หยุดขบวนการ "หากิน-บุกรุก-ทำลายล้าง" พื้นที่ป่า ภายใต้มาตรการ "ป.ป.ช."
เปิดมาตรการป้องกันทุจริตบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ "ป.ป.ช." ชงเป็นวาระแห่งชาติ "ครม.ประยุทธ์"เห็นชอบแล้ว เผยภารกิจ 3 ด้าน "นโยบาย-บริหารจัดการ-กฎหมาย" ให้ยุบรวมกรมป่าไม้ -อุทยาน ขีดเส้น ส.ป.ก. จัดสรรพื้นที่ภายใน 1 ปี ห้ามซื้อขายเปลี่ยนมือ จัดการนายทุนบุกรุกที่ขั้นเด็ดขาด เพิ่มขวัญกำลังใจจนท.ลาดตะเวน "รถ-ปืน-อุปกรณ์ไฮเทค-เงินรางวัล" ต้องพร้อม
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบมาตรการป้องกันการทุจริตและบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นำเสนอใน 3 ด้าน คือ มาตรการด้านนโยบาย มาตรการด้านบริหารจัดการ และมาตรการด้านกฎหมาย พร้อมสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ตามนัยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 19 (11) ตามที่สำนักงาน ป.ป.ช. เสนอ
ทั้งนี้ ป.ป.ช. ระบุเหตุผลในการออกมาตรการเรื่องนี้ว่า ปัจจุบันปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งที่เกิดจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง ฯลฯ และพืชเศรษฐกิจ เช่น ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ฯลฯ ของเกษตรกรในพื้นที่เองหรือมีผู้มีอิทธิพลให้การสนับสนุนโดยการกว้านซื้อที่ดินที่ชาวบ้านบุกรุกไว้แล้ว หรือใช้วิธีจ้างวานให้ชาวบ้านบุกรุกพื้นที่ ทั้งเพื่อการเกษตรกรรมและการสร้างที่พักอาศัยรีสอร์ท มีการลักลอบทำไม้ ตัดไม้โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม้พะยูง เพื่อส่งขายประเทศเพื่อนบ้าน อย่างประเทศเวียดนามและจีน ผ่านทางแม่น้ำโขง เนื่องจากไม้พะยูงมีราคาสูง
สาเหตุที่สำคัญในการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ คือ การที่กลไกหลักในการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ขาดประสิทธิภาพ กล่าวคือ การดำเนินงานของภาครัฐที่ผ่านมาขาดความเป็นเอกภาพ นโยบายขาดความชัดเจนและต่อเนื่อง หน่วยงานที่รับผิดชอบขาดแคลนทรัพยากรทางการบริหาร ทำให้ไม่สามารถใช้อำนาจตามกฎหมายได้อย่างเต็มที่ กฎหมายมีบทลงโทษต่ำและขาดการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของรัฐบางส่วนมีส่วนรู้เห็นในการกระทำความผิดทุจริตหรือเกรงกลัวอิทธิพล รวมถึงเมื่อจะกระทำตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดกลับมีแรงเสียดทานจากสังคม ทำให้เกิดการละเลยต่อการบังคับใช้กฎหมาย ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อมต่อประเทศในวงกว้าง
คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงได้ศึกษาปัญหาทั้งระบบ ทั้งด้านมาตรการป้องกันการทุจริต และมาตรการป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ เพื่อไม่ก่อให้เกิดปัจจัยที่เอื้อต่อการทุจริต โดยใช้หลักความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง และทฤษฎีการบริหารธรรมาภิบาล (Good Governance) เป็นกรอบแนวคิด รวมทั้งศึกษากฎหมาย กฎกระทรวงระเบียบและมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ ภายใต้มาตรการต่างๆ นั้น ป.ป.ช. ระบุว่า รัฐบาลต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับการดูแลรักษาพื้นที่ป่าไม้ เช่น การรวมกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชเข้าด้วยกัน เพื่อให้การป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้มีเอกภาพ และการจัดตั้งสำนักงานป่าไม้จังหวัด สำนักงานป่าไม้อำเภอ ให้เป็นหน่วยงานส่วนภูมิภาค เพื่อดูแลรับผิดชอบในพื้นที่โดยตรงมีความใกล้ชิดกับประชาชน
นอกจากนี้ ต้องสร้างขวัญกำลังใจ และหลักประกันให้เจ้าหน้าที่สามารถปกป้องผืนป่าได้อย่างไม่หวั่นไหว หนักแน่นมั่นคง โดยมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาทบทวนเรื่องต่างๆ ที่เหมาะสมสอดคล้องกับภารกิจการดูแลผืนป่าจำนวนร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศอย่างแท้จริง
ได้แก่ โครงสร้างของหน่วยงาน อัตรากำลังเจ้าหน้าที่ ทั้งที่เป็นข้าราชการและลูกจ้าง เบี้ยเลี้ยงหรือค่าตอบแทนอื่นของแต่ละหน่วยงายที่ต้องลาดตระเวนในพื้นที่ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงในการลาดตระเวนแต่ละเดือน เครื่องมือเครื่องใช้ในการทำงาน อาทิ รถยนต์ อาวุธปืน และเครื่องแสดงระบบกำหนดตำแหน่งบนโลก (จีพีเอส) พร้อมส่งเสริมให้มีหลักประกันสวัสดิการ ความมั่นคงให้แก่ผู้ปฏิบัติงานและสิ่งจูงใจในการปฏิบัติงาน ให้มีความเหมาะสมควบคู่กับการสร้างจิตสำนึกในการทำงาน เพื่อให้บุคลากรมีขวัญและกำลังใจดที่ดี มีความหนักแน่น เช่น เงินรางวัลสำหรับการชี้เบาะแส หรือการนำจับ เป็นต้น
ป.ป.ช. ยังเสนอให้รัฐบาลควบคุมไม่ให้มีการปลูกยางพารา ปาล์มน้ำมัน รวมถึงพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด ในพื้นที่ป่าไม้อย่างจริงจริง ขอความร่วมมือจากภาคเอกชนไม่ให้สนับสนุนหรือส่งเสริมการปลูกรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรหรือผลผลิตอื่นใด ที่ผลิตในพื้นที่ป่าไม้หรือพื้นที่หวงห้ามของรัฐที่ถูกบุกรุก
รวมถึงการยุติโครงการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินทั่วประเทศของกรมที่ดิน หากจะดำเนินการต่อต้องให้ทุกภาคส่วนในพื้นที่มีส่วนรวมมากกว่าที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ยังให้ทบทวนนโยบายการจัดการกับพื้นที่ป่าไม้ในความรับผิดชอบของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) โดยให้ ส.ป.ก.เร่งรัดการจัดสรรแบ่งทีด่ินในพื้นที่ ส.ป.ก.ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี หากพ้นกำหนดเวลายังดำเนินการไม่แล้วเสร็จให้คืนที่ดินกับกรมป่าไม้ หรือกรมอุทยานแห่งชาติ ฯ เพื่อให้มีการพื้นฟูสภาพป่าต่อไป
และส.ป.ก. ต้องดูแลเกษตรกรที่ได้รับแจกที่ดินไป ให้สามารถดำรงชีพได้ โดยไม่ต้องขายสิทธิที่ดินให้ใคร หากไม่ทำกินถือว่าสิทธิที่ได้รับหมดไป ต้องทำการเพิกถอนสิทธิเพื่อจัดสรรแบ่งแปลงที่ดินให้ราษฎรรายอื่นต่อไป
ป.ป.ช. ยังระบุด้วยว่า ในส่วนการดำเนินการกับผู้ที่ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินเขตป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติ ให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างจริงจัง และควรเพิ่มบทลงโทษแก่ผู้บุกรุกพื้นที่ป่าไม้ให้สูงขึ้น
กรณีที่เป็นผู้รับโอนสิทธิจากผู้บุุกรุก โดยเป็นผู้รู้เห็นเป็นใจ หรือจ้างวาน หรือส่งเสริมให้มีการบุกรุก เพื่อที่จะได้รับโอนสิทธินั้นมาเป็นของตน ถือว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ที่ไม่สุจริต รัฐต้องดำเนินการทางกฎหมายโดยเฉียดขาดเช่นเดียวกัน และให้กรมสรรพากรตรวจสอบว่าผู้ประกอบการในพื้นที่ป่ามีการชำระภาษีเงินได้ถูกต้องหรือไม่ด้วย
ป.ป.ช. ระบุด้วยว่า มาตรการป้องกันการทุจริตและบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ ควรจัดทำให้เป็นวาระแห่งชาติ มีการออกกฎหมายจัดตั้งกองทุนหรือสนับสนุนงบประมาณเพื่อกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้แก่ชุมชนในการป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ ลักษณะเป็นกองทุนหมุนเวียนโดยให้กระทรวงการคลังและ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกันพิจารณาและควรนำรายได้จากกรมอุทยานแห่งชาติฯ และกรมป่าไม้มาใช้เพื่อกิจการของกองทุน
ส่วนมาตรการเหล่านี้ จะถูกนำไปใช้ปฏิบัติจนเกิดขึ้น เห็นผลเป็นรูปธรรม ได้แท้จริง มากน้อยแค่ไหน "สังคมไทย" คงต้องจับตาดูกันต่อไป!
(ดูมาตรการฉบับเต็มที่นี่ : http://www.cabinet.soc.go.th/doc_image/2558/993121829.pdf)