'แป้งนวล-ดินสอพอง' อันตรายแฝง...ปะแป้งสงกรานต์
"ตอนนี้แป้งนวลที่วางจำหน่ายปนกับดินสอพอง มีลักษณะคล้ายกันมาก ลักษณะของแป้งนวลเป็นผงฝุ่นคล้ายชอล์กเขียนกระดานดำ มีสีขาว และมีน้ำหนักเบากว่าดินสอพองที่มีสีเหลืองนวลมีการผสมสี ซึ่งสีที่ใช้ผสมจะเป็นสีทาบ้าน ฉะนั้นจึงมีอันตราย"
เทศกาลสงกรานต์ทุกรัฐบาลจะมีข้อห้ามเพื่อรักษาบรรยากาศการท่องเที่ยวให้เป็นไปอย่างสนุกสนานและปลอดภัย เช่นเดียวกับรัฐบาลนี้ "บิ๊กตู่"-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ได้ออกประกาศข้อห้าม 8 ข้อ สำหรับสงกรานต์ปีนี้
โดยเฉพาะข้อห้ามการห้ามเล่นน้ำที่มีสิ่งเจือปน แป้ง น้ำแข็ง และโฟม ซึ่งสอดคล้องกับการแถลงข่าวของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ออกมาเปิดเผยว่า การเล่น ดินสอพองนั้นแฝงไปด้วยเชื้อโรค
พร้อมกับหยิบยกการไปสุ่มตรวจแหล่งผลิตและร้านค้าทั่วไป พบเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้เกือบทุกแห่ง
หลายคนอาจจะยังไม่รู้ "ดินสอพอง" ก็มีมาตรฐานเช่นกัน เรียกว่า มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนดินสอพองแปรรูป (มผช.)
ดินสอพองคือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากนำดินมาร์ล (marl) มาร่อนผสมน้ำและกรองให้สะอาด ซึ่งในอดีตนิยมใช้ดินสอพองมาเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางค์สูตรโบราณของไทย เช่น น้ำอบไทย หรือการผสมกับสมุนไพรต่างๆ เพื่อใช้พอกหน้าขัดตัว
แม้ดินสอพองจะมีประโยชน์ แต่ปัจจุบันผลของการสุ่มตรวจจากกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กลับพบเชื้อราปนเปื้อน ดังนั้นจากที่มีประโยชน์ก็กลายเป็นโทษได้
ดร.สุพรรณี เทพอรุณรัตน์ นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เล่าถึงสาเหตุของการพบเชื้อราและยีสต์เกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ของ มผช. ว่า จากการสุ่มตรวจตัวอย่างจากร้านและแหล่งผลิตทั้งที่ลพบุรี ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลทั้ง 39 แห่ง พบทุกแห่งมีจำนวนแบคทีเรีย ยีสต์และราเกิน 1,000 โคโลนี
"ทุกครั้งที่มีการสุ่มตรวจตัวอย่างยังไม่เคยมีแหล่งผลิตใดที่ไม่ตกมาตรฐานเลย ที่สำคัญยังพบเชื้อ อี โคไล ซึ่งเป็นตัวดัชนีชี้สุขลักษณะของการผลิต หมายความว่าขั้นตอนการผลิตดินสอพองไม่สะอาดและอาจมีการใช้น้ำที่ปนเปื้อนอุจจาระ เนื่องจากเชื้อ อี โคไล เป็นเชื้อที่พบในรูทวารของมนุษย์"
ถามว่ากระบวนการผลิตสมัยก่อนกับปัจจุบันต่างกันหรือไม่ นักวิจัย กล่าวว่า ไม่ได้มีความแตกต่าง แต่น้ำที่ใช้ในทุกวันนี้เอาน้ำคลองมาทำ ร่อนแล้วก็ตาก เก็บใส่ถุงแบบที่เราเห็น ซึ่งขั้นตอนการเก็บก็เก็บแบบทั่วไปไม่ได้ระมัดระวัง ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดเชื้อราก็เป็นไปได้สูง
"แล้วทุกวันนี้คนใช้ดินสอพองเล่นสงกรานต์ไม่ได้แค่แปะที่แก้มอย่างเดียว แต่ควักออกมาโปะกัน เข้าหู เข้าตา ก็ค่อนข้างอันตราย"
ดร.สุพรรณี อธิบายอีกว่า ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง หรือการทำยาสีฟันจะมีการนำดินสอพองไปใช้ไปส่วนผสม แต่ก่อนที่จะนำไปใช้จะมีกระบวนการทำให้แป้งสุกก่อน ดังนั้นเชื้อโรคหรือแบคทีเรียที่มีก็จะหมดไป แต่ดินสอพองที่นำมาขายตามท้องตลาดทั่วไปไม่ได้มีกระบวนการเหล่านั้น
นอกจากนี้ สิ่งที่เป็นกังวล คือ การจำหน่ายแป้งนวล ซึ่งมีลักษณะคล้ายดินสอพองมากแต่ขนาดจะเล็กกว่า และแป้งนวลมีส่วนประกอบหลักเป็นแคลเซียมซัลเฟตหรือยิบซั่ม เมื่อหายใจเข้าไปอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อจมูกและหลอดลม ซึ่งมีอันตรายกว่าดินสอพอง
"ตอนนี้แป้งนวลมีวางจำหน่ายปนกับดินสอพองและมีลักษณะคล้ายกันมาก ลักษณะของแป้งนวลเป็นผงฝุ่นคล้ายชอล์กเขียนกระดานดำ มีสีขาวขนาดเล็กและมีน้ำหนักเบากว่าดินสอพองที่มีสีเหลืองนวลมีการผสมสี ซึ่งสีที่ใช้ผสมจะเป็นสีทาบ้านฉะนั้นมีแต่อันตราย"
(แหล่งผลิตดินสองพองแห่งใหญ่ ที่สุ่มตรวจและตกมาตรฐานทุกปี)
(ดินสอพองปลอดเชื้อและได้รับมาตรฐานจากสทน.)
ดร.สุพรรณี แสดงความเป็นห่วง ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประชาชนจะแยกไม่ออกระหว่างแป้งนวลและดินสอพอง เนื่องจากลักษณะที่มีความคล้ายกันมาก ฉะนั้น ควรเลือกดินสอพองสีขาว มีฉลากระบุแหล่งผลิตที่น่าเชื่อถือ หลีกเลี่ยงดินสอพองที่มีสีสันฉูดฉาด ดินสอพองและแป้งนวล มีฤทธิ์เป็นด่างต้องระมัดระวังไม่ให้ดินสอพองเข้าตา ปาก และจมูก โดยเฉพาะคนที่มีแผลภายนอกต้องระมัดระวัง เพราะเชื้อราอาจจะแพร่เข้าสู่แผลได้
สำหรับกระบวนการที่จะทำให้ขั้นตอนการผลิตดินสอพองหรือแป้งนวลผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดนั้น ดร.สุพรรณณี ชี้ว่า ทางกระทรวงวิทย์ฯ พร้อมจะสนับสนุนอยู่แล้ว อย่างเช่น การฉายรังสี ซึ่งตอนนี้ก็มีแหล่งผลิตใหญ่ๆ ในอุตสาหกรรมที่นำไปใช้ ส่วนแหล่งผลิตอื่นๆ ที่ไม่ได้จำหน่ายเป็นจำนวนมากบางทีอาจต้องดูฐานของลูกค้า
แต่เมื่อใดก็ตามที่นำเทคโนโลยีเข้าไปในกระบวนการผลิต เขาเห็นว่า ผู้บริโภคก็ต้องยอมรับราคาสินค้าที่แพงขึ้นด้วยเช่นกัน อาจเพิ่มขึ้นจากปกติ 10 บาท กลายเป็น 25 บาท
จุดนี้ผู้บริโภคจะยอมรับกันได้หรือไม่ ราคาที่เพิ่มขึ้นแลกกับความปลอดภัย
สงกรานต์ปีนี้เลือกซื้ออุปกรณ์เสริมแบบไหนก็เลือกที่ปลอดภัยและอย่าลืมปฏิบัติตามข้อห้าม ไม่อย่างนั้นความสนุกอาจกลายเป็นความทุกข์ได้