“หมอประเวศ” ตั้งกก.14 ชุด หนุนขบวนปฏิรูป มุ่งปั้นพลังสังคม-ปัญญา
ย้ำใช้ 3 พลังพลิกวิกฤตชาติ เชื่อ 14 คณะกก.เพื่อการปฏิรูป ช่วย “เปิดประตูคุกสังคมไทย” ชี้ถึงเวลาคนไทย “จินตนาการร่วมปฏิรูป” โต้คนไม่เชื่อใจ ต้องพิสูจน์ด้วย “การกระทำ” ด้านปธ.คณะทำงานภาควิชาการฯ เผย 2 ประเด็นร้อนปฏิรูป “ความยุติธรรม-การจัดสรรทรัพยากร”
ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (29 ก.ค.) ว่า เมื่อเวลา 15.00น. ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานคณะสมัชชาปฏิรูป (คสป.) ผลการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 2 ณ เรือนธารกำนัล บ้านพิษณุโลก ถ.พิษณุโลก โดยที่ประชุมมีมติแต่งตั้ง 14 คณะกรรมการเพื่อการปฏิรูป ภายใต้คสป.เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนกระบวนการปฏิรูปประเทศใต้กรอบสร้างความ เป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยมุ่งเน้นการเปิดพื้นที่พลังสังคมและพลังทางปัญญา และในแต่ละคณะจะมีกรรมการคาดว่า ไม่เกินคณะละ 15 คน ดังนี้
1.คณะกรรมการองค์กรปกครองท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูป ซึ่งมีประธานร่วม 4 คน คือ นายสมพร ใช้บางยาง รองปลัดกระทรวงมหาดไทย, นายกสมาคมอบต.,นายกสมาคมอบจ. และนายกสมาคมสันนิบาตแห่งประเทศไทย 2.คณะกรรมการเครือข่าย สภาองค์กรชุมชน และสภาผู้นำชุมชนเพื่อการปฏิรูป มีนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เป็นประธาน และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เป็นหน่วยงานเลขานุการ 3.คณะกรรมการเครือข่ายประชาคมเพื่อการปฏิรูป มีนพ.พลเดช ปิ่นประทีป เป็นประธาน 4.คณะกรรมการเครือข่ายผู้ใช้แรงงานและคนจนเมืองเพื่อการปฏิรูป นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ เป็นประธาน
5.คณะกรรมการเครือข่ายพลังสตรีเพื่อการปฏิรูป นางเรวดี ประเสริฐเจริญสุข เป็นประธาน และมูลนิธิผู้หญิงเป็นหน่วยงานเลขานุการ 6. คณะกรรมการเครือข่ายพลังเยาวชนเพื่อการปฏิรูป นายรัชฎะ ศรีบุญรัตน์ เป็นประธาน ซึ่งมีสำนักงานสภาเยาวชนแห่งชาติเป็นหน่วยงานเลขานุการ 7.คณะกรรมการเครือข่ายผู้พิการเพื่อการปฏิรูป ศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ เป็นประธาน โดยมีสมาคมผู้พิการเป็นเลขานุการ 8.คณะกรรมการเครือข่ายผู้ด้อยโอกาสเพื่อการปฏิรูป ซึ่งขณะนี้กำลังพิจารณาผู้รับผิดชอบ 9.คณะกรรมการเครือข่ายภาคธุรกิจกับการปฏิรูป โดยสำนักงานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน ซึ่งมีประธานร่วม 3 คนจากประธานสภาหอการค้าไทย, ประธานสภาอุตสาหกรรม และประธานสมาคมธนาคารไทยจะผลัดเปลี่ยนกันทุกวาระ 4 เดือน และขณะนี้นายโสภณ พานิช ประธานสมาคมธนาคารไทยเป็นประธาน
10.คณะกรรมการเครือข่ายอุดมศึกษาเพื่อการปฏิรูป โดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาเป็นหน่วยงานดูแล และมีประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยเป็นประธานตามวาระประจำปี 11.คณะกรรมการเครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูป นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เป็นประธาน และสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ 12.คณะกรรมการการจัดสรรทรัพยากรเพื่อความเป็นธรรม นายนิพนธ์ พัวพงศกร เป็นประธาน และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) 13.คณะกรรมการความยุติธรรมกับการปฏิรูป นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ เป็นประธาน และสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ และ 14.คณะกรรมการการสื่อสารเพื่อการปฏิรูป โดยความสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีนายมานิจ สุขสมจิตร เป็นประธาน และดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ เป็นเลขานุการ
ศ.นพ.ประเวศ กล่าวว่า ปัญหาประเทศไทยขณะนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีหลายปัจจัยทำให้เกิดความ ไม่เป็นธรรมในสังคม เกิดปัญหาจิตสำนึก ซึ่งการแก้ปัญหาวันนี้ต้องทำความเข้าใจปัญหาเชิงโครงสร้างเสียก่อน โดยอำนาจรัฐไม่ว่ารัฐบาลชุดใดๆ ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างได้ ต้องใช้พลัง 3 ส่วน คือ พลังสังคม พลังปัญญา และพลังรัฐร่วมแก้พร้อมกัน จะใช้พลังหนึ่งพลังใดแก้ไม่ได้ ดังนั้นต้องใช้กระบวนการสร้างพลังสังคม และพลังปัญญาขึ้น โดยคสป.เกิดขึ้นเพื่อสร้างพลังสังคม ส่วนคณะกรรมการปฏิรูปชุดนายอานันท์ ปันยารชุน (คปร.) จะสร้างพลังทางปัญญาในการปฏิรูปประเทศ
ศ.นพ.ประเวศ กล่าวอีกว่า ทั้งสองคณะจะเป็นคู่แฝดอินจัน โดย 14 คณะกรรมการย่อยที่ตั้งขึ้นมีความรู้มากในการช่วยแก้ปัญหาที่จะช่วยครอบคลุม ได้ทั้งสังคมและจะช่วยสำรวจความเห็นสรุปเป็นข้อเสนอเพื่อดำเนินการ รวมถึงเสนอต่อคปร.เพื่อนำไปสังเคราะห์ประเด็นนโยบายต่างๆ ต่อไป ซึ่งเชื่อว่าแนวทางนี้จะเป็นการคิดอาวุธทางปัญญา สร้างพลังสังคม และนำไปสู่การปฏิรูปประเทศไทยด้วยสันติวิธีที่สร้างสรรค์ รวมทั้งหวังว่า 3 ปีคสป.และคปร.จะทำให้เกิดวัฒนธรรมใหม่ในการประสานพลังทางสังคม พลังทางปัญญา และพลังอำนาจรัฐให้ประเทศฝ่าวิกฤตไปได้
สำหรับบทบาทของคณะกรรมการนั้น ประธานคสป. กล่าวว่า 14 คณะกรรมการไม่ใช่ทำงานตามแก้ปัญหาแบบที่ราชการทำ แต่จะทำหน้าที่สร้างพลังการปฏิรูปจากสังคม สร้างการมีส่วนร่วม ปลดปล่อยพลังสังคม โดยจะไปทำให้ทุกเครือข่ายมีความเข้มแข็งขึ้น ให้ทุกฝ่ายร่วมจินตนาการร่วมปฏิรูป เสนอแนวทางช่วยลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรม
“สังคมไทยเหมือนติดคุกมานาน ตอนนี้เรากำลังเปิดประตูออกจากคุก ทั้ง 14 คณะจะเป็นการเปิดพื้นที่ทางสังคม และเปิดพื้นที่พลังทางปัญญาอย่างกว้างขวาง เนื่องจากขณะนี้คนไทยผ่านความทุกข์ยากและความแตกแยกมามาก ซึ่งการจะร่วมกันแก้ปัญหาเยียวยานั้นทุกคนจะต้องมาร่วมกันใช้พลังจินตนาการ ในการปฏิรูปเยียวยาประเทศ”
ศ.นพ.ประเวศ กล่าวอีกว่า คณะกรรมการชุดแรกจะช่วยครอบคลุมเข้าถึงเชื่อมโยงพลังจากทุกหมู่บ้านเข้ามามี บทบาทร่วมปฏิรูปได้ เนื่องจากมีทั้งอบต. อบจ. และเทศบาล รวมถึงสภาองค์กรชุมชน ส่วนคณะกรรมการชุดประชาคมจะเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเครือข่ายทั้งหมด ส่วนเครือข่ายอุดมศึกษานั้นมหาวิทยาลัยจะต้องเข้ามาเป็นพลังทางปัญญาและเป็น พลังทางสังคม ซึ่งวันที่ 2 ส.ค.จะมีเวทีเรื่องนี้ที่อิมแพ็คเมืองทองธานี และท่ามกลางความยากลำบากในการแก้ปัญหาต่างๆ สิ่งที่สำคัญที่สุดอีกอย่างก็คือการสื่อสาร ซึ่งจะต้องทำให้เกิดการสื่อสารระหว่างกันเพื่อการปฏิรูปด้วย ดังนั้นจะทำอย่างไรให้การสื่อสารร่วมเปลี่ยนแปลงประเทศได้
“ขณะนี้มีเครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมประเทศเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งดูจะคึกคักมาก ส่วนการสื่อสารเพื่อการปฏิรูปนั้นล่าสุดมีกลุ่มคนอาสาที่จะทำสภาประชาชน เพื่อการปฏิรูปออนไลน์ด้วย โดยจะสำรวจความเห็นของทุกคนในการร่วมปฏิรูป ตั้งคำถาม 2 ข้อ คือ 1.คุณคิดว่าสังคมที่เป็นธรรมควรจะเป็นอย่างไร เพื่อให้ทุกคนมาจินตนาการด้วยกัน และ 2.คุณมีแนวคิดและแนวทางมาตรการอย่างไรในการสร้างความเป็นธรรมและลดความ เหลื่อมล้ำในสังคม ส่วนคณะกรรมการความยุติธรรมคาดว่า ประมาณสัปดาห์ที่ 3 ส.ค.จะมีจัดเวทีพูดคุยกันเรื่องความยุติธรรมในสังคม ซึ่งเรื่องการจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรมและความยุติธรรมในสังคมนั้นเป็น ประเด็นที่มีการเรียกร้องให้แก้ปัญหามาก”
สำหรับการใช้งบประมาณในคสป.นั้น ประธานคสป. กล่าวว่า คณะกรรมการทั้ง 14 ชุดที่ตั้งขึ้นจะมีหน่วยงานองค์กรเลขานุการต่างๆ รองรับและใช้เงินในส่วนองค์กรนั้นๆ ดำเนินการอยู่แล้ว ส่วนบางคณะกรรมการที่ไม่มีองค์กรหลักรองรับนั้นทางสำนักงานปฏิรูปจะจัดงบ ประมาณสนับสนุน
เมื่อถามถึงกรณีที่คปร.แสดงจุดยืนเสนอให้รัฐบาลยกเลิกการประกาศพ.ร.ก.ฉุก เฉินนั้น ศ.นพ.ประเวศ กล่าวว่า เรื่องนี้คสป.ไม่อยากเข้าไปมีส่วนร่วมความขัดแย้ง แต่ถึงอย่างไรการประกาศก็ต้องยกเลิก
ส่วนคำถามว่าจะทำอย่างไรในการสร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจการปฏิรูปให้ ทุกฝ่ายเชื่อใจและเข้ามามีส่วนร่วม เนื่องจากขณะนี้ยังมีบางฝ่ายที่ไม่เชื่อใจคณะกรรมการปฏิรูปและคณะสมัชชา ปฏิรูป ประธานคสป. กล่าวว่า ต้องพิสูจน์กันด้วยการกระทำ จะพิสูจน์ด้วยคำพูดไม่ได้ เมื่อมีคณะกรรมการปฏิรูปต่างๆ แล้วไม่ใช่ทุกคนจะมาเรียกร้องให้แก้ปัญหาต่างๆ ได้หมด เพราะกรรมการจะต้องทำงานปฏิรูปประเทศ ไม่ใช่แค่การมาแก้ปัญหา ถ้าเรารับทำแก้ทุกปัญหา ก็จะติดอยู่ที่การแก้ปัญหา ไม่ได้ทำการปฏิรูป ดังนั้นเราจึงพยายามปฏิรูปทั้งโครงสร้าง เช่น คำเรียกร้องของสมัชชาคนจนนั้นยังไม่ใช่นโยบาย คปร.จะเป็นผู้ติดอาวุธทางปัญญาให้สังคมในเชิงนโยบาย แก้ปัญหาเชิงสันติวิธีด้วยพลังปัญญาที่สร้างสรรค์
ด้านนพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะทำงานภาควิชาการคสป. กล่าวว่า การประชุมที่ผ่านมาหลายฝ่ายต่างเสนอให้เกิดการรวมตัวของทั้งภาคท้องถิ่น ภาคธุรกิจเอกชน รวมถึงเครือข่ายทั้ง 14 คณะกรรมการด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่ามี 2 ประเด็นเร่งด่วนที่ต้องมุ่งเน้น คือ 1.ความยุติธรรมในสังคม 2.การจัดสรรทรัพยากรอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม โดยการประชุมคสป.ครั้งต่อไปจะนำประเด็นเรื่องการจัดสรรทรัพยากรเข้าที่ ประชุม ครอบคลุมทั้งทรัพยากรธรรมชาติ ที่ดิน ภาษี การใช้จ่ายของภาครัฐ และคลื่นความถี่
“กรรมการทุกคนเห็นตรงกันว่าจะต้องสร้างการเคลื่อนไหวในทั้ง 14 เครือข่ายคณะกรรมการนี้ร่วมกัน เพื่อสร้างจิตสำนึกใหม่ให้ทุกคนในสังคมมาร่วมกันปฏิรูป”นพ.สมศักดิ์ กล่าว
ด้านรศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการสื่อสารเพื่อการปฏิรูป คสป. กล่าวว่า คสป.ตั้งใจจะทำให้เกิดระบบการสื่อสารเพื่อการปฏิรูปเพราะการสื่อสารทำให้ เกิดการสร้างการมีส่วนร่วมในการปฏิรูปได้ และคณะกรรมการการสื่อสารเพื่อการปฏิรูปนี้จะทำงาน 2 ส่วน คือ ส่วนแรก มีนายมานิจ สุขสมจิตร เป็นประธาน และตนเป็นเลขานุการนั้นจะระดมความร่วมมือจากสื่อต่างๆ และสร้างการสื่อสารเพื่อการปฏิรูปประเทศ โดยหวังให้สื่อช่วยเป็นแกนกลาง
“ส่วนที่2 ตนจะรับผิดชอบหลักในการเผยแพร่ประเด็นการทำงานของคสป. ซึ่งจะมีทั้งการเปิดช่องทางการมีส่วนร่วมให้ประชาชนทั้งโซเชี่ยลมีเดีย ตู้ปณ.รับเรื่อง และโพลล์สำรวจความเห็นข้อเสนอต่อการปฏิรูป ส่วนต่อมาเสนอข้อมูลประเด็นปฏิรูปและความคืบหน้าในประเด็นการแก้ปัญหาต่างๆ ซึ่งส่วนนี้ได้มีศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทยโดยสถาบันอิศรามูลนิธิ พัฒนาสื่อมวลชนจะคอยติดตามเกาะประเด็นเชิงลึกและเสนอ รวมถึงจะช่วยประสานความร่วมมือกับภาควิชาการด้วย” เลขานุการคณะกรรมการการสื่อสารเพื่อการปฏิรูป คสป.กล่าว
ส่วนนางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา และกรรมการคสป. กล่าวว่า การปฏิรูปในด้านการศึกษาที่ผ่านมาเน้นในระดับอุดมศึกษา ทำให้พลังในกลุ่มมัธยมศึกษาหายไป ดังนั้นควรให้มีส่วนร่วมด้วย ขณะเดียวกันก็ควรให้ทุกศาสนาได้เข้ามาช่วยในการปฏิรูปและช่วยด้านการพัฒนา จิตใจ นอกจากนั้นในส่วนการปฏิรูปประเทศควรให้มีเครือข่ายเกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อสนับสนุนให้อาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่มั่นคง หากขาดเกษตรกรก็จะขาดพลังทางสังคมที่สำคัญไป
นายรัชฏะ ศรีบุญรัตน์ ประธานสภาเยาวชนแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการเครือข่ายพลังเยาวชนเพื่อการปฏิรูป คสป.กล่าวว่า ควรมีการฟื้นเครือข่ายเยาวชน นักศึกษาภายในระยะเวลา 6 เดือน เพื่อให้เป็นฐานในการขยายการรับรู้เรื่องการปฏิรูปประเทศให้ทั่วถึงและกว้าง ขวางมากยิ่งขึ้น และให้องค์กรเครือข่ายของนักศึกษา เช่น สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.) มีบทบาทและมีพลังในการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับสังคม
ขณะเดียวกันนางศิรินา ปวโรฬารวิทยา ผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทางหอการค้าเห็นความสำคัญและเห็นด้วยอย่างยิ่งต่อการปฏิรูปประเทศไทย โดยได้มีการทำโครงการต่างๆ เพื่อสร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำ เช่น โครงการ 1 บริษัท 1 ตำบล, โครงการ 1 ไร่ 1 แสน และอาจจะใช้ฮ่องกงโมเดลเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาคอรัปชั่น
ดัน พลังศิลปิน ร่วมสร้างพลังขับเคลื่อน
นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) กล่าวว่า ในส่วนของตนที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลคณะกรรมการเครือข่ายศิลปินเพื่อการ ปฏิรูป ขณะนี้ได้มีการจัดตั้งเครือข่ายศิลปินทุกแขนง รวมไปถึงศิลปินพื้นบ้าน เพื่อร่วมสร้างพลังในการขับเคลื่อนและจะจัดตั้งเป็นสมัชชาศิลปินขึ้น โดยใช้พลังศิลปินให้เข้าไปขับเคลื่อนความคิดต่างๆ ซึ่งจะทำในหลายระดับ ให้ศิลปะเป็นตัวเชื่อม ช่วยแก้ปัญหาต่าง
“สำหรับกระบวนการทำงาน จะมีการประชุมร่วมกันในวันที่ 4 ส.ค. เป็นกลุ่มย่อยของคณะกรรมการศิลปิน และ วันที่ 18 ส.ค.จะมีการประชุมเครือข่ายศิลปินกลุ่มใหญ่เฉพาะเครือข่ายประมาณอีก 20 คน ทั้งหนังตะลุง หมอลำ และอื่นๆ โดยต้องการให้เกิดเป็นรูปธรรม และสังเคราะห์ข้อมูลให้เป็นเชิงยุทธศาสตร์มากที่สุด”
ทั้งนี้คสป.ได้เปิดช่องทางให้ประชาชนสามารถร่วมแสดงข้อเสนอการปฏิรูปและ แสดง ความคิดเห็นต่อคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปได้ที่ www.facebook.com/assemblyreform หรือ [email protected]อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน
วง คปร. เผย กำหนดทิศทางกรอบการทำงาน 15 ประเด็น
วันเดียวกัน เวลา 13.00 น. คณะกรรมการปฏิรูป(คปร.) ชุดนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีการประชุมคณะกรรมการปฏิรูป ณ บ้านพิษณุโลก กรุงเทพมหานคร โดยภายหลังการประชุมกว่า 4 ชั่วโมง ดร.เดชรัต สุขกำเนิด เลขานุการคณะกรรมการปฏิรูป กล่าวถึงผลการประชุมวันนี้ ได้พูดคุยกำหนดประเด็นการทำงานทั้งสิ้น 15 ประเด็น เพื่อวางกลุ่มการทำงาน เช่น เรื่องที่ดิน หนี้สิน ระบบกระจายอำนาจ ระบบยุติธรรม ที่อยู่อาศัย การศึกษา คาดว่าภายในวันจันทร์ (2 ส.ค.) หากได้ข้อยุติร่วมกัน จะได้เห็นกระบวนการทำงาน วิธีการ และสามารถฉายภาพว่าประเด็นต่างๆ จะสามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างไรก่อนนำเสนอต่อสาธารณชน ซึ่งทั้ง 15 ประเด็นนี้ถือเป็นจิ๊กซอว์ ที่จะนำมาต่อเชื่อมกันให้เกิดผล ภายใต้โจทย์ใหญ่ คือ การสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ
ส่วนกรณี เรื่องมติคณะกรรมการปฏิรูป เสนอให้รัฐบาลยกเลิกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จากการประชุมคณะกรรมการเมื่อวัน 22 ก.ค.ที่ผ่านมานั้น ดร.เดชรัต กล่าวว่า ได้มีเสียงตอบรับจากหลายฝ่ายซึ่งได้นำมารายงานต่อคณะกรรมการว่ามีความคิด เห็นที่แตกต่าง แต่สิ่งสำคัญ คือ อยากเชิญชวนให้ประชาชนกลับมาย้อนคิดในสถานการณ์ที่เป็นอยู่เพื่อหาแนวทางแก้ ปัญหาร่วมกัน
“คณะกรรมการยังมีจุดยืนเช่นเดิม คือ ต้องการให้มีการยกเลิกโดยเร็ว แม้ว่าทางรัฐบาลอาจต้องรอเวลาและวิธีการที่เหมาะสมต่อไป แต่คณะกรรมการได้เห็นพ้องร่วมกันว่า การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะเป็นเรื่องที่ดีสำหรับการแก้ไขปัญหาโดยใช้การเมือง เพราะตราบใดที่ไม่สามารถใช้วิธีการทางการเมืองได้อย่างเต็มที่ในการแก้ไข ปัญหา ตราบนั้นสถานการณ์ก็ยังคงอยู่และไม่สามารถมีทางออกสำหรับปัญหานี้อย่างจริงจัง”
ดร.เดชรัต กล่าวถึงเรื่องของร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ...... ทางคณะกรรมการเห็นว่า ไม่น่าจะเกิดจากความล่าช้าของกระบวนการยุติธรรม หรือเพิ่มข้อขัดแย้งระหว่างญาติและผู้ป่วย แต่การมี พ.ร.บ.ฉบับนี้ น่าจะเป็นทางออกที่ดี ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายด้วย และการมี พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะนำไปสู่การเป็นกระบวนการยุติธรรมทางเลือก ไม่ต้องใช้เวลาขึ้นศาลหรือฟ้องร้องจนเสียความสัมพันธ์ระหว่างกันได้ดี
“คณะกรรมการเห็นว่านับเป็นเรื่องดีที่จะมีกลไกมาช่วยดูแลก่อนที่จะถึง ขั้นศาล เพื่อเป็นการช่วยเยียวยาในเบื้องต้น ซึ่งต่อไปอาจไม่จำกัดเป็นกลไกทางด้านสุขภาพ แต่อาจนำไปสู่กลไกทางด้านสิ่งแวดล้อม ที่ดิน ที่สามารถใช้ร่วมกันได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ที่จะช่วยยกระดับ สร้างความเป็นธรรมในสังคม ให้แก้ปัญหาได้เร็วขึ้น เป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมชัดเจน”.