เอแบคโพลล์ เผยผลวิจัย “หัวอกคนจน 2554 : รายจ่ายเกินรายได้”
ศูนย์วิจัยเอแบคฯ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ร่วมกับ สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ภายใต้การสนับสนุนของธนาคารกรุงศรีอยุธยา เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง“หัวอกคนจน ว่ากันด้วยค่าใช้จ่ายแต่ละเดือน: กรณีศึกษาตัวอย่างผู้บริโภคระดับครัวเรือน อายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 12 จังหวัดของประเทศ”
ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ผู้อำนวยการโครงการ ABAC Consumer Index บัณฑิตวิทยาลัยบริหารธุรกิจ ร่วมกับ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบคฯ เปิดเผยผลวิจัยจากกรณีศึกษาใน12 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี ชลบุรี นครราชสีมา อุดรธานี กาฬสินธุ์ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน นครสวรรค์ ประจวบคีรีขันธ์ ภูเก็ต และสงขลา 2,764 ตัวอย่าง ค่าความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 15 ส.ค. – 30 ก.ย.54 (ผลสำรวจดูได้ที่ www.abacpolldata.au.edu)
ผลสำรวจพบว่า เมื่อพิจารณาจำนวนค่าใช้จ่ายต่อเดือนต่อสินค้าและบริการต่างๆในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา พบว่าประชาชนผู้บริโภคมีรายจ่ายส่วนตัวแต่ละเดือนอยู่ที่ 9,197.99 บาท แต่มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 11,300 บาทเท่านั้น หมายความว่าโดยรวมประชาชนส่วนใหญ่ตกอยู่ในสภาวะความเสี่ยงต่อการล้มละลาย พึ่งพาตนเองไม่ได้ ต้องกู้หนี้ยืมสินพึ่งพาเงินนอกระบบ เพราะมีรายจ่ายสูงเกินกว่าร้อยละ 80 ของรายได้ที่มีอยู่ในแต่ละเดือน
โดยสินค้าและบริการที่มีค่าใช้จ่ายมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับของกิน อาหาร (รวมถึงร้านอาหาร) เฉลี่ย 5,222.22 บาทต่อเดือน รองลงมาคือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าเดินทางในชีวิตประจำวัน เช่นค่ารถประจำทาง ค่าแท๊กซี่ ค่าทางด่วน ค่าน้ำมัน เฉลี่ย 3,789.90 บาทต่อเดือน และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการบันเทิงและสันทนาการ เช่น ดูคอนเสิร์ต ดูภาพยนตร์ ค่าบริการสถานที่เล่นกีฬา เฉลี่ย 1,416.67 บาทต่อเดือน
ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ เมื่ออ้างอิงไปยังประชากรของทั้งประเทศในกลุ่มเป้าหมายของการศึกษาครั้งนี้ พบว่ากลุ่มคนที่มีรายได้ระหว่าง 3,001-5,000 บาท แต่มีรายจ่ายแต่ละเดือนสูงเฉลี่ยถึง 6,522.04 บาท ยิ่งไปกว่านั้นกลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือนมีรายจ่ายเฉลี่ยสูงกว่าเท่าตัวของรายได้คือ 6,513.06 บาทต่อเดือน และคนทั้งสองกลุ่มนี้มีสัดส่วนสูงประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรเป้าหมายทั้งหมดในการศึกษาครั้งนี้ และที่น่าเป็นห่วงเช่นกันคือ กลุ่มคนที่มีรายได้ระหว่าง 5,001-10,000 บาทต่อเดือน มีรายจ่ายต่อเดือนสูงถึง 7,533.75 บาท นอกจากนี้กลุ่มประชาชนที่ยังคงเสี่ยงต่อสภาวะล้มละลายและต้องกู้หนี้ยืมสินพึ่งตนเองไม่ได้มีอย่างต่อเนื่องไปจากกลุ่มที่มีรายได้ต่อเดือน 15,001–20,000 บาท จะเห็นว่าวิกฤตความเสี่ยงต่อการล้มละลายส่วนตัวของประชาชนเริ่มมีแนวโน้มลดลงเพราะรายจ่ายส่วนตัวลดลงเหลือประมาณร้อยละ 50 ของรายได้ทั้งหมด
แต่กลุ่มที่เห็นได้ชัดเจนว่าจะอยู่ได้ค่อนข้างสบายมากกว่าคนกลุ่มอื่นๆคือกลุ่มคนที่มีรายได้เกินกว่า 75,000 บาทต่อเดือนขึ้นไปเพราะมีรายจ่ายเฉลี่ยต่อเดือนเพียง 34,471.37 เท่านั้น แต่คนกลุ่มนี้มีไม่ถึงร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมดของประเทศ และไม่ถึงร้อยละ 5 จากการสำรวจในการวิจัยครั้งนี้เพราะส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76 มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน และที่น่าเป็นห่วงอีกประการหนึ่งคือตัวอย่างกว่า 3 ใน 4 หรือร้อยละ 75.6 ไม่มีเงินออม ในขณะที่ตัวอย่างร้อยละ 24.4 มีเงินเก็บออม
ดร.นพดล กล่าวว่าคนยากจนกำลังตกอยู่ในสภาวะที่ไม่มีอำนาจต่อรองในเรื่องค่าใช้จ่าย ยิ่งไปกว่านั้น การกำหนราคาสินค้าและบริการไม่ได้สอดคล้องกับรายได้ของประชาชน การออกนโยบายสาธารณะของรัฐบาลที่เกี่ยวกับสินค้าอุปโภคบริโภคที่ผ่านมามักถูกกำหนดกรอบและทิศทางโดยกลุ่มนายทุน การกล่าวอ้างถึงต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น การวนเวียนในเรื่องผลประโยชน์ของกลุ่มนายทุนด้วยกันเอง คือสภาวะที่รัฐบาลตกอยู่ภายใต้อาณัติของกลุ่มนายทุนและชนชั้นนำของประเทศที่เรียกว่าอยู่ภายใต้ “อคติแห่งนครา” ทุกอย่างถูกกำหนดขึ้นจากข้างบนลงไปข้างล่าง ทุกนโยบายและการกำหนดสินค้าถูกออกแบบจากคนในกรุงเทพมหานคร โดยคนรวยโยนภาระให้กับคนจนซ้ำเติมความเดือดร้อนให้คนจน
ทางออกมีอย่างน้อยสองแนวทางที่สำคัญคือ ประการแรก ได้แก่ รัฐบาลต้องนำ “หลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” มาใช้อย่างแท้จริงไม่ใช่แค่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์จะประกาศใน FB เท่านั้น หลักเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่แค่ปรัชญา แต่เป็นหลักของชีวิตที่นำไปใช้ได้จริง จะช่วยลดความเดือดร้อนของคนมีรายได้น้อยได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน ส่วนคนรวยก็ยังมีความสุขแท้จริงได้ด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง
ประการที่สอง คือต้องเปิดโอกาสให้คนมีรายได้น้อยร่วมกำหนดออกแบบค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิตของพวกเขาในรายพื้นที่ท้องถิ่นของตนเองได้บ้าง เพื่อให้สอดคล้องกับรายได้ของพวกเขา มิฉะนั้นการออกนโยบายสาธารณะของรัฐบาลทั้งเรื่องค่าแรง 300 บาทต่อเดือน และ 15,000 บาทต่อเดือนของผู้จบปริญญาตรีใหม่อาจกลายเป็นชนวนความขัดแย้งแตกแยกรุนแรงในความเลื่อมล้ำของรายได้ ซ้ำเติมความแตกแยกทางการเมืองที่ยังคงคุกรุ่นอยู่ในเวลานี้ เพราะเห็นกันได้ชัดๆ ว่า “มนุษย์” สุดท้ายแล้วส่วนใหญ่ก็เห็นแต่ตัวด้วยกันทั้งนั้น
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ร้อยละ 54.4 เป็นเพศหญิง ร้อยละ 45.6 เป็นเพศชาย ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจำแนกตามช่วงอายุพบว่า ร้อยละ 6.4 ระบุอายุ 18-24 ปี ร้อยละ 21.8 อายุ 25-35 ปี ร้อยละ 31.7 อายุ 36-45 ปี ร้อยละ 37.7 ระบุอายุ 46-60 ปี และร้อยละ 2.4 ระบุอายุ 61 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 81.4 ระบุสำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีร้อยละ 18.6 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป
นอกจากนี้ร้อยละ 34.7 ระบุอาชีพค้าขายอิสระ ร้อยละ 33.0 เป็นเกษตรกร/รับจ้างแรงงาน ร้อยละ 8.6 ระบุเป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 8.5 ข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 6.5 ระบุเป็นพนักงานบริษัท ร้อยละ 4.6 ระบุเป็นผู้ประกอบการ ร้อยละ 2.5 เป็นนักศึกษา ร้อยละ 1.3 ระบุว่างงาน และร้อยละ 0.3 ระบุอื่นๆ ทั้งนี้เมื่อพิจารณารายได้ส่วนตัวต่อเดือนพบว่าร้อยละ 76.0 ระบุรายได้ไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่ร้อยละ 24.0 ระบุรายได้มากกว่า 15,000 บาท ต่อเดือนตามลำดับ