เอแบคโพลล์ระบุชาวบ้านน้ำท่วม “ให้คะแนนแก้ปัญหารัฐบาล 4.67 เต็ม 10”
เอแบคโพลล์ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง “เสียงสะท้อนจากคนที่เป็นทุกข์เหยื่อภัยพิบัติน้ำท่วมต่อรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ” พบ 1 ใน 3 ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ คนบ้านไกลถนนน่าห่วงสุด ของบริจาคเวียนเทียนในเครือข่ายนักการเมืองท้องถิ่น-ผู้นำชุมชน
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชนฯ(เอแบคโพลล์) กล่าวถึงกรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 8 จังหวัดของประเทศที่ประสบภัยน้ำท่วม ได้แก่ เชียงใหม่ พิษณุโลก นครสวรรค์ อุตรดิตถ์ ชัยนาท ลพบุรี สุพรรณบุรี และปทุมธานี 1,083 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 25 ก.ย.–1 ต.ค.54 ที่ผ่านมา พบว่าผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วมทุกปีมีอยู่ร้อยละ16.6 และกลุ่มที่ประสบภัยน้ำท่วมเกือบทุกปีร้อยละ 18.8 ขณะที่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมบางปีมีร้อยละ 44.4 และที่เพิ่งจะท่วมปีนี้มีร้อยละ 20.2
ที่น่าพิจารณาคือ ตัวอย่างร้อยละ 51.1 ระบุได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลหรือองค์กรต่างๆแล้ว แต่คาดว่าไม่เพียงพอกว่าน้ำจะลด ขณะที่เพียงร้อยละ 16.7 ระบุว่าคาดว่าเพียงพอถึงน้ำลด แต่ที่น่าเป็นห่วงคือเกือบ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 32.2 ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือเลย เมื่อจำแนกตามที่ตั้งของบ้านในระยะห่างจากถนนหลัก พบว่าประชาชนที่มีบ้านติดถนนหลักเพียงร้อยละ 24.8 และคนที่อยู่ห่างไกลจากถนนหลักเพียงร้อยละ 10.7 ได้รับความช่วยเหลือที่คาดว่าเพียงพอจนถึงน้ำลด แต่ที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่าคือกลุ่มคนที่มีบ้านห่างไกลจากถนนหลักร้อยละ 54.1 ได้รับความช่วยเหลือแต่คาดว่าไม่เพียงพอกว่าน้ำจะลด และร้อยละ 35.2 ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ
เมื่อถามถึงระดับความทุกข์จากน้ำท่วม พบว่าเมื่อค่าสูงสุดอยู่ที่ 10 คะแนน ประชาชนในพื้นที่ภัยพิบัติโดยภาพรวมมีความทุกข์ระดับมากที่สุดอยู่ที่ 7.99 คะแนน โดยคนที่อยู่ติดถนนหลักมีระดับความทุกข์ 7.04 คะแนน คนที่อยู่ห่างไกลถนนหลักมีความทุกข์ 8.59 คะแนน ความทุกข์ที่เกิดขึ้นมี 2 ประเภทคือทางกายและทางใจ โดยทุกข์ทางกายที่จับต้องได้ เช่น มีอาหารและน้ำสะอาดไม่เพียงพอ ขาดยารักษาโรคประจำตัว ปัญหาสุขภาพเจ็บไข้ได้ป่วย ขาดรายได้ ไม่สามารถประกอบอาชีพ ไม่สะดวกในการเดินทาง ทรัพย์สินสูญหาย ไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และบ้านเรือนสิ่งของชำรุด และทุกข์ทางจิตใจ เช่น ความเครียด ถูกทอดทิ้ง โดดเดี่ยว ความรู้สึกถูกเลือกปฏิบัติและหมดหวังเคว้งคว้างหลังน้ำลด
ที่น่าพิจารณาคือส่วนใหญ่ระบุว่าการช่วยเหลือของรัฐบาลและหน่วยงานรัฐไม่ทั่วถึง กลุ่มเครือญาติและฐานเสียงของนักการเมืองท้องถิ่น แกนนำชุมชนและคนที่อยู่ริมถนนใหญ่ได้รับของบริจาคทั้งจำนวนที่มากกว่าและคุณภาพดีกว่า โดยพวกแกนนำชุมชนจะมีโอกาสคัดเลือกของดีๆเอาไว้ก่อน และยังมีการเวียนเทียนได้แล้วได้อีก โดยชาวบ้านฝากถึงรัฐบาลและนักการเมืองว่าอยากให้มาเคาะประตูบ้านเหมือนช่วงหาเสียงเลือกตั้งที่มายกมือไหว้ แต่ตอนนี้แค่มากางเต้นท์แล้วให้ชาวบ้านออกไปหา และยังมีเสียงสะท้อนว่าการช่วยเหลือก็มักจะไปเน้นกันตรงพื้นที่ที่เป็นข่าวใหญ่มากกว่า เมื่อขอให้ผู้ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมประเมินความพอใจต่อการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล พบว่าเมื่อคะแนนความพอใจเต็ม 10 คะแนน ประชาชนให้เพียง 4.67 คะแนน คนที่อยู่ติดถนนหลักให้ 4.76 คะแนน คนที่อยู่ห่างไกลถนนให้ 4.52 คะแนน
ดร.นพพล ยังเสนอแนวทางแก้ไข 5 ประการ 1.ต้องทำให้ชาวบ้านวางใจว่าทุกคนจะได้รับการช่วยเหลืออย่างเท่าเทียมทั่วถึง เพื่อไม่ให้เป็นชนวนสู่ความขัดแย้งรุนแรงระหว่างประชาชนในพื้นที่ที่แตกต่างกันอีกในอนาคต 2.รัฐบาลน่าจะใช้สำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับอาสาสมัครของสถาบันการศึกษาระดับภูมิภาคและท้องถิ่นออกทำสำมะโนประชากรในพื้นที่ภัยพิบัติว่ามาตรการความช่วยเหลือสอดคล้องกับความเป็นจริงหรือไม่ 3.พื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากน่าจะมีการกระจายภาระรัฐบาล โดยมีพื้นที่นำร่องให้บริษัทประกันภัยเข้ามาร่วมประกันความเสี่ยง และน่าจะตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐว่าปล่อยปละละเลยให้เกิดภัยพิบัติซ้ำซากเพื่อจะได้งบประมาณหรือไม่ ในขณะที่กลุ่มนายทุนน่าจะใช้โอกาสนี้ทำกิจกรรมเพื่อที่แสดงความรับผิดชอบทางสังคมหรือ CSR
4.ในขณะที่มีความเคลือบแคลงสงสัยปัญหาทุจริตคอรัปชั่นในการช่วยเหลือจากภาคส่วนต่างๆ รัฐบาลและหน่วยงานรัฐทั้งส่วนกลาง ภูมิภาคและท้องถิ่นน่าจะประกาศแจกแจงรายรับรายจ่าย รายการบริจาคสิ่งของต่างๆให้สาธารณชนรับรู้อย่างทั่วถึง 5.รัฐมนตรีที่ลงพื้นที่ในแต่ละจังหวัดน่าจะเข้าถึงประชาชนที่อยู่ห่างไกลถนนหลักแบบเคาะประตูบ้าน หรือมีวิธีตรวจสอบว่าการช่วยเหลือครอบคลุม และประกาศให้ชาวบ้านมั่นใจต่อแนวทางช่วยเหลือใน 3 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้นขณะน้ำท่วม ระยะที่สองภายหลังน้ำลด และระยะยาว เช่น ปัญหาสุขภาพ การเพิ่มรายได้ลดรายจ่าย การประกอบอาชีพ เส้นทางคมนาคม สาธารณูปโภคต่างๆ และแนวทางขุดลอกคลองที่จะป้องกันน้ำท่วมในอนาคต .