เมื่อ"สวนดุสิต"เรียกเงินเดือนคืนจากอาจารย์ใช้วุฒิปลอมสอนหนังสือไม่ได้!
"...การได้รับเงินเดือนของนางสาวชนกภรณ์ฯ เป็นสิทธิตามกฎหมายที่จะได้รับเพื่อตอบแทนการทำงาน ซึ่งการเรียกคืนเงินเดือนดังกล่าวจะต้องมีกฎหมายบัญญัติไว้ เมื่อกรณีนี้ไม่มีกฎหมายใดกำหนดให้เรียกคืนได้ ดังนั้น เงินเดือนที่นางสาวชนกภรณ์ฯ ได้รับไป...อันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งอาจารย์อัตราจ้างของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการได้รับไป.."
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เผยแพร่บันทึกคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองเรื่อง การเรียกคืนเงินเดือนที่ได้รับไปในระหว่างการบรรจุและแต่งตั้งโดยใช้วุฒิการศึกษาปลอม
โดยปรากฎข้อมูลสำคัญดังนี้
1. มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตได้มีหนังสือ ลับ ที่ ศธ ๐๕๖๖.๐๑/๔๐ ลงวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๗ ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปความได้ว่า เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๔๖ ศูนย์พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตได้มีหนังสือเพื่อขออนุมัติบรรจุนางสาวชนกภรณ์ เพิ่มผล เป็นอาจารย์อัตราจ้าง มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตจึงมีคำสั่งสถาบันราชภัฏสวนดุสิต ที่ ๔๘๓/๒๕๔๗ เรื่อง จ้างอาจารย์อัตราจ้าง ศูนย์พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ลงวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๔๗ เพื่อจ้างนางสาวชนกภรณ์ฯ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ ๕ มกราคม ๒๕๔๗ เป็นต้นไป
2. ต่อมานางสาวชนกภรณ์ฯ ได้มีการทำสัญญาจ้างกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ระยะที่ ๑ เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๔๘ โดยมีนางกันตยา เพิ่มผล เป็นผู้ค้ำประกัน และได้มีการต่อสัญญาจ้างระยะที่ ๒ กับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ โดยมีนางกันตยาฯ เป็นผู้ค้ำประกัน
3. ต่อมานางสาวชนกภรณ์ฯ ได้ยื่นหนังสือขอลาออกจากการเป็นบุคลากรของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ และมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตได้อนุมัติตามที่นางสาวชนกภรณ์ฯ ยื่นหนังสือขอลาออก
4. สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้มีหนังสือ ด่วนมาก ที่ ตผ ๐๐๑๗/๒๔๓ เรื่อง การตรวจสอบการจ้างอาจารย์อัตราจ้าง และการตรวจสอบการจัดซื้อเครื่องมัลติมิเดียโปรเจคเตอร์ จำนวน ๕ เครื่อง ของศูนย์พัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ลงวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ถึงมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต แจ้งว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีได้รับการร้องเรียนว่า นางสาวชนกภรณ์ฯ ได้ปลอมแปลงหลักฐานทางการศึกษาและใบปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ไปใช้เป็นหลักฐานประกอบการสมัครเป็นพนักงาน ตำแหน่งอาจารย์อัตราจ้างที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต
ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตได้ดำเนินการตรวจสอบแล้วพบว่า นางสาวชนกภรณ์ฯ ใช้หลักฐานทางการศึกษาและใบปริญญาบัตรปลอมในการสมัครเข้าเป็นอาจารย์อัตราจ้างกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ทำให้ขาดคุณสมบัติในการเป็นอาจารย์ เนื่องจากอาจารย์ต้องมีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาโทหรือเทียบเท่า ตามข้อ ๙ แห่งประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี พ.ศ. ๒๕๔๘
จึงมีคำสั่งมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ที่ ๔๕/๒๕๕๕ เรื่อง เพิกถอนคำสั่ง ลงวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๕ ให้เพิกถอนคำสั่งสถาบันราชภัฏสวนดุสิต ที่ ๔๘๓/๒๕๔๗ เรื่อง จ้างอาจารย์อัตราจ้าง ศูนย์พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ลงวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๔๗ และจะเรียกเงินค่าจ้างที่นางสาวชนกภรณ์ฯ ได้ไปจากมหาวิทยาลัยคืนทั้งหมด ตั้งแต่วันที่ ๕ มกราคม ๒๕๔๗ ถึงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๓
5. มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตจึงขอหารือว่า กรณีของนางสาวชนกภรณ์ฯ นั้น สามารถนำความเห็นของคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เรื่องเสร็จที่ ๗๗/๒๕๕๓ เรื่อง การเรียกคืนเงินเดือนและประโยชน์ตอบแทนอื่นที่พนักงานเทศบาลได้รับไปในระหว่างการบรรจุและแต่งตั้งโดยใช้วุฒิการศึกษาปลอมมาเทียบเคียงได้หรือไม่ หรือจะมีความเห็นเป็นประการใด เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป
ุ6. คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองได้พิจารณาข้อหารือของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต โดยมีผู้แทนสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้แทนมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต และผู้แทนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นผู้ชี้แจงรายละเอียดข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่า ข้อหารือนี้มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาว่า การที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตได้มีคำสั่ง ที่ ๔๕/๒๕๕๕ เรื่อง เพิกถอนคำสั่ง ลงวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๕ ให้เพิกถอนคำสั่งสถาบันราชภัฏสวนดุสิต ที่ ๔๘๓/๒๕๔๗ เรื่อง จ้างอาจารย์อัตราจ้าง ศูนย์พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ลงวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๔๗ แล้วจะเรียกเงินเดือนที่นางสาวชนกภรณ์ฯ ได้รับไปจากมหาวิทยาลัยระหว่างวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๔๗ ถึงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๓ คืนได้หรือไม่ อย่างไร
เบื้องต้น คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้ว เห็นว่าการได้รับเงินเดือนของนางสาวชนกภรณ์ฯ เป็นสิทธิตามกฎหมายที่จะได้รับเพื่อตอบแทนการทำงาน ซึ่งการเรียกคืนเงินเดือนดังกล่าวจะต้องมีกฎหมายบัญญัติไว้ เมื่อกรณีนี้ไม่มีกฎหมายใดกำหนดให้เรียกคืนได้
ดังนั้น เงินเดือนที่นางสาวชนกภรณ์ฯ ได้รับไปในระหว่างวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๔๗ ถึงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๓ อันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งอาจารย์อัตราจ้างของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการได้รับไปโดยไม่มีมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตจึงไม่อาจเรียกให้นางสาวชนกภรณ์ฯ คืนเงินเดือนในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ได้
---------------
น่าสนใจว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต จะดำเนินการอย่างไรกับเรื่องนี้ต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบกับเงินที่เสียหายไป ตามที่ถูก สตง.แจ้งความเห็นมา
เมื่อไม่สามารถเรียกเงินคืนจาก นางสาวชนกภรณ์ฯ ได้ ตามผลการตีความทางกฎหมายของกฤษฎีกาที่ออกมาแบบนี้?