ปฏิบัติการทวงคืนผืนที่ป่าจาก "โบนันซ่า เขาใหญ่" ของคนตระกูล "เตชะณรงค์"
"..จากการตรวจสอบพบว่าพื้นที่สนามแข่งรถดังกล่าว สามารถแสดงโฉนด น.ส.3ก. ตัวจริงได้เพียง 47 ไร่ และอีกเกือบ 100 ไร่ไม่สามารถนำหลักฐานมายืนยันสิทธิ์ความเป็นเจ้าของได้ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวนั้นเป็นพื้นที่ ส.ป.ก. และเขตป่าสงวน ..."
"ไม่รู้จริงๆว่าเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ เพราะซื้อต่อมาจากชาวบ้านนานแล้ว ส่วนตัวไม่เห็นด้วยอยู่แล้วกับการบุกรุกป่าไม้ และไม่ชอบเรื่องที่ผิดกฎหมายเหมือนกัน"
นี่คือประโยคคำพูดยืนยันของ นางสาวพัทธมน เตชะณรงค์ ลูกสาวคนที่ 3 ในจำนวน 4 คนของ ไพวงษ์-ภัสสรา เตชะณรงค์ เจ้าของธุรกิจโบนันซ่า เขาใหญ่ ต่อสื่อมวลชน
ภายหลังจากที่ในช่วงวันที่ 31 มี.ค.58 เวลาประมาณ 10.30 น. ที่ผ่านมา พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ และทหารจากกองทัพภาคที่ 2 ได้เดินทางไปที่โบนันซ่า เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา เพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ดินในพื้นที่สนามแข่งรถโบนันซ่า ซึ่งปรากฏหลักฐานว่า น.ส.3 ก. บางส่วนของพื้นที่สนามเเข่งรถดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติ เขาเสียดอ้า
โดยสนามแข่งรถดังกล่าวมีเนื้อที่ 133 ไร่ 1 งาน 43 ตารางวา จากพื้นที่ของโบนันซ่าเขาใหญ่ทั้งหมดประมาณ 1,588 ไร่ มีลักษณะเป็นสนามแข่งรถทางเรียบ
ขณะที่นายก้องกิดาการ ประพันธ์บัณฑิต นายช่างรังวัดชำนาญงาน กรมที่ดิน และ ผู้ช่วยหัวหน้าคณะทำงานเพื่อความมั่นคง กองกำลังรักษาความสงบ กองทัพภาคที่ 2(ตำแหน่งใน คสช.) เปิดเผยต่อสำนักอิศราว่า จากตรวจสอบพบว่าพื้นที่สนามแข่งรถดังกล่าว สามารถแสดงโฉนด น.ส.3ก. ตัวจริงได้เพียง 47 ไร่ และอีกเกือบ 100 ไร่ไม่สามารถนำหลักฐานมายืนยันสิทธิ์ความเป็นเจ้าของได้ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวนั้นเป็นพื้นที่ สปก. และเขตป่าสงวน
ขัดแย้งกับข้อมูลของนายนิธิตเชษฐ์ สุทธิเจริญกุล นักออกแบบและคนดูแล(ผู้จัดการ) ที่ยืนยันว่าว่า ตอนที่ทำการก่อสร้างได้ขออนุญาตถูกต้องตามกฎหมายทั้งหมด
"เราไม่ได้อยู่ในเขตป่า แต่อยู่ในเขตกันไฟ เราก็ป้องกันตัวทำตามกฏอย่างดี ตรงนั้นเราไม่ได้เข้าไป เจ้านายบอกว่าให้ทำให้ถูกต้องให้หมด ตรงไหนที่ไม่เป็น น.ส.3ก. เราจะไม่สร้างอาคาร แต่ว่าตรงไหนที่เป็น น.ส.3ก. เราก็ทำอาคารที่เราสามารถทำได้ และมีการขออนุญาตถูกต้อง" นายนิธิตเชษฐ์ยืนยัน
ต่อมาคณะผู้ตรวจสอบของหน่วยงานรัฐ และคณะผู้สื่อข่าวได้เดินทางสำรวจรอบๆพื้นที่ดังกล่าว ปรากฏห้องพักชื่อ 'ห้องพักอินคา'
โดยนายก้องกิดาการเผยอีกว่า "ขณะนี้เรายืนอยู่บนเขตป่าสงวนแห่งชาติ เขานกยูง ปีพ.ศ.2509"
ขณะที่นางสาวพัทธมน เตชะณรงค์ ได้เดินทางมาให้ข้อมูลกับทางคณะผู้สื่อข่าว โดยยืนยันว่า ที่ดินดังกล่าวได้ซื้อต่อมาจากชาวบ้านในพื้นที่ และไม่เคยมีเจ้าหน้าที่ราชการเข้ามาตรวจสอบ โดยสนามแข่งรถดังกล่าวสร้างมาประมาณ 3 ปีแล้ว ในแต่ละปีจะมีการจัดแข่งขันปีละประมาณ 2-3 ครั้ง อีกทั้งยังมีนักแข่งเดินทางเข้ามาซ้อมอยู่เรื่อยๆ
พร้อมยืนยันว่า "ไม่รู้จริงๆว่าเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ เพราะซื้อต่อมาจากชาวบ้านนานแล้ว ส่วนตัวไม่เห็นด้วยอยู่แล้วกับการบุกรุกป่าไม้ และไม่ชอบเรื่องที่ผิดกฎหมายเหมือนกัน เรายินดีให้ตรวจสอบทั้งโบนันซ่าเลยค่ะ หากเป็นพื้นที่ของทางราชการจริง เรายินดีคืนพื้นที่ทั้งหมดที่เป็นของทางราชการ"
ขณะที่นายอารักษ์ เตชะณรงค์ น้องชายของนายไพวงษ์ เตชะณรงค์ ยืนยันว่า ที่ดินดังกล่าวซื้อมาจากชาวบ้านในพื้นที่ตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว และชาวบ้านเป็นคนมานำเสนอขายเอง
"เมื่อ 20 ปีก่อน ชาวบ้านเขามาขอร้องให้เราซื้อที่ดินของเขาด้วยซ้ำ" นายอารักษ์กล่าว
เมื่อถามว่า สามารถนำเอกสารโฉนดที่ดินออกมายืนยันได้ไหม สมาชิกคนในครอบครัว เตชะณรงค์ ทั้งสองคนยืนยันว่า "เอกสารตัวจริงทั้งหมดอยู่ที่สำนักงานที่กรุงเทพฯ มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่เก็บไว้อยู่ที่นี่ หากต้องการทราบข้อมูลทั้งหมดจริงๆให้เข้าไปที่สำนักงานใหญ่ที่กรุงเทพฯ และยินดีที่จะเปิดเผยข้อมูลในทุกกรณี"
ด้าน พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ยืนยันต่อสำนักข่าวอิศราว่า "ถ้าพบว่ามีความผิดจริงก็ต้องดำเนินการ โดยใช้มาตรา 25 บวกกับการสืบสวนในการรื้อถอน และขอคืนพื้นที่"
ส่วนพันโทกรทิพย์ ดาโรจน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) เผยว่า ทาง ป.ป.ท. จะทำการตรวจสอบว่ามีการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทั้งหมดหรือไม่ ถ้ามีเห็นชอบหรือไม่ เพื่อดำเนินการตาม พ.ร.บ. มาตรการต่อไป
"ต้องดูตั้งแต่เริ่มต้นว่าเจ้าหน้าที่มีการเพิกเฉย ละเลยหรือไม่ หรือว่าดำเนินการปฏิบัติหน้าที่ด้วยมิชอบ หรือทุจริตต่อรัฐหรือไม่ เป็นหน้าที่ที่ ป.ป.ท. ที่จะต้องดำเนินการต่อไป" รองเลขาฯ ป.ป.ท. ยืนยัน
ขณะที่พันเอกสมหมาย บุษบา ที่ปรึกษาคณะทำงานฝ่ายกฏหมาย กองทัพภาคที่ 2 เผยว่า ทางกองทัพได้รับคำร้องเรียนจากราษฎรว่า ที่ดินบริเวณนี้น่าจะมีการออกเอกสิทธิ์ในเขตป่า ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีการสร้างสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่เขตป่าสงวน โดยเฉพาะบริเวณนี้ซึ่งเป็นเขตป่าสงวนอยู่แล้ว
"อีกทั้งยังมีการท้วงติงมาจากชาวบ้านว่าบริเวณนี้มีการจัดคอนเสิร์ตบ่อยครั้ง ทำให้เกิดปัญหาต่อระบบนิเวศ ก็เลยให้คนเข้ามาดู"
เมื่อถามว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จเมื่อไหร่? พันเอกสมหมาย เผยว่า พื้นที่บริเวณนี้ไม่น่าจะยาก เพราะหนึ่งคือมีการปลูกสร้างอาคารล่วงล้ำเข้ามาในเขตป่าสงวน โดยไม่ขออนุญาตอยู่แล้ว ทาง อบต. ก็น่าจะกลับไปออกคำสั่งได้เลย
"ส่วนสนามแข่งรถก็ไม่ได้ขออนุญาตเหมือนกัน ก็ต้องมีการทบทวนว่า ถ้าเขาขอมาจะอนุญาตได้ไหม ซึ่งตอนนี้ที่ดินของเขามีแค่ 47 ไร่ แต่ที่ยืนอยู่ตรงนี้พื้นที่ร่วม 200 ไร่ เพราะฉะนั้นถ้าขอจะอนุญาตได้ไหม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องไปทบทวนบทบาทของตัวเอง" ที่ปรึกษาคณะทำงานกฏหมาย กองทัพภาคที่ 2 ยืนยัน
พันเอกสมหมายยังกล่าวทิ้งท้ายอีกว่า "ยังมีอีกเยอะครับ พื้นที่ปากช่องมีเป็น 100,000 ไร่ และมีป่าสงวนแห่งชาติอยู่หลายป่า เป็นพื้นที่ที่มีเอกชนรายใหญ่ถือครองอยู่ไม่กี่ราย ซึ่งรายใหญ่ๆจะถือครองราวๆ 1,000 ไร่ขึ้นไป ส่วนราษฎรเล็กๆน้อยๆถือครองเพียงไม่เท่าไหร่"
ทั้งหมดนี่ คือ ข้อเท็จจริงล่าสุดที่เกิดขึ้น ที่เขาใหญ่ ในช่วงเช้าวันที่ 31 มี.ค.58 ที่ผ่านมา กับปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าซึ่งเป็นสมบัติของชาติกลับคืนที่กำลังปรากฎเป็นข่าวดังอยู่ในขณะนี้