รายงานสถานการณ์โทษประหารชีวิตทั่วโลก ประจำปี 2557
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยแพร่รายงานรายงานสถานการณ์โทษประหารชีวิตทั่วโลก ประจำปี 2557 ระบุมีการใช้โทษประหารชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ หลังจากรัฐบาลหันมาใช้โทษประหารชีวิตเพื่อปราบปรามอาชญากรรมและการก่อการร้าย โดยจีนประหารชีวิตบุคคลมากกว่าประเทศอื่นใดในโลก แต่รัฐบาลเก็บข้อมูลเหล่านี้เป็นความลับทำให้ไม่สามารถหาจำนวนที่แท้จริงได้ รองลงมาคือ อิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย อิรัก และสหรัฐฯ
• รัฐได้ใช้โทษประหารชีวิตเพื่อปราบปรามอาชญากรรม การก่อการร้าย และจัดการกับความไม่สงบในประเทศ ทั้งๆ ที่เป็นวิธีการที่มีข้อบกพร่อง
• จำนวนโทษประหารชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในอียิปต์และไนจีเรีย โดยทั่วโลกมีการใช้โทษประหารชีวิต 2,466 ครั้ง เพิ่มขึ้น 28% เมื่อเทียบกับปี 2556
• จากข้อมูลที่บันทึกได้ มีการประหารชีวิต 607 ครั้ง ลดลงเกือบ 22% เมื่อเทียบกับปี 2556 (ไม่นับการประหารชีวิตที่เกิดขึ้นในจีน ซึ่งมากกว่าจำนวนการประหารชีวิตทั้งโลกรวมกัน)
• จำนวนประเทศที่มีการประหารชีวิตยังอยู่ที่ 22 ประเทศ เท่ากับปี 2556
ปี 2557 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลรายงานสถานการณ์และโทษประหารชีวิตทั่วโลก ระบุมีจำนวนประเทศที่ใช้โทษประหารชีวิตมากอย่างน่าตกใจ ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาภัยคุกคามต่อความมั่นคงทั้งที่เป็นเรื่องจริงหรือเป็นสิ่งที่คิด ไม่ว่าจะเป็นภัยก่อการร้าย อาชญากรรม และการก่อความไม่สงบในประเทศ
จำนวนโทษประหารชีวิตที่มีการบันทึกข้อมูลได้ในปี 2557 เพิ่มขึ้นเกือบ 500 ครั้งเมื่อเทียบกับปี 2556 ส่วนใหญ่เป็นเพราะการเพิ่มขึ้นอย่างมากในอียิปต์และไนจีเรีย รวมทั้งการสั่งลงโทษประหารชีวิตคนจำนวนมากในทั้งสองประเทศในบริบทของการก่อความไม่สงบในประเทศและความไร้เสถียรภาพทางการเมือง
ซาลิล เช็ตติ (Salil Shetty) เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยว่า รัฐบาลที่ใช้โทษประหารชีวิตเพื่อแก้ปัญหาอาชญากรรมกำลังหลอกตัวเอง ไม่มีหลักฐานใดที่ชี้ว่าการประหารชีวิตจะมีส่วนช่วยในการป้องปรามการก่ออาชญากรรมได้ดีกว่าการลงโทษชนิดอื่น
“แนวโน้มที่มืดมนของการใช้โทษประหารชีวิตของรัฐบาลทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ผล ในการรับมือกับภัยคุกคามต่อความมั่นคงที่เป็นจริงหรือที่คิดเอง และเพื่อรักษาความปลอดภัยของสาธารณะ เป็นแนวโน้มที่ชัดเจนในปีที่ผ่านมา เป็นเรื่องน่าละอายที่รัฐจำนวนมากทั่วโลกกำลังเอาชีวิตประชาชนมาล้อเล่น ทั้งนี้โดยการสั่งประหารชีวิตคนเพราะ “การก่อการร้าย” หรือการปราบปรามการก่อความไม่สงบโดยเชื่อว่าเป็นมาตรการในการป้องปรามทั้ง ๆ ที่เป็นการเข้าใจผิด”
แต่มีข่าวดีในปี 2557 เช่นกัน เนื่องจากจำนวนการประหารชีวิตที่บันทึกได้ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้ หลายประเทศยังหันมาใช้แนวทางเชิงบวกเพื่อมุ่งหน้าสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิต
ประเทศที่ประหารชีวิตมากสุด
เป็นอีกครั้งหนึ่งที่จีนประหารชีวิตบุคคลมากกว่าประเทศอื่นใดในโลกรวมกัน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเชื่อว่ามีการประหารชีวิตหลายพันคน และการลงโทษประหารชีวิตในจีนทุกปี แต่รัฐบาลเก็บข้อมูลเหล่านี้เป็นความลับทำให้ไม่สามารถหาจำนวนที่แท้จริงได้
ส่วนประเทศอื่น ๆ ที่เป็นห้าอันดับแรกของประเทศที่มีการประหารชีวิตบุคคลจำนวนมากในปี 2557 ได้แก่ อิหร่าน (ตัวเลขอย่างเป็นทางการ 289 ครั้ง แต่เชื่อว่ามีอย่างน้อย 454 ครั้งหรือกว่านั้น แต่ทางการไม่ได้ยอมรับ) ซาอุดิอาระเบีย (อย่างน้อย 90 ครั้ง) อิรัก (อย่างน้อย 61 ครั้ง) และสหรัฐฯ (35 ครั้ง) ยกเว้นประเทศจีน มีข้อมูลการประหารชีวิตอย่างน้อย 607 ครั้งในปี 2557 เปรียบเทียบกับ 778 ครั้งในปี 2556 ลดลงกว่า 20%
มีการบันทึกข้อมูลการประหารชีวิตใน 22 ประเทศในปี 2557 เท่ากับจำนวนประเทศในปีก่อนหน้านี้ ถือว่าลดลงอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับ 20 ปีก่อนในปี 2538 ซึ่งในขณะนั้นแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลบันทึกข้อมูลการประหารชีวิตที่เกิดขึ้นได้ 42 ประเทศ ชี้ให้เห็นแนวโน้มที่ชัดเจนในระดับโลกของรัฐต่าง ๆ ที่ออกห่างจากโทษประหารชีวิต
“ตัวเลขเหล่านี้เป็นสัญญาณบ่งชี้อย่างชัดเจนว่า โทษประหารชีวิตกำลังกลายเป็นอดีต มีเพียงไม่กี่ประเทศที่ยังคงประหารชีวิตประชาชน ซึ่งพวกเขาต้องส่องกระจกทบทวนอย่างจริงจัง และถามตัวเองว่ายังคงต้องการจะละเมิดสิทธิการมีชีวิตรอดต่อไปหรือไม่ หรือจะเข้าร่วมกับประเทศส่วนใหญ่ในโลกที่ละทิ้งการลงโทษที่โหดร้ายและไร้มนุษยธรรมมากสุดเช่นนี้” ซาลิล เช็ตติกล่าว
โทษประหารชีวิตประเทศไทย
สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ณ วันที่ 31 มกราคม 2558 มีนักโทษประหารรวมทุกประเภทจำนวน 649 คน ชาย 597 คน หญิง 52 คน กว่าครึ่งหนึ่งเป็นนักโทษในคดียาเสพติด ด้านแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมีข้อเสนอแนะสำหรับเมืองไทยดังนี้
• ประกาศพักการประหารชีวิตในทางปฏิบัติอย่างเป็นทางการโดยทันที เพื่อให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการแม่บทว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ฉบับที่ 3 โดยมีเจตจำนงที่จะออกกฎหมายให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในท้ายที่สุด
• เสนอแก้ไขกฎหมายเพื่อลดจำนวนความผิดทางอาญาที่มีบทโทษประหารชีวิต
• ลงนามและให้สัตยาบันรับรองพิธีสารเลือกรับฉบับที่สองของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (Second Optional Protocol to the International Covenant on Civil and Political Rights) ที่มุ่งยกเลิกโทษประหารชีวิต
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลคัดค้านโทษประหารชีวิตทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญาประเภทใด ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมีบุคลิกลักษณะใด หรือไม่ว่าทางการจะใช้วิธีประหารชีวิตแบบใด โทษประหารชีวิตละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิตและเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งงานวิจัยมากมายจากนานาประเทศได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ กับการเพิ่มขึ้น หรือลดลงของอาชญากรรม