างถูกต้องหรือไม่ แต่เมื่อเกิดเหตุร้าย มีผลต่อผู้เสียชีวิต มีผู้ได้รับบาดเจ็บ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น คือ
1. ผู้ที่จะไว้ไปปฐมพยาบาลผู้ป่วยจะต้องตัดระบบวงจรไฟฟ้าเสียก่อน เช่น เมื่อโดนไฟดูดการจะเข้าไปช่วย อาจจะได้รับอันตราย จะต้องตัดไฟก่อน
2.ทำอย่างไรให้ผู้ป่วยเกิดระบบหายใจได้คล่องตัวเพื่อเลี่ยงอาการอัมพฤกษ์ และในกรณีที่ผู้ป่วยไม่หายใจ จะต้องมีการปั้มหัวใจ หรือกระตุ้น เพื่อให้หัวใจเต้น
3.เมื่อผู้ป่วยได้รับการกระตุ้นหัวใจแล้วเลือกจะสูบฉีดขึ้นไปเลี้ยงสมอง เพื่อให้ออกซิเจนในสมองไม่ขาด
ท้ายที่สุด อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ฝากทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันมาตรการของภาครัฐในการดูแลความปลอดภัยยังไม่เป็นรูปธรรม ส่วนใหญ่คือเมื่อมีเรื่องเกิดแล้วค่อยหาวิธีป้องกัน “วัวหายล้อมคอก” กิจกรรมอะไรก็แล้วแต่ที่มีผลกระทบต่อประชาชนเป็นส่วนใหญ่ควรมีมาตรการป้องกัน เช่น ปาร์ตี้โฟม อุโมงค์น้ำ ภาครัฐควรมีมาตรการตรวจสอบว่าสิ่งได้ดำเนินการไปแล้วเมื่อมีผลกระทบต่อผู้คนจะต้องมีการอนุมัติหรืออนุญาตจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น มีวิศวะกรไฟฟ้า หรือช่างไฟฟ้าที่ได้รับฝึกอย่างถูกต้อง หรือมีใบอนุญาตการจัดการอย่างถูกต้อง หากเกิดความเสี่ยงต่อระบบวงจรไฟฟ้า
"ขณะนี้การของอนุญาตจัดปาร์ตี้โฟมอย่างถูกต้องยังไม่พบข้อมูล หรือเขียนระบุไว้ในสัญญาที่แน่ชัด หากมีการระบุที่แน่และมีการควบคุมจากวิศวกรไฟฟ้าอย่างถูกต้องก็จะช่วยลดการเกิดไฟฟ้าลัดวงจร ลดเกิดการอุบัติเหตุต่างๆได้"
จะเล่นสงกรานต์อย่างมีความสุขสิ่งสำคัญต้องไม่ลืมความปลอดภัยทั้งร่างกาย ทรัพย์สิน ของตัวเอง