"พ่อไม่ตายหรอก" คำฝากสุดท้ายของเหยี่ยวข่าวเหยื่อบอมบ์โก-ลก
เหตุระเบิดกลางเมืองสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เมื่อค่ำวันที่ 21 ส.ค.2551 ทำให้ ชาลี บุญสวัสดิ์ หรือ "ป๋าชาลี" ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐประจำจังหวัดนราธิวาส ต้องจากไปอย่างไม่มีวันกลับ อีก 3 ปีถัดมา สุไหงโก-ลกเกิดวิกฤติความรุนแรงอีกครั้งเมื่อวันที่ 16 ก.ย.2554 คราวนี้เป็นระเบิดที่คร่าชีวิต "ภมร ภรณ์พานิช" เหยี่ยวข่าวรุ่นใหญ่จากหนังสือพิมพ์สื่อสมุทร ขณะออกปฏิบัติหน้าที่รายงานความจริงสู่สาธารณชน
“พี่ภมร” หรือ “ป๊า” ที่ จิตรา ผายม ภรรยาของเขาเรียกจนติดปาก อยู่ในสภาพถูกไฟคลอกทั้งตัว และถูกส่งรักษาต่อยังโรงพยาบาลศูนย์ยะลา ซึ่งมีบุคลากรและเครื่องไม้เครื่องมือพร้อมที่สุดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ทั้งหมดก็มิอาจยื้อชีวิตเขาได้ เพราะเขาสิ้นใจอย่างสงบเมื่อวันศุกร์ที่ 23 ก.ย.ที่ผ่านมา หรือครบ 7 วันหลังเกิดเหตุร้ายที่สุไหงโก-ลกพอดี
จิตรา เล่าทั้งน้ำตาด้วยสภาพจิตใจที่บอบช้ำ ถึงวินาทีที่เสียงระเบิดดังและการทำหน้าที่ครั้งสุดท้ายของสามี...
“ก่อนเกิดเหตุพี่ภมรอยู่ในบ้านกับฉัน จากนั้นก็เกิดระเบิดลูกแรกเสียงดังสนั่น บ้านเราอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุไม่มากนัก แค่สิ้นเสียงระเบิดพี่ภมรก็ขับรถออกไปที่เกิดเหตุทันทีเพื่อจะเก็บภาพด้วยสัญชาตญาณความเป็นนักข่าว แต่เมื่อไปถึงกลับมีระเบิดลูกที่ 2 ซึ่งพี่ภมรโดนเต็มๆ ไฟคลอกทั้งตัว ขณะที่เจ้าหน้าที่มูลนิธิกู้ภัยก็โดนระเบิดเสียชีวิตในที่เกิดเหตุด้วย”
จิตรา บอกว่า ตอนนั้นเธอไม่รู้เรื่องอะไรเลย ได้แต่นั่งฟังเสียงระเบิดอยู่ในบ้านเพียงอย่างเดียว คิดว่าสามีคงไม่เป็นอะไร เพราะมีประสบการณ์การทำงานมานานมาก เคยเป็นผู้ช่วยผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 ปัจจุบันก็เป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์สื่อสมุทร สื่อท้องถิ่นแนวอาชญากรรม
“สองวันผ่านไปพี่ภมรยังไม่กลับบ้าน ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าเกิดเหตุกับพี่เขา คิดว่าพี่ภมรอยู่สำนักงาน กำลังเรียบเรียงข่าวทำข่าวอยู่ เพราะเป็นข่าวใหญ่มาก ต้องใช้มันสมองและรอรายละเอียด เราก็ชะล่าใจ พอย่างเข้าสู่วันที่ 3 เห็นหายเงียบผิดปกติ ติดต่อก็ไม่ได้ จึงเริ่มโทรศัพท์ถามเพื่อน ถามลูกสาว และถามทางโรงพยาบาลสุไหงโก-ลก เพราะตอนนั้นคิดว่าต้องมีอะไรเกิดขึ้นแล้ว”
และเธอก็ได้รับทราบข่าวร้าย สาเหตุที่ไม่มีใครติดต่อแจ้งข่าวเธอได้ เนื่องจากโทรศัพท์ของสามีถูกไฟไหม้จนหมด
“สภาพครั้งแรกที่เห็นพี่เขาจำแทบไม่ได้ว่าเป็นใคร แต่พี่เขาจำฉันได้ เพราะตาเขาเห็น หูได้ยิน สมองยังรับรู้ เพียงแต่พูดไม่ได้ เพราะโดนเจาะคอ บางทีเขาก็สื่อสารเป็นข้อความผ่านกระดาษ อย่างวันหนึ่งเขาเขียนว่า ‘พ่อไม่ตายหรอก’ เข้าใจว่าเขาพยายามปลอบใจเราไปด้วย เพราะถ้าอยู่กันสองคนเราจะเรียกเขาว่าป๊า เขาคงไม่อยากให้เราเป็นทุกข์ที่เห็นเขานอนในสภาพอย่างนี้”
จิตรา ยอมรับว่าเหนื่อยใจและเสียใจที่สามีต้องตกเป็นเหยื่อระเบิด และการที่สามีถูกส่งไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลาก่อนเสียชีวิต ก็เป็นภาระกับเธอไม่น้อย เนื่องจากเธอไม่มีญาติอยู่ที่ อ.เมือง จ.ยะลาเลย ทำให้เสียค่าใช้จ่ายไปเยอะมาก และการช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐก็ยังไม่มากนัก
“ฉันเป็นแม่บ้าน ไม่มีรายได้อะไร ที่ผ่านมาพี่ภมรก็ดูแลทั้งหมด” จิตราบอก
ชีวิตในบางมุมของจิตรารันทดยิ่งกว่านิยายขายดีบางเรื่องเสียอีก เธอเป็นคนนครพนม จังหวัดปลายสุดแดนอีสาน เมื่อหลายปีก่อนพบรักกับหนุ่มมุสลิม จึงเข้ารับอิสลามและเปลี่ยนชื่อเป็น “ฮาซือนะห์” แต่ไม่นานแฟนหนุ่มก็ถูกยิงเสียชีวิตไป ต่อมาเธอแต่งงานใหม่กับภมร และสุดท้ายภมรก็ต้องมาจากไปอีก ทำให้เธอไม่เหลือใครอีกแล้ว เนื่องจากไม่ใช่คนในพื้นที่นี้
“สามีเก่าที่ถูกยิงเสียชีวิต คดียังค้างอยู่ที่ศาล ยังต้องมาเจอเรื่องพี่ภมรโดนระเบิดอีก ฉันไม่รู้จะบรรยายอย่างไร อยากจะร้องไห้ออกมาแต่ก็ไม่มีน้ำตา เพราะร้องไปมากแล้ว น้ำตามันไหลอยู่ในใจ เราคงทำอะไรไม่ได้นอกจากยอมรับมัน เพราะชีวิตถูกลิขิตเอาไว้แบบนี้”
กับเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นที่สุไหงโก-ลก ซึ่งทางการสรุปเบื้องต้นว่าเป็นฝีมือของกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดสั่งการให้ลอบวางระเบิดเพื่อตอบโต้เจ้าหน้าที่รัฐนั้น จิตรา บอกว่า เป็นข้อสรุปที่เป็นไปได้ไม่น้อยทีเดียว
“ทุกอย่างมันพัวพันกันหมดอยู่แล้ว ทั้งแก๊งค้ายาเสพติดทั้งกลุ่มก่อความไม่สงบ เพราะถ้าไม่มียาเสพติด คนร้ายจะเอาเงินจากไหนไปทำระเบิด”
แม้จะมาจากดินแดนที่ราบสูง แต่ก็อยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้มานานหลายปี จิตราเชื่อว่าสถานการณ์เลวร้ายในพื้นที่น่าจะจบลงยากมาก
“คนที่จ้องจะทำมีเยอะ คนที่เฝ้าระวังก็เฝ้าระวังได้ไม่หมดหรอก ทุกอย่างที่เกิดขึ้น ภาพที่เห็น เป็นอะไรที่สุดจะบรรยาย ภาคใต้มีเหตุการณ์รุนแรงเยอะมาก อ.สุไหงโก-ลกก็เกิดเหตุร้ายอยู่บ่อยๆ แต่ไม่เคยนึกว่าครั้งนี้จะทำร้ายผู้บริสุทธิ์ได้เยอะขนาดนี้ สิ่งที่คนร้ายทำไม่ได้สร้างความเจ็บปวดแค่คนไทยพุทธหรือคนไทยมุสลิม แต่ยังกระทบไปถึงชาวมาเลเซียที่ต้องมาเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากด้วย ถามว่าทำไปทำไม ทำแล้วได้อะไร สักวันหนึ่งคนที่ทำไม่ดีจะต้องได้รับโทษจากพระเจ้า” จิตรากล่าว
เสียงระเบิดที่โก-ลกเงียบลงแล้ว ไม่มีใครรู้ว่าจะมีครั้งต่อไปอีกเมื่อไหร่ ขณะนี้ภาครัฐกำลังเข้าไปฟื้นฟูพื้นที่ ซ่อมแซมอาคารบ้านเรือนที่ปรักหักพังเพื่อให้กลับคืนสู่สภาพเดิม แต่มีสิ่งหนึ่งที่มิอาจเรียกกลับคืนได้อีกแล้ว...
คือชีวิตของผู้คนที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 "พ่อไม่ตายหรอก" ข้อความสุดท้ายของภมร
2 จิตรา ผายม
อ่านประกอบ :
- ถอดรหัส "ถล่มโก-ลก" เมื่อยาเสพติดโยงแยกดินแดน?
- "บอมบ์โก-ลก" ตาย 3 เจ็บ 67 ทหารฟันธงแก๊งยาเสพติดตอบโต้
- อีโอดีกางผัง "บึ้มโก-ลก" วางแผนดี-วิธีไม่ใหม่ เผยยอดตายเพิ่มเป็น 5