ขัตติยนารี ‘เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร’ กับบทบาทนิสิตบัณฑิตศึกษา
เทิดพระเกียรติ สมเด็จพระเทพฯ เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร ครบ 60 พรรษา ผู้ทรงเป็นนักศึกษาตลอดชีวิต เชี่ยวชาญด้านภาษาอย่างแตกฉาน ยกย่องคุณูปการของวิทยานิพนธ์ ‘จารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง’ ต้นแบบงานวิชาการนุ่มลึก ครบถ้วน
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นเจ้าฟ้านักการศึกษาที่เชี่ยวชาญทุกด้าน โดยขณะเป็นนิสิตบัณฑิตศึกษา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร พระองค์ทรงมีพระจริยวัตรที่งดงามอย่างยิ่ง ทรงทำความเคารพอาจารย์ทุกท่าน และเต็มเปี่ยมไปด้วยพระอัจฉริยภาพทางการศึกษา ทรงสอบได้คะแนนดีเกือบทุกวิชา ถ้าทรงสงสัยจะรับสั่งถามทันทีแบบผู้รู้ ถูกต้องตามความเหมาะสมในระดับปริญญาโท
ทั้งนี้ เมื่อทราบถึงวิทยานิพนธ์ที่พระองค์ทรงทำก่อนจบการศึกษา เรื่อง ‘จารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง’ ยิ่งแสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพทางภาษาเขมรและสันสกฤตที่ยากจะหาผู้ใดเปรียบเหมือน ด้วยพระองค์ต้องอาศัยความรอบรู้ทุกศาสตร์แขนง เพื่อช่วยในการอ่านและแปลจารึกให้ได้ความหมายที่ถูกต้อง อีกทั้ง ยังให้ความรู้ใหม่ที่เป็นประโยชน์อีกด้วย
เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงจัดงานวิชาการและนิทรรศการ เรื่อง ‘สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กับการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา’ เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา ณ อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา จุฬาฯ
ที่น่าสนใจ เพื่อชี้ให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพด้านอักษรศาสตร์อย่างแท้จริงของสมเด็จพระเทพฯ นั่นคือ การบรรยายถึงวิทยานิพนธ์ เรื่อง จารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง กับการศึกษาประวัติศาสตร์ โดย ‘รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์’ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ
วิทยานิพนธ์เรื่องดังกล่าวแบ่งเนื้อหา 4 บท ได้แก่ บทแรกเป็นบทนำ ประกอบด้วย ลักษณะทางภูมิศาสตร์ และธรณีวิทยาของภูเขาพนมรุ้ง และลักษณะทางศิลปะของปราสาท
บทที่สอง เป็นคำแปล ข้อวิจารณ์และวิเคราะห์จารึกเขมร
บทที่สาม เป็นคำแปล ข้อวิจารณ์และวิเคราะห์จารึกสันสกฤต
บทที่สี่ เป็นข้อสรุปและข้อเสนอแนะในการใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการศึกษาประวัติศาสตร์ สังคมวิทยา และศาสนา
ทั้งนี้ ตอนท้ายของวิทยานิพนธ์ยังมีประมวลศัพท์ภาษาสันสกฤตและเขมรที่อาจจะเป็นประโยชน์ในการเป็นข้อมูลศึกษาด้านสังคมวิทยา ประวัติศาสตร์ และภาษาศาสตร์
(ภาพที่ 1:สมเด็จพระเทพฯ ขณะทรงศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา)
รศ.ดร.สุเนตร เริ่มต้นปูพื้นฐานก่อนว่า ‘พนมรุ้ง’ นับเป็นปราสาทใหญ่ที่สุดบริเวณปริมณฑลของอาณาจักรเขมร แต่ได้รับการกล่าวถึงอย่างโดดเด่นในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 สอดคล้องกับพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพฯ ซึ่งอธิบายลักษณะไว้ชัดเจน มีขนาดใหญ่โต เข้มแข็ง และสวยงาม
คำถาม คือ จารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง มีความสำคัญอย่างไร นักวิชาการ จุฬาฯ กล่าวว่า หัวใจสำคัญทำให้ทราบที่มาที่ไปของปราสาทแห่งนี้อยู่ที่ ‘จารึก’ ไม่ใช่สถาปัตยกรรม หรือประติมากรรม จำพวก วิหาร เทวรูป รูปสลัก อย่างที่คนทั่วไปเข้าใจ
รศ.ดร.สุเนตร ขยายความว่า ยุคแรก จารึกเขมรนิยมเขียนเป็นภาษาสันสกฤต ต่อมาเปลี่ยนเป็นภาษาเขมรโบราณ ทั้งนี้ ส่วนใหญ่ในศาสนสถานแต่ละแห่งมักพบจารึกที่มีสองภาษาปะปนกัน และจำนวนไม่น้อยถูกเขียนขึ้นบนกรอบบานประตูหรือหน้าต่าง
อย่างไรก็ตาม การหาคนไทยที่มีความสามารถในการอ่านจารึกของเขมรแทบจะนับคนได้ นอกจาก ผศ.ดร.ประพจน์ อัศววิรุฬหการ แล้ว จะมีใครสักกี่คนที่อ่านเนื้อหาเหล่านี้ได้ เพราะต้องมีความรอบรู้ทั้งภาษาสันสกฤตและเขมรโบราณพร้อมกัน จึงจะทราบประวัติศาสตร์ดังกล่าว
ประกอบกับในอดีตมีปราชญ์ชาวฝรั่งเศสเป็นผู้เผยแพร่ ภายหลังศึกษาตามหลักวิชาการ สมัยเข้ามาล่าอาณานิคมในแถบอินโดจีน จึงทำให้มีความเชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ และการอ่านจารึก ดังนั้น การรู้ ‘ภาษาฝรั่งเศส’ จึงมีความสำคัญ
“ไม่อย่างนั้นอย่าได้เผยอประกาศตัวเป็นผู้เชี่ยวชาญสามารถศึกษาประวัติศาสตร์เขมรโบราณได้ เพราะไม่มีใครเชื่อถือ”
คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ ระบุว่า มีเพียงสมเด็จพระเทพฯ เท่านั้น ที่ทรงอ่านได้ทั้งภาษาสันสกฤต ภาษาเขมรโบราณ และภาษาฝรั่งเศส อย่างแตกฉาน ซึ่งถือเป็นคุณสมบัติขั้นพื้นฐานของผู้ทำวิทยานิพนธ์ในเรื่องนี้ หากไม่มีคุณสมบัติดังกล่าวก็ไม่มีทางสำเร็จ
โดยการศึกษาจารึกปราสาทพนมรุ้งไม่ใช่เรื่องง่าย เพียงลงพื้นที่ไปดูว่ามีจารึกกี่หลัก แต่ต้องเข้าใจว่า แต่ละหลักนั้นเปรียบเหมือนองคาพยพหนึ่งขององคาพยพใหญ่ อันประกอบไปด้วยตัวตนหรือองค์ความรู้ของสถานที่แห่งนั้น
“เราจะอ่านจารึก โดยไม่ทราบศิลปะ คติความเชื่อ ปรัชญาศาสนา ภูมิประเทศ เป็นไปไม่ได้ เพราะไม่มีทางได้รับประโยชน์จากการอ่าน ด้วยความรู้ที่พึงได้รับของผู้ศึกษาต้องมีองค์ความรู้อย่างกว้างขวางเป็นส่วนประกอบ”
(ภาพท่ี่ 2:สมเด็จพระเทพฯ ขณะทรงศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา)
รศ.ดร.สุเนตร อธิบายต่อว่า จารึกปราสาทพนมรุ้ง ถูกเขียนขึ้นเป็นภาษาสันสกฤต 3 หลัก และภาษาเขมรโบราณ 7 หลัก โดยสมเด็จพระเทพฯ มิได้ทรงอ่านเฉย ๆ แต่พระองค์ทรงถอดความคำต่อคำ ไม่มีจินตนาการ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับการถอดความเป็นภาษาไทย จำเป็นต้องอาศัยเทคนิคและความรู้มากมาย
“บางคนอาจคิดว่า สมเด็จพระเทพฯ ทรงทำได้ เพราะมีอาจารย์หลายท่านคอยถวายความรู้” นักวิชาการ จุฬาฯ กล่าว ก่อนแย้งว่า ความสามารถอยู่ที่การแสดงพระอัจฉริยภาพเฉพาะพระองค์จากการอ่านข้อมูลหลักฐานออกมามากน้อยแค่ไหนมากกว่า
รศ.ดร.สุเนตร ยกตัวอย่าง ปราชญ์ชาวฝรั่งเศสตีความคำว่า ‘พนมรุ้ง’ หมายถึง ภูเขาที่มีถ้ำเยอะ แต่สมเด็จพระเทพฯ กลับไม่เห็นด้วย โดยอ้างถึงหลักการในภาษาสันสกฤตและอีกหลายประการ จึงควรแปลว่า ‘ภูเขาใหญ่’ มากกว่า และคำแปลดังกล่าวได้รับการยึดถือจวบจนปัจจุบัน
พระอัจฉริยภาพอีกประการหนึ่ง คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ กล่าวว่า จารึกปราสาทพนมรุ้งแตกเป็นชิ้นเล็กนับไม่ถ้วน อ่านข้อความแต่ละบรรทัดเจอคำไม่กี่คำ ถึงขนาดบางครั้งอ่านได้เพียง 5-6% แต่จำเป็นต้องตีความ เพื่อบอกให้ได้ว่าจารึกหลักนั้นว่าด้วยเรื่องอะไร
สมเด็จพระเทพฯ ทรงอธิบายในวิทยานิพนธ์ว่า “จารึกเหล่านี้ไม่สมบูรณ์ หักเป็นชิ้นเป็นท่อนเล็ก ๆ และชำรุดหลายที่ ชิ้นใดไม่ชำรุดมากก็จะพยายามแปล ชิ้นใดที่ชำรุดจนข้อความขาดหายไปมาก แปลแล้วไม่ได้ความติดต่อกันก็จะพยายามสรุปความจากข้อที่เหลือเทียบกับจารึกเขมรที่พบและรู้จักกันดี”
รศ.ดร.สุเนตร ชี้ให้เห็นว่า การอ่านจารึกเป็นท่อน ๆ จะทราบได้อย่างไรว่าหมายถึงเรื่องใด ฉะนั้นต้องนำไปเทียบเคียงกับจารึกสมบูรณ์ของพื้นที่อื่น นั่นหมายความว่า ผู้เขียนวิทยานิพนธ์เรื่อง จารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง ต้องอ่านจารึกมากกว่าของพนมรุ้งหลายหลักจึงจะตีความได้
นับเป็นพระอัจฉริยภาพในด้านภาษาที่มีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม ซึ่งสมเด็จพระเทพฯ ทรงทำให้วิทยานิพนธ์เล่มนี้ให้อ่านเรื่องไกลตัวได้เข้าใจง่าย มีขั้นตอนการนำเสนอเป็นระบบ เรียงลำดับเนื้อหาก่อนหลัง อีกทั้งยังมีมิติมุมมองและข้อสังเกตเพิ่มเติมที่เป็นประโยชน์ด้วย
จึงถือว่า วิทยานิพนธ์ เรื่อง จารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง เป็นคัมภีร์สำคัญให้เข้าถึงอารยธรรมเขมรโบราณได้อย่างดี และนำไปสู่การเปิดประตูทางปัญญา อันเป็นรากฐานอาเซียน
ที่หาอ่านในหนังสือภาษาไทยเล่มใดไม่ได้อีกแล้ว .
ภาพประกอบ:สมเด็จพระเทพฯ ขณะทรงศึกษา ในระดับบัณฑิตศึกษา-นิทรรศการเทิดพระเกียรติ 60 พรรษา จุฬาฯ