‘สติ วินัย น้ำใจ’ ปลอดภัยสงกรานต์ ปี 58
เทศกาลสงกรานต์เป็นเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ไทย ซึ่งมีการจัดงานประเพณีการทำบุญและรื่นเริงต่าง ๆ ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ประกอบกับประชาชนจำนวนมากจะใช้รถใช้ถนนในการเดินทางสัญจรกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยว ทำให้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงกว่าช่วงปกติ
ข้อมูลจากศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ระบุ สถิติระหว่างปี 2555-57 พบมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น เฉลี่ยวันละ 426 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 45 ราย และผู้บาดเจ็บเฉลี่ยวันละ 456 ราย
ขณะที่สถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2557 พบว่า วันที่ 13 เมษายน 2557 เป็นวันที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมผู้ขับขี่และเป็นคนในพื้นที่ โดยรถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด
จากสถานการณ์ดังกล่าว ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ร่วมกับหน่วยงานและองค์กรภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง จัดโครงการ ‘สติ วินัย น้ำใจ ปลอดภัยสงกรานต์ สืบสานประเพณี’ เพื่อรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2558
ภายใต้มาตรการเน้นหนักให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการอย่างจริงจัง เด็ดขาด และต่อเนื่อง เพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดจากพฤติกรรมของผู้ขับขี่ยานพาหนะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรูปธรรม
โดยมีข้อเสนอการตั้งจุดปฏิบัติการในช่วง 7 วัน ให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด 10 มาตรการ มุ่งเน้น การดื่ม ขับเร็ว เล่นน้ำท้ายกระบะ ง่วง รณรงค์การใส่หมวกกันน็อก และเข็มขัดนิรภัย ปรับการตั้งเต็นท์เป็นจุดบริการ กระจายอาสาสมัครตามจุดเสี่ยง ทางร่วม ทางแยก งานเลี้ยงสังสรรค์ (สกัดคนดื่มแล้วขับ, เตือนลดความเร็ว)
นอกจากนี้ สถานที่ตั้งจุดปฏิบัติการควรคำนึงถึง ‘พื้นที่เสี่ยง’ โดยมีการวิเคราะห์ข้อมูลที่ผ่านมาเป็นส่วนประกอบ และเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงช่วงเวลา ‘เสี่ยง’ โดยเฉพาะพลบค่ำ กลางคืนเพิ่มขึ้น พร้อมควบคุมการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
ห้ามขายหรือบริโภคในพื้นที่อยู่ในกำกับดูแลและใช้ประโยชน์ของราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2558, กำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทาง พ.ศ.2558, กำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานีขนส่ง พ.ศ.2558
กำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2558, กำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางรถไฟ พ.ศ.2558 และห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับบุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี
‘สวมหมวกกันน็อกเล่นน้ำ’ ไม่ใช่เรื่องแปลก
ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ผู้ที่ขับขี่รถจักรยานยนต์มักไม่สวมหมวกกันน็อค โดยอ้างว่า เมื่อหมวกโดนน้ำทำให้มองไม่เห็น เปียก อับ ชื้น และไม่สวย ทั้งที่รถจักรยานยนต์ คือ ภัยเงียบที่คร่าชีวิตคนไทยชั่วโมงละ 1 คน และทุก 2 ชั่วโมง จะมีผู้พิการเพิ่มขึ้นอีก 1 คน
หากคำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตเป็นสิ่งสำคัญ การสวมหมวกกันน็อกเล่นน้ำไม่ใช่เรื่องแปลก แตกต่าง หรือขบขัน มองกลับกันอาจเพิ่มความปลอดภัยให้มากขึ้น ดังนั้น ถ้ากังวลจะเล่นน้ำไม่สนุก ทัศนะวิสัยในการมองถนนไม่ชัดเจน เมื่อกระจกโดนน้ำ
แนะนำให้ ‘ถอดกระจก’ ด้านหน้าออก เพียงเท่านี้ก็เพิ่มความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินสามารถเล่นน้ำได้อย่างสนุกสนานเช่นเดิม
หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จราจรทางบก พ.ศ.2522 แก้ไขโดย พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2550 สรุป คือ
1.ผู้ขับขี่ไม่สวมหมวกกันน็อก ปรับไม่เกิน 500 บาท
2.ผู้ซ้อนท้ายไม่สวมหมวกกันน็อก ปรับ 500 บาท และผู้ขับขี่โดนปรับ 1,000 บาท
3.หากทั้งสองคนไม่สวมหมวกกันน็อค ผู้ขับขี่โดนปรับ 1,500 บาท ส่วนผู้ซ้อนท้ายโดนปรับ 500 บาท
ดื่ม + ขับ = ตาย
เมื่อพบผู้ขับขี่ยานพาหนะดื่มแล้วขับ และถูกตรวจพบว่า มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย และถูกควบคุมความประพฤติ
ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2557 เพื่อแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.จราจรทางบก 2522 ระบุหากมีการฝ่าฝืนตามกฎหมายใหม่ กรณีผู้ขับขี่ปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงานในการทดสอบ โทษปรับครั้งละไม่เกิน 1,000 บาท
ส่วนกรณีไม่ยินยอมให้ทดสอบให้สันนิษฐานว่ามีเหตุอันควรเชื่อว่า เมาไว้ก่อนจะมีบทลงโทษ คือ จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับตั้งแต่ 10,000-20,000 บาท หรือทั้งปรับ
ทั้งนี้ ได้กำหนดพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้าในหลายมาตรการและหลายระดับ ภายใต้หลักการ ประกาศ-ห้าม-ขอ-แลก-ฝาก-เฝ้า-สร้าง ดังนี้
ประกาศ ประกาศนโยบายสาธารณะระดับพื้นที่ โดย ผู้ว่าราชการจังหวัด,นายอำเภอ,นายก อบจ.,นายกเทศมนตรี,นายก อบต.,ชุมชนท้องถิ่น,สภาวัฒนธรรมและเจ้าภาพจัดงาน
ห้าม ห้ามขาย ห้ามดื่ม ในพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า ตาม พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแลกอฮอล์2551
ขอ ขอความร่วมมือประชาชนและนักท่องเที่ยวไม่นำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ไปในพื้นที่จัดงาน,ขอความร่วมมือร้านค้า,แจ้งลูกค้าห้ามนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออกนอกบริเวณร้าน
แลก น้ำแลกเหล้า นมแลกเหล้า ไอติมแลกเหล้า ข้าวเม่าแลกเหล้า น้ำสมุนไพรแลกเหล้า น้ำอัดลมแลกเหล้า ไก่ปิ้งแลกเหล้า ข้าวแคบแลกเหล้า
ฝาก ฝากเหล้าไว้กับตำรวจ,จุดฝากเหล้า
เฝ้า กล้อง cctv, หน่วยเฉพาะกิจปราบแอลกอฮอล์,สายลับการทำแผนที่จุดเสี่ยงขายเหล้า,ชุดตรวจสรรพสามิตพิชิตเหล้า
สร้าง กิจกรรมสร้างสรรค์พื้นที่สร้างสุข : พื้นที่สำหรับเด็กเยาวชน,พื้นที่สำหรับผู้สูงอายุ,สร้างสีสันเมืองด้วยศิลปวัฒนธรรมและประเพณีที่ทรงคุณค่า,สร้างธรรมเนียมปฏิบัติของเมืองด้วยสิ่งดีงามเป็นมงคลในวันปีใหม่ไทย,เวทีเรียนรู้สาธารณะเรื่องคุณค่าประเพณีงานสงกรานต์ และการออกแบบอนาคตร่วมกัน