แก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรด้วยการจำหน่ายหนี้เป็นสูญ
วันที่ 31 มีนาคม 2558 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรด้วยการจำหน่ายหนี้เป็นสูญในกองทุนหรือเงินทุนในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
กษ. รายงานว่า การจำหน่ายหนี้เป็นสูญของกองทุนหรือเงินทุนใน กษ. ให้ปฏิบัติตามระเบียบหรือหลักเกณฑ์ในการจำหน่ายหนี้เป็นสูญของกองทุนหรือเงินทุนนั้น ๆ หากกองทุนหรือเงินทุนใดมีระเบียบหรือหลักเกณฑ์ในการจำหน่ายหนี้เป็นสูญไม่ครอบคลุม 10 หลักเกณฑ์ ให้ส่งเรื่องลูกหนี้ที่ไม่อยู่ภายใต้ระเบียบหรือหลักเกณฑ์ให้คณะกรรมการบริหารสินเชื่อเกษตรแห่งชาติ (กบส.) พิจารณาดำเนินการจำหน่ายหนี้เป็นสูญให้ต่อไปหรือกองทุนหรือเงินทุนใดไม่มีระเบียบหรือหลักเกณฑ์ใดในการจำหน่ายหนี้เป็นสูญให้กองทุนหรือเงินทุนนั้น ๆ เสนอเรื่องให้ กบส. พิจารณาดำเนินการจำหน่ายหนี้เป็นสูญให้ต่อไป
2. สำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรทั้งระบบ ขณะนี้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรอยู่ระหว่างการจัดจ้างที่ปรึกษา [ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (TDRI) ] คาดว่าการศึกษาจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2558 หลังจากนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรต่อไป
3. หลักเกณฑ์ในการจำหน่ายหนี้เป็นสูญ แบ่งเป็น 10 กลุ่ม ดังนี้ (1) กรณีโครงการส่งเสริมหรือสงเคราะห์ของรัฐที่ไม่ประสบความสำเร็จ (2) กรณีประสบภัยพิบัติหรือภัยธรรมชาติ (3) ปัญหาเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ (4) หนี้ขาดอายุความ (5) หนี้ค้างชำระเป็นระยะเวลาเกินกว่า 10 ปีขึ้นไป (6) หนี้ที่ไม่สามารถติดตามทรัพย์เพื่อดำเนินการบังคับคดีได้ (7) เกษตรกรผู้กู้ยืมเงินเสียชีวิต สาบสูญ หาตัวไม่พบหรือละทิ้งถิ่นที่อยู่ (8) เกษตรกรผู้กู้ยืมเงินพิการ ทุพพลภาพ วิกลจริต หรือเจ็บป่วยเรื้อรัง (9) ลูกหนี้ผู้กู้ยืมเงินมีรายได้น้อยหรือไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ (10) หนี้สินของเกษตรกรผู้กู้ยืมเงินมาจำนวนต้นเงินกู้ไม่เกิน 10,000 บาท ซึ่งจากการดำเนินการฟ้องร้องจะไม่คุ้มกับค่าใช้จ่าย
ทั้งนี้ เมื่อได้มีการดำเนินการแล้วให้หน่วยงานของรัฐสามารถดำเนินการจำหน่ายหนี้เป็นสูญได้ทันที โดยมิต้องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบอีก และให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินพิจารณาดำเนินการตรวจสอบผลการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐดังกล่าว และภายหลังการจำหน่ายหนี้เป็นสูญแล้วให้หน่วยงานของรัฐผู้กำกับดูแลกองทุนหรือเงินทุนดังกล่าวทำการพิจารณาทบทวนบทบาทของกองทุนหรือเงินทุนแต่ละแห่งต่อไป