เปิดเกณฑ์เยียวยาเหยื่อความผิดพลาดจากปฏิบัติการ จนท.รัฐชายแดนใต้
ปฏิเสธไม่ได้ว่ากรณีวิสามัญฆาตกรรม 4 ศพที่ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ต้องจบลงที่การเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิต
แน่นอนว่าคดีอาญาก็ว่าไป หากพิสูจน์หรือสอบสวนแล้วได้ข้อเท็จจริงว่าเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการในวันนั้นกระทำการเกินกว่าเหตุ
ขณะที่การเยียวยาในรูปของตัวเงิน แม้จะถูกวิจารณ์จากบางฝ่ายว่าเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง หรือที่ร้ายกว่านั้นคือโจมตีว่ารัฐ "ใช้เงินฟาดหัว" ดังที่มีใบปลิวว่อนในพื้นที่ทำนองว่า "ยิงตาย จ่ายจบ" ก็ตาม
แต่หากย้อนดูหลายๆ กรณีที่ผู้สูญเสียได้รับเยียวยา ก็จะพบว่าเป็นการลดเงื่อนไขทางความรู้สึกลงได้ระดับหนึ่ง ในแง่ที่ว่ารัฐก็ยังให้ความสำคัญ สนใจดูแล
การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มีการปรับปรุงพัฒนามาโดยตลอด แต่ที่มีการปรับปรุงครั้งสำคัญ คือ การพัฒนาเพิ่มเติมตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 ส.ค.2555 กรณีประชาชนเสียชีวิตหรือทุพพลภาพเพิ่มเติมจากเดิม 100,000 บาท แต่ข้าราชการได้รับ 500,000 บาท ได้ปรับปรุงให้เท่ากัน โดยประชาชนจะได้รับเงินเยียวยาเท่ากับข้าราชการ รายละ 500,000 บาท ย้อนกลับไปถึงวันที่ 1 ม.ค.2547
เงินเยียวยา 500,000 บาทนี้ จริงๆ แล้วเป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่ข้าราชการได้รับ เพราะข้าราชการเมื่อเสียชีวิต ยังมีสวัสดิการและความช่วยเหลืออื่นๆ ที่แต่ละหน่วยงานมี หรือตามที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีกำหนดไว้อีกต่างหาก
ด้วยเหตุนี้ในส่วนของประชาชน และข้าราชการบางกรณี จึงมีการพิจารณาเป็นกรณีเหตุพิเศษโดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและผลต่อการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้
กรณีวิสามัญฆาตกรรม 4 ศพที่ทุ่งยางแดง หากสุดท้ายคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงฯ สรุปว่าเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่รัฐ การช่วยเหลือเยียวยาจากหน่วยงานภาครัฐก็น่าจะเทียบเคียงได้กับหลายๆ กรณีในอดีต อาทิ
O เหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2547 หรือที่รู้จักกันในนาม "เหตุการณ์กรือเซะ" ซึ่งมีผู้เสียชีวิตจำนวน 109 ราย ประกอบด้วยเหตุการณ์ในมัสยิดกรือเซะ อ.เมือง จ.ปัตตานี, อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา และบริเวณอื่นๆ ใน จ.ยะลา ปัตตานี และสงขลา แยกเป็น
- เหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะ เสียชีวิตในมัสยิด 34 ราย รายละ 4 ล้านบาท
เสียชีวิตนอกมัสยิด 54 ราย รายละ 5 แสนบาท
เจ้าหน้าที่เสียชีวิต 2 ราย รายละ 4 ล้านบาท
-เหตุการณ์ที่ อ.สะบ้าย้อย เสียชีวิต 19 ราย รายละ 7.5 ล้านบาท
O เหตุการณ์ตากใบ เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547
เสียชีวิต 85 ราย รายละ 7.5 ล้านบาท
ทุพพลภาพ 1 ราย รายละ 7.5 ล้านบาท
O เหตุการณ์กราดยิงที่มัสยิดอัลฟุรกอน ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2552
เสียชีวิต 10 ราย รายละ 4 ล้านบาท
O เหตุการณ์เผากุฏิ ฆ่าพระที่วัดพรหมประสิทธิ์ จ.ปัตตานี
เสียชีวิต 3 ราย รายละ 4 ล้านบาท
สำหรับประเด็นวิจารณ์ว่าด้วยการจ่ายเงินเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุนั้น ถือเป็นประเด็นที่ภาครัฐตระหนัก จึงได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้เสียหาย ผู้ได้รับผลกระทบ ผู้เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือทุกภาคส่วน ผู้ที่ถูกควบคุมตัว หรือถูกคุมขังตามกฎหมายพิเศษ พบความต้องการที่นอกเหนือจากด้านการเงิน คือ
1.ต้องการได้รับความเป็นธรรม ความมีศักดิ์ศรี
2.การยอมรับในอัตลักษณ์และวิถีชีวิตตามแนวทางศาสนาอิสลาม
3.การยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษ เช่น กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
4.การลบประวัติสำหรับผู้ที่ไม่มีความผิด
5.การให้ความช่วยเหลือเยียวยาอย่างครอบคลุมทั่วถึงและมีการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างต่อเนื่อง
6.การเข้าจับกุมต้องมีข้อมูลชัดเจน ควรประสานผู้นำท้องที่ ผู้นำศาสนา และผู้นำท้องถิ่นก่อน
7.การให้ภาครัฐเร่งแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง
จากข้อเสนอดังกล่าว ได้นำไปสู่การปรับปรุงและยกร่างระเบียบคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายและผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทําของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555 ซึ่งขยายขอบเขตการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐให้ครอบคลุมการเยียวยาด้านจิตใจ ความรู้สึก และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มากขึ้นกว่าเดิม
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ร่างผู้เสียชีวิตจากปฏิบัติการที่ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี เมื่อ 25 มี.ค.58