สรุป4ศพทุ่งยางแดงไม่ใช่คนร้าย ไม่โยงอาวุธปืน แต่ไม่ฟันธงปมวิสามัญฯ
คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณี 4 ศพทุ่งยางแดง สรุปผู้ตายไม่ใช่แนวร่วมขบวนการก่อเหตุรุนแรง ไม่มีความเชื่อมโยงกับอาวุธปืนที่พบ แต่ยอมรับจุดเริ่มต้นปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่สมเหตุสมผล แต่ไม่ชี้ปมวิสามัญฯชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
นายวีรพงศ์ แก้วสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี พร้อมด้วย นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ในฐานะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีบ้านโต๊ะชูด ตำบลพิเทน อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี ได้ร่วมกันแถลงผลสอบข้อเท็จจริงเหตุปิดล้อมตรวจค้นและวิสามัญฆาตกรรม 4 ศพเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2558 ซึ่งถูกประชาชนในพื้นที่เรียกร้องความเป็นธรรมว่าเจ้าหน้าที่รัฐอาจปฏิบัติการเกินกว่าเหตุ และผู้ตายไม่ใช่คนร้าย
การแถลงผลสอบข้อเท็จจริงครั้งนี้เป็นไปตามคำสั่งของแม่ทัพภาคที่ 4 ที่ให้สรุปข้อเท็จจริงขั้นต้นให้ได้ภายใน 7 วัน
สำหรับผลสอบข้อเท็จจริง สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้ คณะกรรมการฯได้ตั้งประเด็นสอบ 3 ประเด็น กล่าวคือ
ประเด็นแรก ผู้ตายทั้ง 4 คนเป็นผู้กระทำความผิดกฎหมายอาญา หรือเป็นกลุ่มก่อเหตุรุนแรง หรือแนวร่วมหรือไม่
คณะกรรมการฯมีความเห็นว่า ผู้เสียชีวิตทั้ง 4 คนไม่ใช่ผู้ก่อเหตุรุนแรง และไม่ใช่แนวร่วมกลุ่มก่อเหตุรุนแรง
ประเด็นที่ 2 การริเริ่มปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ถูกต้องและสมเหตุสมผลหรือไม่
ในชั้นนี้คณะกรรมการฯมีความเห็นว่า จุดเริ่มต้นของการปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นชอบด้วยเหตุผลในการปฏิบัติการ
ประเด็นที่ 3 การวิสามัญฆาตกรรมชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และอาวุธปืนรวมทั้งวัตถุระเบิดของกลางเป็นของผู้ตายหรือไม่
คณะกรรมการฯมีความเห็นว่า เหตุการณ์ที่เป็นเหตุให้มีการเสียชีวิตทั้ง 4 รายนั้น เกิดขึ้นห่างจากจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติการประมาณ 300 เมตร ในบริเวณป่าสวนยางพารา มีเฉพาะเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการเท่านัน้ที่เห็นเหตุการณ์ ประกอบกับคณะกรรมการฯมีเวลาจำกัดในการแสวงหาข้อเท็จจริงเพียง 7 วัน จึงไม่สามารถหาประจักษ์พยานอื่นใดมาให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการฯ
ส่วนหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่ระบุเขม่าดินปืนที่มือผู้ตาย และที่อาวุธปืนของกลาง ไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าความเชื่อมโยงระหว่างผู้ตายกับอาวุธปืนอย่างชัดเจน และยังมีความเคลือบแคลงในบางประเด็น
ในชั้นนี้คณะกรรมการฯไม่สามารถวินิจฉัยในประเด็นการต่อสู้กับเจ้าพนักงานได้ จึงให้เป็นหน้าที่ของการแสวงหาพยานหลักฐานในชั้นกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานจะต้องถูกแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีตามกฎหมาย
สำหรับข้อเสนอของคณะกรรมการฯมี 2 ข้อ คือ 1.เจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องถูกดำเนินคดีตามกระบวนยุติธรรม และ 2.ต้องจ่ายเยียวยาตามระเบียบคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กพต.
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : บรรยากาศในห้องประชุมที่โรงแรมปาร์ควิว อ.เมืองปัตตานี ก่อนการแถลงข่าว