นักเขียนชี้อนาคตไทยมีรายได้หลักจากงานทรัพย์สินทางปัญญา วอนเคารพสิทธิหยุดละเมิด
อุปนายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทยชี้แก้ปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์ตรงจุดผู้บริโภคต้องมีสำนึกส่วนรวม ด้านงามพรรณ เวชชาชีวะ เปรียบการลอกเลียนแบบคือการกรีดหัวใจของนักเขียน
เมื่อเร็วๆนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาร่วมกับสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย จัดงานเสวนาเรื่อง “ก๊อปกระหน่ำ โหลดมั่ว ลอกกระจาย:ไทยไม่พัฒนา” ณ ห้องMeeting room 2ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
นายสุชาติ ธรรมาพิทักษ์กุล ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฎหมาย กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นผลงานชนิดไหนที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ทางปัญญา ทั้งงานเขียน เขียนแปลวรรณกรรมต่างย่อมต้องขออนุญาตในการดัดแปลง และได้รับการยืนยันจากเจ้าของผลงานก่อน สิ่งสำคัญการดัดแปลงผลงานต้องกระทำโดยไม่กระทบกับผลงานเดิมเจ้าของลิขสิทธ์งานต้นฉบับ เช่นวรรณกรรมไทย ถูกซื้อลิขสิทธิ์ตีพิมพ์ในภาษาญีปุ่น แต่มีอีกหนึ่งประเทศสนใจอยากตีพิมพ์ในภาษานั้นๆ ก็ควรมาขอลิขสิทธิ์จากประเทศไทยโดยตรงมิใช้ซื้อลิขสิทธิ์ต่อจากประเทศอื่น แต่กฎหมายลิขสิทธิ์ของไทยยังไม่คุ้มครอง เฉพาะเจาะจง และไม่ครอบคลุมพอที่จะดำเนินคดีตามกฎหมายได้ นี่จึงเป็นจุดอ่อนและเป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างผลงานของนักเขียน
นายสุชาติ กล่าวด้วยว่า การเขียนสัญญาควรคุ้มครองให้ครอบคุม มิใช่เอาผลงานจากตัวลิขสิทธ์มาแปล แต่ควรขออนุญาตจากเจ้าของต้นฉบับดั้งเดิม การสร้างสรรค์ผลงานควรอยู่ในขอบเขตคำว่าศีลธรรม งานสร้างสรรค์ทางปัญญา จึงต้องการ “ลิขสิทธิ์” ไว้คุ้มครอง คำว่าลิขสิทธิ์มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง หากสูญเสียหรือถูกละเมิด จะมีผลกระทบในแง่จิตใจต่อเจ้าของลิขสิทธิ์
ด้านนายวศิน เพิ่มทรัพย์ อุปนายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย กล่าวว่า ปัญหาการลอกเลียนทรัพย์สินทางปัญญาไม่ได้เป็นเฉพาะประเทศไทยแต่เป็นกันทั่วโลก เพราะอินเตอร์เน็ตเป็นสิ่งที่ไม่มีขอบเขตจำกัด เดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะอัพโหลดอะไรก็รวดเร็วไปหมด จากการแชร์ การส่งต่อข้อมูลต่างๆจึงทำได้ง่าย และการที่จะเข้าไปควบคุมพฤติกรรมจึงเป็นเรื่องยากที่จะทำได้หมด ถึงแม้จะทำการควบคุมก็จะมีช่องทางเล็ดรอดได้เสมอจึงทำให้ดำเนินการทางกฎหมายลำบาก
นายวศิน กล่าวอีกว่า เพลงเป็นเหยื่อรายแรกของการละเมิดลิขสิทธิ์ในอินเตอร์เน็ต มาตรการควบคุมมีแต่ไร้ประโยชน์ ไม่สามารถยับยั่งการละเมิดได้ เพราะเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ ประเด็นเรื่องสำนึกส่วนบุคคล จึงเป็นทางแก้ไขที่ต้นเหตุ และตรงจุดที่สุด หากมีสติยับยั่งชั่งใจ ไม่ก๊อป ไม่ลอก ไม่ละเมิด งานสร้างสรรค์ทางปัญญาของประเทศจะพัฒนาได้ ดังนั้นนี่ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ความมักง่ายของคนที่เคยชินกับการก๊อปปี้จะเปลี่ยนแปลงความคิด
ขณะที่นายดนุพล กึ่งสุคนธ์ รองกรรมการผู้จัดการบริษัท ไอดีซี พรีเมียร์ จำกัด กล่าวว่า การดาวน์โหลด คนทำไม่มีสติ ก๊อป เซฟ แชร์ ต่างประเทศเค้ามองว่าเป็น “ประเทศโจร ประเทศคนหน้าด้าน” เป็นเรื่องน่าอายอย่างยิ่ง แต่ในเมืองไทยกลายเป็นความเคยชินไปเสียแล้ว ขนาดในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย “สิ่งที่เห็นว่าเป็นเรื่องเล็ก มักเกิดจากการมองข้าม” เช่น การถ่ายเอกสารการเรียนการสอนนี่ก็ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่เคยสังเกตุไหมที่หน้ามหาวิทยาลัยมีร้านรับถ่ายเอกสาร ก๊อปงาน แปลงไฟล์ และนี่จึงเป็นจุดเล็กๆที่คนมองข้าม ความเคยชินจากสิ่งที่ได้มาง่ายๆ
ส่วนนางสาวงามพรรณ เวชชาชีวะ นักเขียน นักแปล กล่าวว่า ชาติจะพัฒนาเริ่มจากการเคารพสิทธิของผู้อื่น เกิดจากสำนึกของทุกคน ควรเห็นค่า เห็นความสำคัญ การจะทำหนังสือขึ้นมาสักเล่ม เชื่อว่าเป็นสิ่งที่มาจากจิตนาการ ที่ต้องคิด ต้องเขียน เป็นงานที่เหมือนสร้างมาจากอากาศ กว่าจะได้ผลงานออกมาสักชิ้นต้องใช้เวลาขนาดไหน การลอกเลียนแบบถือเป็นการกรีดหัวใจของนักเขียน สิ่งที่สร้างจากมันสมองมีค่า และมีความหมายเสมอ ต่างประเทศให้ความสำคัญกับงานประดิษฐ์ และความคิดสร้างสรรค์เป็นอย่างมาก ถึงเวลาที่เราคนไทยจะเคารพสิทธิ ให้เกียรติกับความคิดและผลงานทางปัญญาได้แล้ว เพราะในอนาคตรายได้ของประเทศจะมาจากงานที่มาจากทรัพย์สินทางปัญญา