ผ่าปมร้อนเงินกู้ช.พ.ค.2.1พันล."เดอะบิ๊ก"ยันถูกขู่ฆ่าเรียกสินบน ล้มบอร์ดสกสค.?
"...คำถามที่น่าสนใจ คือ สกสค. เชื่อมั่นได้อย่างไร ว่า บริษัทฯ ที่เพิ่งจดทะเบียนจัดตั้งแค่ปีเดียว จะสามารถทำโครงการขนาดใหญ่แบบนี้ได้ โดยไม่มีปัญหาให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า ขณะที่จัดทำโครงการโรงงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดยใช้ที่ดินจำนวน 1,200 ไร่ ในพื้นที่ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี งบประมาณ 6,500 ล้านบาท ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก ที่ต้องผ่านขั้นตอนการขออนุญาตจากหน่วยงานราชการหลายขั้นตอน โดยเฉพาะการขอใบอนุญาต.."
เป็นอีกหนึ่ง "นักธุรกิจ" ที่กำลังถูกจับตามอง สำหรับ นายสัมฤทธิ์ บัณฑิตกฤษดา หรือเดอะบิ๊ก นักธุรกิจพันล้านเจ้าของบริษัทสัญญาประกันภัย จำกัด (มหาชน) ประธานบริหารสโมสรฟุตบอลทีมเพื่อนตำรวจ และผู้ถือหุ้นสโมสรฟุตบอลทีมเรดดิ้ง ของประเทศอังกฤษ
หลังปรากฎตัวที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.)เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา เพื่อเข้าร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อ พ.ต.อ.อัคราเดช พิมลศรี รรท.ผบก.ป. กรณีถูกพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (บก.ปปป.) แจ้งข้อหาว่ากระทำการสนับสนุนข้าราชการโดยไม่ชอบ และผิดระเบียบวัตถุประสงค์การกู้ยืมเงินของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.)
ทั้งนี้ นายสัมฤทธิ์ ระบุว่า เมื่อประมาณกลางปี 2556 ในฐานะเจ้าของบริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด จัดทำโครงการโรงงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดยใช้ที่ดินจำนวน 1,200 ไร่ ในพื้นที่ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี งบประมาณ 6,500 ล้านบาท ซึ่งหลังโครงการดังกล่าวจัดทำขึ้น สกสค.ได้มาร่วมลงทุนด้วย 2,100 ล้านบาท
จากนั้นได้มีอดีตบอร์ดบริหารของ สกสค. รายหนึ่งเข้าแจ้งความที่ บก.ป.และบก.ปปป. ในข้อหาดังกล่าว ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะบริษัทบิลเลี่ยนฯ ไม่ได้กู้ยืมเงิน แต่สกสค.นำเงินมาร่วมลงทุนกันเท่านั้น
นายสัมฤทธิ์ ยังระบุด้วยว่า มีอดีตบอร์ดคนหนึ่ง ติดต่อเพื่อขอนัดพบเมื่อวันที่ 12 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยนัดกันที่ค่ายลูกเสือแห่งหนึ่ง ในอ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี เมื่อไปถึงมีชายฉกรรจ์ 9 คน โดยที่ 4 คน มีอาวุธปืนครบมือ และอดีตบอร์ดคนดังกล่าวได้ข่มขู่ให้ตนถอดเสื้อผ้าออกทั้งหมด พร้อมมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ประกอบไปด้วย 1.ขอให้ล้มล้างบอร์ดบริหารของสกสค. 2.จากนั้นก็ให้อดีตบอร์ดคนดังกล่าวและทีมงานเข้ามาดำเนินการแทน เพื่อแลกกับการสนับสนุนเงินของกองทุน ซึ่งมีจำนวนหลายพันล้านบาท และขอให้จ่ายเงินค่าคอมมิชชั่นจำนวนร้อยละ 30 และ 3.เรียกเงิน 177 ล้านบาท โดยงวดแรกให้จ่ายก่อน 77 ล้านบาท
นายสัมฤทธิ์ ยังระบุด้วยว่า เพื่อเป็นการเอาตัวรอดให้มีชีวิตปลอดภัย จึงรับปากว่าจะนำเรื่องดังกล่าวไปพิจารณา เมื่อกลับถึงบ้านที่กรุงเทพฯ อดีตบอร์ดคนดังกล่าวได้โทรศัพท์มาขอเงินงวดแรก เมื่อปฏิเสธไปจึงถูกข่มขู่ว่าจะทำร้ายร่างกายและฆ่า โดยจะนำระเบิดมาวางไว้ที่บ้านและที่ทำงาน ผ่านมาถูกคุกคามตลอดจนทนไม่ไหว จึงไปลงบันทึกประจำวันไว้ที่สน.วังทองหลาง และเข้ามาร้องเรียนที่ บก.ป. ดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน นายเกษม คำมุงคุณ ตัวแทนสมาชิกการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ ช.พ.ค. เดินทางเข้าแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนกองปราบปราม ให้ดำเนินคดีกับคณะกรรมการบริหารกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการเงินกู้ ของ ช.พ.ค. ทั้งคณะ รวม 17 คน ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ , ความผิดตาม พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา, พ.ร.บ.การฌาปนกิจสงเคราะห์, พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ
จากกรณีที่คณะกรรมการบริหารดังกล่าวได้นำเงินกองทุนกว่า 2,100 ล้านบาท ไปลงทุนร่วมกับ นายสัมฤทธิ์ เจ้าของบริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด ในโครงการโรงงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี โดยไม่ผ่านมติของคณะรัฐมนตรี
โดยนายเกษมระบุว่า เมื่อปี 2556 บริษัทของนายสัมฤทธิ์ขาดทุนกว่า 2 ล้านบาท แต่คณะกรรมการบริหารชุดดังกล่าวยังนำเงิน 2,100 ล้านบาท ไปร่วมลงทุนกับ นายสัมฤทธิ์ ในโครงการโรงงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี โดยไม่ผ่านมติของคณะรัฐมนตรี / และหลายครั้งที่คณะกรรมการนำเงินไปจัดซื้ออุปกรณ์สมุด เครื่องเขียน โดยมิชอบ รวมถึงนำเงินไปลงทุนกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 6,000 ล้านบาท
(หมายเหตุ : ข้อมูลข่าวจาก ทีมข่าวอาชญากรรม ผู้จัดการออนไลน์)
ทั้งนี้ หากพิจารณาจากข้อมูลจากทั้งสองฝ่าย ในส่วนของ นายสัมฤทธิ์ บัณฑิตกฤษดา กับ ตัวแทนสมาชิก ช.พ.ค. ที่ให้การกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ดังกล่าว
จะพบว่ามีข้อมูลที่ยืนยันตรงกัน คือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ได้เห็นชอบให้มีการนำเงินกองทุนกว่า 2,100 ล้านบาท ไปลงทุนร่วมกับ นายสัมฤทธิ์ เจ้าของบริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด ในโครงการโรงงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี ในช่วงปี 2556
ส่วนประเด็นที่ต้องมีการอาศัยข้อมูลเชิงประจักษ์พิจารณาประกอบ คือ
1. นายสัมฤทธิ์ ให้การยืนยันว่า การลงทุนดังกล่าว สกสค.นำเงินมาลงทุนด้วย ไม่ได้เป็นการกู้ยืมเงิน
2. นายสัมฤทธิ์ ให้การยืนยันว่า หลังการกู้ยืมเงินดังกล่าว ถูกอดีตบอร์ดคนหนึ่ง ข่มขู่ให้ล้มล้างบอร์ดบริหารของสกสค. และเรียกรับค่าคอมมิชชั่น โดยงวดแรกให้จ่ายก่อน 77 ล้านบาท
3. นายเกษม ตัวแทนสมาชิก ช.พ.ค. ระบุว่า บริษัทของนายสัมฤทธิ์ขาดทุนกว่า 2 ล้านบาท แต่คณะกรรมการบริหารชุดดังกล่าวยัง นำเงิน 2,100 ล้านบาท ไปร่วมลงทุนด้วย โดยไม่ผ่านมติของคณะรัฐมนตรี ขณะที่กระบวนการทำงานของคณะกรรมการ ถูกตั้งข้อสังเกตเรื่องความไม่โปร่งใสหลายประการ
เบื้องต้น ไม่ว่าข้อเท็จจริงเกี่ยวเรื่องนี้ จะเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่ปรากฎให้เห็นชัดเจนในขณะนี้ คือ บริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด ของนายสัมฤทธิ์ ซึ่งกล่าวอ้างว่าจัดทำโครงการโรงงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดยใช้ที่ดินจำนวน 1,200 ไร่ ในพื้นที่ อ.หนองหญ้าป้อง จ.เพชรบุรี งบประมาณ 6,500 ล้านบาท
แจ้งผลการดำเนินธุรกิจล่าสุดปี 2556 ระบุว่าขาดทุนอยู่2 ล้านกว่าบาทจริง
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า บริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด เพิ่งจดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2555 ทุนปัจจุบัน 2,000 ล้านบาท (ช่วงจัดตั้งบริษัทฯ แจ้งทุนไว้ที่ 100 ล้านบาท ก่อนปรับเพิ่มเป็น 2,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.56) ตั้งอยู่เลขที่ 57 อาคารปาร์คเวนเชอร์ อีโคเพล็กซ์ ชั้น 11 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
แจ้งประกอบธุรกิจ การซื้อและการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของตนเองที่ไม่ใช่เพื่อเป็นที่พักอาศัย
ปรากฎชื่อ นาย สิทธินันท์ หลอมทอง และนาย มงคล เยี่ยงศุภพานนทร์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ นาย สัมฤทธิ์ บัณฑิตกฤษดา และนายณิศร์ เดินตามแบบ รวมเป็นกรรมการ
รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2558 มี 4 ราย นาย สัมฤทธิ์ บัณฑิตกฤษดา ถือหุ้นใหญ่สุด 15,000,000 หุ้น มูลค่า 1,500,000,000 บาท
(ดูเอกสารประกอบ)
ทั้งนี้ บริษัทฯ นำส่งงบการเงินแสดงผลประกอบการธุรกิจล่าสุด ปี 2556 แจ้งว่ามีรายได้รวม 16,760,733.80 บาท รวมรายจ่าย 19,535,907.82 บาท ขาดทุนสุทธิ 2,775,174.02 บาท
ส่วนปี 2555 แจ้งว่า มีรายได้รวม 5,776.63 บาท รวมรายจ่าย 1,487,766.77 บาท ขาดทุน 1,481,990.14 บาท
ส่วนสินทรัพย์ ปี 2555 แจ้งว่า มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด 187,460.30 บาท มีเงินให้กู้ยืมระยะสั้นแก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง 17,390,862.51 บาท มีที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ 5,295,719.68 บาท มีหนี้สินรวม 148,010.81 บาท
ส่วนสินทรัพย์ ปี 2556 (นายสัมฤทธิ์ ให้การยืนยันว่า สกสค.นำเงินมาลงทุนด้วยจำนวน 2,100 ล้านบาท ไม่ได้เป็นการกู้ยืมเงิน) ระบุว่ามีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด 1,800,328,176.97 บาท มีเงินให้กู้ยืมระยะสั้นแก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง 183,159,019.98 บาท รวมสินทรัพย์หมุนเวียน 1,986,080,822.50 บาท รวมที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ 9,029,514.88 บาท มีหนี้สินรวม 144,231.69 บาท
ทั้งนี้ หากโฟกัสงบการเงินของบริษัทฯ โดยเฉพาะในปี 2556 จะพบว่า มีเงินสดเป็นหลักพันล้านบาทไหลผ่านเข้ามา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการระบุข้อมูลว่า สกสค.นำเงินมาลงทุนด้วยจำนวน 2,100 ล้านบาท ขณะที่บริษัทฯมีการเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็นเงิน 2 พันล้านบาท
แต่สิ่งที่น่าสนใจ อยู่ที่ข้อมูลในส่วนของ มีที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ ซึ่งบริษัทฯ ระบุว่ามีมูลค่ารวมกันแค่ 5,295,719.68 บาท ทั้งในงบการเงินปี 55 และ 56
ขณะที่บริษัทฯ อ้างว่า จัดทำโครงการโรงงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดยใช้ที่ดินจำนวน 1,200 ไร่ ในพื้นที่ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี งบประมาณ 6,500 ล้านบาท?
กรณีนี้ สามารถพิจารณาได้ 2 ประเด็น คือ 1. โครงการอยู่ในช่วงเริ่มต้น บริษัทฯ ยังไม่ได้ทำอะไร 2.บริษัทฯ เตรียมที่จะนำเงินทุนที่ได้รับจาก สกสค. กว่า 2,100 ล้านบาท ไปใช้ในการดำเนินงานโครงการฯ
คำถามที่น่าสนใจ คือ สกสค. เชื่อมั่นได้อย่างไร ว่า บริษัทฯ ที่เพิ่งจดทะเบียนจัดตั้งแค่ปีเดียว จะสามารถทำโครงการขนาดใหญ่แบบนี้ได้ โดยไม่มีปัญหาให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า
ขณะที่จัดทำโครงการโรงงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดยใช้ที่ดินจำนวน 1,200 ไร่ ในพื้นที่ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี งบประมาณ 6,500 ล้านบาท ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก ที่ต้องผ่านขั้นตอนการขออนุญาตจากหน่วยงานราชการหลายขั้นตอน โดยเฉพาะการขอใบอนุญาต
ซึ่งประเด็นเหล่านี้ ก็จะย้อนกลับไปที่ตัวคณะกรรมการบริหาร สกสค. ต้องชี้แจงให้ชัดเจน ว่า การอนุมัติเงินมาลงทุนกับบริษัทฯ ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่ถูกต้องหรือไม่
โดยเฉพาะการนำเสนอเรื่องผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม ครม. เพื่อนำเงินของข้าราชการนับพันล้านไปลงทุนทำธุรกิจ?
ส่วนกรณีที่นายสัมฤทธิ์ ให้การยืนยันว่า หลังการกู้ยืมเงินดังกล่าว ถูกอดีตบอร์ดคนหนึ่ง ข่มขู่ให้ล้มล้างบอร์ดบริหารของสกสค. และเรียกรับค่าคอมมิชชั่น เรื่องนี้ คงไม่มีใครทราบข้อเท็จจริง ได้ดีเท่ากับ นายสัมฤทธิ์ และ อดีตบอร์ดคนนั้น
แต่มีข้อสังเกตที่น่าสนใจบางประการ คือ เหตุการณ์ถูกข่มขู่เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 12 ม.ค. ที่ผ่านมา จากนั้นก็มีการข่มขู่ว่าจะทำร้ายร่างกายและฆ่า โดยจะนำระเบิดมาวางไว้ที่บ้านและที่ทำงาน ถูกคุกคามตลอดจนทนไม่ไหว
แต่นายสัมฤทธิ์ เพิ่งตัดสินใจเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เมื่อวันที่ 7 เม.ย.58 ที่ผ่านมา และเป็นช่วงเวลาก่อนหน้าที่ ตัวแทนสมาชิก ช.พ.ค. จะเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่กี่ชั่วโมง และการปล่อยกู้เงินเริ่มเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบของหน่วยงานรัฐแล้ว
ขณะที่จากการตรวจสอบข้อมูลของสำนักข่าวอิศรายังพบว่า นายสัมฤทธิ์ นอกจากจะมีตำแหน่งเป็นประธานบริหารสโมสรฟุตบอลทีมเพื่อนตำรวจแล้ว
ยังปรากฎชื่อเป็นกรรมการบริษัท สโมสรฟุตบอลโล่ห์เงิน จำกัด (มหาชน) ด้วย
บริษัท สโมสรฟุตบอลโล่ห์เงิน จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2552 ทุน 140 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 99 หมู่ที่ 18 ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี แจ้งประกอบธุรกิจเงินสนับสนุนสโมสรฟุตบอล ขายสินค้าที่ระลึก บัตรเข้าชมการแข่งขันฟุตบอล
ปรากฎชื่อ นาย สิทธินันท์ หลอมทอง นาย วสุ ชิวปรีชา นายสัมฤทธิ์ บัณฑิตกฤษดา นายมงคล เยี่ยงศุภพานนทร์ พันตำรวจโทต่อศักดิ์ สารีรัตน์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ พล.ต.อ. วรพงษ์ ชิวปรีชา นาย กมล เอี้ยวศิวิกูล ร่วมเป็นกรรมการ
รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ 30 เมษายน 2557 มีจำนวน 25 คน มีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่รวมถือหุ้นด้วยจำนวนหลายคน ได้แก่ พลตำรวจเอก วรพงษ์ ชิวปรีชา , พันตำรวจเอก เขตขัณฑ์ บำรุงรัตน์ ,พลตำรวจตรี เทพฤทธิ์ พรรณพัฒน์ , พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ (สนช.), พลตำรวจตรี ภูมิรา วัฒนปาณี , พันตำรวจโท สุรศักดิ์ สุรินทร์แก้ว , พลตำรวจเอก จุมพล มั่นหมาย , พันตำรวจโท ชุมพล ศักดิ์สุรีย์มงคล ,พลตำรวจตรี รณศิลป์ ภู่สาระ , พลตำรวจตรี วิรัช วัชรขจร , พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รองหัวหน้าคสช. , พันตำรวจเอก สมภพ พงษ์ฤกษ์ , พลตำรวจตรี ฐณพล มณีภาค , พันตำรวจเอก ฐิติพันธ์ อมรสุคนธ์ และพันตำรวจโท ทินกร รังมาตย์
ทั้งนี้ จากรายชื่อผู้ถือหุ้นบริษัทฯ ทั้งหมด คงต้องยอมรับว่า "สถานะ" ทางสังคมของ นายสัมฤทธิ์ ถือว่าไม่ธรรมดาเลยทีเดียว
โดยเฉพาะสายสัมพันธ์ กับผู้มีอำนาจหน้าที่ในการรักษากฎหมายบ้านเมือง ปราบปรามกลุ่มผู้มีอิธิพลนอกกฎหมาย
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดต่อว่า กรณีที่นายสัมฤทธิ์ อ้างว่าถูกบอร์ดคนหนึ่ง ข่มขู่ให้ล้มล้างบอร์ดบริหารของสกสค. และเรียกรับค่าคอมมิชชั่น ดังกล่าว
ถ้าอดีตบอร์ดรายนี้ ไม่ได้มีอำนาจอิทธิพล แบบสุดๆ ก็ต้อง "กินดีหมีสวมหัวใจเสือ" อย่างมาก ถึงกล้ากระทำการกับ นายสัมฤทธิ์ แบบนี้
ทั้งหมดนี้ คือ ข้อมูลเบื้องต้นที่พอจะสังเคราะห์ออกมาได้ จากปัญหาอนุมัติเงินกองทุนช.พ.ค. จำนวน 2,100 ล้านบาท เพื่อนำไปลงทุนกับเอกชน ที่กำลังถูกหน่วยงานรัฐเข้าตรวจสอบอย่างเป็นทางการในขณะนี้
ส่วนเรื่องนี้จะมีปัญหาซ้ำรอย เหมือนคดีการยักยอกเงินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ของนายศุภชัย ศรีศุภอักษร ที่ปรากฎเป็นข่าวดังอยู่หรือไม่
โปรดจับตามองต่อไป แบบห้ามกระพริบตาเด็ดขาด!
หมายเหตุ : ภาพเรื่องประกอบจาก Google