มองสังคมผ่านผู้สูงวัย ‘เรื่องเล่าของเด็กโจ้งคลำ’ จากเเผ่นฟิล์มในหัวสู่สวนอักษร
‘นพ.ประทีป หุตางกูร’ เปิดตัวนวนิยายเล่มแรกในชีวิต ‘เรื่องเล่าของเด็กโจ้งคลำ’ ไขประตูมุ่งสู่อดีต สัมผัสภาษาเรียบง่าย แฝงด้วยแง่คิด ต้นแบบผู้สูงอายุใช้เวลาเป็นประโยชน์ ถ่ายทอดประสบการณ์คุณค่าเป็นบทเรียนแก่คนรุ่นหลัง
แม้หมู่บ้านเล็ก ๆ อย่าง ‘โจ้งคลำ’ ซึ่งเคยตั้งอยู่ริมชายทะเลบนเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี จะถูกลบเลือนหายไปจากแผนที่ตามเงื่อนไขของเวลาและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ความทรงจำในพื้นที่แห่งนี้ครั้งวัยเด็กของ ‘นพ.ประทีป หุตางกูร’ ได้ถูกนำมาเรียงร้อยผ่านอักษรไว้ใน ‘เรื่องเล่าของเด็กโจ้งคลำ’ นวนิยายเล่มแรกของชีวิตในวัย 83 ปี
เรื่องราวของนวนิยายเล่มนี้ถูกถ่ายทอดในการเปิดตัวหนังสือและรับฟังเสวนา เรื่อง ‘เรื่องเก่า ไม่เล่าก็ลืม:ฉากเปลี่ยนสังคมผ่านสายตาผู้สูงอายุ’ ณ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย โดยมีนพ.บรรลุ ศิริพานิช ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย ในฐานะกัลยาณมิตร ร่วมเวทีด้วย ซึ่งตลอด 1 ชั่วโมง บรรยากาศเต็มไปด้วยการพูดคุยอย่างเป็นกันเอง สนุกสนาน ชวนให้เห็นภาพเก่าเคยเกิดขึ้นเมื่อ 70 ปีก่อน
โดยมุ่งถ่ายทอดความทรงจำวัยเด็กที่สะท้อนค่านิยม ทัศนคติ ความเชื่อ รวมถึงเงื่อนไขแวดล้อมของคนชนบทใน พ.ศ.นั้น แบบผู้ใหญ่นั่งล้อมวงเล่าให้เด็กฟังด้วยน้ำเสียงและภาษาเรียบง่าย โดยไม่มีทีท่าตั้งหน้าตั้งตาสั่งสอนใคร อีกทั้ง ตอกย้ำให้สังคมปัจจุบันเห็นว่า คนในอดีตมีชีวิตความเป็นอยู่ร่มเย็น เพราะทุกคนรู้จักหน้าที่ และเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ฉะนั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่ผู้สูงอายุมาเล่าอดีตให้ฟังเท่านั้น
(จากซ้าย:นพ.ประทีป หุตางกูร, นพ.บรรลุ ศิริพานิช)
นพ.ประทีป : ผมจำไม่ได้ว่า มีแนวคิดอยากเขียนหนังสือตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนแพทย์หรือเรียนจบแพทย์ใหม่ ๆ แต่แรงบันดาลใจเกิดจากการติดใจเนื้อหาในนวนิยายเรื่อง ละครแห่งชีวิต ประพันธ์โดย หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์ และเรื่องสั้นชุด ตะลุยเหมืองแร่ ประพันธ์โดย อาจินต์ ปัญจพรรค์ ทว่า นั่งเขียนเท่าไหร่ก็ไม่สำเร็จ
จนกระทั่งเวลาล่วงเลยสู่วัยทำงาน และระยะหลังผมรู้สึกเบื่องาน เกียจคร้าน ซึ่งปกติเมื่อเห็นคนไข้นั่งรอ เราต้องดีใจ แต่กลับท้อถอย ไม่อยากทำ จึงคิดว่า หากปล่อยให้เกิดอาการเช่นนี้ ขืนทำคลินิกต่อไป ไม่หมอแย่ คนไข้ก็แย่ เลยตัดสินใจเลิกกิจการ อยู่บ้านนอนอ่านหนังสือ อ่านไปก็เบื่ออีก เมื่อลูกเห็นท่าไม่ดีจึงซื้อคอมพิวเตอร์ให้ใช้ และหัดพิมพ์ จึงเริ่มเขียนจริงจัง ซึ่งขณะนั้นอายุย่างเข้า 74 ปี
“นั่งคิดจะเขียนเรื่องอะไรดี ซึ่งคงไม่มีสิ่งใดง่ายไปกว่าการเขียนประวัติของตัวเอง เพราะมีข้อมูลอยู่เต็ม จึงตกลงเขียนเรื่องนี้จนจบเรื่อง ใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งปี จากนั้นไปซื้อเครื่องปริ๊นเตอร์มาเครื่องหนึ่ง พิมพ์ และเย็บเล่ม ตั้งชื่อว่า ‘เกิดที่โจ้งคลำ’ ”
ผมพิมพ์หนังสือเล่มนั้นประมาณ 10 เล่ม ก่อนจะยัดเยียดให้พี่น้องและลูกหลานอ่าน โดยมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า เนื้อหาบางช่วงบางตอนยังไม่สมบูรณ์ และหลายเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นยังไม่ถูกนำมาถ่ายทอด แต่ครั้นจะเติมรายละเอียดแทรกเข้าไปอีกก็กลัวจะมากเกินไป ผมจึงตัดสินใจเขียนเรื่องภาคต่อขึ้น ชื่อว่า ‘เรื่องเล่าของเด็กโจ้งคลำ’
(นวนิยายเรื่อง เรื่องเล่าของเด็กโจ้งคลำ)
นพ.บรรลุ : ผู้เขียนนวนิยายเรื่องนี้ถือเป็นผู้มีพรสวรรค์ทางวรรณศิลป์ค่อนข้างสูง เขียนได้น่าอ่าน ซึ่งผมอ่านรวดเดียวจบ หากเขียนไม่ดี คงอ่านไม่จบ
[“หนังสือเล่มนี้ทำให้ข้าพเจ้าเข้าใจชีวิต ชาวเกาะชายทะเลได้มากขึ้นว่า สมัยก่อนเขาอยู่กันอย่างไร รู้เรื่องของชีวิตคณะหนังตะลุง และมโนราห์ รู้ถึงประชาคม และสังคมชาวเกาะ ซึ่งอยู่กันอย่างร่มเย็นและสนุกสนานในสมัยก่อน...(ข้อความจากคำนิยมของเรื่อง เรื่องเล่าของเด็กโจ้งคลำ โดย นพ.บรรลุ ศิริพานิช) ]”
สำหรับเนื้อเรื่องนั้น ผมมีความสนใจในหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องราวของ ‘ลุงวอน เฒ่าทะเลแห่งอ่าวโจ้งคลำ’ ซึ่งสอนในหลายเรื่อง เช่น ใบสับปะรดสามารถนำมาขยี้ทำเป็นเชือกสายเบ็ดได้ แต่จะว่าไป ชีวิตของลุงวอนวัย 50 ปีปลาย ๆ นั้นแสนทรหด ออกเรือก็เจอพายุ จนติดค้างกลางทะเลหลายคืน แต่กลับไม่ตาย จึงสงสัยว่า สุดท้ายแกตายเมื่อมีอายุเท่าไหร่
ทั้งนี้ สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้น คือ ‘โจ้งคลำ’ เป็นสังคมที่อยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข แต่ละคนรู้จักหน้าที่ของตนเอง ดังเช่น ‘ป้าใยไหม’ เมื่อทราบว่า ศาลาวัดใต้ต้นมะขามใกล้พัง ในฐานะเป็นคนมีฐานะทางการเงินที่ดี ไม่สามารถนิ่งดูดายได้ จึงอาสาซ่อมแซมให้ โดยไม่ต้องให้ใครมาบอก
นวนิยายเรื่องนี้สอนว่า “คนเราเมื่ออยู่ด้วยกันควรจะรู้ว่าตัวเองมีหน้าที่อะไร และยายใยไหมก็ทำตามแนวทางนี้”
(นพ.ประทีป หุตางกูร กับนวนิยายเล่มเเรกในชีวิต)
นพ.ประทีป : ผมจำเรื่องราวทั้งหมดได้อย่างดี เพราะเกิดที่ ‘โจ้งคลำ’ สมัยเด็ก ๆ เรียนหนังสือบ้าง ไม่เรียนหนังสือบ้าง ออกไปงมหอยชัก ตามจับแย้ ดูหนังตะลุง ดูมโนราห์ แม้จะอายุมากแล้ว แต่ยังจดจำได้ติดหูติดตา ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่ในนวนิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง มีเสริมแต่งบ้างเล็กน้อย
ถามว่า ‘ลุงวอน’ มีชีวิตจริงหรือไม่ ซึ่งผมอยากเล่ามาก โดยภรรยาเรียนจบอักษรศาสตร์ เมื่อแต่งงานใหม่ ๆ เธอมอบหนังสือ เรื่อง ‘เฒ่าทะเล’ ของต่างประเทศให้อ่าน มีเนื้อหาบรรยายถึงชายแก่คนหนึ่งมีอาชีพตกปลาในอ่าวฮาวานา ประเทศคิวบา มีชีวิตอับโชค ซึ่งคล้ายคลึงกับลุงวอน จึงเป็นที่มาของชื่อตอน ‘ลุงวอน เฒ่าทะเลแห่งอ่าวโจ้งคลำ’
“ลุงวอนเสียชีวิตเมื่ออายุเท่าไหร่ ผมก็ไม่ทราบ เพราะตั้งแต่ออกจากบ้านมาเรียนหนังสือก็ไม่ค่อยได้ถามถึงเลย...น่าเสียดาย”
นพ.บรรลุ : นพ.ประทีปพูดเหมือนลุงวอนโชคไม่ดี แต่ผมคิดว่าแกโชคดี เพราะแทนที่จะตายในทะเลก็ไม่ตาย ถึงขนาดไม่มีข้าวกิน ต้องกินปัสสาวะตัวเอง ยังรอดมาได้ เพราะมีคนผ่านมาช่วย ฉะนั้นลุงวอนจึงโชคดี ที่สำคัญ ฉลาดด้วย ถ้าคนเราเกิดมาไม่รู้จักทำอะไรก็ซื่อบื้อ
โดยสรุป หนังสือเล่มนี้มีจุดเด่นด้านภาษาใต้ อ่านแล้วไม่เข้าใจ แต่มีคำแปล จึงคิดว่าคนรุ่นใหม่ควรอ่าน เพราะหาเรื่องแบบนี้ในเว็บไซต์ Google ไม่ได้ ที่สำคัญ นพ.ประทีป ยากจะหาเวลาเขียนงานลักษณะนี้ได้อีก นั่นคือ ความจริง แฝงไปด้วยแนวคิดสอนเราในตัว อ่านแล้วมีประโยชน์
“เมื่อเราสูงอายุแล้วต้องมองไปข้างหน้าด้วยความหวัง แลเหลียวหลังด้วยความภาคภูมิใจ ซึ่ง นพ.ประทีป ทำให้คนรุ่นใหม่เกิดแรงบันดาลใจได้”
คนรุ่นใหม่มักมองว่าคนแก่ชอบเล่าเรื่องอดีต พอผมจะเล่าเรื่องอะไรให้ฟัง ไม่ค่อยอยากฟัง กลับไปหาในเว็บไซต์ Google ผมอดทนว่า “เอ็งไม่ฟังข้าไม่เป็นไร สักวันหนึ่งเอ็งต้องมาถามข้า”
สุดท้ายก็มีหลายเรื่องที่เขามาถาม ดังเช่น หลักกาลามสูตร ผมเลยบอกว่า “เห็นไหม ข้าจะสอนเอ็ง แล้วไม่ฟังข้า ทีหลังจำไว้ต้องฟัง”
‘ธิดา ศรีไพพรรณ’ เลขาธิการสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย เป็นอีกหนึ่งกัลยาณมิตรของ นพ.ประทีป ที่มาร่วมงานเปิดตัวหนังสือและเสวนาครั้งนี้ด้วย แม้จะยังอ่านนวนิยาย ‘เรื่องเล่าของเด็กโจ้งคลำ’ ไม่จบ แต่ก็สัมผัสได้ถึงรสอักษรแห่งความเรียบง่าย
ธิดา : แม้จะเปิดอ่านคร่าว ๆ ยอมรับว่า เป็นหนังสือนวนิยายที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง สมควรมอบให้นักเรียนในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ได้อ่าน โดยเฉพาะ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี และพื้นที่ภาคใต้ เพื่อจะได้นึกภาพสายลมแสงแดด หาดทรายขาว ๆ ซึ่งไม่เห็นในสมัยปัจจุบัน เพราะกลายเป็นร้านค้า ตึกรามบ้านช่อง
หนังสือเล่มนี้มีภาษางดงาม เรียบง่ายมาก ไม่มีคำว่า ‘ยุทธศาสตร์’ หรือ ‘บูรณาการ’ เป็นเพียงผู้ใหญ่ใจดีนั่งเล่าให้ฟัง ท่ามกลางบรรยากาศในอดีตว่ามีความสุขอย่างไร ขนาดการจับปลาช่อนกับปลาดุกยังแตกต่างกัน จึงนับเป็นหนังสือนวนิยายที่มีคุณค่ามาก เหมาะสมกับผู้สูงอายุเขียน
นพ.บรรลุ : ผู้สูงอายุได้เขียนหนังสือถือเป็นเรื่องที่ดี จะได้สอนคนรุ่นใหม่ควรดำเนินชีวิตอย่างไร ดังนั้น ต่อไปนี้ผู้สูงอายุทุกคนควรบันทึกเรื่องราวของตัวเองไว้เสมอ เพื่อวันหนึ่งจะได้เขียนหนังสือเหมือน นพ.ประทีป
นพ.ประทีป : ปัจจุบันกลับไปที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เพื่ออยากรู้ว่าพื้นที่เกิดอยู่บริเวณใด แต่สิ่งที่พบ คือ พื้นที่กลายเป็นบังกะโล โรงแรม ซึ่งปวดใจพอสมควร
“...จู่ ๆ เกาะสมุยเกิดเปลี่ยนร่างแปลงโฉมราวเป็นคนละคน เหมือนผมหลับฝันไป ตื่นขึ้นมาพบการเปลี่ยนแปลงที่ผมไม่ได้คาดคิดมาก่อน บ้างโจ้งคลำของผมหายไป ไม่มีเหลือไว้แม้แต่ชื่อ ชาวโจ้งคลำหายไป รวมกันไม่ติดจนกระทั่งบัดนี้...(ข้อความตอนท้ายเรื่อง ‘เรื่องเล่าของเด็กโจ้งคลำ’)”
***************************
'นพ.ประทีป หุตางกูร' นับเป็นนักเขียนที่ถ่ายทอดเรื่องราวในอดีตจากฟิล์มภาพยนตร์เก่าในหัวแปลงเปลี่ยนเป็นตัวอักษร 182 หน้า แบ่งปันให้คนรุ่นหลังได้อ่าน นับเป็นต้นฉบับที่ทรงคุณค่า ควรค่าแก่การเก็บรักษาเผยแพร่สืบไป เพื่อให้ ‘เรื่องเล่า’ ถูกนำมา ‘บอกเล่า’ จะได้ไม่ลืม .