ส.โลกร้อน ค้าน ครม.ไม่ดันร่าง พ.ร.บ.องค์อิสระสิ่งแวดล้อม-สุขภาพ
เครือข่ายสิ่งแวดล้อม จับมือ สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ออกแถลงการณ์ตอบโต้ มติ ครม.ไม่ดันร่าง พ.ร.บ.องค์กรอิสระฯ แต่ผลักให้ ทส.ยกร่างใหม่ ระบุร่างเดิมที่ตกไปคุ้มครองสิทธิชุมชนตาม รธน.มาตรา 67 วรรค 2 เตรียมเดินหน้าฟ้องดะทุกโครงการทั่วประเทศที่ขัดรัฐธรรมนูญ
สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน นำโดย นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมฯ ออกแถลงการณ์ “ขอท้ารบกับรัฐบาล กรณีคณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติไม่ยืนยันร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ พ.ศ. ....” โดยระบุว่า มติคณะรัฐมนตรี 20 และ 27 ก.ย.54 ไม่ยืนยันร่าง พรบ.ดังกล่าว และมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ทำการยกร่างกฎหมายขึ้นใหม่ โดยยึดถือตามร่างกฎหมายฉบับที่เสนอโดยคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง(คณะกรรมการ 4 ฝ่าย)
ทั้งสมาคมฯ และเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ (ตามรายชื่อแนบท้ายแถลงการณ์) เคยออกแถลงการณ์คัดค้านมติและการดำเนินการที่ท้าทายภาคประชาสังคมของ ครม.ดังกล่าวไปแล้ว และสายไปเสียแล้วที่จะเรียกร้องให้ ครม.ทบทวนยืนยันร่าง พ.ร.บ.ฉบับที่อยู่ในขั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญของวุฒิสภา กลับไปยังรัฐสภา เพราะเกินกว่ากรอบระยะเวลา 60 วันนับแต่มีพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก (1 ส.ค.54) ไปแล้ว แม้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะได้ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียทั่วประเทศมาแล้วก็ตาม แต่รัฐบาลก็ได้ปฏิเสธการรับรองร่างกฎหมายดังกล่าวกลับคืนไปยังรัฐสภาฯ ทั้ง ๆ ที่....
1.ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวอยู่ในขั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญของวุฒิสภาก่อนการประกาศยุบสภาแล้ว ซึ่งเป็นร่างกฎหมายฉบับที่เสนอโดยคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ดังนั้นจึงไม่สมเหตุผลอย่างยิ่งที่ ครม.จะมอบหมายให้ ทส.ทำการยกร่างกฎหมายขึ้นใหม่ เนื่องจากจะทำให้ขั้นตอนการพิจารณากฎหมายล่าช้าออกไปอีกมาก มติ ครม.ดังกล่าวน่าจะมีเป้าหมายแอบแฝงที่ต้องการปรับรื้อโครงสร้างองค์การอิสระสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ โดยไม่ต้องการให้มีการจัดตั้งองค์การอิสระสิ่งแวดล้อมฯ ในรูปแบบเป็นองค์การระดับชาติ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้องค์การอิสระมีสถานะและมีพลังในการตรวจสอบและถ่วงดุลการตัดสินใจการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมอาจรุนแรงฯ ตามมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ
2.จากการตรวจสอบบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ พ.ศ.2540 และ ฉบับพ.ศ.2550 รวมทั้งข้อชี้แจงของเลขาธิการสภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2550 ในช่วงการจัดทำร่างกฎหมายองค์การอิสระสิ่งแวดล้อมฯ ของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย มีความสอดคล้องเป็นที่ชัดเจนว่า มาตรา 67 วรรคสองมีเจตนารมณ์ให้มีการจัดตั้งองค์การอิสระฯ ในรูปแบบเป็นองค์การระดับชาติเพื่อเป็นกลไกช่วยปกป้องคุ้มครองสิทธิชุมชน โดยการให้ความเห็นประกอบเพื่อถ่วงดุลการตัดสินใจของรัฐในโครงการที่อาจมีผลกระทบรุนแรงต่อชุมชน ร่างกฎหมายที่ค้างอยู่ในการพิจารณาของวุฒิสภานี้มีเนื้อหาและโครงสร้างองค์การอิสระฯ ที่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว รัฐบาลควรผลักดันให้กฎหมายผ่านรัฐสภาและมีผลใช้บังคับโดยเร็ว
3.ร่างกฎหมายดังกล่าว เป็นของรัฐบาลที่เสนอโดยคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ซึ่งผ่านการศึกษาวิจัย ผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภูมิภาค องค์ประกอบในคณะกรรมการ 4 ฝ่ายประกอบด้วยตัวแทนจากภาคธุรกิจเอกชน และตัวแทนภาคชุมชน ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงกับการดำเนินโครงการที่อาจมีผลกระทบรุนแรงตามมาตรา 67 วรรคสอง รวมทั้งตัวแทนภาควิชาการ และตัวแทนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง จึงมีหลักการและสาระสำคัญที่ผ่านการพิจารณาแก้ไขมาจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและเป็นที่ยอมรับ ทั้งนี้หากรัฐบาลต้องการปรับแก้ไขเนื้อหาก็สามารถดำเนินการได้ในขั้นตอนการพิจารณาของรัฐสภา โดยการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันของรัฐสภา
4.การผลักดันจัดตั้งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพฯ เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา การให้ ทส.ไปดำเนินการยกร่างใหม่จะทำให้กระบวนการล่าช้าออกไปอีกมาก และอาจเป็นปัญหาต่อการดำเนินตามนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา รวมทั้งอาจเกิดความล่าช้าต่อกระบวนการพิจารณาอนุมัติการพัฒนาและการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ที่เป็นนโยบายของรัฐบาล
5.คณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ (ชุดเฉพาะกาล) ที่จัดตั้งตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ เป็นกลไกชั่วคราวที่มีข้อจำกัดในการดำเนินงานอยู่มาก ไม่เป็นองค์การอิสระอย่างแท้จริง เพราะต้องปฏิบัติงานภายใต้กฎระเบียบของราชการ จึงไม่อาจเป็นกลไกในการคุ้มครองสิทธิชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ รัฐบาลจึงควรมีแนวทางดำเนินการผลักดันประกาศใช้กฎหมายองค์การอิสระฯ ที่มีสถานะเป็นพระราชบัญญัติโดยเร็ว ซึ่งสามารถดำเนินการได้โดยการมีมติยืนยันร่างกฎหมายองค์การอิสระฯ ที่ค้างอยู่ในการพิจารณาของวุฒิสภา
เมื่อมติ ครม.ไม่ยืนยันร่าง พ.ร.บ.และพยายามผลักดันร่างกฎหมายองค์การอิสระสิ่งแวดล้อมในรูปแบบการไม่จัดตั้งองค์การอิสระสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเป็นองค์การระดับชาติ สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมฯ จำต้องมีมาตรการและแนวทางการคัดค้านกดดันรัฐบาลต่อไป โดยในส่วนของสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน จะใช้มาตรการตอบโต้ ได้แก่ 1.ฟ้องเพิกถอนระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยคณะกรรมการประสานงานองค์การอิสระฯ
2.ฟ้องโครงการของรัฐและเอกชนทุกโครงการทั่วประเทศ ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 วรรคสอง เช่น ฟ้องเพิกถอนโครงการใช้ไฟฟรี 90 หน่วย, ฟ้องล้มเลิกกองทุนน้ำมัน, ฟ้องล้มเลิกโครงการนิคมอุตสาหกรรมบ้านค่าย, นิคมหลักชัยเมืองยาง จ.ระยอง, ฟ้องยกเลิกโรงไฟฟ้า IPP-SPP ทุกโครงการทั่วประเทศ, ฟ้องล้มเลิกโครงการย้ายโรงงานยาสูบไปอยุธยา, ฟ้องล้มโครงการแลนด์บริจด์ภาคใต้, ท่าเรือปากบารา, ฟ้องล้มโครงการรถไฟฟ้า 10 สายในกรุงเทพฯและปริมณฑล, ฟ้องล้มโครงการมอเตอร์เวย์ ฯลฯ
(ล้อมกรอบ)
ลำดับความเป็นมาของการยกร่างกฎหมายองค์การอิสระสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ
1.ช่วงรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540
- กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ มอบหมายให้ ม.มหิดล ศึกษาและยกร่างกฎหมายองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม
- กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ (สมัย รมต.ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ) ตั้งคณะกรรมการยกร่างกฎหมายองค์การอิสระสิ่งแวดล้อม โดยใช้ร่างที่เสนอโดย ม.มหิดล เป็นต้นร่าง
2.ช่วงรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550
- กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ (สมัย รมต.อนงค์วรรณ เทพสุทิน) ตั้งคณะกรรมการศึกษาและยกร่างกฎหมายองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ โดยมีการจัดรับฟังความคิดเห็นในทุกภูมิภาค (แต่ภายหลังเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐมนตรี ไม่มีการดำเนินงานต่อ)
- เมื่อมีกรณีปัญหาศาลปกครองสั่งระงับการดำเนินงาน 76 โครงการ รัฐบาลนายกอภิสิทธิ์ได้ตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่ายเพื่อแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง
- คณะกรรมการ 4 ฝ่าย ได้นำเอาร่างกฎหมายองค์การอิสระฯ ที่จัดทำโดยคณะกรรมการศึกษาและยกร่างฯ (สมัย รมต.อนงค์วรรณ) มาปรับปรุงแก้ไขและนำเสนอต่อรัฐบาล ทั้งนี้ คณะกรรมการ 4 ฝ่ายประกอบด้วยผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งนักวิชาการ ภาคเอกชน ภาคชุมชน และภาครัฐ
ดังนั้น ร่างกฎหมายฉบับที่ค้างอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของวุฒิสภา ได้ผ่านการพิจารณามาเป็นลำดับกว่า 10 ปี ยกร่างจากฐานความรู้ที่ได้จากงานวิจัย ผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภูมิภาค หากรัฐบาลมีมติไม่ยืนยันร่างกฎหมายและเป็นผลให้กระบวนการประกาศใช้กฎหมายต้องล่าช้าออกไป จะมีผลทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้นในกระบวนการพัฒนา และความขัดแย้งระหว่างภาคเอกชนและชุมชนท้องถิ่น
รายชื่อเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพที่เคยร่วมแถลงการณ์ถึงรัฐบาล
1.คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.ชาติ) 2.สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (153 องค์กร) 3.สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย 4.สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม 5.สมาคมนักผังเมืองไทย 6.มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 7.มูลนิธิเพื่อการบริหารการจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) 8.มูลนิธิสืบนาคะเสถียร 9.มูลนิธิบูรณะนิเวศ 10.มูลนิธินโยบายสุขภาวะ 11.มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ 12.มูลนิธิชีววิถี 13.มูลนิธิอันดามัน 14.โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (Enlaw) 15.โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา 16.เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก 17.เครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม .
ที่มาภาพ : http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1283432496&grpid=00&catid=no